ธรรมชุดเตรียมพร้อม 6

เพื่อสนทนาธรรม และแลกเปลี่ยนความคิดเห็น เพื่อความเป็นกัลยาณมิตร กัลยาณธรรมที่ดีต่อกัน

ธรรมชุดเตรียมพร้อม 6

Postโดย wiweksikkaram.hi5 » Tue Apr 20, 2010 10:51 pm

เทศน์โปรดคุณเพาพงา วรรธนะกุล ณ วัดป่าบ้านตาด

เมื่อวันที่ ๒๘ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๑๘

สงครามจิต สงครามขันธ์



แม้จะอยู่ในบ้านในเรือนในตึกในห้าง สิ่งเหล่านั้นไม่เป็นทุกข์ อยู่ในสถานที่ใดสถานที่นั้น ๆ ไม่ได้เป็นทุกข์ สมบัติเงินทองไม่ได้เป็นทุกข์ สิ่งของมากน้อยที่เป็นกรรมสิทธิ์ของเราไม่ได้เป็นทุกข์ ไม่ใช่ทุกข์ แต่โลกไปหากลัวสิ่งที่ไม่น่ากลัว สิ่งที่น่ากลัวแต่ไม่กลัวกัน ! ไม่ยอมสนใจคิดกลัวกันบ้างเลย สิ่งนั้นโลกจึงโดนกันอยู่เสมอ และหาทางแก้ไขเอาตัวรอดไม่ได้ นี่โลกเรามาโง่กันตรงนี้

มีใครบ้างมีความเฉลียวฉลาดตามรอยพระบาทของพระพุทธเจ้าบ้าง ยังมองไม่เห็น ที่ชี้ถูกจุดแห่งทุกข์ ชี้จุดที่แก้ทุกข์ ชี้ลงที่ไหน ชี้ลงในเบญจขันธ์กับใจนี้เป็นหลักสำคัญ นี้แลสถานที่ทุกข์เกิด เกิดที่นี่ เพราะสาเหตุที่ทำให้ทุกข์เกิดก็มีอยู่ที่นี่ วิบากที่เกิดขึ้นมาจากสาเหตุแห่งความหลง คือ ธาตุขันธ์ของเรา ก็มีอยู่กับตัวเรา ที่เรียกว่า “ร่างกาย” นี้เป็นวิบาก คือผลของสิ่งที่ผลิตขึ้นมาจากกิเลส อวิชชา ตัณหา มันผลิตให้เกิดขึ้นมาเป็นรูปเป็นนาม จึงเรียกว่า “วิบาก”ก็อยู่ที่ตัวเรา

ผู้ที่จะผลิตทุกข์ให้เกิดขึ้นโดยลำดับ ๆ ภายในจิต ก็คือจิต ที่กำลังเป็นเครื่องมือของอวิชชานี่เอง พระพุทธเจ้าท่านจึงทรงสอน “ให้รบกันที่นี่” “ให้รู้กันที่นี่” หลบหลีกปลีกตัวด้วยอุบายสติปัญญาทุกแง่ทุกมุม ต้องหลบหลีกกันที่นี่ ต่อสู้กันที่นี่ ให้เข้าใจกันที่นี่ แก้กันที่นี่ พ้นทุกข์กันที่นี่ ไม่พ้นที่อื่น !

เฉพาะอย่างยิ่งขณะที่ทุกขเวทนาเกิดขึ้น ไม่ค่อยได้สติสตังกันเลย ถ้าไม่ใช่นักปฏิบัติและผู้ที่เคยพิจารณาอยู่แล้ว จิตใจจะว้าวุ่นขุ่นมัว กระวนกระวายไปกับทุกข์เสียสิ้น ทุกข์เลยฉุดลากเอาจิตทั้งดวงไปอยู่ในกองทุกข์นั้น ทุกข์เผาจิตให้เดือดร้อนวุ่นวายยิ่งกว่าทุกข์ในธาตุขันธ์เสียอีก ทั้งนี้เพราะความไม่เข้าใจในวิธีปฏิบัติ ทีนี้เราจะตำหนิใครก็ตำหนิไม่ได้ ตำหนิไม่ลง เพราะมันเหมือน ๆ กัน นี่แลที่ว่าโลกคือพวกเราที่โง่กัน มาโง่ในขันธ์ในจิตของตนนี้แล ไม่ทราบวิธีปฏิบัติพอให้กิเลสเบาบางไป ทุกข์ได้เบาบางลง ไม่รับเหมาเอาเสียสิ้น

ใคร ๆ ก็อยากจะพ้น อยากจะหลบหลีกปลีกตัวออกจากทุกข์ แต่มันไปไม่ได้เพราะความรู้ความฉลาดไม่มี อุบายวิธีไม่มี เพราะไม่ได้ศึกษา หนึ่ง เพราะการศึกษาและการปฏิบัติยังไม่มีความสามารถ หนึ่ง จำเป็นต้องยอมรับ ทุกข์มากน้อยเพียงไรก็จำต้องยอมรับ จิตใจแม้จะเป็นของมีคุณค่ามาก ก็ต้องทุ่มลงไปให้กิเลสเผาเอา เหมือนห้างร้านทองที่ถูกไฟไหม้ เจ้าของไม่สามารถนำทองของมีค่าออกได้ ก็จำต้องยอมให้ไฟไหม้ทิ้ง ทั้ง ๆ เสียดาย

ใจก็เช่นนั้น ยอมให้ความทุกข์ที่เกิดขึ้นในธาตุในขันธ์เผาเอา เพราะอำนาจแห่งกิเลสพาให้หลงยึดถือไม่ยอมถอนตัว อันเป็นเหตุให้มันเผาเอา นี่เป็นเรื่องสำคัญมาก !

