ปัญญาวิมุตติ และ เจโตวิมุติ.....หลวงพ่อทูล

เพื่อสนทนาธรรม และแลกเปลี่ยนความคิดเห็น เพื่อความเป็นกัลยาณมิตร กัลยาณธรรมที่ดีต่อกัน

ปัญญาวิมุตติ และ เจโตวิมุติ.....หลวงพ่อทูล

Postโดย นิรทุกข์ » Sat Oct 23, 2010 4:31 pm

ไปอ่านเจอมาจากเวป pantip ครับ อ่านแล้วก็มีความชัดเจนขึ้น เลยขอเอามาแบ่งกันอ่าน แล้วช่วยกันพิจารณาครับ :)
ส่วนตัวแล้วเคยชอบนั่งสมาธิเพราะเงียบสงบ สบาย แต่พอออกจากสมาธิแล้วก็ยังโมโหง่าย ใจร้อน ทำอะไรผิดพลาดอยู่บ่อยๆ
สงสัยเหมือนกันว่าปฏิบัติถูกต้องไหม จนมาช่วงสาม สี่ ปีที่ผ่านมาเริ่มเข้าใจว่า จะเกิดปัญญาหลุดพ้น หรือ เท่าทันกิเลสได้ ก็ต้องฝึกฝนปัญญา หัดคิด พิจารณา
ได้ฟังที่หลวงพี่เทศน์ ท่านก็มักจะแนะนำให้นำข้อธรรมต่างๆ มาวิจัย พิจารณาอยู่ตลอด ไม่ใช่มานั่งหลับตาให้สงบอย่างเดียว แต่ก็ไม่ได้แปลว่าให้หยุดนั่งสมาธิน้ะครับ




ที่มา : http://www.pantip.com/cafe/religious/to ... 30380.html
http://watpabankor.com/webboard/index.php?topic=16.0

....เมื่ออธิบายในเรื่องสมาธิ ข้าพเจ้าจะอธิบายใน ๒ รูปแบบ เพื่อให้ผู้ปฏิบัติได้ศึกษาให้เข้าใจในสมาธิ ๒ รูปแบบนี้เอาไว้
๑. สมาธิความสงบ

๒. สมาธิความตั้งใจมั่น

....จะ อธิบายในสมาธิความสงบก่อน แล้วจะอธิบายในสมาธิตั้งใจมั่น ว่าสมาธิทั้ง ๒ นี้ มีความแตกต่างกันอย่างไรและเชื่อมโยงต่อกันอย่างไร ท่านผู้อ่านจะได้รู้จากหนังสือเล่มนี้

....สมาธิความสงบนั้น ผู้ที่จะทำได้มีกลุ่มหนึ่ง ที่เรียกว่ากลุ่มนิสัยเจโตวิมุติ กลุ่มนี้ในอดีตชาติเคยเป็นดาบสฤาษีบำเพ็ญในการเพ่งกสิณต่างๆ มีความชำนาญในสมาธิความสงบมาก่อน ชำนาญในการเข้าฌาณสมาบัติจนเป็นวสี เกิดมาในชาตินี้ได้มาบวชในพระพุทธศาสนา นิสัยความเคยชินในวิธีการทำสมาธิติดตัวมาอย่างไรก็ชอบใจอย่างนั้น ได้ฟังธรรมจากพระพุทธเจ้าในวิธีเจริญสมาธิ วิธีเจริญวิปัสสนาปัญญา แต่มาชอบใจในการเจริญสมาธิอย่างฝังใจ ได้ออกธุดงค์ไปในที่ต่างๆห่างไกลหมู่ชน พากันเจริญในสมาธิความสงบอย่างแน่วแน่ต่อเนื่องกัน นิสัยเดิมเคยได้บำเพ็ญในสมาธิมาก่อน ใจก็มีความสงบได้ง่าย ทำให้ใจได้รับความสงบเป็นรูปฌาณ อรูปฌาณ เกิดความว่างเปล่าภายในใจ ไม่มีอารมณ์ใดที่จะทำให้กระเพื่อมได้

