พระอาจารย์แสดงธรรมที่ มหาสารคาม

เพื่อสนทนาธรรม และแลกเปลี่ยนความคิดเห็น เพื่อความเป็นกัลยาณมิตร กัลยาณธรรมที่ดีต่อกัน

พระอาจารย์แสดงธรรมที่ มหาสารคาม

Postโดย wiweksikkaram.hi5 » Mon Nov 15, 2010 11:22 pm

ผู้เขียน wrote:Image
พระอาจารย์วิชัย ได้รับนิมนต์ไปแสดงธรรมที่วิทยาลัยพยาบาลมหาสารคาม
วันพฤหัสบดีที่ ๒๑ ตุลาคม ๒๕๕๓ ช่วงก่อนเที่ยง และสนทนาธรรมกับแพทย์
และพยาบาลในช่วงบ่าย

Image

Image

Image

Image
wiweksikkaram.hi5
 
จำนวนผู้ตอบ: 114
สมัครสมาชิก: Mon Mar 15, 2010 12:20 am
ที่อยู่: สุทธาวาสภูมิ

Re: พระอาจารย์แสดงธรรมที่ มหาสารคาม

Postโดย ผู้เขียน » Wed Nov 24, 2010 11:32 am

“ไม่ประมาทในการเดินทาง” (มีรูปประกอบข้างบน)

เทศน์ที่ วิทยาลัยพยาบาลศรีมหาสารคาม จ.มหาสารคาม ๒๑ ตุลาคม ๒๕๕๓

พระอาจารย์วิชัย กัมมสุทโธ สถานปฏิบัติธรรมป่าวิเวกสิกขาราม อ.พล จ.ขอนแก่น

เจริญพร ผอ.วิทยาลัยพยาบาลศรีมหาสารคาม คณาจารย์ทุกท่าน พยาบาลและอุบาสกอุบาสิกาทั้งหลาย วันนี้อาตมาได้มีโอกาสมาสถานที่ ซึ่งเป็นที่ที่อบรมให้การศึกษาให้ความรู้แก่พยาบาล สถานที่นี้เป็นสถานที่ถ้าพูดอีกอย่างหนึ่ง เป็นสถานที่ที่เป็นมงคล ทำไมถึงพูดเช่นนั้น เพราะสถานที่ที่อบรมให้การศึกษาแก่ผู้ที่จะสำเร็จเป็นพยาบาลนั้น คำว่าพยาบาลนั้นเป็นผู้ช่วยเหลือ ผู้ดูแลรักษาผู้ป่วย จริงๆแล้วอาชีพของสาธารณสุขทั้งหลาย ผู้ที่จะมาปฏิบัติหน้าที่หรือมาทำงานนั่นเอง จะต้องเป็นจิตที่ประกอบด้วยเมตตา จิตที่ประกอบด้วยเมตตานั้นเป็นจิตของพระโพธิสัตว์ ผู้หวังที่จะช่วยเหลือผู้อื่นให้พ้นจากกองทุกข์นั่นเอง คำว่าทุกข์นั้นมันมีอยู่ ๒ ลักษณะ ทุกข์กายอย่างหนึ่ง ทุกข์ใจอย่างหนึ่ง ทุกข์กายนั้นมีเหตุ เราก็รู้กันอยู่แล้ว มันเกี่ยวกับเรื่องของร่างกายคือธาตุนั่นเอง เรื่องของเชื้อโรค อันนี้ก็ไม่ต้องพูดมาก เพราะรู้ๆกันอยู่ ทีนี้ทุกข์ใจ ทุกข์ใจก็มีเหตุเช่นกัน เหตุนั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าท่านปรารถนาจะไม่เกิด ไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตาย ท่านจึงออกบวชเพื่อหาโมกขธรรม คือธรรมที่จะมาแก้ไขปัญหาเหล่านี้ อันนี้คือจุดเบื้องต้น เมื่อท่านมาตรัสรู้แล้วจึงรู้ว่า อริยสัจ ๔ นั่นเอง ทุกข์เป็นผล สมุทัยนี้เป็นเหตุ อันนี้คือเหตุกับผลไปทางทุกข์นั่นเอง มรรคเป็นเหตุ นิโรธเป็นผล อันนี้เป็นเหตุผลไปทางพ้นจากกองทุกข์ เขาเรียกว่าความจริง อริยสัจคือความจริง เมื่อพระองค์ได้ตรัสรู้อริยสัจ ๔ จึงรู้เหตุแห่งทุกข์ สาวขึ้นไปถึงที่สุดก็คืออวิชชาตัณหานั่นเอง อันนี้เป็นเหตุแห่งทุกข์ เมื่อจะดับเหตุแห่งทุกข์นั้น จะให้ทุกข์ไม่มีต้องละเหตุแห่งทุกข์ เหตุแห่งทุกข์นั้นก็คืออวิชชาตัณหานั่นเอง

ทีนี้เราอาจจะมาฟังแล้วก็คิดว่า เอ๊ะ มันเป็นเรื่องที่ไกลตัวมาก เป็นเรื่องที่สูงเกินไป อันนี้ก็ขอให้เข้าใจใหม่ ให้เปลี่ยนความเห็นก่อน เพราะความเห็นนั้นน่ะมันจะกั้น ไม่ให้เราเข้าถึงความจริง เพราะว่าอะไร เพราะว่าเมื่อเราเห็นว่าเป็นเรื่องไกลตัว เป็นเรื่องที่สูง เป็นเรื่องที่ยาก ฉันทะก็ไม่มี แล้วความที่จะศึกษาความที่จะเห็นน่ะมันก็เลยเกิดไม่ได้ เหมือนเราเรียนน่ะ เมื่อเราเห็นว่าเรียนวิชานี้มันยาก เรากำลังเรียนอยู่ก็ว่ามันยาก ส่วนคนที่จบแล้วก็ว่ามันง่ายเพราะมันจบไปแล้ว นี้คือความเห็นนะ ถ้าเราเห็นตรงนี้ วางความเห็นตรงนี้ซะ ไอ้ที่เรียกว่ายากก็เลยง่าย ง่ายทุกอย่าง ถ้าเราเข้าใจตรงนี้ ไม่ว่ากิจการงานอะไรก็ตาม ไม่ว่าเรื่องอะไรก็ตาม จึงเป็นเรื่องที่ไม่ยาก จึงเป็นเรื่องที่ไม่ใช่ปัญหา จึงเป็นเรื่องที่ไม่จำเป็นต้องทุกข์กับมัน เพราะคำว่ายากมันไม่มีแล้ว คำว่าปัญหามันก็ไม่มี มันมีแต่ มีเหตุหนึ่งเกิดก็ต้องเรียนรู้กับมัน ใช้สติปัญญาแก้ไขกับมัน ก็แค่นั้น เกิดแล้วก็ดับไป ตามเหตุตามปัจจัยของสิ่งนั้น ถ้าเราเข้าใจอย่างนี้ การทำงานทุกอย่าง การอยู่ในโลกไม่ใช่เรื่องทุกข์ เป็นเรื่องที่ต้องศึกษาต่างหาก ความทุกข์ของใจเพราะเราไปให้ความสำคัญมั่นหมายต่อมัน ว่าเป็นเช่นนั้นเป็นเช่นนี้ จึงไม่เห็นความจริงของมัน ว่าสิ่งทั้งหลายมีเหตุเกิดแล้วก็ดับไป มีเหตุเกิดแล้วก็ดับไป สิ่งใดมีเหตุเกิดแล้วดับไป สิ่งนั้นไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ตัวตนของเรา เพราะอะไรจึงพูดเช่นนั้น เพราะว่าโยมลองคิดดูซิ บางคนอาจจะเถียงขึ้นมา ค้านขึ้นมา อย่างร่างกายเรานี่ โยมก็บอกว่านี่ตัวของฉันน่ะ เหมือนดาราน่ะเคยเห็นในหนังสือพิมพ์บ้าง เขาบอกนี่ตัวตนของฉัน ฉันจะเป็นอย่างนี้ จะแก้ตัวฉันทำไม ก็ฉันตัวตนของฉันเป็นอย่างนี้ จริงๆแล้วมันไม่ใช่หรอก ถ้าว่าเป็นตัวเราจริง บังคับไม่ให้แก่ ไม่ให้เจ็บ ไม่ให้ตายได้ไหม ถ้าบังคับไม่ได้แล้วจะเป็นของเราได้อย่างไร แล้วบังคับให้มันคงที่ได้ไหม ไม่มีการแก่การเจ็บการตาย ถ้าเป็นตัวตนจริงแล้วมันต้องอยู่คงที่ เมื่อมันไม่คงที่แล้วมันจะเป็นตัวตนของเราได้อย่างไร