สงครามในโลก ไม่มีสงครามใดยิ่งไปกว่าสงครามระหว่างจิตกับขันธ์ ที่แสดงต่อกัน หรือที่กระทบกระเทือนกัน ! ความกระทบกระเทือนนี้เคยมีมาแล้วตั้งแต่วันเกิด การเกิดมาเป็นของดีมีความสุขในขณะที่เกิดมาเมื่อไร ! เพราะขณะที่เกิดก็ลอดออกมาจากช่องแคบ จนสลบไสลไม่รู้สึกตัว และไม่รู้ว่าทุกข์เป็นอย่างไร เพราะความจำไม่มีในขณะนั้น นี่ก็เป็นความทุกข์แสนสาหัสอันหนึ่งในขณะที่เกิด แต่โลกไม่ได้สนใจในความทุกข์ประเภทนี้ จึงพากันดีใจในเรื่องความเกิด ยิ้มแย้มแจ่มใสต่อความเกิด แต่โศกเศร้าเหงาหงอยให้ต่อความตาย ความจริงมันก็เรื่องเท่ากัน !

ถ้าจะพิจารณาให้เป็นธรรมแล้ว มันก็เป็นเรื่องเท่ากัน ไม่มีอะไรผิดแปลกกันเลย การเกิดมาเป็นมนุษย์ บำรุงบำเรอรักษากันมาจนเป็นผู้เป็นคนเป็นสัตว์เหมือนเรา ๆ ท่าน ๆ ที่มองเห็นกันอยู่นี้ มันผ่านมาจากผู้ที่รอดตายด้วยกันทั้งนั้น ถ้าพิจารณาตามหลักธรรมชาติตามหลักความจริงแล้ว จะไม่มีใครที่ไม่เป็นทุกข์ในขณะที่ตกคลอดออกมา นี่เราก็ไม่ทราบ ผู้เกี่ยวข้องขณะเกิดนั้นก็ไม่ทราบ ความจำก็หายหมด ไม่ทราบว่าเกิดมาแต่เมื่อไร วันใด เดือนใด ปีใด ใครเป็นพ่อ ใครเป็นแม่ พอโตขึ้นมาถึงได้ทราบว่า นั่นเป็นพ่อ นี่เป็นแม่ เกิดวันนั้นเดือนนี้ ก็พ่อแม่บอก เวล่ำเวลาเท่านั้นเท่านี้ ก็พ่อแม่บอก หรือคนอื่นบอกถึงทราบ ตัวเองไม่มีทางทราบ มันมืดมาโดยลำดับทั้งนั้นเรื่องจิตนี้ มืดด้วยการลบความจำของตนให้หายหมดด้วย มันมืดไปหมด ตลอดภพก่อนที่เพิ่งผ่านมาหยก ๆ ก็ไม่ทราบได้ เพราะจำไม่ได้ว่าตนเคยผ่านภพชาติ และกองทุกข์อย่างไรมาบ้าง มันถึงได้โดนทุกข์เรื่อยมาไม่เข็ดหลาบ นี้แลเรื่องกองทุกข์ และเริ่มกระทบกระเทือนตั้งแต่บัดนั้นมาจนกระทั่งปัจจุบันนี้ มีอะไรบ้าง นอกจากขันธ์กับจิตที่บดขยี้กันอยู่ตลอดเวลาหาความสุขความสบายใจไม่ได้

ภูเขาทั้งลูก ลูกไหนมากระทบกระเทือนเราให้ได้รับความลำบาก ต้นไม้ใหญ่ ๆ ที่ไหนมากระทบกระเทือนเราให้ลำบาก ไม่มี ! น้อยที่สุด ร้อยจะหาหนึ่งก็ทั้งยาก หรือไม่มี เช่นต้นไม้ล้มทับคนอย่างนี้ ร้อยหาหนึ่งก็ไม่มี

ที่ขันธ์ล้มทับเรานั่นซิ ทับอยู่ทุกผู้ทุกคน ทับอยู่ตลอดเวลา การพายืน เดิน นั่ง นอน พาขับถ่าย พารับประทานอาหาร พานุ่ง พาห่ม เพราะอะไร ก็เพราะเรื่องมันทับทนไม่ไหว ต้องหาทางออก หาทางบรรเทากันนั่นเอง เราอยู่ด้วยกันด้วยการบรรเทา

