ความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนจากความจริง

เพื่อสนทนาธรรม และแลกเปลี่ยนความคิดเห็น เพื่อความเป็นกัลยาณมิตร กัลยาณธรรมที่ดีต่อกัน

ความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนจากความจริง

Postโดย Lich » Sat Nov 13, 2010 6:01 pm


อ้างเรื่องสาัมัคคี ไม่สามัคคี

สามัคคีเพื่อทำความดีก็สาธุ แต่นี่สามัคคี เพื่ออะไรอย่างอื่นแอบแฝงหรือเปล่า


พระพุทธเจ้า ออกบิณฑบาต ณ เมืองพล ? เห็นแล้วอยากร้องไห้ ถามกลับหน่อยว่า พระพุทธเจ้า ท่านยังทรงฉันข้าวเป็นเม็ดๆแบบนั้นอีกเหรอ?

บิณฑบาตตอนก่อนฟ้ารุ่งขนาดนั้น ของที่ได้มา เป็นนิสสัคคีย์ปาจิตตีย์ทั้งหมด ฉันได้หรือไม่?

แก้ตัวกันใหญ่ เรื่อง
พระพุทธเจ้าพระองค์ก่อนๆ เมื่อเสด็จดับขันธปรินิพพานไปแล้ว เมื่อสิ้นศาสนา พระบรมสารีริกธาตุจะมารวมตัวกันแล้วถูกไฟทิพย์เผาจนอันตรธานสูญสิ้นไปหมด


ออกมาแก้ตัว เพราะไปทำลายจุดขายของตนหรือเปล่า ?
Lich
 
จำนวนผู้ตอบ: 1
สมัครสมาชิก: Sat Nov 13, 2010 5:36 pm

Re: ความเปลี่ยนแปลงในใจ (ครบ ๒ ตอน)

Postโดย ผู้เขียน » Sat Nov 20, 2010 1:17 pm

ผมขออัญเชิญข้อธรรมของพระอาจารย์วิชัย กัมมสุทโธ ที่ได้เมตตาตอบปัญหาตามที่คุณ Lich แย้งไว้ข้างบน ครับ

ความเข้าใจที่ยังคลาดเคลื่อนจากความจริง

ได้มีผู้อ่านเรื่องธรรมะและเรื่องราวของที่พักสงฆ์ป่าวิเวกสิกขารามแล้วสงสัยในเรื่องของธรรมะ เรื่องอานุภาพพระพุทธเจ้า และเรื่องพระวินัย ได้ตั้งคำถามขึ้น อาตมาในฐานะที่เกี่ยวข้องก็จะขออนุญาตตอบปัญหาที่ถาม

๑.ข้อคำถาม “อ้างเรื่องสามัคคี ไม่สามัคคี สามัคคีเพื่อทำความดีก็สาธุ แต่นี่สามัคคีเพื่ออะไรอย่างอื่นแอบแฝงหรือเปล่า”

ตอบ -ขอให้ไปอ่านธรรมเทศนาเรื่องทิฏฐิ ๓ ในหัวข้อธรรมเพื่อชีวิต ให้อ่านด้วยสติปัญญา ไม่อ่านด้วยอคติโลภโกรธหลง ให้พิจารณาแต่ละคำแต่ละประโยคให้ถึงอรรถธรรมที่พระพุทธเจ้าสอน จะเห็นถึงพระเมตตาคุณ พระบริสุทธิคุณ พระปัญญาคุณของพระพุทธเจ้า จะเห็นถึงคุณค่าของคำว่า สามัคคีไม่ทะเลาะวิวาท การไม่กล่าวร้ายกัน(อนูปวาโท) การไม่ทำลายกัน(อนูปฆาโต) พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสไว้ในโอวาทปาฏิโมกข์ และในที่อื่นๆของพระไตรปิฎก ว่าเป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าทุกๆพระองค์ ทำไมพระองค์จึงตรัสให้น้ำหนักถึงขนาดนี้ เป็นเรื่องที่น่าพิจารณา ซึ่งเราพุทธบริษัทไม่ควรมองข้าม พระองค์ยังสอนไม่ให้ไปเพ่งโทษข้างนอก สอนให้มาดูตนเอง มาพิจารณาโทษตนเอง ดังคำสอนในปัพพชิตอภิณหปัจจเวกขณ์ ๑๐ ประการ หาดูได้ในนวโกวาท หรือพระไตรปิฎกก็ได้ เพราะคำสอนเรื่องนี้ สอนให้เชื่อกฎแห่งกรรม สอนถึงการละทิฏฐิ ละความสำคัญมั่นหมายคืออุปาทานในสมมติ สอนถึงสุญญตา เป็นคำสอนที่มีจุดประสงค์มุ่งถึงแก่นพระศาสนา เป็นคำสอนที่มุ่งต่อประโยชน์ของทั้งตนเองผู้ปฏิบัติและมหาชน เพราะเมื่อความสามัคคีไม่ทะเลาะวิวาท การไม่กล่าวร้ายกัน(อนูปวาโท) การไม่ทำลายกัน(อนูปฆาโต)เกิดขึ้น จะเป็นบรรยากาศเอื้อต่อการภาวนา และไม่ให้ช่องต่อทิฏฐิต่อมานะต่ออวิชชา(กระแสโลกนั่นเอง) กระแสธรรมะก็จะเข้าสู่ใจได้ง่าย สังคมนั้นก็มีแต่ความสงบ นัตถิ สันติปรัง สุขัง สุขอื่นยิ่งกว่าความสงบไม่มี การพูดเรื่องสามัคคีก็เพื่อสามัคคีเพื่อความเจริญในธรรมะนั่นเอง เพื่อเดินตามรอยเบื้องยุคลบาทพระศาสดาที่พระองค์ตรัส ให้บอกสอนใจความแห่งพระสูตรทั้งหลายแก่คนอื่นๆ เพื่อการเจริญของพระศาสนาในใจของผู้ได้ฟังนั้น ให้รู้เห็นอรรถธรรมที่ลึกซึ้งในใจผู้นำไปปฏิบัติ แล้วจะได้สืบต่อถ่ายทอดธรรมะต่อไป.

๒.ข้อคำถาม “พระพุทธเจ้าออกบิณฑบาต ณ เมืองพล เห็นแล้วอยากร้องไห้
ถามกลับพระพุทธเจ้าท่านยังทรงฉันข้าวเป็นเม็ดๆแบบนั้นอีกเหรอ?
บิณฑบาตตอนก่อนฟ้ารุ่งขนาดนั้น ของที่ได้มาเป็นนิสสัคคิยปาจิตตีย์ ฉันได้หรือไม่?