พฤติกรรมเหมือนกัน ความประพฤติความเคยชินก็เหมือนกัน บางครั้งบางขณะเมื่อเราเรียนรู้สิ่งใดเกิดขึ้น ก็มีความคิดความเห็นความประพฤติตรงนั้น เมื่อกาลเวลาผ่านไปสิบยี่สิบปี ความรู้ความเห็นที่เรียนรู้มันเปลี่ยนไป ความประพฤติการกระทำก็เปลี่ยนไป แล้วจะบอกว่าการกระทำในอดีตเป็นตัวตนของเราได้อย่างไร แล้วจะบอกว่าการกระทำในปัจจุบันนี่เป็นตัวตนของเราได้อย่างไร เพราะมันเปลี่ยนแปลงได้ เปลี่ยนจากเหตุนั่นเอง เมื่อความรู้ความเห็นที่เข้าไปเปลี่ยนแปลง ความประพฤติการปฏิบัติก็เปลี่ยนไปนั่นเอง อันนี้อาตมาให้ข้อคิดให้ข้อไปพินิจพิจารณาดู จุดสำคัญของความทุกข์ในใจคืออุปาทานนั่นเอง อุปาทานคือความสำคัญมั่นหมาย ความสำคัญมั่นหมายเกิดขึ้นได้เพราะอะไร เพราะเราไม่เห็นความจริง ไม่เข้าใจความจริงในเรื่องของตนเองนั่นเอง คือกายกับใจ หรือรูปกับนาม ถ้าพูดภาษาพระหน่อยก็ขันธ์ ๕ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ถ้าเราเข้าใจความจริงของตนเอง เข้าใจความจริงของสิ่งแวดล้อมที่มาสัมผัสสัมพันธ์ใจเรานั้น ความทุกข์มันจะไม่มีหรอก เพราะอุปาทานมันไม่มี อันนี้เป็นสิ่งที่พูด เหตุนั้นนี่จึงย้อนกลับมา คำว่าศาสนาคำว่าธรรมะนี่ มันไม่ใช่เป็นเรื่องของวัดนะ ไม่ใช่เป็นเรื่องของพระ ไม่ใช่เป็นเรื่องของชี ไม่ใช่มันเป็นเรื่องของคนใดคนหนึ่ง แล้วก็ไม่ใช่เป็นเรื่องที่น่าศึกษา ธรรมะนั้นมันเป็นเรื่องของชีวิตทุกชีวิตที่เกิดมา เมื่อเราเกิดมาแล้ว เราต้องรู้เรื่องของธรรมะ คือเรื่องของชีวิตเรานั่นเอง เรื่องของกายใจเรานั่นเอง เมื่อเรารู้เรื่องของกายใจเราตามความเป็นจริง เมื่อรู้ความจริงของกายใจแล้ว ตามความเป็นจริงแล้ว เราจะรู้ว่าเราจะดำเนินชีวิตของเราอย่างไรที่จะไม่ทุกข์ หรือทุกข์ก็ทุกข์น้อย

ส่วนใหญ่วิชาการที่เราเรียนรู้อยู่ในมหาวิทยาลัย เราจะสอนแต่เรื่องของวิชาการ เรื่องของเทคนิค แต่วิธีการดำเนินชีวิต เรื่องของธรรมะ เรื่องของชีวิตที่จะเดินอย่างไรในโลกนี้เราไม่ได้สอน อาตมาสมัยอยู่ที่ชลบุรี ได้เห็นโยมที่เขามาจากอุตสาหกรรม พวกมาบตาพุดพวกแถวนั้นน่ะ โยมเคยรู้ไหมว่า พวกนี้เมื่อจบปริญญาตรีวิศวะฯไปแล้ว เงินเดือนได้สูงนะ เมื่อไปทำงานภาคอุตสาหกรรมเงินเดือนสูง สุดท้ายเป็นหนี้บ้าง เป็นอะไรบ้าง แล้วก็มีความทุกข์ เพราะอะไร เพราะวิชาเทคนิคที่เรียนไปก็เป็นคุณสมบัติเข้าไปทำงาน ทำงานเสร็จเขาก็ส่งไปดูงานต่างประเทศบ้างอะไรบ้าง เพื่อจะมาเดินเครื่องใหม่ แต่เมื่อไปแล้วทำมาแล้ว หลักการดำเนินชีวิตน่ะไม่มีใครสอน เจอเพื่อนฝูงได้เงินเยอะทำอย่างไร เที่ยวกลางคืนบ้าง ใช้จ่ายฟุ่มเฟือยใช้อะไรทุกอย่าง เสร็จแล้วก็มีปัญหาหนี้สินตามมา ยิ่งบัตรเครดิตเยอะๆหลายๆฉบับ ก็เลยใช้หนี้ไม่จบ บางครั้งก็มาหา อาตมาก็ต้องสอนวิธีการใช้หนี้แล้ว ว่าจะใช้อย่างไร ต้องลดอะไรต้องแก้ปัญหาอะไร เพราะความรู้เหล่านี้ไม่ได้เรียน ความรู้เหล่านี้ไม่ได้เรียน เมื่อมีเงินขึ้นมาเยอะๆ ก็ไม่ได้รู้ว่าไม่ได้พิจารณา เหมือนพระพุทธเจ้าตรัสไว้ก่อนที่พระองค์จะออกบวช พระองค์เห็นความมัวเมาในวัย ความมัวเมาในชีวิต ความมัวเมาในความไม่มีโรค ความมัวเมาในวัยนั้นคืออะไร ความมัวเมาในวัยคือเมื่อเรามีวัยเด็กหรือวัยหนุ่มสาว เราก็ไม่คิดว่าเราจะแก่ โยมอาจจะว่าเป็นคำพูดที่ไม่น่าพูดนะ เราเห็นจริงว่าคนแก่เป็นอย่างไรหรือยิ่งพวกเราจบมาทำงาน แต่เราไม่ได้เอามาขบคิดหรอกนะ มันทำไปวันๆ ไม่ได้ขบคิดหรอกว่าเราต้องแก่ ตัวนี้เป็นความมัวเมา แล้วก็ไม่คิดว่าเราต้องตาย นี่คือความมัวเมาในชีวิต บางคนก็ไม่ได้คิดว่าตัวเองจะต้องเป็นโรค จุดนี้จึงเป็นปัญหาไง เป็นปัญหาที่ต้องให้คนอื่นคิดแทน