แต่จิตมันไม่รู้ในจุดนี้ มันจึงไม่เห็นโทษที่มีอยู่ภายในตัว จิตมันฟุ้งเฟ้อเห่อเหิมไปโน้นไปนี่ ไปคว้าอนาคต ไปตามลมตามแล้ง วาดมโนภาพไปว่า อันนั้นจะดี อันนี้จะดี จะรื่นเริงบันเทิง ที่นั่นจะสุข ที่นี้จะสบาย จิตมันเพลิดเพลินไปโน่นเสีย มันลืมกองทุกข์ที่มีอยู่กับตัวทั้ง ๆ ที่มีอยู่ตลอดเวลานี่แหละ แต่เราไม่สนใจคิดมันจึงเหมือนไม่มี นี่จะว่าเราเหลิงหรือไม่เหลิง ของจริงมีอยู่ แสดงอยู่ ความกระทบกระเทือนในธาตุในขันธ์มีอยู่ ทำไมไม่เห็นโทษของมันซึ่งกระทบกระเทือนกันอยู่ตลอดเวลา แล้วเราจะหวังเอาความเพลิดเพลินอะไรจากสิ่งเหล่านี้เล่า ยิ่งเวลาเจ็บไข้ได้ป่วยแล้วก็ยิ่งไปใหญ่ ยิ่งทับยิ่งถมเข้ามาทุกด้านทุกทางทุกแง่ทุกมุมทีเดียว อวัยวะส่วนไหนๆ ก็เป็นทุกข์ไปด้วยกัน เป็นไฟไปด้วยกันหมด เผาลงมาที่จิตใจ ถ้าจิตใจไม่มีธรรมเป็นเกราะป้องกันอยู่ด้วยแล้ว ก็เป็นไฟไปด้วยกันกับธาตุขันธ์ จะยิ่งมีความทุกข์ร้อน ยิ่งเป็นไฟกองที่ร้อนที่สุด ยิ่งกว่าธาตุขันธ์เสียอีก เพราะความหลง ความรู้เท่าไม่ถึงการณ์นี่แหละ จึงเรียกว่า “สงคราม” จงพิจารณาอย่างนี้

ทีนี้เมื่อถึงคราวจะตายล่ะ ทุกข์จะแสดงขึ้นมาในขันธ์ในจิตขนาดไหน มันไม่เหมือนขณะเกิด ขณะเกิดความจำไม่มี สภาพของเด็กก็เป็นอีกอย่างหนึ่ง ทั้ง ๆ ที่ทุกข์ ความจดจำสิ่งเหล่านั้นก็ไม่ค่อยมี ความรู้เดียงสาภาวะเกี่ยวกับเรื่องทุกข์ เด็กก็ไม่ค่อยมีมาก ทั้ง ๆ ที่ทุกข์เหมือนกันก็ตาม

แต่ตอนเป็นผู้ใหญ่เรานี่ซิ เวลาเจ็บไข้ได้ป่วยเข้าหนัก ๆ นี่เป็นอย่างไร เราจะปลงจิตลงที่ไหน เพราะมันมีแต่ไฟทั้งนั้น ถึงวาระสุดท้ายมันเป็นไฟด้วยกันหมด ร่างกายเป็นไฟทั้งกองเลย ไม่ว่าข้างบนข้างล่างแตะต้องไม่ได้ มันเป็นไฟทั้งนั้น เราจะปลงจิตปลงใจลงได้อย่างไร ถ้าไม่ฝึกพิจารณาให้รู้ตามความจริงของมันเสียตั้งแต่บัดนี้

การพิจารณาให้รู้เรื่องตามความจริงของมัน ก็ทำความเข้าใจกันถูกต้องตามที่เคยแสดงให้ฟัง รูปเป็นรูป ไม่ใช่เรา นี่เป็นความจริงอันหนึ่ง จริงอย่างหาอะไรเทียบไม่ได้เลย จริงอย่างสุดส่วน เวทนาเป็นเวทนา คือทุกข์ขนาดไหน ก็เป็นเรื่องของทุกข์ แม้แต่ทุกข์เองมันยังไม่ทราบความหมายของมัน เราไปให้ความหมายมันทำไม เราไปแบกความหมายไว้ในหัวอกของเราให้ทุกข์ทำไม เวทนาเองมันยังไม่ทราบความหมายของมัน แล้วมันก็ไม่ทราบว่ามันเป็นทุกขเวทนา มันไม่ทราบว่ามันให้ร้ายแก่ผู้ใด มันเป็นความจริงอันหนึ่งล้วน ๆ ตามหลักธรรมชาติของมัน โดยตัวมันเองก็ไม่ให้ความหมายตัวเอง และไม่ทราบความหมายของตัวเอง เราทำไมจึงต้องไปให้ความหมายมัน แล้วไปแบกความหมายนั้นมาเป็นไฟเผาตัว นี่ก็แสดงว่าเราโง่ แน่ะ ! ถ้าเราทราบเสียอย่างนี้แล้ว เราก็เข้าใจว่านั่นเป็นเวทนา นั่นเป็นทุกข์อันหนึ่ง เราผู้รู้ผู้ดูนี่ จะดูให้เห็นจนถึง สุดจุดสุดท้ายของทุกข์ว่า มันจะแสดงไปถึงไหน มันเกิดแล้วมันก็ต้องดับเหมือนกัน ไม่ดับในขณะหนึ่งก็ดับในขณะหนึ่ง หรือดับในขณะที่ตาย !

นี่แหละหลักสำคัญมีสองสิ่ง (๑) ร่างกายทั้งร่างนี้เราก็แบก ทั้ง ๆ ที่ทุกข์ ทั้ง ๆ ที่เป็นไฟ เราก็แบกว่าเป็นเราเป็นของเราอย่างแยกไม่ออก ถ้าไม่พิจารณาให้ทราบชัดว่าร่างกายเป็นร่างกาย (๒) ร่างกายเป็นธาตุอันหนึ่งต่างหาก มโนธาตุคือใจนี้ ก็เป็นธาตุอันหนึ่งต่างหาก ไม่ใช่อันเดียวกัน แต่อาศัยกันอยู่เพียงเท่านี้ นี่เป็นความรู้เห็นอันถูกต้อง