ตอบ “เรื่องบิณฑบาตตอนก่อนฟ้ารุ่งขนาดนั้น”

อันนี้ยังเข้าใจคลาดเคลื่อนจากความจริงอยู่ เหตุหนึ่งที่เข้าใจคลาดเคลื่อนจากความจริงก็คือ ได้รับข้อมูลที่ไม่ครบถ้วน ก็ต้องขออภัยที่ให้ข้อมูลที่ไม่ครบถ้วน แต่อีกเหตุหนึ่งก็อยู่กับผู้อ่านที่ต้องใช้สติใช้วิจารณญาณในการอ่าน ต้องมีโยนิโสมนสิการคือแยบคายในการอ่าน ต้องอ่านด้วยใจที่เป็นกลางไม่มีอคติ การรับรู้และการพิจารณาจึงจะตรงความจริงมากที่สุด
ทีนี้มาพูดถึงภาพที่อานุภาพพระพุทธเจ้านำบิณฑบาต ในพระวินัยเขาถือวันใหม่ ดูจากรุ่งอรุณขึ้นคือแสงเงินแสงทองขึ้นแล้ว บางคนให้แน่ใจกรณีอยู่จำพรรษา เขาก็ดูลายมือเห็นชัดเจนจึงออกบิณฑบาต เพราะออกก่อนรุ่งอรุณถือว่าขาดพรรษา กรณีภาพถ่ายนี้ถ่ายเมื่อเวลา ๐๖ น. ๑๖ นาที ๑๘ วินาที จะเห็นว่าค่อนข้างออกจากวัดสาย เวลานี้รุ่งอรุณไปนานแล้ว สว่างมากแล้วเมื่อดูด้วยตาเนื้อ แต่ปัญหาเมื่อดูภาพถ่ายจะเห็นเหมือนยังไม่ค่อยสว่าง ซึ่งอันนี้เกิดจากอานุภาพพระพุทธเจ้าซึ่งเหมือนหมอกคลุมไปหมด(ซึ่งดูด้วยตาเนื้อจะไม่เห็น ยกเว้นผู้ได้ทิพพจักขุ) ทำให้ภาพถ่ายออกมาอย่างนั้น ถ้าไปดูรูปในกระทู้ “พระมหาเจดีย์พระพุทธเจ้า ๗ พระองค์” จะเห็นอานุภาพพระพุทธเจ้าเหมือนหมอกเช่นกัน ก็จะได้ศึกษา ฉะนั้นปัญหาฉันแล้วจะเกิดอาบัติก็คงไม่มี เพราะไม่มีการผิดพระวินัยข้อไหน

ทีนี้มาดูเรื่องอาหารที่รับบิณฑบาต ถ้ากรณีที่ออกบิณฑบาตตี ๓-๔ อย่างอาตมาเคยได้ยินข่าวมา พอไปถึงที่ที่โยมใส่บาตรยังไม่รุ่งอรุณ(ถ้ารุ่งอรุณแล้วรับบาตรก็ไม่มีปัญหา) อาหารที่ได้มาถือว่าเป็นของวันเก่า ถ้านำมาฉันจะเป็นอาบัติอะไร และอาหารนั้นเป็นนิสสัคคิยปาจิตตีย์หรือไม่ ให้ไปศึกษาวินัยบัญญัติให้ถ่องแท้จะเข้าใจ คำว่า นิสสัคคิยปาจิตตีย์นั้น เป็นอาบัติปาจิตตีย์ที่เกิดจากการครอบครองของนั้น ต้องสละของนั้นก่อน จึงจะปลงอาบัติได้ ส่วนกรณีที่ยกตัวอย่างนี้ ไม่มีวินัยบัญญัติไว้ จึงไม่ใช่นิสสัคคิยปาจิตตีย์ แต่การฉันอาหารนั้นเป็นการฉันอาหารที่เก็บไว้ค้างคืน(สันนิธิ) เป็นอาบัติปาจิตตีย์ ตามสิกขาบทที่ ๘ โภชนวรรค (ดูพระวินัยปิฎก เล่ม๒ มหาวิภังค์ ทุติยภาค) พระบัญญัติว่า “อนึ่ง ภิกษุใดเคี้ยวก็ดี ฉันก็ดี ซึ่งของเคี้ยวก็ดี ซึ่งของฉันก็ดี ที่ทำการสะสม(คือรับประเคนในวันนี้ ขบฉันในวันอื่น) เป็นปาจิตตีย์” ถ้ามาดูมูลเหตุของการบัญญัติ คือท่านพระเวฬัฏฐสีสะได้บิณฑบาตเป็นอันมาก แล้วเลือกนำแต่ข้าวสุกล้วนๆ ไปสู่อารามตากให้แห้งแล้วเก็บไว้ เมื่อใดต้องการอาหาร ก็แช่น้ำฉัน เมื่อนั้นต่อนานๆท่านจึงเข้าบ้านเพื่อบิณฑบาต จึงเป็นเหตุให้ภิกษุอื่นติเตียน พระพุทธเจ้าจึงบัญญัติสิกขาบทนี้ขึ้น

เหตุนั้นคำถามที่ว่า “ของที่ได้มาเป็นนิสสัคคิยปาจิตตีย์ ฉันได้หรือไม่?” เป็นการเข้าใจผิดในเรื่องพระวินัย จากการไม่ศึกษาให้รู้จริง แล้วพูดหรือทำออกไปก็เป็นเหตุให้ผู้อื่นที่ไม่รู้จริงเห็นผิดไปด้วย จึงทำให้เขาเหล่านั้นเกิดทิฏฐิเกิดมานะได้ ผลตามมาย่อมทำให้สังคมนั้นเกิดการแตกแยกแตกสามัคคีได้ เหตุนั้นเราจะพูดจะทำจะคิดสิ่งใดก็ตาม ต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานของความจริงเป็นหลัก การตั้งอยู่บนความจริงแล้วทำคือสุจริตกรรมนั่นเอง ซึ่งพระพุทธเจ้าก็สอนให้เจริญสุจริต ละทุจริต สุจริตก็มี ๓ ประการคือ กายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต ก็คือกุศลกรรมนั่นเอง คือกายกรรมสุจริต วจีกรรมสุจริต มโนกรรมสุจริต ทีนี้กายกรรมวจีกรรมก็มาจากมโนกรรม เหตุนั้นสุจริตกรรมทั้ง ๓ จะเกิดได้ก็ต้องเจริญสัมมาทิฏฐิ เห็นชอบตรงต่อสัจจธรรมคือความจริงนั่นเอง เมื่อจิตเห็นชอบตรงต่อสัจจธรรมคือความจริง การพูดนั้นก็พูดแต่คำสัตย์คำจริง จึงไม่มีคำเท็จคำโกหก พูดด้วยสติปัญญา ไม่พูดคำหยาบด้วยโทสะพูดแต่ปิยวาจา ไม่พูดส่อเสียดให้เขาแตกแยกแตกสามัคคีกัน พูดแต่คำให้เกิดสมานฉันท์เกิดสามัคคีกัน เพราะเห็นแล้วว่าการพูดคำหยาบพูดส่อเสียดมีแต่ให้เกิดโทษ ไม่เป็นคุณประโยชน์ทั้งแก่ตนเองและผู้อื่น การพูดนั้นจึงพูดแต่ที่เป็นประโยชน์ไม่พูดเพ้อเจ้อ ไม่พูดที่ไม่เป็นประโยชน์ จึงเป็นสัมมาวาจาในองค์มรรค๘

ตอบ- “เรื่องพระพุทธเจ้าท่านยังทรงฉันข้าวเป็นเม็ดๆแบบนั้นอีกเหรอ?”