อย่างเช่นหลักประกันสุขภาพ ก็ต้องมานั่งคิดแทนเพราะว่าอะไร น้องๆใหม่ๆข้างหลังคงไม่รู้ แต่อาตมานี่รู้ มีคนไข้คนหนึ่งมารักษาที่โรงพยาบาลพระอาจารย์ฝั้น รักษาไป รักษาไป เอ๊ะ ทำไมลูกก็มาอยู่ด้วย แม่ก็มาอยู่ด้วย ภรรยามาอยู่ด้วย ถามไปถามมา ไม่มีเงินรักษา ขายบ้านขายช่องหมดแล้ว เลยต้องมานอนโรงพยาบาลเฝ้ากันอยู่อย่างนั้น อันนี้เป็นอย่างหนึ่ง อันนี้เห็นก็เลยถามว่าทำไมไม่บอก เพราะที่โรงพยาบาลพระอาจารย์ฝั้น ถ้าไม่มีเงินก็ไม่เก็บ ให้ฟรีหมด ถ้ามีก็เก็บ ไม่มีก็ไม่เก็บ เป็นนโยบายตั้งแต่สมัยก่อนนะ อันนี้อย่างหนึ่ง ไม่บอก ถามว่าทำไมไม่บอก ทีนี้มีอีกคนหนึ่ง ผ่าตัดไส้ติ่งใส่ทองนะ เงินค่ารักษาพยาบาลไม่จ่ายเหมือนกัน หายแล้วหนีเลยก็มี แต่คนจนบางคนนี่ซื่อสัตย์ไม่มีเงินขายบ้านขายช่องนะ แล้วถ้าเราคิดพิจารณาดูอีกนะ ถ้าเรามาไล่ดู เราหาเงินมาทั้งชีวิต พออายุเริ่ม ๔๐-๕๐-๖๐ นี่โรคมาแล้วใช่ไหม ตั้งแต่ ๔๐-๕๐-๖๐ นี่ แล้ววัยตรงนี้กำลังไม่เหมือนวัยหนุ่มสาวแล้ว วัยหนุ่มสาวเป็นวัยที่ควรหาเงินแล้วก็เก็บ แต่วัยอายุมากขึ้นสูงอายุขึ้น เป็นวัยที่ต้องใช้เงินน่ะ ไม่ใช่วัยหาเงินนะ ค่ารักษาพยาบาลค่าอะไร เพราะว่าสุขภาพร่างกายมันไม่คล่องตัวเหมือนวัยหนุ่มสาว แต่พอหนุ่มสาวขึ้นมานี่มัวเมาในวัย ไม่คิดว่าต้องแก่ต้องเจ็บ ก็ใช้เงินแบบสุรุ่ยสุร่ายเมื่อหามาได้ ไม่ได้เตรียม plan (วางแผน)ไว้ว่าอนาคตเมื่อเราแก่เราเจ็บขึ้นมา แล้วเราจะใช้เงินต้องรักษาตัวเอง แม้ถ้าเราไม่มีอาชีพแล้วเราจะกินอยู่อย่างไร นี่ต้องคิด อันนี้ก็เป็นส่วนหนึ่ง เมื่อหลักประกันสุขภาพของประเทศเกิดขึ้น คนส่วนนี้นี่ก็ได้ทางราชการรับภาระไปแทน ไม่นั้นนี่เราจะแก้ปัญหาไม่ออก บางคนหาชาวกินค่ำนะ พอถึงเวลาแก่ขึ้นมา เจ็บ เงินทั้งหมดน่ะต้องไปค่ารักษาพยาบาลหมด อันนี้เป็นส่วนหนึ่ง

เพราะฉะนั้นชาวบ้านเอยที่นาอะไรเอยต้องขายหมด เมื่อถึงตรงนั้นแล้วต้องขายหมด เพราะว่าเงินปัจจุบันนี่ คนที่หาได้มากก็ไม่รู้จักเก็บ คนที่หาชาวกินค่ำก็ไม่มีเก็บอยู่แล้ว พอป่วยขึ้นมาก็ต้องขายบ้านขายช่องไปหมด เพื่อมารักษาพยาบาล เพราะฉะนั้นหลักประกันสุขภาพนี่เป็นส่วนหนึ่งของความไม่ประมาท เรารู้ว่าเราจะต้องแก่ ต้องตาย ต้องเจ็บ ก็ต้องมีหลักที่จะแก้ปัญหาเหล่านี้ เหตุนั้นพระผู้มีพระภาคเจ้านี่ ท่านจึงตรัสไว้ก่อนที่ท่านจะออกบวช ท่านมาพิจารณาความมัวเมาในวัย ในความไม่มีโรคในชีวิต หมายความว่าท่านจะต้องแก่ต้องเจ็บต้องตาย เมื่อจะต้องแก่ต้องเจ็บต้องตาย เราจะทำอย่างไรเมื่อเวลาแก่เจ็บตายมันมาหา เราจะต้องเตรียมตัวไว้ก่อน คำว่าเตรียมตัวไว้ก่อนนั่นล่ะคือไม่ประมาท อันนี้ก็เหมือนกัน อันนี้เป็นเรื่องของ ๒ ส่วนนะ ส่วนของการดำรงชีวิตคือพวกเรานี่ เมื่ออยู่ในวัยที่ทำงานได้ ทรัพย์สมบัติที่หามาได้ ต้องรู้จักแบ่งกิน แบ่งใช้ แบ่งทำบุญ อันนี้ให้รู้จักแบ่ง แล้วก็แบ่งเก็บ อย่าใช้หมด เพราะใช้หมดแล้วเมื่อเราอยู่ในวัยที่เราหาไม่ได้ เราจำเป็นต้องใช้ อันนี้จะเป็นความเดือดร้อน เป็นความทุกข์เกิดใช่ไหม โยมว่าทุกข์ไหม นี้ล่ะคือข้อที่เราควรจะคิด อาตมาไปเทศน์อยู่ที่เอสซีจีเครือซีเมนต์ไทยที่ระยอง ก็ได้พูดเรื่องนี้ให้เขาคิด เพราะอะไรจึงพูด เพราะพวกเราเวลาทำงานนี่ มันก็มุ่งอยู่ในงานเป็นประจำวันใช่ไหม แล้วเราก็เลยลืมมาคิดถึงว่า ที่สุดของชีวิตเราแล้วนี่มันจะเจออะไรบ้าง เราต้องมานั่งคิดก่อนว่าเราต้องเจออะไร เมื่อเราต้องเจอสิ่งเหล่านั้น เราจะทำอย่างไรที่จะไม่ทุกข์ เราต้องเตรียมตัวก่อน จริงไหม เมื่อเราต้องแก่ ความไม่คล่องตัวเกิดขึ้น การใช้จ่ายในการรักษาตัวเองเกิดขึ้น เมื่อเรามีปัจจัยคือเงินทองพอใช้ เพราะการรักษานี้รัฐบาลช่วยได้ก็แค่ค่ารักษาพยาบาล แต่ญาติเอยอะไรเอยกินอยู่เอยที่มาเยี่ยมยังต้องมีนะรายจ่าย จริงไหม โยมที่พยาบาลที่ผ่านรุ่นพี่ๆแล้วจะรู้ เด็กๆที่กำลังเรียนยังไม่รู้หรอก นี่คือสิ่งที่เราต้องคิดต้องเตรียมตัว อันนี้เป็นเรื่องของร่างกายนะ มันก็เป็นธรรมแขนงหนึ่ง เป็นธรรมะแขนงหนึ่ง ความไม่ประมาท คือการรู้ความจริง