....ขอยกตัวอย่าง ในครั้งพุทธกาลมีพระ ๓๐ รูป ได้ทำสมาธิความสงบจนถึงที่สุด ในวันหนึ่งพระผู้เป็นหัวหน้าเรียกประชุมไต่ถามเรื่องการทำสมาธิ ทุกองค์ได้พูดเหมือนกันว่า ไม่มีอารมณ์แห่งราคะ ไม่มีกิเลสตัณหาอาสวะน้อยใหญ่ภายในใจแต่อย่างใด พระผู้เป็นหัวหน้าได้ประกาศว่า ถ้าพวกเราเป็นเช่นนี้ด้วยกันทั้งหมดแล้ว พวกเราก็ได้พ้นไปแล้วจากกิเลสตัณหาทั้งหลาย ในบัดนี้พวกเราได้สิ้นจากอาสวะบรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ด้วยกันทั้งหมดแล้ว ให้ทุกท่านเตรียมตัวออกเดินทางไปกราบพระพุทธเจ้า เพื่อรับพยากรณ์ว่าพวกเราได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์แล้ว

....เมื่อ เดินทางใกล้จะถึงวัด พระพุทธเจ้ามีญาณหยั่งรู้ว่าพระทั้ง ๓๐ รูปที่มานี้ มีความสำคัญตนผิด คิดว่าตัวเองเป็นพระอรหันต์ เพียงทำสมาธิความสงบเข้าฌาณสมาบัติได้ ซึ่งไม่ใช่แนวทางที่จะละกิเลสตัณหาได้เลย สมาธิความสงบ ฌาณสมาบัติ เป็นเพียงวิธีข่มกิเลสตัณหาไว้เท่านั้น

....พระ พุทธเจ้าจึงให้พระอานนท์ไปบอกพระ ๓๐ รูปนั้นว่า ในคืนนี้ให้ท่านทั้งหลายได้พักนอนในป่าช้านี้ก่อน พรุ่งนี้เช้าจึงไปกราบพระพุทธเจ้า พระ ๓๐ รูปก็หาที่พักในป่าช้านั้น ในช่วงขณะนี้พระพุทธเจ้าได้เนรมิตศพหญิงสาววัยรุ่น ที่มีรูปร่างสวยงาม นอนหงายไม่มีผ้าปิดตัวเหมือนคนนอนหลับอมยิ้มอยู่ในป่าช้าคนเดียว พระรูปหนึ่งเดินไปเห็น จึงเรียกพระองค์อื่นๆมาดูด้วย พระ ๓๐ รูปที่มีความชำนาญในการเข้าฌาณสมาบัติ เมื่อมาเห็นอย่างนี้ อารมณ์ของราคะที่ถูกสมาธิความสงบในฌาณสมาบัติข่มเอาไว้ก็เริ่มฟื้นตัว ทุกรูปเกิดความกำเริบในทางราคะไปด้วยกัน

....พระผู้เป็นหัวหน้าได้ ประกาศว่า พวกเราได้ฟังธรรมจากพระพุทธเจ้ามาแล้วในวิธีการเจริญวิปัสสนา ในคืนนี้ให้พวกเราทั้งหลายได้พากันเจริญในวิปัสสนา ใช้ปัญญาพิจารณาอศุภะ ความสกปรกไม่สวยงามในรูปหญิงสาวคนนั้น แยกส่วนแบ่งส่วนแล้วแต่เป็นสิ่งสกปรกไปทั้งตัว โอปนยิโก น้อมเข้ามาหาร่างกายตัวเอง ใช้ปัญญาพิจารณาในร่างกายให้รู้เห็นเป็นความสกปรกเหมือนกัน พิจารณาซากสกปรกภายนอก พิจารณาความสกปรกภายในร่างกายตัวเองให้รู้เห็นเป็นความสกปรกด้วยกัน

....ใน คืนนั้น พระ ๓๐ รูป ก็ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ การปฏิบัติในวิธีทำสมาธิความสงบและมีความชำนาญในวิธีทำฌาณสมาบัติมาก่อน แล้วกลับมาฝึกในสมาธิตั้งใจมั่นอันประกอบด้วยปัญญาเหมือนพระ ๓๐ รูปที่ได้อธิบายมานี้ จึงได้ชื่อว่าพระอริยเจ้ากลุ่มเจโตวิมุติ ให้เราทั้งหลายได้เข้าใจตามนี้