ก็ขอตอบว่าอานุภาพพระพุทธเจ้าท่านไม่มีขันธ์ ๕ อย่างเราแล้ว ยังจะฉันข้าวอยู่หรือ คำถามนี้ไม่น่าถาม แสดงถึงผู้ถามไม่รู้จักอานุภาพพระพุทธเจ้า คิดว่าพระพุทธเจ้าคือกายเนื้อเหมือนพวกเรา แม้แต่สมัยที่พระองค์ยังมีพระชนม์ชีพอยู่ พระองค์เคยตักเตือนพระวักกลิ “เธอตามดูเราเธอไม่เห็นเรา ผู้ใดเห็นธรรมผู้นั้นเห็นเราตถาคต” ที่พระวักกลิเห็นด้วยตาเนื้อนี้ก้อนธาตุต่างหาก
ทีนี้ปัญหาคงอยู่ที่อานุภาพพระพุทธเจ้านำบิณฑบาต ทำไมอานุภาพพระพุทธเจ้าจึงนำบิณฑบาต ในเมื่อไม่ได้ฉันภัตตาหาร อันนี้เราต้องมาดูเหตุผลประโยชน์ของการบิณฑบาต

๑.สมัยพระพุทธเจ้ายังมีพระชนม์ชีพอยู่ พระองค์ได้นำภิกษุบิณฑบาต ได้ถูกพระเจ้าสุทโธทนะพุทธบิดาต่อว่า พระองค์ได้ตอบว่า นี้เป็นวงค์ประเพณีของพระพุทธเจ้า
๒.การบิณฑบาตนั้นเพื่อประโยชน์ของผู้บิณฑบาต และของผู้ใส่บาตร ดังนี้
๒.๑ ประโยชน์ของผู้บิณฑบาตก็มีเรื่องได้อาหารมาเลี้ยงชีพ ตามนิสัยของสมณะที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้(นิสัย๔) เป็นการบริหารร่างกาย เป็นการฝึกสติเป็นการเดินจงกรมในตัว(กรณีผู้กำหนด) ยังเป็นประโยชน์ให้ภิกษุสามเณรได้พิจารณาสอนตนเอง ชีวิตเราเนื่องด้วยผู้อื่นเขา ให้ปรับปรุงตนเองแก้ไขตนเองไม่ว่าการคิด การพูด การกระทำด้วยกาย ให้เปลี่ยนจากนิสัยฆราวาสเป็นนิสัยนักบวช การบิณฑบาตยังเป็นการฝึกนิสัยนักบวชนั่นเอง ก็จะเห็นว่านิสัยนักบวชนั้นต่างจากฆราวาส ก็เป็นเหตุให้อ่านตนเองออก อ่านอาสวะที่แอบแฝงในการกระทำในความเคยชินของตนออกได้
๒.๒ ประโยชน์ของผู้ใส่บาตร ส่งเสริมให้เสียสละสร้างทานบารมี เผยแผ่พระศาสนาดังเช่น พระอัสสชิได้พระสารีบุตรมาบวช ก็ตอนบิณฑบาตนั่นเอง ส่งเสริมกุศลจิตและให้กำลังแก่ผู้ใส่บาตร
ทีนี้เมื่อเรารู้ถึงประโยชน์ของการบิณฑบาตแล้วจะรู้ว่า ทำไมอานุภาพพระพุทธเจ้านำบิณฑบาต ก็ด้วยส่งเสริมสนับสนุนให้กำลังทั้งพระภิกษุและญาติโยม ยังสอนเหล่าพรหมเทพและพระภิกษุอีกด้วย

-"อยากร้องไห้เพราะปีติอานุภาพพระพุทธเจ้า หรือยินร้ายต่ออานุภาพพระพุทธเจ้า"

ถ้ายินร้ายแสดงว่าไม่รู้จักอานุภาพพระพุทธเจ้า แสดงว่าจิตมืดบอดรู้ไม่จริง เพราะอวิชชาปกปิดไว้ ก็เป็นธรรมดาเพราะทุกคนเกิดมาด้วยอวิชชาเป็นเหตุ ทีนี้เราจะแก้ไขอย่างไร ก็ต้องเจริญสติ สมาธิ ปัญญา เพื่อให้เกิดวิชชา ดูสิ่งใดต้องหัดดูด้วยสติสมาธิปัญญา หัดศึกษาหาความจริง หัดพิจารณาด้วยความเป็นกลางไม่มีอคติ เหตุนั้นพระพุทธเจ้าแสดงธรรมครั้งแรกคือธัมมจักกัปปวัตตนสูตร ท่านให้เดินสายกลาง คือมรรค ๘ ซึ่งขึ้นต้นด้วยสัมมาทิฏฐิ ทำความเห็นชอบ ให้ตรงต่อสัจจธรรมความจริงนั่นเอง นี้เป็นหลักสำคัญของการปฏิบัติธรรมทีเดียว เพราะการจะเข้าถึงธรรมะได้นั้น มันมีตัวปกปิดอยู่ คือทิฏฐิที่เชื่อถือของเก่าที่เห็นผิดมา ทิฏฐินั่นเองเป็นน้ำล้นแก้ว ไม่ยอมให้รับน้ำใหม่ไว้ พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงสอนเรื่องกาลามสูตร สอนให้รู้จักควรเชื่อสิ่งใดไม่ควรเชื่อสิ่งใด เหตุนั้นถ้าเราหวังจะพัฒนาตนเอง หวังจะเจริญในธรรม ควรนำพระสูตรทั้ง ๒ นี้มาพิจารณาและปฏิบัติให้มาก จึงชื่อว่าเดินตามรอยเบื้องยุคลบาทพระศาสดา เป็นการเคารพพระพุทธเจ้า การเคารพพระธรรมนั้น พระองค์ก็ได้สอนอีก ถ้าตถาคตพูดเธอเชื่อ แต่ภิกษุที่นำพุทธพจน์ของเราไปบอก เธอไม่เชื่อ แสดงว่าเธอไม่เคารพพระธรรม อันนี้ก็ตรงต่อคำสอนในกาลามสูตร อย่าพึ่งเชื่อเพราะผู้พูดเป็นครูของเรา แต่ให้เชื่ออรรถธรรมที่เห็นแจ้งนั่นเอง