ข้อที่ ๒ เมื่อเรารู้ว่าเราต้องแก่ต้องเจ็บแล้วก็ต้องตาย ทำอย่างไรเมื่อการแก่การเจ็บการตายนั้นมาประสบเราจะไม่ทุกข์ อันนี้เป็นข้อที่ ๒ คือทุกข์กายนี้มันมีอยู่แล้วเวลาเจ็บป่วยนะ ทีนี้ปัญหาเรื่องเงินทองเรื่องการดูแลรักษา เมื่อเราได้เตรียมตัวแล้วมันจบแล้วนะ อันนั้นมันเป็นเรื่องที่จบไปแล้ว ถ้าเราได้เตรียมตัว ทีนี้เรื่องที่ ๒ คือเรื่องของจิตใจ เมื่อเราต้องมาเผชิญความแก่ความเจ็บความตาย จากที่เคยคล่องแคล่วว่องไว พออายุมากขึ้นความคล่องตัวก็ลดลง บางคนก็หงุดหงิดตัวเองนะ ใช่ไหม เพราะมันไม่เหมือนเดิม อันนี้ล่ะคือสิ่งที่เราต้องเตรียมใจ อันนั้นเตรียมเรื่องของกายแล้วนะ ต้องใช้สติปัญญาทั้งหมด ทีนี้ก็มาเรื่องเตรียมของใจอีก เตรียมใจเราทำอย่างไร เมื่อเราต้องเผชิญความแก่ความเจ็บความตาย นี่เตรียมอย่างไร เราก็ต้องมาพิจารณาร่างกายเรา บุคลากรทางการแพทย์เป็นผู้ที่มีโอกาสที่ได้เปรียบบุคลากรด้านอื่นมาก เพราะอะไรถึงพูดเช่นนั้น เพราะพวกเราได้เห็นตั้งแต่คนเกิดจนถึงคนตาย ทีนี้เราเห็นแล้วนี่ ถ้าเราทำงานสักแต่ว่าเป็นอาชีพ เป็นหน้าที่ของงาน มันก็ไม่ได้ประโยชน์อะไร ได้แค่เงินทองกับหน้าที่ ได้แต่การช่วยเหลือผู้อื่น อันนั้นเป็นเรื่องของผู้อื่น แต่ไม่ได้เรื่องของตนเอง ตนเองได้แค่รายได้มาเลี้ยงปากเลี้ยงท้องเลี้ยงครอบครัว อันนั้นเป็นเรื่องภายนอก เรื่องของกาย เรื่องของจิตใจไม่ได้ เมื่อเราเห็นสิ่งเหล่านี้นี่ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ เราทำวัตรกันทุกคนน่ะ สวากขาโต ภะคะวะตา ธัมโม ธรรมของเรากล่าวไว้ดีแล้วทุกประโยค สันทิฏฐิโก ผู้บรรลุจะพึงเห็นได้ด้วยตนเอง อะกาลิโล ไม่เลือกกาลเวลา เมื่อธรรมมีเหตุปัจจัยพร้อมผลก็ออกมานั่นเอง เอหิปัสสิโก ควรเรียกมาดูเถิด มาพิจารณา มาพิสูจน์ได้ โอปะนะยิโก น้อมเข้ามาใส่ตน ปัจจัตตัง เวทิตัพโพ วิญญูชนเมื่อประพฤติปฏิบัติแล้ว ความรู้ความเห็นนั้นก็รู้เฉพาะตน เป็นปัจจัตตัง คำว่าโอปะนะยิโก น้อมเข้ามาใส่ตนนั่นเอง เมื่อเราได้เห็นคนตั้งแต่เกิดจนตาย เราก็ต้องน้อมมาพิจารณาตนเทียบเคียง เราก็ต้องแก่ ต้องเจ็บ ต้องตาย เพราะเราเกิดมาแล้วไม่ต้องพูดถึง น้อมมาพิจารณาตัวเรา ว่าเรากับเขาก็เหมือนกัน เขาก็มีความเกิดขึ้นมาแล้วก็ต้องแก่เจ็บตายไป เราก็ต้องมีความแก่เจ็บตายไป ให้น้อมเข้ามา ให้สภาวธรรมข้างนอกกับสภาวธรรมภายในจิตใจนี่สัมพันธ์กัน น้อมเข้ามาพินิจพิจารณา เมื่อพินิจพิจารณาบ่อยๆสติปัญญานั้นจะเห็น จิตนั้นจะยอมรับความจริงว่ามันจริง ทุกคนเกิดมาแล้วต้องแก่ต้องเจ็บต้องตาย เมื่อเห็นอย่างนี้แล้ว เห็นถึงความทุกข์เห็นทุกอย่าง อุปาทานความยึดมั่นถือมั่นในกายนี้นี่จะลดลง

เมื่ออุปาทานความยึดมั่นถือมั่นในกายนี้ลดลง บางคนถ้ามีสติปัญญาสาวออกไปอีก ว่ากายนี้เกิดมาจากอะไร เราก็รู้ๆกันอยู่ ข้อที่ ๑ ก็คือเรื่องของสเปิร์มกับเรื่องของไข่ มีการปฏิสนธิเกิด มีอาหารผ่านมาทางรกเลี้ยงลูก เมื่อคลอดออกมาก็มีนมแม่ แล้วก็อาหารคาวหวานจนเติบโต กายนี้มีเหตุมีปัจจัยคือธาตุทั้ง ๔ จากภายนอกเป็นเหตุให้เกิด ส่วนเรื่องจิตที่มาปฏิสนธินั้นมันเป็นสิ่งที่นอกจากที่เราจะเห็นนะ จริงๆแล้วมันมี จิตแต่ละดวงจะมาปฏิสนธิ เมื่อเหตุปัจจัยคือมีการไข่กับอสุจิผสมกันแล้วจึงจะมาเกิด มาปฏิสนธิตรงนั้น มันมีเหตุปัจจัยอยู่คือกรรมนั่นเอง อันนั้นอีกส่วนหนึ่ง เมื่อเกิดขึ้นแล้ว กายนี้เกิดเพราะธาตุทั้ง ๔ อาหารคาวหวานทำให้แก่เจ็บตายไปนั่นเอง ธาตุเขาดำเนินของเขาไปเช่นนั้น เมื่อเราพิจารณาอย่างนี้บ่อยๆ มันจะเห็นความจริงว่า สิ่งเหล่านี้กายนี้นี่ มันมีเหตุปัจจัย เมื่อมีเหตุปัจจัย มันไปตามมันอย่างนั้น มันไม่ใช่ไปตามที่เราต้องการบังคับได้ สิ่งเหล่านี้จึงไม่ใช่ของเรา เมื่อเราเห็นตรงนี้ชัดแจ้งแก่ใจเราแล้ว เวลาความแก่ความเจ็บความตายมาเยือน จิตใจนั้นจะไม่หวั่นไหว ไม่หวั่นไหว เพราะเราได้ให้ภูมิคุ้มกัน คือสติปัญญานั่นเอง แก่จิตใจตนเองแล้ว เหมือนเราเด็กๆ เราฉีดวัคซีนน่ะ โยมคงจะรู้อย่างไข้ทรพิษ สมัยอาตมาเด็กๆเคยโดนฉีดอยู่ แต่พออาตมาไปเป็นแพทย์ ไม่มีอยู่ในสารบบของกระทรวงสาธารณสุข เพราะอะไร เพราะไข้ทรพิษมันไม่ได้แพร่ไปทางสัตว์ มันแพร่ไปทางคน เมื่อเราให้ภูมิคุ้มกันแก่มนุษย์ครบหมด มันจึงไม่มีพาหะที่จะกระจายต่อ เชื้อนั้นจึงหมดไปจากโลก ฉันใดฉันนั้น เมื่อเราให้ภูมิคุ้มกัน ให้ความจริง ให้สติปัญญาเกิดแก่ใจนั้น ใจนั้นก็มีภูมิคุ้มกัน ความมืดบอดคืออวิชชาย่อมไม่มี เมื่อความมืดบอดไม่มี เมื่อเรามาเผชิญความแก่ความเจ็บความตาย จิตนั้นจะกล้าหาญที่จะเผชิญความจริง ความทุกข์ขณะนั้นจะไม่มี อันนี้พูดเฉพาะในภพปัจจุบันนี้ที่เห็น แต่แท้จริงแล้ว เมื่อจิตนั้นดับไปแล้วมันไม่ได้สิ้นสุดแค่ตรงนี้ มันมีเหตุมีปัจจัยเมื่ออวิชชายังอยู่ มันมีเหตุมีปัจจัยที่ต้องไปเกิดต่อ ต่อเนื่องเป็นวัฏจักร หมุนเวียนอยู่อย่างนี้ไม่รู้กี่ภพกี่ชาติ เป็นอเนกเป็นอสงไขย นอกจากมีธรรมะของพระพุทธเจ้า เมื่อมาเข้าใจเรื่องกายใจตนเอง มาวิจัยเห็นความจริงในกายในใจตนเอง ความหลงก็ไม่มี เมื่อความหลงไม่มี ความไปเกิดก็ไม่มีนั่นเอง