....ผู้มีนิสัยเจโตวิมุติจะมีความ โดดเด่นในวิธีทำสมาธิความสงบ และชำนาญในการเข้าฌาณสมาบัติแต่ในขั้นตอนสุดท้ายก็ต้องมาทำสมาธิตั้งใจมั่น อันประกอบด้วยปัญญาอยู่นั่นเอง ไม่มีคำสอนของพระพุทธเจ้าตรัสไว้ในที่ไหนว่า เมื่อจิตลงสู่สมาธิความสงบแล้วให้ใช้ปัญญาพิจารณา การสอนอย่างนี้ผิดจากคำสอนของพระพุทธเจ้าตรัสไว้เป็นอย่างมาก

....หลัก เดิม พระพุทธเจ้าสอนว่า เมื่อจิตเป็นสมาธิความสงบแล้ว ให้จิตอยู่ในความสงบจนอิ่มตัว อย่าไปบังคับให้ถอนอย่าไปทำความกดดัน เมื่อความสงบอิ่มตัวแล้วก็จะค่อยๆถอนตัวออกมาเอง ให้มีสติรู้ว่าสมาธิกำลังถอนตัว มีสติยับยั้งเอาไว้ในขั้นอุปจาระสมาธิ เรียกว่าสมาธิตั้งใจมั่น แล้วน้อมเข้าสู่ปัญญาหรือเจริญวิปัสนาต่อไป นี้เป็นหลักเดิมที่พระพุทธเจ้าตรัสเอาไว้ ขอให้ท่านทั้งหลายที่สนใจในวิธีทำสมาธิต้องเข้าใจตามนี้

....กลุ่ม ผู้มีนิสัยเป็นเจโตวิมุติ ในสมัยครั้งพุทธกาลนั้นมีน้อย แต่ก็โชคดีที่ได้บวชเป็นพระในสมัยที่พระพุทธเจ้ามีชีวิตอยู่ พระองค์ก็ช่วยแก้ความเห็นผิดกลับมาเป็นความเห็นถูกได้ เหมือนกับพระ ๓๐ รูป ที่ได้อธิบายมาแล้ว ถ้ามีผู้ทำสมาธิในยุคปัจจุบันเป็นเหมือนกับพระ ๓๐ รูปนี้ ในยุคนี้จะไม่มีทางแก้ไขความเห็นผิดความสำคัญผิดนี้ได้เลย ก็ต้องปล่อยไปตามยถากรรม ตายไปเป็นพรหมมีอายุยาวนานทีเดียว ถึงจะมีบุญบารมีพร้อมที่จะเป็นพระอรหันต์ในชาตินี้ก็หมดสิทธิ์ไป จะไม่มีใครๆแก้ไขความเห็นผิดให้เป็นความเห็นถูกได้ เพราะผู้ที่ทำสมาธิจิตมีความสงบดีหรือมีอภิญญาอย่างใดอย่างหนึ่งเกิดขึ้น ก็จะมีมานะอัตตาเกิดขึ้นเป็นคู่กัน จะเกิดโอหังจองหองลำพองตัวไม่ยอมก้มหัวให้ใคร ไปเข้าใจว่าคนอื่นภาวนาปฏิบัติไม่ดี ไม่เก่งเหมือนตัวเอง ในบรรดาสาวกด้วยกันถึงจะเป็นพระอรหันต์ที่สมบูรณ์แล้วก็ตาม จะช่วยแก้ปัญหาผู้มีความเห็นผิดให้กลับตัวเป็นผู้มีความเห็นถูกไม่ได้เลย เว้นเฉพาะผู้ที่เคยเกี่ยวข้องกันหรือเป็นคู่ทรมาณกันมาก็พอจะแก้ไขกันได้

....ใน ยุคนี้ มีผู้เป็นนิสัยเจโตวิมุติอยู่บ้าง ดูตรงที่เขาทำสมาธิ จะมีความสงบได้ง่ายนั่งอยู่นาน แต่ก็ไม่มีปัญญาแก้ปัญหาให้แก่ตัวเองได้ อาการของจิตเป็นอย่างไรก็ไม่มีปัญญารอบรู้แต่อย่างใด จึงไปถามครูอาจารย์หลวงปู่หลวงตา ถามในเรื่องอาการของจิตที่เกิดขึ้น ถ้าครูอาจารย์ผู้ที่ไม่เข้าใจ ก็จะตอบสั้นๆไปว่า การเป็นในลักษณะอย่างนี้มีความถูกต้องแล้ว ทำไปเถอะ เท่านั้นเอง