เหตุนั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสไว้ ตัณหา ทิฏฐิ มานะ เป็นธรรมที่ให้เนิ่นช้า ให้ละธรรมที่ให้เนิ่นช้าคือ ตัณหา ทิฏฐิ มานะ คนที่ไม่มีอคติคนที่ยอมรับความจริง เวลาฟังธรรมเมื่อเขาแสดงธรรมนั้นเป็นสัจจธรรม จะยอมรับทันที ไม่มีขอโต้แย้ง เพราะเขายอมรับตัวสัจจธรรมความจริงนั่นเอง ส่วนคนไม่ยอมรับความจริงไม่เคารพธรรม ก็จะหาเหตุผลมาโต้แย้ง จะด้วยอ้างเรื่องผู้พูดไม่น่าเชื่อถือ หรืออ้างด้วยความเห็นเก่าๆ(ที่เห็นผิด) อ้างเหตุผลนั้นอ้างเหตุผลนี้ ถ้าพิจารณาตนเองจะเห็นว่า การอ้างการโต้แย้งก็เพื่อสงวนตัวตนนั่นเอง อันนี้เป็นลักษณะแก้ตัว(อ้างเพื่อตัวกู ของกู) ไม่ใช่ลักษณะแก้ไขที่จะให้เกิดปัญญา การที่เขาพูดความจริงเป็นสัจจธรรมไม่ใช่ลักษณะแก้ตัว เป็นการทำความจริงให้ปรากฏ เป็นการส่งเสริมวิชชาให้เกิด ที่พระพุทธเจ้าสอนพระองค์ก็พูดความจริงเป็นสัจจธรรม เพราะอวิชชาก็คือรู้ไม่จริงไม่ตรงต่อสัจจธรรมนั่นเอง จึงเป็นการมืดบอดของจิตดวงนั้น ถ้าคนภาวนาดูตนเองจริงๆก็จะเห็น ดูเข้าไปในจิตตนเองก็จะเห็นว่าเราทำด้วยอะไร ทำด้วยโลภโกรธหลงหรือทำด้วยสติปัญญา ถ้าเห็นแล้วว่าทำด้วยโลภโกรธหลงก็แก้ไขซะ คิดผิดก็คิดใหม่ให้ถูกได้ ทำผิดก็หัดทำใหม่ที่ถูกต้องได้ เพราะมันเป็นอนัตตาเกิดแล้วดับไปไม่คงที่สามารถเปลี่ยนแปลงให้ถูกต้องได้ แต่เราจะมีความกล้าที่จะยอมรับและแก้ไขตนเองหรือไม่ เหตุนั้นพระภิกษุเมื่อทำผิด รู้ตนเองว่าผิดพลาดไป ก็ไปขอขมาพระพุทธเจ้า แล้วตั้งใจจะแก้ไขประพฤติตนใหม่ พระพุทธเจ้าก็ตรัสว่า ดีล่ะ นี้เป็นการชอบ เป็นการเจริญในอริยวินัยในศาสนาของเราตถาคต

ทีนี้ทำไมจึงนำเรื่องอานุภาพพระพุทธเจ้า และรูปต่างๆมาเผยแผ่ ก็เพื่อมุ่งต่อประโยชน์ของผู้ปฏิบัติธรรมทั้งหลาย ของผู้ที่ยังไม่มีศรัทธามั่นคงต่อพระพุทธศาสนา ที่ยังไม่เชื่อว่าพุทธานุภาเวนะ ธัมมานุภาเวนะ สังฆานุภาเวนะมีจริง ยังไม่เชื่อว่าภพภูมิต่างๆที่กล่าวไว้ในไตรปิฎกมีจริง ยังไม่เชื่อว่าการประพฤติปฏิบัติตรงต่อธรรมะให้ผลได้จริง ก็จะได้พิจารณา เมื่อสิ่งเหล่านี้มีจริง เราจะเดินทางจะประพฤติปฏิบัติตนอย่างไร จึงจะปลอดภัยในวัฏสงสาร จนกว่าเราจะเข้าสู่พระนิพพานไม่ต้องมาเวียนว่ายตายเกิดอีก นี้คือความไม่ประมาทนั่นเอง

๓.คำถามเรื่อง"อธิบายพระบรมสารีริกธาตุถูกทำลาย ว่าแก้ตัวไป เพราะไปทำลายจุดขายตนเอง"

ตอบ-การขายของ ถ้าผู้ขายขายของดีวิเศษเหนือโลก และผู้ซื้อต้องการก็น่าขายนะ แต่ถ้าขายของไม่ใช่ของดีจริงก็ไม่น่าขาย เพราะเข้าข่ายหลอกลวงเขา ของดีวิเศษเหนือโลกผู้มีปัญญาเห็นแล้วก็อยากได้ทุกคน ก็แสวงหา เมื่อมีผู้รู้ว่าเขาขายอยู่ที่ไหนไม่ยอมบอกก็อาจจะตำหนิผู้นั้นได้ ยกเว้นผู้ด้อยปัญญาตาไม่ถึงของก็ปฏิเสธ อันนี้พูดเรื่องขายของ

แต่การพูดเรื่องพระบรมสารีริกธาตุถูกทำลายเมื่อสิ้นพระศาสนาว่ามันไม่จริง นี้เป็นการให้ข้อมูลความจริงพร้อมทั้งพยานหลักฐาน ไม่ใช่เรื่องขายของ ไม่ใช่เรื่องการแก้ตัว แต่เป็นเรื่องการแก้ไขความเห็นที่ผิด การรู้มาผิดๆ ให้เห็นถูกตรงต่อสัจจธรรมความจริง และเป็นเรื่องที่เป็นประโยชน์ต่อพุทธบริษัททั้งหลาย ทีนี้การพูดเรื่องพระบรมสารีริกธาตุถูกทำลายเมื่อสิ้นพระศาสนา เราพูดด้วยเหตุอะไร ถ้าพูดเพราะตำราว่าไว้ ก็ต้องบอกว่าพูดตามตำรา ที่จริงๆเป็นอย่างไรไม่รู้ อันนี้จึงเป็นการพูดตรงต่อความจริง ตรงต่อธรรม เป็นการพูดที่เป็นกลางไม่มีอคติ ถ้าพูดอย่างนี้ผิดถูกก็เป็นเรื่องของตำรา ไม่ใช่เรื่องของเรา ถ้าไม่มีจริงเพราะรู้จริงก็สมควรพูด ไม่ใช่เรายืนยันว่าไม่มีเพราะคาดเดา เพราะเชื่อตำราโดยไม่ได้พิจารณาให้ถ่องแท้ ซึ่งไม่ตรงต่อพุทธพจน์ที่พระพุทธเจ้าสอนในกาลามสูตรว่า อย่าพึ่งเชื่อเพราะคาดเดา อย่าพึ่งเชื่อเพราะอ้างตำรา อย่าพึ่งเชื่อเพราะผู้พูดน่าเชื่อถือ อย่าพึ่งเชื่อเพราะผู้พูดเป็นครูของเรา อย่าพึ่งเชื่อเพราะเข้าได้กับความเห็นของเรา เพราะสิ่งที่เรารู้มาอาจจะผิดพลาดได้ ความเห็นของเราก็อาจจะผิดพลาดได้ เหตุนั้นพุทธพจน์บทนี้จึงสอนให้เราพัฒนาตนเองตลอด ให้กลั่นกรองแก้ไขความเชื่อที่ผิดความเห็นที่ผิด ไปสู่ความเชื่อที่ถูกความเห็นที่ถูกนั่นเอง จึงสอนให้เราเจริญมรรค ๘ ในตัวนั่นเอง