อันนี้จึงพูดให้ฟัง ทีนี้พระผู้มีพระภาคเจ้ายังตรัสไว้อีกประโยคหนึ่งว่า การเกิดเป็นมนุษย์เป็นของหาได้ยาก การเกิดเป็นมนุษย์เป็นของหาได้ยาก อาการ ๓๒ ประการที่ได้มานี้ เขาเรียกว่ามนุษย์สมบัติ มนุษย์สมบัติที่เราได้ทั้งหมดนี่ สมบัติเบื้องแรกเขาเรียกมนุษย์สมบัติ มนุษย์สมบัติเป็นภูมิที่จะไปสร้างสมบัติภายนอกได้ โยมเคยย้อนกลับไปไหม ตอนเด็กๆเราเกิดมานี่มีใครคาบช้อนเงินช้อนทองมาด้วย มีแต่ต้องมาหาเองใช่ไหม นั้นล่ะคือมนุษย์สมบัติสามารถไปหาทรัพย์สมบัติภายนอกได้ มนุษย์สมบัติสามารถจะไปสู่สวรรค์สมบัติได้ ไปสู่นิพพานสมบัติได้ มนุษย์สมบัติก็สามารถไปสู่อบายภูมิได้ จึงเป็นภูมิที่กลางๆ เป็นภูมิที่จะสามารถขึ้นถึงที่สุดแห่งกองทุกข์ได้ มนุษย์สมบัติทำไมว่าเป็นของหาได้ยาก เพราะการจะมาเกิดเป็นมนุษย์ ในทุกรูปทุกนามนั้นไม่ใช่จะเกิดได้ จิตทุกดวงไม่สามารถจะเกิดเป็นมนุษย์ได้ทุกดวง จึงแยกเป็น ๓๑ ภูมิ เพราะอะไร เพราะว่าคนจะเกิดเป็นมนุษย์ต้องอาศัยบุญกุศลนะ พวกโยมต้องสั่งสมบุญกุศลมา จึงมาได้เกิดเป็นมนุษย์ คนที่จะรอเกิดเป็นมนุษย์อีกเยอะแยะหมด ใน ๖-๗ พันล้านคนนี่เป็นเรื่องเล็กนะ เป็นจำนวนน้อยนิดเมื่อเทียบกับจิตวิญญาณที่จะมาเกิด เทียบกันแล้วต่างกันมหาศาลน่ะ เหตุนั้นเมื่อเราเกิดเป็นมนุษย์ได้ มันต้องอาศัยคุณธรรม อาศัยบุญกุศลอันหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสไว้ว่าเป็นของหาได้ยาก แล้วเป็นภูมิที่จะสามารถขึ้นถึงที่สุดแห่งกองทุกข์ได้ แล้วข้อที่ ๒ พระองค์ได้ตรัสอีกว่า การเกิดของพระพุทธเจ้าเป็นสิ่งที่หาได้ยาก เพราะพระพุทธเจ้ากว่าจะตรัสรู้ได้พระองค์หนึ่ง อย่างน้อยที่สุดต้องสั่งสมบารมี ๒๐ อสงไขยแสนกัป หมายความว่าเมื่อท่านปรารถนาเป็นพระพุทธเจ้า ท่านสร้างบารมี ๗ อสงไขยไม่ออกปากนึกในใจ แล้วสร้างบารมีต่ออีกอีก ๙ อสงไขยออกปากปรารถนาเป็นพระพุทธเจ้า รวมกับ ๗ เป็น ๑๖ อสงไขยนี่บารมีจึงเต็ม บารมีเต็มแล้วจึงได้รับพุทธพยากรณ์จากพระพุทธเจ้าองค์ก่อน รวมเป็น ๒๐ อสงไขยจึงได้สำเร็จเป็นพระพุทธเจ้า อันนี้ปัญญานำ ถ้าศรัทธานำหรือวิริยะนำต้องคูณสอง ศรัทธาต้อง ๔๐ อสงไขย วิริยะต้อง ๘๐ อสงไขย อันนี้เป็นเรื่องที่ยาวไกลมาก ทีนี้ท่านบอกไว้ว่า การมาเจอพระสัทธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าเป็นสิ่งที่หาได้ยาก เพราอะไร เพราะธรรมะจะเกิดขึ้นมาให้เรารู้ให้เราเห็นได้นั้น ต้องอาศัยพระพุทธเจ้าสั่งสมบารมีมา ๒๐ อสงไขย มันยาวไกลมาก ของเรามาเจอง่ายๆ search(หา)เข้าไปในอินเทอร์เนตก็เห็นในพระไตรปิฎก เห็นในต่างๆ เราก็เลยคิดว่าเราได้เจอง่ายๆ จริงๆแล้วไม่ใช่เจอง่ายๆ การจะมาเกิดในยุคสมัยที่เจอพุทธศาสนาก็เป็นบุญอันหนึ่ง อันนี้ล่ะเป็นสิ่งที่หาได้ยาก

ทีนี้พระองค์ก็ตรัสอีกประโยคหนึ่ง เมื่อไฟจะไหม้บ้านให้รีบขนสมบัติออกจากบ้าน โยมเคยเห็นไหมไฟมันไหม้บ้านแล้ว ถ้าเราไม่ขนออกมันหายหมด ที่บ้านอาตมา โยมพ่อโยมแม่เคยโดนมาทีหนึ่ง หมดเลย ไม่ได้ประกันด้วย เพราะฉะนั้นโบราณสุภาษิตจีนจึงบอก โจรเข้าบ้าน ๗ ครั้งสู้ไฟไหม้บ้านครั้งเดียวไม่ได้ หมดทุกอย่าง อันนี้คำว่าบ้านคืออะไร ไฟไหม้บ้านคือลมดับนั่นเอง ไฟไหม้บ้านคือลมดับ เมื่อลมดับ เราไม่ขนสมบัติออกจากบ้าน มนุษย์สมบัติก็สูญ ถูกไฟเผาเป็นเถ้าถ่าน ทรัพย์สมบัติที่หามาก็ให้คนอื่นใช้ สมบัติผลัดกันชม ไม่มีอะไรเป็นของเรา แล้วภพภูมิอย่างน้อยๆที่จะได้มาเกิดเป็นมนุษย์น่ะจะได้อีกไหม พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงสอนไว้เตือนไม่ให้ประมาท เมื่อไฟจะไหม้บ้านให้รีบขนสมบัติออกจากบ้าน หมายความว่า ให้นำมนุษย์สมบัตินี่ กายใจเรานี้นี่ มาสร้างทานศีลภาวนา ทานก็เป็นสมบัติอันหนึ่ง ศีลก็เป็นสมบัติอันหนึ่ง ภาวนาสติปัญญาก็เป็นสมบัติอันหนึ่ง เปลี่ยนสมบัติภายนอกเป็นอริยทรัพย์คือสมบัติภายใน เมื่อลมดับเรามีทรัพย์สมบัติภายในแล้ว ตัวบุญกุศลตรงนี้น่ะจะผลักดันให้เราไปเกิดในภพภูมิที่ดีขึ้น เหมือนเรามีเงินฝากไว้ในธนาคาร เราขนไว้หมดแล้ว ไฟไหม้บ้านเราก็ไปสร้างบ้านใหม่ที่ดีกว่าเก่าได้ ฉันใดฉันนั้น ทำไมอาตมาจึงมาพูดเรื่องนี้ เพื่อจะมาบอกญาติโยมทั้งหลายว่า ชีวิตมนุษย์เรานี่เหมือนเรือในมหาสมุทร โยมเคยเห็นเรือเดินสมุทรไหม อยู่แถวเกาะสีชังมันไปจอดเรื่อย เรือเดินสมุทรนี่เขาเคยนิมนต์ขึ้นไป มีทั้งห้องครัวห้องอะไรทุกอย่าง มีทั้งห้องเครื่อง มีการซ่อมแซมในตัวหมด อ๊อกเอิ๊กอะไรมีหมด เรือลำนั้นที่เขานิมนต์ไป เขาบอกว่าเจอพายุใหญ่ เขาจึงอธิษฐานว่า ถ้าเขาผ่านพ้นตรงนั้นได้เรือไม่อับปาง เขาจะมาทำบุญ นิมนต์พระขึ้นมาสวดทำบุญฉลองที่เรือ ก็เลยมีโอกาสไปดู เวลาเรือเดินสมุทรนั้นน่ะเดินทางนะ จะต้องเตรียมเสบียงทั้งหมด ทั้งน้ำทั้งอาหารแล้วก็ทั้งเชื้อเพลิง แล้วก็ต้องมีเข็มทิศ เดินทางให้เข้าไปถึงท่าให้ได้ ไปถึงจุดหมายปลายทางให้ได้ เวลามีพายุเกิดนี่เขาจะทำอย่างไร ถ้าพายุใหญ่นะ เขาจะต้องหาเกาะหาที่กำบัง อันนี้เป็นการเดินเรือ