....ผู้ มีนิสัยเจโตวิมุติมาทำสมาธิความสงบในยุคนี้ย่อมทำได้ แต่มีปัญหาอยู่มาก เพราะเอาความอยากเป็นตัวนำหน้า การทำสมาธิด้วยความอยาก เช่น อยากให้จิตมีปัญญาเกิดขึ้น อยากให้จิตมีความบริสุทธิ์ อยากละกิเลสตัณหา อยากเห็นสวรรค์ อยากเห็นนรก อยากเห็นในชาติก่อนที่ผ่านมา อยากบรรลุธรรมเป็นพระอริยเจ้าขั้นนั้นขั้นนี้ ความอยากอย่างนี้จะเข้าทางกิเลสตัณหา สังขารจิตที่เป็นกิเลสมารจะหลอกใจให้เกิดหลงทางโดยไม่รู้ตัว ผู้ทำสมาธิที่มีความอยาก ดังที่ได้อธิบายมานี้ จะต้องมีปัญญาเกิดขึ้นเป็นวิปัสสนูปกิเลส ๑๐ อย่างแฝงขึ้นจากจิต จะเกิดเป็นนิมิตในลักษณะต่างๆให้ได้เห็นในรูปแบบต่างๆ จิตก็จะเกิดความลุ่มหลงไปตามนิมิตนั้นๆ

....ในสมัยครั้งพุทธกาลก็มี ผู้เป็นวิปัสสนูปกิเลสอยู่แล้ว พระพุทธเจ้าได้ช่วยแก้ปัญหาความเห็นผิดกลับมาเป็นความเห็นถูกได้ สามารถบรรลุธรรมเป็นพระอริยเจ้าได้ แต่ในยุคนี้ ถ้าใครเป็นในลักษณะนี้จึงยากที่จะแก้ไขได้ เพราะผู้เป็น มีความเชื่อมั่นในตัวเองสูง จะไม่เชื่อใครๆที่มาเตือนว่าตัวเองปฏิบัติผิดแต่อย่างใด ถ้าผู้เป็นวิปัสสนูเหมือนกันมาพูดคุยผลของการปฏิบัติ จะเข้าดกันได้เป็นปี่เป็นขลุ่ย มีความรู้เห็นอย่างไรจะพูดคุยกันทั้งวันทั้งคืนไม่จบไม่สิ้น จะพูดคุยในเรื่องนยิมิตต่างๆที่เกิดขึ้น หรือพูดคุยธรรมะ ก็เป็นตุเป็นตะได้ชัดเจนน่าเชื่อถือ ผู้ไม่รู้ก็จะเชื่อว่าเป็นธรรมะจริงแล้วเชื่อตาม ที่จริงแล้วเป็นธรรมะปลอมนั่นเอง




http://watpabankor.com/webboard/index.php?topic=16.0

๙. ปัญญาวิมุติ


....ปัญญา วิมุติและเจโตวิมุติ มีอยู่ในคนเดียวกัน แต่ที่ต่างกันเป็นเพราะนิสัยที่ได้บำเพ็ญมาไม่เหมือนกัน ผู้มีนิสัยเจโตวิมุติ ได้แก่ ผู้ที่บำเพ็ญบารมีเหมือนพวกดาบสฤาษีที่ได้บำเพ็ญสมาธิความสงบ บำเพ็ญฌาณมาแล้วอย่างสมบูรณ์ เมื่อท่านเหล่านี้ได้มาเกิดในชาตินี้ การปฏิบัติก็ต้องเริ่มตันจากการบำเพ็ญฌาณทำสมาธิให้มีความสงบไปก่อน เมื่อจิตมีความสงบแล้ว จะถอนตัวออกมาอยู่ในขั้นอุปจารสมาธิ ที่เรียกว่า สมาธิความตั้งใจมั่น แล้วน้อมไปสู่ปัญญา พิจารณาในสัจจธรรมตามความเป็นจริง เมื่อรู้แจ้งเห็นจริงตามความเป็นจริงแล้ว ก็จะได้สำเร็จเป็นพระอริยเจ้าขั้นใดขั้นหนึ่งตามบารมีที่ตัวเองได้บำเพ็ญมา ถ้าเป็นในลักษณะนี้จึงได้ชื่อว่าผู้มีนิสัยเจโตวิมุติ