ทีนี้ระหว่างจิตกับร่างกายก็เหมือนกัน แม้จะอาศัยกันอยู่ เราก็เป็นเรา คือจิต อวัยวะคือร่างกายก็เป็นร่างกาย เวทนาก็เป็นเวทนา เป็นแต่จิตเป็นผู้รับทราบในเรื่องเวทนาที่เกิดขึ้นว่าเป็นสุขเป็นทุกข์ รับทราบแล้วเราต้องมีปัญญาเป็นเครื่องป้องกันตัวเราอีก เวทนาไม่ว่าจะเกิดขึ้นเพียงเท่านี้ แม้จะเกิดขึ้นมากกว่านี้ จนกระทั่งเวทนาทนไม่ไหว มันจะแตกลงไป ก็ต้องเป็นเวทนาอยู่วันยังค่ำ คือเวทนาเกิด เวทนาตั้งอยู่ เวทนาดับ มีเท่านั้นไม่มีอย่างอื่น ถ้าเราไม่เอาเราเข้าไปแทรกแล้ว มันมีเท่านั้นตามความจริง นี่เป็นข้อหนึ่งที่เราจะทำความเข้าใจให้กับสิ่งนี้โดยถูกต้อง ถ้าทำความเข้าใจกับสิ่งเหล่านี้โดยถูกต้องด้วยปัญญาแล้ว ถึงจะอยู่ในท่ามกลางกองไฟ คือธาตุขันธ์นี้เหมือนกองไฟก็ตาม แต่เขาไม่ทราบความหมายของตัวเองว่าเขาเป็นไฟ เราพูดเพื่อแก้เรานั้นเอง ตัวอยู่ในท่ามกลางกองไฟ แต่เราไม่เป็นไฟด้วยนี่

เราเป็นเรา รู้ทุกสิ่งทุกอย่างที่ปรากฏขึ้น ตั้งอยู่ก็รู้ มากน้อยเพียงไรก็รู้ ความรู้นี้ไม่ได้อาภัพ มีรู้อยู่ตลอดเวลา ขอให้มีสติเถิดจะรับทราบกันตลอดสาย

เอ้า ทนไม่ไหว หรือเวทนามันขึ้นขนาดไหน ทนไม่ไหว จะแตก เอ้า แตกไป เวทนาดับไป ผู้รู้นี้ไม่ได้ดับ ผู้รู้คือใจ ใจมีป่าช้าที่ไหน ใจไม่ดับ ไม่มีการดับตั้งแต่ไหนแต่ไรมา ถูกท่องเที่ยวเกิดอยู่ใน “วัฏสงสาร” ก็คือใจดวงนี้เอง เป็นแต่ไปตามบุญตามกรรมของตนเท่านั้น เพราะยังไม่มีความสามารถ

ถ้าเราพิจารณาทางด้านปัญญานี้ จิตจะแน่วลงสู่ความจริง ไม่สะทกสะท้านกับทุกขเวทนาที่เกิดขึ้น สัญญาที่ไปหมายว่านั้นเป็นเรา นี้เป็นเราเป็นของเรา ก็เป็นความหมายความหลอก เราก็ทราบแล้วว่าความจริงมันเป็นอย่างนี้แล้ว จะมาหมาย มาหลอกว่าเป็นเราเป็นของเราอย่างไรอีก ว่าเราจะเกิด เราจะตาย หมายไปทำไม

เรื่องธาตุเรื่องขันธ์มีการประชุมกัน หรือการผสมกันเข้า มีการตั้งอยู่ มีการสลายไปตามเรื่องของเขา อย่าไปเสกสรรปั้นยอเขา อย่าไปแบกไปหามเขา ให้เขาอยู่ตามความเป็นจริงของเขา เมื่อเขาทนไม่ได้เขาจะแตกก็ให้แตกไป นั่นเป็น “ทางหลวง” เราจะไปปลูกบ้าน ปลูกพืชต่างๆ ขวางถนนหลวงไม่ได้ เป็นโทษ

เรื่องคติธรรมดา ก็คือความตาย เกิดแล้วต้องตาย ต้นทางคือความเกิด ปลายทางคือความตาย กลางทางคือความทุกข์ความลำบาก หากเป็นมาอย่างนี้ เราเห็นอยู่แล้ว มันมีแต่กองทุกข์ทั้งนั้นในธาตุในขันธ์นี้ มีอะไรให้เป็นความสุขความสบาย ถ้าไม่ประกอบขึ้นภายในจิตใจเรา ให้เป็นความรื่นเริงด้วยคุณงามความดี ก็จะหาความสุขไม่มีในขันธ์อันนี้ หรือในโลกอันนี้ จะไม่มีใครเจอความสุขเลย

นี่วิธีพิจารณา หรือรบกันระหว่างกองทุกข์กับเรา

วิญญาณ ก็เป็นวิญญาณ มันเหมือน ๆ กัน พิจารณาให้เห็นความจริง อะไรจะเกิดมากน้อยให้รู้ ทุกขเวทนาจะเกิดขึ้นมากน้อย ให้รู้ตามความจริงของมัน เราเป็นเรา ทุกข์เป็นทุกข์แท้ ๆ ไม่เป็นอย่างอื่น หลักธรรมชาติเป็นอย่างนั้น ความจริงเป็นอย่างนั้น ย้ำกันลงที่ตรงนี้ พิจารณาจนคล่องแคล่ว ถอยหน้าถอยหลัง ย้อนหน้าย้อนหลัง กลับไปกลับมา พิจารณาอยู่ นี่แหละเรียกว่า “ขันธ์เป็นหินลับปัญญา”