มนุษย์เราก็เหมือนกัน ชีวิตของมนุษย์ทุกรูปทุกนามเหมือนเรือในมหาสมุทรน่ะ เดินอยู่ในมหาสมุทร วัฏสงสารนั่นเอง วัฏสงสารนั่นเองที่เราเดินอยู่ เหตุนั้นเราต้องเตรียมเสบียงอาหารให้พร้อมคือบุญกุศลนั่นเอง เข็มทิศให้ถูกต้อง เมื่อเข็มทิศถูกต้อง เป้าหมายถูกต้อง การเดินทางนั้นจึงจะปลอดภัย ถึงที่หมายโดยสวัสดิภาพนั่นเอง เหตุนั้นจึงมาพูดให้ฟัง ให้เราได้เตรียมตัวเตรียมใจเอาไว้ เมื่อเราเตรียมตัวเตรียมใจเอาไว้พร้อมแล้ว ไม่ใช่เฉพาะการทำงานในอัตภาพของมนุษย์นี้ ต่อไปในภายภาคหน้า แม้เรายังไม่สิ้นสุดแห่งกองทุกข์ เราก็ยังมีที่พึ่งคือบุญกุศล คือสัมมาทิฏฐิที่เราวางไว้นั่นเอง คือความเห็นที่ถูกต้อง เราจึงจะไปสู่สุคติหรือสู่ที่หมายโดยปลอดภัยนั่นเอง ถ้าเราไม่เตรียมตัวไว้ อนาคตถ้าเราประสบสิ่งเหล่านั้นความทุกข์ย่อมมาเยือนนั่นเอง ทีนี้ย้อนมาอีกนิดหนึ่งก่อนจะจบ ที่บอกว่าธรรมะนั้นน่ะเป็นเรื่องของชีวิตประจำวันนะ เป็นเรื่องของการเจริญตัวสติ เจริญสมาธิในประจำวัน เวลาจะทำอะไรให้มีสติระลึกตามมือตามเท้าตามงานที่เราทำ อย่าให้พลั้งเผลอ เมื่อพลั้งเผลอปัญหาย่อมเกิด เมื่อปัญหาเกิด ถ้ามีกรรมในจุดนั้นอนาคตก็ต้องใช้กรรมตรงนั้น เหตุนั้นที่เราเจอไม่ว่าพระราชบัญญัติที่กำลังจะเข้าสภาเร็วๆนี้ หรืออะไรเอย อันนั้นเป็นปลายเหตุ ต้นเหตุอยู่ที่การกระทำ ถ้าเรากระทำไม่ผิดพลาดด้วยมาตรฐาน ด้วยสติด้วยปัญญาเท่าทันปัจจุบันตรงนั้น ปัญหาก็ไม่มี เมื่อปัญหาไม่มีการฟ้องร้องก็ไม่มีนั่นเอง แล้วเราก็ไม่ต้องระแวงว่าจะถูกฟ้องร้อง เหมือนอาตมาสมัยเป็นแพทย์ เวลาผ่าตัดคนไข้ แพทย์บางคนจะฟังวิทยุฟังเพลงไปด้วย แต่อาตมาไม่เคยฟัง เวลาผ่าตัดสติจะอยู่ที่มือกับที่field(พื้นที่)ผ่าตัดตลอด เมื่อผ่าตัดเสร็จวางมีดเมื่อไหร่จะรู้ทันทีว่า case(ผู้ป่วย)นี้รายนี้จะเกิดปัญหาหรือไม่เกิดปัญหา จะรู้หมด เพราะสติมันได้ตามทุก step(ขั้นตอน)ของงานนั้น เมื่อมันตามแล้วมันจะรู้ทันทีว่าตรงจุดไหนที่ยากที่มีปัญหา เราก็ได้จัดการแก้ปัญหาจนสุดความสามารถ เมื่อมันสุดความสามารถปัญหาอะไรจะตามมาเราก็รู้อีก เพราะมันเป็นเหตุสุดวิสัย อันนี้การทำงานเหมือนกัน ไม่ว่างานในหน้าที่อะไร ถ้าเราใช้สติปฏิบัติอยู่ในงานนั้นให้มาก ระลึกให้มาก คิดพิจารณาให้มาก ความรอบคอบจะตามมา เมื่อความรอบคอบตามมาความผิดพลาดจะน้อยลง เมื่อความผิดพลาดน้อยลงปัญหาที่จะตามมาก็น้อยลง ปัญหาที่ตามมาน้อยลงการฟ้องร้องก็น้อยลง

การทำทุกอย่างเป็นกรรมหมด ให้ระลึกไว้อย่างนี้ อย่าคิดว่าเราทำสักแต่ว่าทำ ให้เราทำด้วยเมตตา ด้วยสติปัญญา คือสร้างกุศลกรรมนั่นเอง ถ้าเราใช้โมหะทำ ไม่ใช้สติปัญญาทำนั่นเป็นอกุศลกรรม ตรงนั้นล่ะถ้าเรามีกรรมในอดีต มันจะเกิดปัญหาให้เราต้องใช้กรรม อันนี้ให้ข้อคิดให้ข้อพิจารณา เพราะฉะนั้นสติในปัจจุบันให้ระลึกให้มาก ก็คือการปฏิบัติธรรมนั่นเอง การปฏิบัติธรรมคือการมีสตินั่นเอง มีสมาธินั่นเอง มีปัญญาให้รอบรู้ในกิจการที่ทำนั่นเอง อันนั้นเป็นภายนอก แต่คนคิดว่าเป็นเรื่องภายนอก ไม่ใช่นะ เพราะสติสมาธิปัญญาที่เราตั้งมั่นอยู่ในงานนั้นน่ะ ตัวสติสมาธิปัญญาไม่ได้หายไปไหน แต่ไปใช้เรื่องงาน วันหนึ่งเราโอปะนะยิโกน้อมมาพิจารณากายใจเรา ตัวสติสมาธิปัญญานั่นเองเป็นอุปกรณ์คือเครื่องมือมาวิจัยกายใจเรา เมื่อเราเห็นแจ้งในกายใจเรา ปัญหาความทุกข์ก็จะดับนั่นเอง นั้นล่ะปฏิบัติธรรม คนปฏิบัติธรรมต้องทั้งนอกทั้งใน สติสัมปชัญญะตัวเดียวกันหมด ไม่ได้แยกว่าเป็นของโลกของธรรม มันเป็นธรรมหมด เหตุนั้นจึงพูดไว้ในเบื้องต้นว่า การปฏิบัติธรรมนั้นเป็นเรื่องของชีวิตประจำวัน คือการฝึกสตินั่นเอง ฝึกสมาธิให้ตั้งมั่นในงาน เมื่อเราทำสิ่งใดก็ตั้งมั่นอยู่ในตรงนั้น เมื่อไปทำจุดไหนก็ตั้งมั่นจุดนั้น นั่นคือตัวสมาธิ ส่วนใหญ่เราไปคิดสมาธิคือตัวสงบนั่งนิ่งๆเฉยๆ อันนั้นเขาเรียกปัสสัทธิคือความสงบ สมาธิคือความตั้งมั่นแห่งจิต เมื่อจิตนั้นตั้งมั่นในกิจการใดกิจการนั้นก็คือมีสมาธิอยู่ ปัญญาคือความรอบรู้ในสิ่งนั้น เหตุนั้นให้เข้าใจ เพราะนั้นการปฏิบัติธรรมถ้าเรารู้จุดนี้ มันคือสิ่งที่อยู่ในชีวิตประจำวันเรา เป็นสิ่งที่จำเป็นต่อทุกรูปทุกนามทุกชีวิตนั่นเอง อันนี้ก็ขอยุติแต่เพียงเท่านี้