ทีนี้มีปัญหาว่ารู้ได้อย่างไรว่าพระบรมสารีริกธาตุถูกทำลายเมื่อสิ้นพระศาสนาว่ามันไม่จริง เราเคยพิจารณาไหม ตำรวจที่เขาจับผู้ร้ายถูก อัยการที่ส่งฟ้องศาลถูก ผู้พิพากษาที่ตัดสินคดีถูก ท่านเหล่านั้นเขาอยู่ในเหตุการณ์เห็นผู้ร้ายทำความผิดกับตาตนเองหรือ ก็ไม่ใช่ ทำไมท่านเหล่านั้นจึงทำถูกตัดสินถูก? ก็ไม่ใช่เพราะพยานหลักฐานมิใช่หรือ อันนี้ก็เช่นกัน รูปถ่ายทั้งหลายเป็นพยานหลักฐาน ให้เราได้เห็นได้พิจารณา ถ้าเราเคยศึกษาจะเห็นว่า มีรูปถ่ายอานุภาพพระพุทธเจ้าออกมาให้เห็นจากครูบาอาจารย์ต่างๆหลายองค์ ไม่ว่าจากหนังสือพระราชทานเพลิงศพหลวงปู่ขาว เจดีย์หลวงปู่ครูบาชัยวงศา พระอาจารย์จวน หลวงพ่อฤาษีลิงดำ แม้แต่ที่เจดีย์พุทธคยา ประเทศอินเดีย เหตุนั้นเรื่องพุทธวิสัยเป็นอจินไตย เป็นเรื่องที่พระสาวกไม่สามารถรู้ทุกอย่าง การพูดด้วยตำราก็ต้องพิจารณาที่มาของตำรานั้นด้วย เหมือนเวลาอ่านผลงานวิจัย เขาจะต้องดูว่าการวิจัยนั้นขั้นตอนถูกต้องหรือไม่ น่าเชื่อถือแค่ไหน จึงจะเข้าไปดูข้อมูลการวิจัย แล้วจึงไปดูผลสรุปของการวิจัย แล้วมาพิจารณาว่าเขาสรุปถูกต้องหรือไม่ เสร็จแล้วเราจะนำไปทำประโยชน์อย่างไร ถ้าเราเคยอ่านหนังสือหลวงปู่มั่น ท่านเคยพูดไว้บางครั้งหนังสืออาจจะมีการบันทึกคลาดเคลื่อนก็ได้ เพราะกาลเวลานั่นเองเป็นเหตุ ก็ขอยุติแค่นี้ และก็ขออนุโมทนาด้วยที่เป็นเหตุให้อาตมาได้แนะนำบางอย่างแก่ญาติโยม เผื่อจะเป็นประโยชน์ต่อพุทธศาสนิกชนทั้งหลายไม่มากก็น้อย ขอเจริญพร


Image
รูปที่๑ อานุภาพพระพุทธเจ้าและสุทธาวาสพรหมอนุโมทนาผู้ใส่บาตรที่เมืองพล

Image
รูปที่ ๒ อานุภาพพระพุทธเจ้าที่ปรากฏกับหลวงปู่ดู่ เป็นพระพุทธเจ้าองค์ในภัทรกัป

Image
รูปที่ ๓ อานุภาพพระพุทธเจ้าที่หลวงปู่ดู่ เป็นเหมือนหมอก
(ทั้งรูปที่ ๒ และ ๓ หลวงปู่ดู่กล่าวรับรองว่าเป็นอานุภาพพระพุทธเจ้าจริง มีหลักฐานอยู่ในหนังสือของท่าน)


Image
รูปที่ ๔ อานุภาพพระพุทธเจ้าที่พุทธคยาประเทศอินเดีย

Image
รูปที่ ๕ อานุภาพพระพุทธเจ้าที่ศาลาพลานุภาพเมืองพล เป็นเหมือนหมอก

Image
รูปที่ ๖ เทวดาที่ศาลาพลานุภาพเมืองพล

Image
รูปที่ ๗ พรหมที่ศาลาพลานุภาพเมืองพล
"ดูก่อน ทีฆนขะ มนุษย์เรานี้ บุคคลใดได้รับความสุข ก็จะลืมความทุกข์ชั่วขณะ บุคคลใดได้รับความทุกข์ ก็หาความสุขขณะนั้นไม่พบ คนส่วนมาก เมื่อมีทุกข์ มักคิดว่าทุกข์นั้นเป็นสิ่งเที่ยงแท้ เมื่อมีสุข ก็สำคัญว่าสุขนั้นจะอยู่กับเราตลอดไป หาคิดไม่ ว่าเป็นเสมือนการเห็นดวงจันทร์ในขันน้ำ มิอาจคว้าดวงจันทร์นั้นได้ คว้าได้แต่ขันเท่านั้นเอง สุขและทุกข์จึงเป็นของไม่เที่ยง เมื่อเห็นดังนี้แล้ว ผู้มีสติก็ย่อมเบื่อหน่ายทั้งสุขและทุกข์ ย่อมหลุดพ้นจากความยึดมั่นถือมั่น ไม่วิวาททุ่มเถียงกับผู้ใด แม้คำพูดนั้นจะระคายหู ก็ให้มีสติรู้ ว่าเป็นเพียงแค่คำพูดเท่านั้น"(พุทธพจน์)
ผู้เขียน
 
จำนวนผู้ตอบ: 77
สมัครสมาชิก: Sun Mar 14, 2010 12:23 pm
ที่อยู่: 4 Gunnamatta Place, Kelmscott, Western Australia, Australia, 6111

Re: ความเปลี่ยนแปลงในใจ (ครบ ๒ ตอน)

Postโดย วายุภักษ์ » Mon Nov 22, 2010 9:44 am

สาธุ
ข้าพเจ้าจะเป็นผู้อดทนต่อความจริง
เพียรต่อการยอมรับสัจธรรม
วายุภักษ์
 
จำนวนผู้ตอบ: 2
สมัครสมาชิก: Fri May 28, 2010 4:59 pm

Re: ความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนจากความจริง

Postโดย กัปตัน » Mon Nov 22, 2010 3:48 pm

สาธุ สาธุ สาธุ ครับ
กัปตัน
 
จำนวนผู้ตอบ: 36
สมัครสมาชิก: Thu Apr 08, 2010 1:44 am

Re: ความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนจากความจริง

Postโดย poppy » Tue Nov 23, 2010 11:53 am

กระทู้อนุโมทนา สำหรับการยกกระทู้ประกาศตนเป็นโสดาฯ ออก ถูกลบไปเสียแล้ว
เลยขอพื้นที่ มาอนุโมทนาสำหรับผู้ที่ยกกระทู้ประกาศตนเป็นโสดาฯออกไป อีกครั้งหนึ่ง