การพิจารณาอย่าเอาเพียงหนเดียว อันเป็นความขี้เกียจมักง่าย ให้จิตกับปัญญาหมุนอยู่กับทุกขเวทนา เกิดขึ้นมาเท่าไรกำหนดให้รู้ทันโดยลำดับ ๆ ไม่ให้เผลอ ไม่ให้หลง เพราะมันแยกกันออกได้ เอ้า! ตายก็ตายไปเถอะ สบายเลย คืออยู่สบาย ตายสบาย แยกกันได้ ไม่ให้ไฟรอบบ้านเข้ามาไหม้ในบ้านเรา ไม่ให้ไฟในธาตุในขันธ์ที่มันเป็นอยู่ตามธรรมชาติของมันมาไหม้จิตใจให้เดือดร้อนไปตาม

นี่คือวิธีดำเนิน วิธีแก้ทุกข์ วิธีรู้เท่าทุกข์ วิธีถอนทุกข์ ไม่ให้ทุกข์ภายในร่างกายที่เกิดขึ้นอันเป็น “ทุกขเวทนา” เข้ามาเผาลนจิตใจของเรา เราก็อยู่สบาย ผาสุก

จิตนี้เป็นสาระอันสำคัญ ไม่ได้มีแตกมีสลายไปตามร่างกายธาตุขันธ์ เราสงวนรักษาอันนี้ไว้ให้ดี ด้วยสติด้วยปัญญาของเรา เราไม่ได้ล่มจมไป ร่างกายจะแตกก็เป็นเรื่องของร่างกายแตก จะว่าร่างกายล่มจมไปก็ล่มจมไป ลงหาดิน น้ำ ลม ไฟ จิตใจไม่ล่มจม ไม่แตกไปด้วย จิตใจไม่ฉิบหาย เพราะฉะนั้นการตายจึงเป็นเรื่องธรรมดา ไม่ใช่ไปล่มจมกัน

ผู้ปฏิบัติเพื่อความฟื้นฟูตัวเอง จะไปล่มจมอย่างนั้นได้อย่างไร ก็มีแต่ทรงตัวไว้ได้ด้วยความภูมิใจ จิตเมื่อมีป้องกันตัวได้ มีการรักษาตัวได้ในปัจจุบัน เฉพาะอย่างยิ่งในขณะที่เป็นทุกข์อย่างมากมายจนถึงวาระ คือตาย เรามีการป้องกัน เรามีการพิจารณาของเราอย่างรอบขอบชิดแล้ว ไปไหนก็ไปเถอะ ร่างกายแตก แตกไป เราเป็นผู้ป้องกันตัวได้แล้วโดยหลักธรรมชาติของตัวเอง ผู้ป้องกันตัวได้แล้วนี้แลเป็นผู้ปลอดภัย จะไปที่ไหนก็ไปเถอะ เมื่อเป็นผู้ปลอดภัยอยู่กับตัวแล้วไปไหนก็ปลอดภัย นี่เป็นหลักสำคัญสำหรับใจ

นี่แหละการปฏิบัติธรรมให้ผลประจักษ์อย่างนี้ และต้องเห็นเมื่อปฏิบัติอย่างว่านี้ ไม่เป็นอย่างอื่นไปได้เลย จงทำใจให้เข้มข้นต่อความเพียรเพื่อเอาตัวรอด เพราะใจตายไม่เป็น อย่าไปอ่อนแอ อย่าไปท้อถอย ทุกขเวทนามันมีมาแต่ดั้งเดิม ใครจะท้อถอย หรือไม่ท้อถอยกับมัน มันก็เป็นทุกขเวทนา ไม่เกิดประโยชน์อะไรกับความท้อถอย นอกจากจะมาทับถมเจ้าของเท่านั้นเอง

นี่เรียกว่า “สงครามจิต สงครามขันธ์” อันเป็นสงครามใหญ่โตยิ่งกว่าอะไร พูดถึงเรื่องกองทุกข์ก็นี่แหละ คือกองทุกข์อันแท้จริงที่เรารับผิดชอบ และกระทบกระเทือนกับเราตลอดกาล คือธาตุ คือขันธ์ คือกิเลสอาสวะ ที่มีอยู่ภายในจิตใจของเรานี้เท่านั้น ไม่มีอันใดที่จะมาทำให้เราได้รับความเดือดร้อน

ภูเขาทั้งลูกก็เป็นภูเขา ไม่เคยมาทับใคร ดิน ฟ้าอากาศ เขาก็อยู่ตามสภาพของเขา แต่ผู้รับกองทุกข์ทั้งหลาย คือธาตุ คือขันธ์ คือจิตใจของเรานี้ เป็นผู้รับสิ่งเหล่านี้ รับเป็นสัญญาอารมณ์ว่า ร้อนมาก หนาวมาก อะไรยุ่งไปหมด นอกนั้นก็ว่าเจ็บนั่น ปวดนี่ ในธาตุในขันธ์ จะไม่เจ็บปวดอะไร ก็เรือนของโรค มันเป็นโรค ความแปรสภาพ อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา นี่คือโรคชนิดหนึ่ง ๆ มีเต็มตัวของเราแล้ว จะไม่ให้เขาแสดงตัวได้อย่างไร อันใดที่มีมันต้องแสดงตามเรื่องของมัน เราที่มีสติปัญญาก็ให้ทราบตามเรื่องของมัน เราก็ไม่เสียท่าเสียทีให้เขา