....ผู้มีนิสัยในปัญญาวิมุติ ในชาติก่อนเคยได้บำเพ็ญในทางปัญญาบารมีมาแล้ว เมื่อมาเกิดใหม่ ได้ปฏิบัติภาวนา จะทำได้เพียงสมาธิความตั้งใจมั่นเท่านั้น แต่จะมีความโดดเด่นในทางปัญญาเป็นอย่างยิ่ง เมื่อสมาธิความตั้งใจมั่นจับคู่กับปัญญามีความสมบูรณ์พร้อมแล้ว หากพิจารณาในสัจธรรมใด ก็จะมีความรู้แจ้งเห็นจริงตามความเป็นจริงในสัจธรรมนั้น และได้สำเร็จเป็นพระอริยเจ้าขั้นใดขั้นหนึ่งตามบารมีที่ตัวเองได้บำเพ็ญมา ถ้าเป็นในลักษณะนี้จึงเรียกว่าผู้เป็นปัญญาวิมุติ ขอให้ท่านทั้งหลายได้เข้าใจตามนี้ หรือหากใครตีความหมายเป็นไปอย่างอื่น ให้ถือว่าตัวใครตัวมัน หรือหากท่านยังมีความสงสัยอยู่อีก ให้มาถามข้าพเจ้าโดยตรง มีความพร้อมที่จะอธิบายให้ท่านเข้าใจได้ เพราะในยุคนี้มีผู้ตีความในพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าแตกต่างกันไป แต่ใครจะตีความในพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าได้ถูกต้องที่สุดนั้น ก็เป็นความเห็นของท่านผู้นั้น

....ผู้มีนิสัยปัญญาวิมุติ เมื่อศึกษารู้วิธีแล้วนำมาปฏิบัติ จะเป็นของง่ายสำหรับท่านผู้นั้น อุบายในการปฏิบัติไม่มีความสลับซับซ้อนที่ยุ่งยาก ในสมัยครั้งพุทธกาล ผู้มีนิสัยเป็นปัญญาวิมุติ ได้ฟังธรรมจากพระพุทธเจ้า หรือได้ฟังธรรมจากพระอริยเจ้าทั้งหลาย สามารถบรรลุธรรมเป็นพระอริยเจ้าขั้นใดขั้นหนึ่งในขณะนั้นเป็นจำนวนมาก หรือยังไม่สำเร็จเป็นพระอริยเจ้าในขณะนั้น แต่ได้นำเอาอุบายธรรมที่ได้รู้อยู่แล้วไปปฏิบัติ ก็ได้บรรลุธรรมเป็นพระอริยเจ้าได้เช่นกัน ตะไปถามท่านเหล่านั้นว่าสมาธิความสงบเป็นอย่างไร ฌานนั้นฌานนี้ เป็นอย่างไร ท่านเหล่านั้นจะไม่รู้ เพราะท่านเหล่านั้นเป็นนิสัยปัญญาวิมุติ เพียงทำสมาธิตั้งใจมั่นได้แล้ว ใช้ปัญญาพิจารณาสัจธรรม มีความรู้แจ้งเห็นจริงในสัจธรรมก็ได้บรรลุเป็นพระอริยเจ้าเท่านั้น

....ผู้ มีนิสัยปัญญาวิมุติในสมัยครั้งพุทธกาลมีจำนวนมากถึง ๗๐ เปอร์เซ็นต์ การปฏิบัติของผู้มีปัญญาวิมุติ ไม่มีขั้นตอนที่ยุ่งยาก ไม่มีพิธี ไม่มีรูปแบบที่ตายตัว อยู่ในที่ไหนก็ใช้ปัญญาพิจารณาในสัจธรรมได้ จะ ยืน เดิน นั่ง นอน ทุกอิริยาบท ก็จะใช้ปัญญาพิจารณาได้ทุกเมื่อ แม้ทำงานอะไรอยู่ ก็น้อมเอางานที่เราทำ มาเป็นอุบายในทางปัญญาได้ อุบายธรรมที่จะนำมาเป็นองค์ประกอบทางปัญญามีมากมาย ถ้าเราเข้าใจในหลักของไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ในทุกสถานที่ มีสัจธรรมเต็มไปหมด ไม่ว่าจะอยู่ในน้ำ บนบก หรือสถานที่แห่งใดในโลกนี้ แม้เอาปลายเข็มเจาะแทงลงไปที่ไหน จะถูกสัจธรรมความจริงในที่แห่งนั้น