และก็ขอยืนยันคำพูดเดิมที่ว่า ผมเชื่อในพุทธคุณ
และพุทธคุณสูงสุดนั้น เป็นผลมาจากการปฏิบัติ "ธรรม"ตามแนวทางที่พระพุทธองค์สอน
หาใช่ ผลของพุทธคุณเชิงอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ (ซึ่งก็เชื่อว่ามีอยู่จริง) และไม่ควรนำมาแสดงจนเกินควรโดยขาดหลักฐานยืนยันที่พิสูจน์ได้จริง
poppy
 
จำนวนผู้ตอบ: 3
สมัครสมาชิก: Sun Nov 21, 2010 12:06 pm

Re: ความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนจากความจริง

Postโดย วิเวก » Tue Nov 23, 2010 12:31 pm

" ผู้ใดทำใจให้ถึงซึ่งความเป็นกลางได้ ผู้นั้นจะพ้นจากทุกข์ทั้งปวง "
พระธรรมเทศนา หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี วัดหินหมากเป้ง

" คนทางโลกน่ะ ไม่มีใครอยากให้ใครดีกว่าหรอก "
พระธรรมเทศนา หลวงตาประสิทธิ์ ถาวโร วัดถ้ำยายปริก

" สัมมาทิฏฐิเป็นเบื้องต้นของกุศลกรรมทั้งปวง " เมื่อเห็นถูก ก็คิดถูก พูดถูก ทำถูก

คนส่วนใหญ่ไม่รู้จักอานุภาพของพระพุทธเจ้า สัพพะพุทธานุภาเวนะ อานุภาพของพระพุทธเจ้าไม่มีประมาณ
ข้าพเจ้าขอถึงซึ่งพระพุทธเจ้า เป็นที่พึ่ง ที่ระลึก
(เพื่อให้เกิดศรัทธา นำมาซึ่งการปฏิบัติ เจริญรอยตามหลักธรรมที่ท่านแสดงไว้ จนกว่าเราจะถึงจุดหมายปลายทาง คือความพ้นทุกข์ทั้งปวง)

สาธุครับ
บางช่วงจากพระธรรมเทศนา โดยพระอาจารย์วิชัย กมฺมสุทโธ
เรื่อง ทำไมทิฏฐิเป็นธรรมที่เนิ่นช้า

อาหารบิณฑบาตฉันก็แก้หมดเหมือนกัน ฉันเพิ่มเติม ตัดส่วนบางส่วนเพิ่มเติม เพื่ออะไร เพื่อเอาสัจจธรรมออกมาพูด แล้วให้ไปขบคิดดูสิ สักวันหนึ่งคำพูดเหล่านี้เขาอาจจะได้ฉุกคิด ไม่ว่าพระชีหรือฆราวาสที่ได้ยินได้ฟัง ถ้าเขาได้ฉุกคิด วันหนึ่งเขาจะรู้ถึงคุณค่ามหาศาลของอาหารบิณฑบาตที่ฉันพาพูด จะรู้ถึงคุณค่ามหาศาลสิ่งที่ฉันเอาออกมา เพราะมันเป็นหญ้าปากคอก มันเป็นส่วนที่ดำเนินเข้าไปสู่ความเป็นอนัตตานั่นเอง เอ้า ก็ขอยุติแต่เพียงเท่านี้ ยะถา วาริวะหาฯ.


บทพิจารณาอาหาร

อาหารบิณฑบาต ที่ได้มาในวันนี้ ได้มาด้วยอานุภาพ คุณแห่งพระพุทธเจ้า ได้มาด้วยอานุภาพ คุณแห่งพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ได้มาด้วยอานุภาพ คุณแห่งพระอริยสงฆเจ้า ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบมาก่อน

อาหารนี้ประกอบด้วยธาตุ๔ ดินน้ำไฟลม เป็นของปฏิกูล ไม่เที่ยง เกิดตามเหตุปัจจัย ไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ตัวตนที่แท้จริง

กายนี้ประกอบด้วยธาตุ๔ ดินน้ำไฟลม เป็นของไม่สวยงาม เกิดตามเหตุปัจจัย ต้องแก่เจ็บตายไป ไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ตัวตนของเรา

การฉันอาหารนี้ เพียงแค่อาศัย เพื่อดับความหิว ล้วนแล้วแต่เรื่องเหตุปัจจัย เรื่องของธาตุ
วิเวก
 
จำนวนผู้ตอบ: 37
สมัครสมาชิก: Fri Mar 19, 2010 12:14 am

Re: ความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนจากความจริง

Postโดย นิรทุกข์ » Tue Nov 23, 2010 3:26 pm

ขอแสดงความเห็นบ้าง

เป็นไปได้หรือไม่ว่าผู้เล่า ไม่ได้แจ้งโดยละเอียดให้ทราบว่าปฏิบัติมาอย่างไรบ้าง หรือ อาจจะไม่รู้ / ลืมไปแล้วว่าในอดีตตนได้ปฏิบัติมาอย่างไร
มาเล่าตรงตอนเห็นผลช่วงสุดท้ายเลย เช่น ในครั้งพุทธกาลที่ บางท่านได้ฟังธรรมเล็กน้อยก็บรรลุได้ เณรน้อยที่เพียงปลงผมก็สำเร็จ หรือ พระอานนท์ที่ท่านเพียงเอนกายลงพักผ่อนก็บรรลุ

แต่ทั้งนี้และทั้งนั้นก็เป็นเรื่องของแต่ละท่านครับ ใครจะสำเร็จไปแค่ไหน
มายุ่งอยู่กับกาย กับ ใจของเราเองดีกว่า