เราพิจารณาอย่างนี้ จิตใจเรายิ่งมีความเด่นดวงขึ้นมาโดยลำดับ เกิดความกล้าหาญ เกิดความผ่องใสเต็มที่ กล้าหาญก็กล้าหาญ และเห็นจิตเป็นอันหนึ่งจากขันธ์อย่างชัดเจน เมื่อเป็นเช่นนี้ก็ไม่ทราบจะไปหวั่นไหวอะไร มันแน่วแน่อยู่ภายในจิตใจเต็มที่แล้ว มีหลักใจ มีเรือนใจ มีเกราะป้องกันจิตใจ แม้จะอยู่ในท่ามกลางแห่งกองเพลิง คือทุกขเวทนาทั้งหลายที่เป็นอยู่ในขันธ์นี้ ก็เพียงรับทราบกันเท่านั้น ไม่มีอะไรจะมาทำจิตใจให้ล่มจมเสียหายไปเพราะทุกขเวทนานั้นเลย ถ้าเราไม่ไปทำความเสียหายให้กับเราเอง เพราะความลุ่มหลงในขันธ์นี้เท่านั้น

ฉะนั้น จึงต้องเอาปัญญามาใช้ พิจารณาให้รอบคอบกับสิ่งเหล่านี้

โลกนี้มันเป็นโลกเกิดตาย ไม่ใช่โลกอื่นใดที่มีเกิดแต่ไม่มีตาย ในแดนสมมุติทั้งสามโลกนี้ เต็มไปด้วยการเกิดกับการตาย ซึ่งมีพอ ๆ กัน ไม่มีอะไรยิ่งหย่อนกว่ากัน ไปที่ไหนมันจึงมีป่าช้าเหมือนกันหมด เราจะหลบหลีกปลีกตัวไปไหน จะไปพ้นความตายนี้ ซึ่งมีเป็นเหมือนกันหมด เรื่องเท่ากัน ผิดกันแต่เวล่ำเวลานิดหน่อยเท่านั้น ความจริงแล้วมันเท่ากัน ให้พิจารณาแยบคายด้วยปัญญา

เราต้องสู้ หาที่หลบที่หลีกไม่ได้ ต้องสู้จนกระทั่งเข้าใจแล้ว นั่นแหละคือวิธีการหลบหลีก เข้าใจอย่างเต็มที่ก็หลบหลีกได้อย่างเต็มที่ ปลอดภัยได้อย่างเต็มตัว ไม่มีอะไรที่จะเป็นภัยต่อเรา เราเชื่อกิเลสมานานแล้ว คราวนี้เรากำลังถ่ายเทเอากิเลสออก สำรอกปอกกิเลสออกมาด้วยความเชื่อธรรม เชื่อพระพุทธเจ้าที่ตรัสไว้ชอบยิ่ง ไม่มีผิดไม่มีพลาด ปฏิบัติตามพระองค์แล้วแคล้วคลาดปลอดภัย ไม่มีอะไรเข้ามาเหยียบย่ำทำลายจิตใจ อยู่ก็เป็นสุขปลอดภัย ไปก็ไม่มีภัยมีเวร เพราะตัวปลอดภัยอยู่กับตัวเอง ตัวเองรักษาตัวอยู่ด้วยดีแล้ว ไปไหนก็ไป ภพไหนก็ภพเถอะ ผู้มีธรรมครองใจต้องเป็นสุขทั้งนั้น ไม่มีคำว่าล่มว่าจม

ความดีเราสร้างให้เห็นประจักษ์ชัดเจนอยู่กับใจเช่นนี้ มันจะล่มจมไปที่ไหน มีแต่ความสุขกายสบายใจ ไปไหนก็สบาย อำนาจแห่งการปฏิบัติธรรมเป็นคุณค่าเห็นประจักษ์กับใจของผู้ปฏิบัติ เราเกิดมาในภพนี้ได้พบพระพุทธศาสนา ได้ประพฤติปฏิบัติเต็มสติกำลังความสามารถ คนที่ไม่มีศาสนาหาหลักหาแหล่งไม่ได้นั้นน่ะ ร้อยจะหาสักหนึ่งน่าจะไม่มี ถ้าเราเทียบกันทั้งโลกนี้ ยุ่งกันแต่จะหาความสุข แต่ไม่ปรากฏว่าใครเจอความสุข เจอแต่ความทุกข์กันทั้งนั้น ไปที่ไหนบ่นอื้อไปหมดทั้งโลก ทำไมจึงเป็นอย่างนั้น? ก็ไม่หาในจุดที่ควรจะเจอแล้วมันจะเจอได้อย่างไร ต้องหาจุดที่ควรเจอซิ มันถึงจะเจอ !