....ธุระของผู้ปฏิบัติมี ๒ อย่าง คือ

....๑. คันถธุระ คือ ธุระในภาตการศึกษา
....๒. วิปัสสนาธุระ คือ ธุระในการใช้ปัญญาพิจารณา

....ธุระ ทั้งสองนี้ ผู้ปฏิบัติต้องศึกษาให้เข้าใจ แล้วใช้ปัญญามาพิจารณา ให้รู้แจ้งเห็นจริงตามความเป็นจริงในสิ่งนั้นๆ ภาคการศึกษาจึงเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญ ไม่ว่างานทางโลก หรืองานทางธรรม ต้องศึกษาให้รู้ก่อนทั้งนั้น เพราะโลกกับธรรมอยู่ในกลุ่มเดียวกัน ถ้าไม่รู้จักธรรมก็จะมองเป็นโลกไปเสียทั้งหมดถ้าผู้รู้จักธรรม ก็สามารถใช้ปัญญาพิจารณาโลกให้เป็นธรรมได้ และสามารถตีความหมายให้แยกธรรมออกจากโลกได้อย่างชัดเจน

....เปรียบ ได้กับ น้ำฝนเป็นน้ำที่ใสสะอาดจืดสนิทโดยธรรมชาติ หากน้ำฝนนั้นตกลงสู่มหาสมุทร รวมอยู่ในน้ำทะเลก็จะเค็มไปด้วยกัน จะตักมาอม มาแตะปลายลิ้นเพื่อแยกแยะหาน้ำจืดนั้นจะไม่รู้เลย การแยกน้ำเค็มและน้ำจืดออกจากกันได้ ต้องมีเทคโนโลยีอันทันสมัยเข้าไปกลั่นกรอง จึงแยกน้ำจืดออกจากน้ำเค็มได้ นี้ฉันใด การปฏิบัติธรรมก็ฉันนั้น การจะแยกจิตอันบริสุทธิ์ออกจากกิเลสตัณหาอวิชชาได้ ไม่ใช่เพียงนั่งหลับตานั่งสมาธิให้ใจมีความสงบหรือเข้าฌานนั้นฌานนี้ได้ กิเลสตัณหาอวิชชาจะเหือดแห้งไปด้วย วิธีเช่นนี้หาใช่ไม่ ดังคำบาลีที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า






ปัญญายะ ปริสุฌฺชติ
จิตจะมีความบริสุทธิ์ได้เพราะปัญญา
....ไม่มีใครบรรลุธรรมเป็นพระอริยเจ้าได้เพราะสมาธิความสงบในฌานแต่อย่างใด ให้เราเปลี่ยนความเห็นเสียใหม่ ไม่เช่นนั้นจะไปหลงในสมาธิความสงบ หลงอยู่ในฌานตลอดไปชั่วกาลนาน

ปฏิบัติธรรมให้ถูกกับนิสัยของตนเอง
....ผู้ มีนิสัยปัญญาวิมุติจะง่ายในการปฏิบัติธรรม เพราะเป็นนิสัยอุคติตัญญู เป็นผู้รู้เห็นธรรมได้ง่าย ถ้าไปทำตามพวกมีนิสัยเจโตวิมุติ ซึ่งเข้ากันไม่ได้กับนิสัยของตัวเอง จึงกลายเป็นของยาก ทั้งที่ตัวเอง มีสติ สมาธิ ปัญญา อยู่ในตัวอยู่แล้ว กลับหลงประเด็นจับหลักเดิมในนิสัยของตัวเองไม่ได้ จึงเกิดความสับสนวกวน เปรียบได้กับเราเอาเงินซ่อนไว่ในกระเป๋าของตัวเอง แต่ก็หลงลืมไป คิดว่าตัวเองไม่มีเงิน เมื่อหิวข้าวปลาอาหารก็ไม่มีเงินที่จะซื้อกิน จึงทำให้ตัวเองเกิดความอดอยากหิวโหย ให้เราค้นดูในกระเป๋าของตัวเองบ้าง ก็จะรู้เห็นเงินในกระเป๋านั้น