สาธุครับ
: )
นิรทุกข์
 
จำนวนผู้ตอบ: 559
สมัครสมาชิก: Sat Mar 13, 2010 7:46 pm

Re: ความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนจากความจริง

Postโดย ศิษย์พระอาจารย์ » Wed Nov 24, 2010 1:52 pm

(การดู การฟัง พิจารณา เอาแต่ประโยชน์ อย่าเอาโทษ ด้วยใจที่เป็นกลาง)
เลยถือโอกาสนี้ขออนุญาตโพสต์ เรื่อง ขี้...ขี้ ที่ข้าพเจ้าเองเคยได้รับความเมตตาสั่งสอนมาจากพระอาจารย์ที่ข้าพเจ้าเคารพนับถือมาก ข้าพเจ้าเห็นถึงประโยชน์ จึงอยากถ่ายทอดเพื่อเป็นประโยชน์แก่ผู้ที่อ่านอย่างมีสติปัญญา
คน 2 คน เดินมาเจอ " ขี้ " คนแรกร้องยี้รังเกียจว่าเหม็นไม่มีประโยชน์ จึงเดินหนี เพราะยึดเอาความเห็นแต่เดิมมาว่า " ขี้ " ไร้ประโยชน์ สกปรก และเหม็น ยึดเอาความรู้ความเห็นเดิม ๆ ที่ได้รับมา เป็นการมองเอาโทษด้านเดียว ส่วนคนที่สองก็เห็น" ขี้ "เหมือนกัน แต่กลับเอา " ขี้ " มาทำเป็นปุ๋ย มาทำให้เกิดประโยชน์ เป็นการมองเอาประโยชน์
ท่านผู้อ่าน ได้เห็นถึงความแตกต่างของคน 2 คน หรือไม่ว่าแตกต่างกันอย่างไร ทำไมคนที่สองจึงมองเช่นนั้น ก็ "สติปัญญา" นั่นเอง
ข้าพเจ้าต้องกราบขออภัยในการโพสต์ เรื่อง ขี้...ขี้ ในครั้งนี้ ถ้าท่านอ่านแล้วอาจติเตียนว่าข้าพเจ้าใช้คำ ขี้...ขี้ เป็นคำไม่สุภาพ แต่เจตนาที่โพสต์นี้ เพื่อให้เกิดประโยชน์แก่ผู้ที่อ่านเอาประโยชน์ แม้นดูเป็นเรื่อง ขำ..ขำ แต่แฝงไว้ซึ่งข้อธรรม
ถ้าท่านใดเคยได้ฟังมา แล้วเห็นว่าข้าพเจ้าพิมพ์ตกหล่นในเนื้อหา ก็ขอความกรุณาช่วยเพิ่มเติม ในเนื้อหาให้สมบูรณ์ด้วย จะเป็นพระคุณยิ่งแก่ข้าพเจ้าและคนอื่น ๆ :lol: :lol: กราบขออภัยอีกครั้งถ้าการโพสต์นี้ เป็นเหตุให้กระทบในจิตของท่านใด โปรดอโหสิกรรมแก่ข้าพเจ้าด้วย
ศิษย์พระอาจารย์
 
จำนวนผู้ตอบ: 27
สมัครสมาชิก: Fri Apr 09, 2010 12:26 pm

Re: ความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนจากความจริง

Postโดย poppy » Wed Nov 24, 2010 4:51 pm

มองด้วยใจที่เป็นกลาง หรือ มองเชิงบวก สำหรับ กรณี "การประกาศตนว่า ถึงซึ่งอริยมรรค อริยผล ขั้นต้น"

มองด้วยใจที่เป็นกลาง
อยากให้คนสาธุ อนุโมทนาด้วย แต่ ผู้ประกาศตน ทิ้งท้ายว่า "ผิดถูกอย่างไรขอให้อภัยด้วย"
นี่คือ วิจิกิจฉา ความไม่แน่ใจ ดังนั้น จะมีประโยชน์อันใด ที่ออกมาประกาศ
(ไม่ใช่เรื่อง ถ่อมตัว เพราะ ความจริงมีหนึ่งเดียว เหมือนเช่น หลวงตาที่ยืนยันนั่งยัน ไม่ปฏิเสธ)
จะให้ มองเชิงบวก รึ
ใครที่คิดจะออกมาประกาศเช่นนี้ ด้วยยังมีวิจิกิจฉา อยู่ ก็ขอให้ตรวจสอบจิตใจตนเอง โดยการสอบทานกับครูบาอาจารย์อีกครั้ง
แล้ว ลองถามครูบาอาจารย์ อีกครั้งว่า สมควรออกมาประกาศหรือไม่
นี่คือ ประโยชน์เพียงอน่างเดียว ที่ผมคิดว่าได้จากเหตุการณ์นี้
ส่วนประโยชน์อื่นๆนั้น ต่อพุทธศาสนิกชนนักปฏิบัติ ท่านใดคิดว่ามี โปรดแสดงเพื่อเปิดโลกทัศน์ของผม

อย่ายินดีกับ "ขี้" ที่อยู่บนเตียงนอน ท่านให้นำ "ขี้" ไปไว้ในส้วม เพื่อรอรวบรวมไปหมักทำปุ๋ยต่อไป (ให้ถูกกาลถูกสถานที่)
กล่าวตักเตือนให้สติ ไม่ใช้กล่าวติเตียนเพื่อทำลาย คือ ความเมตตาที่อาจเจ็บแสบ แต่ฆ่าเชื้อโรค"กิเลส" ได้ดีนัก
poppy
 
จำนวนผู้ตอบ: 3
สมัครสมาชิก: Sun Nov 21, 2010 12:06 pm

Re: ความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนจากความจริง

Postโดย ผู้เขียน » Mon Nov 29, 2010 3:12 pm

(ธรรมจากพระอาจารย์วิชัย กัมมสุทโธ)

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ กกจูปมสูตร

ภิกษุทั้งหลาย เมื่อบุคคลอื่นจะกล่าวโดยกาลอันสมควรหรือไม่สมควรก็ตาม จะกล่าวด้วยเรื่องจริงหรือไม่จริงก็ตาม จะกล่าวถ้อยคำอ่อนหวานหรือหยาบคายก็ตาม จะกล่าวถ้อยคำประกอบด้วยประโยชน์หรือไม่ประกอบด้วยประโยชน์ก็ตาม จะมีจิตเมตตาหรือมีโทสะภายในกล่าวก็ตาม แม้ในข้อนั้น พวกเธอพึงศึกษาอย่างนี้ว่า จิตของเราจักไม่แปรปรวน เราจักไม่เปล่งวาจาชั่ว เราจักอนุเคราะห์ด้วยประโยชน์ เราจักมีจิตเมตตาไม่มีโทสะในภายใน เราจักแผ่เมตตาจิตไปถึงบุคคลนั้น และเราจักแผ่เมตตาจิตอันไพบูลย์ ใหญ่ยิ่ง หาประมาณมิได้ ไม่มีเวร ไม่มีพยาบาท ไปตลอดโลกทุกทิศทุกทาง ซึ่งเป็นอารมณ์ของจิตนั้น ดังนี้ ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายพึงศึกษาด้วยอาการดังที่กล่าวมานี้แล