แล้วจะให้ดูรูปบางรูปซึ่งเป็นอานุภาพพระพุทธเจ้า อานุภาพพระปัจเจกพุทธเจ้า เหล่าเทพ เหล่าพรหม ให้เราได้รู้ได้เห็นน่ะ ว่าสิ่งเหล่านี้ภพภูมิต่างๆมีจริงนะ ไม่ใช่ไม่มีจริง เมื่อมีจริงก็จึงมีการเวียนว่ายตายเกิดอยู่ เมื่อมีการเวียนว่ายตายเกิดอยู่ เราจะดำเนินชีวิตเราไปอย่างไรด้วยความปลอดภัย คำว่าปลอดภัยก็คือมีความสุขนั่นเอง คำว่าไม่ปลอดภัยก็คือมีความทุกข์นั่นเอง ชีวิตเราไม่ใช่แค่อัตภาพนี้ ยังต้องเดินไปในภายภาคหน้าอยู่ อีกไม่รู้กี่ภพกี่ชาติจนกว่าจะเข้าสู่พระนิพพานนั่นเอง ถ้าเราเข้าใจอย่างนี้ เราวางความเห็นเราให้ตรง แล้วเตรียมตัวให้ตรง ความทุกข์ก็จะน้อยนั่นเอง อันนี้จึงอยากจะบอก อยากจะให้ดูนะ ก็ขอยุติแต่เพียงเท่านี้ ขอเจริญพร (ฉายให้ดูภาพต่างๆประมาณ ๒๖ นาที) อันนี้ให้ดู ที่ให้ดูนี่ให้รู้ว่า ๑ นะ อานุภาพพระพุทธเจ้ามีอยู่จริง อานุภาพพระธรรม พระสงฆ์นี้มีจริง ข้อที่ ๒ พวกเทพ เหล่าเทพ เหล่าพรหมก็มีจริง เดี๋ยวนี้กล้องสมัยใหม่ดิจิตอลมันถ่ายได้ แล้วก็ภพภูมิต่างๆที่พระพุทธเจ้าแสดงนี่มีจริง เมื่อมีอยู่จริงนะ เราอย่าประมาท เราไม่ใช่แค่มองแค่ว่า short(ช่วง)การทำงานของปัจจุบันนี่ เราต้องมองไปถึงว่าเราจะเดินทางในทะเลมหาสมุทรของวัฏสงสารนี้ จะเดินอย่างไรด้วยความปลอดภัย จนกว่าเมื่อไหร่เรามีจิตใจปรารถนาพ้นจากกองทุกข์ถึงพระนิพพาน เมื่อถึงพระนิพพานแล้ววัฏสงสารนี้ก็ไม่ต้องเดินแล้ว อันนี้จึงมาให้ดูเพื่อเตือนสติ ว่าวิทยาการปัจจุบันเดี๋ยวนี้มันเริ่มเห็นอะไรบางอย่างแล้ว เมื่อเห็นแล้วเราอย่าประมาท ที่ให้ดูด้วยเหตุผลอันนี้ ว่ามันมีอยู่จริงหมด เมื่อมีอยู่จริงแล้วอย่าประมาท นี่เขาก็มาฟังธรรม เทวดาเขามาฟังธรรมเต็มไปหมด นี่เต็มไปหมด พวกนี่เขาฟังธรรมเขาก็บรรลุธรรมเหมือนกัน เวลาแสดงธรรมเขาก็มาฟังธรรมกัน เหมือนกับมนุษย์นี่แต่มากกว่ามนุษย์ด้วยนะเวลามา มนุษย์น้อยกว่าเขาเยอะ แต่มนุษย์มองไม่เห็นเขา แต่เขาเห็นมนุษย์ ทีนี้ล่ะจึงเอามาเป็นรูปธรรมเป็นหลักฐานให้เราได้เห็น เมื่อเห็นแล้วเราอย่าประมาท จะทำอย่างไรที่จะเดินทางโดยปลอดภัย อันนี้อาตมาพูดเกินหัวข้อนะ หัวข้อทำงานอย่างไรให้มีความสุข อาตมาไม่ใช่แค่ทำงานอย่างไรในงาน มันไปตั้งแต่เกิดจนตาย จนเวียนทุกภพทุกชาติ ทำอย่างไรจะให้ไม่ลำบาก ให้ปลอดภัย ให้พบความสุขที่แท้จริงคือพระนิพพานในที่สุดนั่นเอง เมื่อเรารู้เหตุแห่งทุกข์คือใจนั่นเอง รู้อุปาทาน เราก็หัดพิจารณากายใจเรา ให้เห็นความจริง ให้ใช้สติสมาธิปัญญาให้มาก อย่าทิ้งสติสมาธิปัญญาในงานนั่นเอง จึงจะพบความสุขนะ หนูๆข้างหลังเข้าใจไหมล่ะ นักศึกษาน่ะ ฝึกสติให้มากนะ สติคือการระลึก จะทำ จะเดิน จะเหิน จะคู้ จะเหยียดให้ระลึกตามตลอด จะคิดก็ให้มีสติระลึกตามมัน จะพูดก็ให้มีสติระลึก สิ่งใดควรทำให้ทำ สิ่งใดไม่ควรทำอย่าทำ สตินั่นเองจะเป็นตัวเบรกตัวกั้น เมื่อเรามีสติจะรู้นั่นเอง นี้ให้เข้าใจ ก็ขอยุติแต่เพียงเท่านี้นะ
"ดูก่อน ทีฆนขะ มนุษย์เรานี้ บุคคลใดได้รับความสุข ก็จะลืมความทุกข์ชั่วขณะ บุคคลใดได้รับความทุกข์ ก็หาความสุขขณะนั้นไม่พบ คนส่วนมาก เมื่อมีทุกข์ มักคิดว่าทุกข์นั้นเป็นสิ่งเที่ยงแท้ เมื่อมีสุข ก็สำคัญว่าสุขนั้นจะอยู่กับเราตลอดไป หาคิดไม่ ว่าเป็นเสมือนการเห็นดวงจันทร์ในขันน้ำ มิอาจคว้าดวงจันทร์นั้นได้ คว้าได้แต่ขันเท่านั้นเอง สุขและทุกข์จึงเป็นของไม่เที่ยง เมื่อเห็นดังนี้แล้ว ผู้มีสติก็ย่อมเบื่อหน่ายทั้งสุขและทุกข์ ย่อมหลุดพ้นจากความยึดมั่นถือมั่น ไม่วิวาททุ่มเถียงกับผู้ใด แม้คำพูดนั้นจะระคายหู ก็ให้มีสติรู้ ว่าเป็นเพียงแค่คำพูดเท่านั้น"(พุทธพจน์)
ผู้เขียน
 