....ความเข้าใจผิดคิดว่าเราไม่มีสติ ไม่มีสมาธิ ไม่มีปัญญา จึงเป็นปัญหาในการปฏิบัติธรรมเป็นอย่างมาก เพราะผู้มีนิสัยปัญญาวิมุติ มีอุบายการปฏิบัติไม่เหมือนกับผู้มีนิสัยเจโตวิมุติอยู่แล้ว ส่วนใหญ่ในสมัยครั้งพุทธกาลหรือในยุคปัจจุบันจะมีนิสัยปัญญาวิมุติ แต่ไปปฏิบัติในวิธีเจโตวิมุติ จึงเข้ากันไม่ได้ เพราะไม่เป็นนิสัยของตัวเอง ดังคำโบราณว่า เห็นช้างขี้ ก็จะขี้ให้เหมือนช้าง จะเลียนแบบให้เหมือนกับช้างให้ได้ เมื่อมาเข้าใจตัวเองว่ามีนิสัยปัญญาวิมุติแล้ว ก็ปฏิบัติให้เป็นไปตามนิสัยของตัวเองเสียจึงจะได้รับมรรคผลในชาตินี้

....หาก มีคำถามว่าจะรู้ได้อย่างไรว่าเรามีนิสัยอะไร การจะรู้นิสัยของตัวเองนั้นไม่ยาก ให้สังเกตดูตัวเองในขณะนั่งสมาธิ จะใช้บริกรรมอะไรก็ได้ หรือไม่ต้องใช้คำบริกรรมเลยก็ได้ เพียงมีสติระลึกรู้ลมหายใจเข้า มีสติระลึกรู้ในลมหายใจออก ทำใจให้เป็นปกติ อย่ากดดัน อย่าบังคับใจตัวเอง นั่งในท่าสบาย หายใจเป็นปกติ เพียงมีสติระลึกรู้อยู่กับลมหายใจ ทำอยู่อย่างนี้ได้นานหรือไม่นานก็จะรู้ตัวเอง

....วิธีง่ายๆที่จะ ครวจสอบนิสัยของตัวเองคือ เมื่อจิตรวมอนู่เป็นหนึ่ง เรียกว่าสมาธิตั้งัม่นได้ จากนั้นไป จิตก็จะค่อยๆลงสู่ความสงบเป็นอัปปนาสมาธิ ถ้าเป็นในลักษณะนี้ให้เข้าใจตัวเองว่า เราเป็นนิสัยเจโตวิมุติ ผู้มีนิสัยปัญญาวิมุติ มีการนึกคำบริกรรมทำสมาธิเหมือนกัน จิตจะรวมลงเป็นหนึ่งเป็นสมาธิความตั้งใจมั่นได้ จะทำให้จิตลงสู่ความสงบลึกต่อไปอีกไม่ได้ ผู้มีนิสัยปัญญาวิมุตินี้จะทำได้เพียงสมาธิความตั้งใจมั่นเท่านั้น จากนั้นจะมีความอยากจะคิดในเรื่องนั้นเรื่องนี้ ถึงจะดึงจิตให้มานึกคำบริกรรมทำสมาธิอีก ก็นึกได้ไม่กี่นาทีแล้วก็คิดอีก ถ้าเป็นในลักษณะนี้ก็ให้รู้ตัวเสียว่า เราเป็นนิสัยปัญญาวิมุติ เมื่อจิตมีสมาธิตั้งใจมั่นได้ เมื่อใจอยากจะคิดก็ตั้งใจใช้ปัญญาคิดพิจารณาไปได้เลย เพราะนิสัยเราเป็นอย่านี้ก็ต้องใช้วิธีนี้ต่อไป ให้เข้าใจตามนี้