พระพุทธเจ้าทรงค้นพบแล้วเจอแล้ว แล้วนำสิ่งที่ทรงพบแล้วนั้นมาสอนโลก โลกปฏิบัติตามนั้นจะผิดหวังไปไหน เพราะเป็นจุดอันเดียวกันกับพระพุทธเจ้าที่ทรงค้นและทรงพบมาแล้ว วิธีการก็เป็นวิธีการอันเดียวกัน สิ่งที่จะให้พบก็เป็นอย่างเดียวกัน ไม่ใช่เป็นอย่างอื่นอย่างใด ไม่มีก่อนไม่มีหลัง ความจริงนั้นเป็นจริงเหมือนกันหมด ใครจะปฏิบัติเมื่อใดก็ได้ พระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้วก็ไม่ขัดข้อง เพราะทางเดินได้ประทานไว้แล้ว คือปฏิปทา เครื่องดำเนินถึงความสิ้นทุกข์ ซึ่งมีอยู่ภายในจิตใจของสัตว์

ผู้มีศาสนาก็มีทางพ้นทุกข์ไปได้โดยลำดับ ผู้ไม่มีนั่นซิ หลักใจไม่มี เอาแต่ภายนอกเป็นสรณะ ตายแล้วก็หมดคุณค่า เอาความสุขไปไว้กับสิ่งโน้นสิ่งนี้ ไปไว้กับโลกโน้น โลกนี้ ทวีปนั้น ทวีปนี้ เอาความสุขไปไว้กับวัตถุสิ่งของอันนั้นอันนี้ เอาความสุขไปไว้สิ่งโน้น เอาจิตใจไปไว้สิ่งโน้น พอสิ่งโน้นสลายไปเท่านั้นก็หมดท่า ! ถึงอันนั้นไม่สลาย เวลาเราจะตายก็หมดท่าอีก ! หาความเป็นสาระไม่ได้เลย นั่นแหละเรียกว่า “คนขาดที่พึ่ง”

เราไม่ใช่คนเช่นนั้น เรากำลังสร้างที่พึ่งภายในจิตใจ พึ่งภายนอกเราได้พึ่งมาแล้ว ทุกสิ่งทุกอย่างได้อาศัยมาพอสมควรพอรู้หนักเบาของมันแล้ว ทีนี้เราจะสร้างสาระสำคัญขึ้นภายในจิตใจที่เรียกว่า “อัตสมบัติ” หรือ “อริยทรัพย์” ขึ้นภายในใจของตน อันเป็นทรัพย์อันประเสริฐนี้ ให้สมบูรณ์พูนสุขขึ้นมาโดยลำดับ จึงขอให้มีความพยายาม การพยายามหนักเบามากน้อยก็เพื่อเราเท่านั้น ความลำบากลำบนอย่าถือเป็นอุปสรรค อย่าถือเป็นมาอารมณ์จะเป็นอุปสรรคต่อทางดำเนิน อันใดที่ควรเป็นประโยชน์แก่เราในขณะนี้ หรือขณะใดก็ตาม ให้รีบเร่งขวนขวาย เพราะความตายนั้นเหมือนเซ็นสัญญาไว้กับเราแล้วว่า เราต้องตายแน่ ๆ นะ แต่ไม่ได้บอกวันเวลาไว้เท่านั้น

เราจะนอนใจได้ที่ไหนว่าวันไหนเราจะตาย เราทราบแต่ว่า “จะตาย” เซ็นสัญญาไว้แล้ว, ตีตราไว้แล้วกับเราทุกคน แต่วันเวลาไม่ตี เรายังจะนอนใจอยู่หรือ? ถึงแม้ว่าเขายังไม่ตีวันเวลา เขามาเอาเมื่อไรก็ได้ ให้รีบเสียแต่บัดนี้เพื่อทันการ

อชฺเชว กิจฺจมาตปฺปํ โกชญฺญา มรณํ สุเว,

น หิ โน สงฺครนฺเตน มหาเสเนน มจฺจุนา.

“ควรทำกิจที่เป็นผลประโยชน์ เป็นสาระสำคัญแก่ตนเสียในวันนี้ ไม่ควรคำนึงถึงวันนั้นวันไหน เพราะความตายที่เป็นพญามัจจุราชนั่นน่ะ ไม่ได้กำหนดเวล่ำเวลาว่าจะมาเมื่อใด” เช้าสายบ่ายเย็นอะไร ไม่ว่าทั้งนั้น และไม่มีใครที่จะรอดพ้นไปได้ ปัญญาเฉลียวฉลาดขนาดไหนก็ไม่พ้นเรื่องความตาย เพราะใหญ่กว่าทุกสิ่งทุกอย่าง เนื่องจากเบื้องต้นคือต้นเหตุความเกิดเป็นขึ้นมาแล้ว ความตายจะไม่มีนั้นเป็นไปไม่ได้ จึงว่า “ทำเสียในบัดนี้” ขึ้นชื่อว่า “ความดีทั้งหลาย” อย่านอนใจ กลางคืนกลางวันมันมีแต่มืดกับแจ้งเท่านั้น อย่าไปสำคัญมั่นหมาย อย่าหวังไปเอาความสุขความเจริญกับมืดกับสว่างนั้น ถ้าหากมืดกับสว่างนี้จะให้ความสุขกับคนได้จริง ๆ แล้ว ทุกคนเกิดมาพบแล้วความมืดความสว่าง บรรดาคนที่มีนัยน์ตา ความสว่างก็เห็น ความมืดก็เห็น ทำไมมีกองทุกข์อยู่เต็มหัวใจด้วยกัน หากว่าสิ่งเหล่านี้จะเอาความสุขความสบายให้คน ตามมโนภาพที่วาดไว้นั้น เพราะฉะนั้นจึงเป็นเรื่องโมฆะ