หลวงพ่อประสิทธิ์ ถาวโรได้กล่าวถึง พุทธานุภาพ พุทธฉายในถ้ำยายปริกและเผยแผ่ด้วยในหนังสือของท่าน ท่านเห็นอานุภาพพระพุทธเจ้ามาสนับสนุนประกาศปิดทองฝังลูกนิมิต ซึ่งท่านได้กล่าวบอกลูกศิษย์และในเทศนา ท่านยังกล่าวอีกว่า พระโมคคัลลานะกับพระอรหันต์อีกรูปหนึ่ง องค์นั้นไม่เห็นเปรต แต่พระโมคคัลลานะเห็นเปรต ก็มีปัญหาให้เห็นมาแล้วแต่เมื่อไปทูลพระพุทธเจ้า พระองค์ก็ยืนยันว่ามีจริง ท่านยังกล่าวอีกว่า ผู้เห็นก็ว่ามี ผู้ไม่เห็นก็ว่าไม่มี ถูกทั้งคู่ แต่สัจธรรมก็คงเป็นสัจธรรมอยู่อย่างนั้น หลวงพ่อประสิทธิ์ท่านไม่ปฏิเสธพุทธานุภาพ ท่านปฏิเสธเรื่องอิทธิปาฏิหาริย์ เพราะไม่ใช่ทางพ้นทุกข์ ท่านจึงไม่ทำเครื่องรางของขลัง ท่านให้ระลึกถึงพุทธานุสสติ ให้ระลึกถึงเมตตาคุณ บริสุทธิคุณ ปัญญาคุณของพระพุทธเจ้า ให้น้อมเข้ามาสู่ใจ โดยเวลากราบพระ ให้ตั้งกายกรรม วจีกรรม มโนกรรม ด้วยเมตตาคุณ กราบครั้งที่ ๒ ให้ตั้งกายกรรม วจีกรรม มโนกรรม ด้วยบริสุทธิคุณ กราบครั้งที่ ๓ ให้ตั้งกายกรรม วจีกรรม มโนกรรม ด้วยปัญญาคุณ

ที่กล่าวอ้างพระไตรปิฎก เรื่องพระธาตุนั้น อ้างที่มาในอังคุตตรนิกาย เอกนิบาต เล่มที่ ๑ ภาคที่ ๑ หน้า ๑๗๒ นั้น ให้ไปดูให้ดีอันนั้นเป็นอรรถกถาจารย์ มโนรถปูรณี อรรถกถาอังคุตตรนิกาย เอกนิบาต ที่อรรถกถาจารย์(พระพุทธโฆษาจารย์)อธิบายพระไตรปิฎกอังคุตตรนิกาย เอกนิบาต เป็นการที่อรรถกถาจารย์อธิบายเรื่องที่พระพุทธเจ้าตรัส เรื่องอันตรธานแห่งพระสัทธรรม ในพระสูตรวรรคที่ ๑๐ ว่าด้วยธรรมที่ก่อให้เกิดประโยชน์และมิใช่ประโยชน์ ข้อ ๑๑๕-๑๓๐ คือการอันตรธานแห่งพระสัทธรรม ซึ่งพระพุทธเจ้าตรัสไว้มีด้วยเหตุดังนี้คือ ๑.ความประมาท ๒.ความเกียจคร้าน ๓.ผู้มักมาก ๔.ผู้ไม่สันโดษ ๕.การใส่ใจโดยไม่แยบคาย ๖.ความเป็นผู้ไม่รู้สึกตัว ๗.ผู้มีมิตรชั่ว ๘.การประกอบอกุศลกรรมเนืองๆ การไม่ประกอบกุศลกรรม ทั้ง ๘ ข้อนี้เป็นเหตุแห่งการอันตรธานของพระสัทธรรมที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ พระองค์ไม่ได้ตรัสเรื่องพระธาตุอันตรธาน ในพระสูตรนี้ พระองค์สอนเรื่องการปฏิบัติล้วนๆ แต่เรื่องพระธาตุนั้นอรรถกถาจารย์มาอธิบายเพิ่มขึ้นเอง จึงมิใช่พุทธพจน์

เหตุนั้นการอ้างสิ่งใดต้องอ้างให้ถูกต้อง ไม่เช่นนั้นจะทำให้ผู้ฟังผู้อ่านเข้าใจคลาดเคลื่อนได้ เป็นการกล่าวตู่พระพุทธเจ้าว่าตรัสเช่นนั้น แต่แท้ที่จริงพระองค์ไม่ได้ตรัส ซึ่งในพระไตรปิฎกมีหลายพระสูตรที่พระอรหันตสาวก เช่นพระสารีบุตรหรือฆราวาสที่บรรลุธรรมตอบปัญหากับพวกนิครนถ์ เมื่อตอบเสร็จแล้ว ท่านเหล่านี้ก็กลับมาทูลถามพระพุทธเจ้า ว่าตอบถูกหรือไม่ เป็นการกล่าวตู่พระองค์หรือไม่ ซึ่งนี้ก็เป็นเหตุแห่งการอันตรธานพระสัทธรรมอันหนึ่ง

คำสอนของหลวงพ่อประสิทธิ์ ถาวโร

-เสียงกลองมาจากกลอง เสียงระฆังมาจากระฆัง คนฟังไม่ได้เป็นกลองเป็นระฆัง

-ผู้ด้อยปัญญา ย่อมกล่าวหาผู้อื่นไม่ดี ผู้มีปัญญา ย่อมเห็นเป็นธาตุเหมือนกัน

-หลวงพ่อสอนให้เห็นเหมือนกัน ไม่กล่าวร้ายไม่ทำลายกัน เพราะหลงความรู้สึกอวิชชา หลงสมมตินั่นเอง มันมีแต่ธาตุ

-หลวงพ่อยังสอนอีกอย่าพูดด้วยความรู้สึก มันเป็นอวิชชา ให้พูดด้วยสติปัญญาด้วยเมตตา

"ดูก่อน ทีฆนขะ มนุษย์เรานี้ บุคคลใดได้รับความสุข ก็จะลืมความทุกข์ชั่วขณะ บุคคลใดได้รับความทุกข์ ก็หาความสุขขณะนั้นไม่พบ คนส่วนมาก เมื่อมีทุกข์ มักคิดว่าทุกข์นั้นเป็นสิ่งเที่ยงแท้ เมื่อมีสุข ก็สำคัญว่าสุขนั้นจะอยู่กับเราตลอดไป หาคิดไม่ ว่าเป็นเสมือนการเห็นดวงจันทร์ในขันน้ำ มิอาจคว้าดวงจันทร์นั้นได้ คว้าได้แต่ขันเท่านั้นเอง สุขและทุกข์จึงเป็นของไม่เที่ยง เมื่อเห็นดังนี้แล้ว ผู้มีสติก็ย่อมเบื่อหน่ายทั้งสุขและทุกข์ ย่อมหลุดพ้นจากความยึดมั่นถือมั่น ไม่วิวาททุ่มเถียงกับผู้ใด แม้คำพูดนั้นจะระคายหู ก็ให้มีสติรู้ ว่าเป็นเพียงแค่คำพูดเท่านั้น"(พุทธพจน์)
ผู้เขียน
 
จำนวนผู้ตอบ: 77
สมัครสมาชิก: Sun Mar 14, 2010 12:23 pm
ที่อยู่: 4 Gunnamatta Place, Kelmscott, Western Australia, Australia, 6111


กลับไปหน้า ธรรมเพื่อชีวิต

ผู้ที่กำลัง online

ผู้ที่กำลังอ่าน forum นี้: สมาชิก ไม่มีสมาชิก และ ผู้เยี่ยมชม 1 คน

cron