....เรา ต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามนิสัยของตัวเอง ไม่ต้องฝักใฝ่มุ่งหมายเพื่อจะให้จิตมีความสงบอีก ถึงจะทำอนฃย่างไรก็เป็นสมาธิความสงบไม่ได้ ทำให้เสียกาลเวลาเหนื่อยเปล่า ไม่ได้ประโยชน์อะไร เพราะนิสัยของผู้มีปัญญาวิมุติจะทำได้เพียงสมาธิความตั้งใจมั่นเท่านั้น เมื่อสมาธิตั้งใจมั่นกับปัญญาได้ทำงานร่วมกันแล้ว จะเกิดพลังที่โดดเด่นเข้มแข็ง ได้รู้ได้เห็นอะไรไม่เสียเปล่า จะนำเอาเรื่องนั้นๆมาเป็นอุบายพิจารณาให้เป็นธรรมะในสิ่งนั้นให้ได้ สิ่ง ใดมีความเปลี่ยนแปลงอย่างไร ให้น้อมเข้ามาเปรียบเทียบกับความเปลี่ยนแปลงของตัวเองทุกครั้งไป สิ่งใดที่มองเห็นว่าหมดสภาพไปไม่มีในสมมติเดิม ก็ใช้ปัญญาพิจารณาในสิ่งนั้นลงสู่อนัตตา โอปนยิโก น้อมเข้ามาหาตัวเองอยู่เสมอ พิจารณาว่า ร่างกายเราทุกส่วน ก็จะแตกสลายสิ้นสภาพไปเหมือนสิ่งเหล่านั้นอย่างแน่นอน ไม่มีสิ่งใดยืนยงคงอยู่ตลอดไปในโลกนี้ได้

....พระอริย เจ้าที่มีนิสัยปัญญาวิมุติในสมัยครั้งพุทธกาลนั้นมีมาก ในยุคนี้สมัยนี้ หากมีพระพุทธเจ้ามาอุบัติเกิดขึ้นในโลก ก็จะมีผู้ได้บรรลุธรรมเป็นพระอริยเจ้าเป็นจำนวนมากทีเดียว ดูจากสถานที่ต่างๆ ได้พากันปฏิบัติอย่างเอาจริงเอาจัง มีอยู่ทุกหนแห่ง วิการปฏิบัติจะเน้นหลักในวิธีทำสมาธิความสงบ หากผู้มีนิสัยปัญญาวิมุติได้ไปฝึกทำสมาธิความสงบนี้ จึงทำไม่ได้ แต่ผู้สอนก็บอกว่าอย่าคิดในเรื่องอะไรนะ จิตจะฟุ้งซ่าน

....ด้วยการ สอนอย่างนี้ ผู้ปฏิบัติจึงไม่มีปัญญาพิจารณาในสัจธรรม ที่ไหนก็สอนให้จิตอยู่ในปัจจุบัน จะนั่ง ยืน เดิน นอน ก็ให้จิตอยู่ในปัจจุบัน ถ้าเช่นนั้นก็ไม่ต้องทำอะไร อยู่เฉยๆในลักษณะนี้ความเจริญจะเกิดขึ้นได้อย่างไร น้ำจะท่วมไฟจะไหม้ก็จะปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติ ไม่คิดหาวิธีป้องกันภัยทั้งหลายนี้เลย ถ้ามีการเจ็บป่วยไม่สบายก็ไม่คิดหาวิธีที่จะรักษา เมื่อกิเลสตัณหากำเริบก็ไม่มีปัญญาที่จะแก้ไข ปุถุชนคนธรรมดากิเลสตัณหายังมีอยู่เต็มหัวใจ เมื่อตายไปในชาตินี้กิเลสตัณหาก็จะพาให้จิตไปเกิดในอนาคตชาติหน้าอยู่นั่น เอง มิใช่ว่ารักษาจิตให้อยู่กับปัจจุบัน จิตมีความสงบแล้วกิเลสตัณหาจะหมดไปได้
นิรทุกข์
 
จำนวนผู้ตอบ: 558
สมัครสมาชิก: Sat Mar 13, 2010 7:46 pm

กลับไปหน้า ธรรมเพื่อชีวิต

ผู้ที่กำลัง online

ผู้ที่กำลังอ่าน forum นี้: สมาชิก ไม่มีสมาชิก และ ผู้เยี่ยมชม 1 คน

cron