จำนวนผู้ตอบ: 77
สมัครสมาชิก: Sun Mar 14, 2010 12:23 pm
ที่อยู่: 4 Gunnamatta Place, Kelmscott, Western Australia, Australia, 6111

Re: พระอาจารย์แสดงธรรมที่ มหาสารคาม

Postโดย kanlaya » Wed Nov 24, 2010 1:00 pm

สาธุ อนุโมทนากับผู้ที่ถอดเทป และผู้นำธรรมะมาช่วยเผยแผ่ด้วยค่ะ การอ่านครั้งนี้ มันกลั้นน้ำตาไม่ได้เลย อ่านไปเหมือนเป็นเสียงท่านเทศน์ให้ฟังเป็นวรรคเป็นตอน พร้อมกับน้ำเสียงที่มีแต่ความเมตตาปรารถนาให้ผู้อ่านผู้ฟังได้พบเห็นสัจจธรรมนั้นๆ ตามเป็นจริง (ไม่เหมือนเราอ่านแบบทุกๆครั้งที่ผ่านมาเลย) อ่านจบแล้วก็ยังน้ำหูน้ำตาไหล เพราะท่านกล่าวแต่เรื่องสัจจธรรมล้วนๆ พร้อมบ่มเพาะสติปัญญาให้พิจารณา ระลึกตามในเวลาเดียวกัน มันซาบซึ้งในธรรมที่ท่านได้กล่าวแสดงแจ้งไข พร้อมทั้งเตือนสติในความไม่ประมาท มันแทงเข้าไปสู่ก้นบึ้งของใจ มันสะเทือนไปทั้งใจเพราะเราพิจารณาตามที่ท่านกล่าวแล้วมันก็เห็นจริงดังที่ท่านกล่าว อย่างไรก็ตามข้าพเจ้าขอเติมน้ำใส่ตุ่มทีละเล็กละน้อย ค่อยๆสะสม ความเห็นที่ถูกที่ตรงไปเรื่อยๆ จนกว่าจะเต็ม สาธุค่ะ
kanlaya
 
จำนวนผู้ตอบ: 8
สมัครสมาชิก: Mon Jul 05, 2010 6:51 pm

Re: พระอาจารย์แสดงธรรมที่ มหาสารคาม

Postโดย wiweksikkaram.hi5 » Sun Apr 10, 2011 5:53 am

พระธรรมเทศนา พระอาจารย์ วิชัย กัมมสุทโธ เมตตาแสดงธรรม ณ วิทยาลัยพยาบาลศรีมหาสารคาม จ.มหาสารคาม เมื่อวันที่ ๒๑ ตุลาคม ๒๕๕๓

เรื่องที่ 66 ไม่ประมาทในการเดินทาง

66-ไม่ประมาทในการเดินทาง-21 ต.ค.53.mp3
เวลาทำสมาธิ

ให้ระลึกลมหายใจเข้าออก

ให้รู้ลมหายใจเข้าออก

หายใจเข้าสั้นก็รู้

หายใจออกสั้นก็รู้

หายใจเข้ายาวก็รู้

หายใจออกยาวก็รู้

ไม่ต้องบังคับลมหายใจ

ตามรู้ลมหายใจเข้าออก

สงบก็รู้ ไม่สงบก็รู้

สงบก็ไม่ยินดี ไม่สงบก็ไม่ยินร้าย

ไม่เอาทั้งสงบและไม่สงบ

เอาแค่รู้ตามความเป็นจริงของสภาวธรรมปัจจุบันนั้น

ทำอะไรก็ให้รู้เหตุปัจจัย

รู้ไม่ใช่เพื่อ ยินดี ยินร้าย รู้เพื่อให้ รู้เหตุปัจจัย

เหตุแห่งความเจริญ

เคารพ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์

เคารพ สิกขา 3 ศีล สมาธิ ปัญญา

เคารพในความไม่ประมาท

เคารพในการปฎิสันฐาน

เคารพใน ศีล

เคารพใน สมาธิ

เคารพในกันและกัน

หลักตัดสิน ธรรมวินัย 8 ประการ

ธรรมเหล่านี้เป็นไปเพื่อคลายกำหนัด

เป็นไปเพื่อไม่ประกอบสัตว์ไว้

เป็นไปเพื่อไม่สั่งสมกิเลส

เป็นไปเพื่อความเป็นผู้มักน้อย

เป็นไปเพื่อสันโดษ

เป็นไปเพื่อความสงัดจากหมู่คณะ

เป็นไปเพื่อปรารภความเพียร

เป็นไปเพื่อความเป็นคนเลี้ยงง่าย

ธรรมที่ควรเจริญ

สติ

สัมปัชชัญญะ

ศีล

สมาธิ

ปัญญา

วิมุตติ

วิมุตติญาณทัสสนะ

สัมมาทิฏฐิ เห็นชอบ

สัมมาสังกัปปะ ดำริชอบ

สัมมาวาจา พูดชอบ

สัมมาอาชีโว อาชีพชอบ

สัมมากัมมันโต การงานชอบ

สัมมาวายาโม ความเพียรชอบ

สัมมาสติ ระลึกชอบ

สัมมาสมาธิ ตั้งมั่นชอบ

สัมมาญาณะ ความรู้ชอบ

สัมมาวิมุตติ หลุดพ้นชอบ

สัมมาวิมุตติญาณทัสสนะ ความเห็นในการหลุดพ้นชอบ

สัมมาทิฏฐิ

คือ รู้ชัดซึ่ง เหตุแห่ง กุศล วิชชา เป็น เหตุ

รู้ชัดซึ่ง เหตุแห่ง อกุศล อวิชชา เป็น เหตุ

การบรรลุธรรมอาศัย สติ ปัญญา อุเบกขา เป็นมัทยัทธ์

รักษาสัจจะ เพิ่มพูลจาคะ ไม่ประมาทปัญญา ศึกษาสันติ

การปฎิบัติธรรม

คบสัตบุรุษ ฟังพระสัทธรรม อยู่ในประเทศเหมาะสม ตั้งสัจจะ เดินสัมมาทิฏฐิ เจริญความสงบ

ออกพิจารณาด้านปัญญา + พลังกุศล - บ่มอินทรีย์ นิพพิทา วิราคะ วิมุตติ วิมุตติญาณทัสสนะ

สติ - ศีล - สมาธิ - ปัญญา - วิมุตติ - วิมุตติญาณทัสสนะ

อัปปมาโณพุทโธ อานุภาพพระพุทธเจ้าไม่มีประมาณ

อัปปมาโณธัมโม อานุภาพพระธรรมไม่มีประมาณ

อัปปมาโณสังโฆ อานุภาพพระสงฆ์ไม่มีประมาณ

เรื่องของสมมติ อวิชชา ตัวตน ยึดตรงไหน หลงที่ไหน ผิดที่นั้น จุดต่อมแห่งภพชาติ

wiweksikkaram.hi5
 
จำนวนผู้ตอบ: 114
สมัครสมาชิก: Mon Mar 15, 2010 12:20 am
ที่อยู่: สุทธาวาสภูมิ


กลับไปหน้า ธรรมเพื่อชีวิต

ผู้ที่กำลัง online

ผู้ที่กำลังอ่าน forum นี้: สมาชิก ไม่มีสมาชิก และ ผู้เยี่ยมชม 4 คน

cron