ให้หยั่งจิตลงในจุดที่จะเป็นสุข ทุกข์มันเกิดขึ้นที่ไหน เมื่อแก้จุดนั้นแล้ว สุขจะเกิดขึ้นที่นั่นแหละ แล้วทุกข์มันจะเกิดที่ไหนเวลานี้ นอกจากเกิดในธาตุในขันธ์ในจิตใจนี้ ไม่มีที่อื่นเป็นที่เกิดของทุกข์ แต่ละคน ๆ เป็นเรือนรับรองทุกข์ทั้งหลายด้วยกัน เมื่อเป็นเช่นนี้จึงจำต้องสร้าง “เรือนรับรองธรรม”ขึ้นมา ด้วยสติปัญญา ศรัทธา ความเชื่อความเลื่อมใส ให้เกิดขึ้นในสถานที่แห่งเดียวกัน แล้วกำจัดสิ่งที่มืดมนอนธการทั้งหลายนี้ออก เหลือแต่ความสว่างกระจ่างแจ้งภายในจิตใจ ผู้นั้นแลกลางคืนก็ตามกลางวันก็ตาม เป็นผู้มี “ราตรี” อันเดียวเท่านั้น คือมีความสว่างไสวอยู่ตลอดเวลา ไม่นิยมว่าเป็นกลางวันกลางคืน รู้ที่ใจนั้นแหละ คือผู้มีหลักใจ ผู้มีอริยทรัพย์ ผู้มีความสุข สุขอยู่ที่หัวใจ

การแสดงก็เห็นว่าสมควร จึงขอยุติ
เวลาทำสมาธิ

ให้ระลึกลมหายใจเข้าออก

ให้รู้ลมหายใจเข้าออก

หายใจเข้าสั้นก็รู้

หายใจออกสั้นก็รู้

หายใจเข้ายาวก็รู้

หายใจออกยาวก็รู้

ไม่ต้องบังคับลมหายใจ

ตามรู้ลมหายใจเข้าออก

สงบก็รู้ ไม่สงบก็รู้

สงบก็ไม่ยินดี ไม่สงบก็ไม่ยินร้าย

ไม่เอาทั้งสงบและไม่สงบ

เอาแค่รู้ตามความเป็นจริงของสภาวธรรมปัจจุบันนั้น

ทำอะไรก็ให้รู้เหตุปัจจัย

รู้ไม่ใช่เพื่อ ยินดี ยินร้าย รู้เพื่อให้ รู้เหตุปัจจัย

เหตุแห่งความเจริญ

เคารพ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์

เคารพ สิกขา 3 ศีล สมาธิ ปัญญา

เคารพในความไม่ประมาท

เคารพในการปฎิสันฐาน

เคารพใน ศีล

เคารพใน สมาธิ

เคารพในกันและกัน

หลักตัดสิน ธรรมวินัย 8 ประการ

ธรรมเหล่านี้เป็นไปเพื่อคลายกำหนัด

เป็นไปเพื่อไม่ประกอบสัตว์ไว้

เป็นไปเพื่อไม่สั่งสมกิเลส

เป็นไปเพื่อความเป็นผู้มักน้อย

เป็นไปเพื่อสันโดษ

เป็นไปเพื่อความสงัดจากหมู่คณะ

เป็นไปเพื่อปรารภความเพียร

เป็นไปเพื่อความเป็นคนเลี้ยงง่าย

ธรรมที่ควรเจริญ

สติ

สัมปัชชัญญะ

ศีล

สมาธิ

ปัญญา

วิมุตติ

วิมุตติญาณทัสสนะ

สัมมาทิฏฐิ เห็นชอบ

สัมมาสังกัปปะ ดำริชอบ

สัมมาวาจา พูดชอบ

สัมมาอาชีโว อาชีพชอบ

สัมมากัมมันโต การงานชอบ

สัมมาวายาโม ความเพียรชอบ

สัมมาสติ ระลึกชอบ

สัมมาสมาธิ ตั้งมั่นชอบ

สัมมาญาณะ ความรู้ชอบ

สัมมาวิมุตติ หลุดพ้นชอบ

สัมมาวิมุตติญาณทัสสนะ ความเห็นในการหลุดพ้นชอบ

สัมมาทิฏฐิ

คือ รู้ชัดซึ่ง เหตุแห่ง กุศล วิชชา เป็น เหตุ

รู้ชัดซึ่ง เหตุแห่ง อกุศล อวิชชา เป็น เหตุ

การบรรลุธรรมอาศัย สติ ปัญญา อุเบกขา เป็นมัทยัทธ์

รักษาสัจจะ เพิ่มพูลจาคะ ไม่ประมาทปัญญา ศึกษาสันติ

การปฎิบัติธรรม

คบสัตบุรุษ ฟังพระสัทธรรม อยู่ในประเทศเหมาะสม ตั้งสัจจะ เดินสัมมาทิฏฐิ เจริญความสงบ

ออกพิจารณาด้านปัญญา + พลังกุศล - บ่มอินทรีย์ นิพพิทา วิราคะ วิมุตติ วิมุตติญาณทัสสนะ

สติ - ศีล - สมาธิ - ปัญญา - วิมุตติ - วิมุตติญาณทัสสนะ

อัปปมาโณพุทโธ อานุภาพพระพุทธเจ้าไม่มีประมาณ

อัปปมาโณธัมโม อานุภาพพระธรรมไม่มีประมาณ

อัปปมาโณสังโฆ อานุภาพพระสงฆ์ไม่มีประมาณ

เรื่องของสมมติ อวิชชา ตัวตน ยึดตรงไหน หลงที่ไหน ผิดที่นั้น จุดต่อมแห่งภพชาติ

wiweksikkaram.hi5
 
จำนวนผู้ตอบ: 114
สมัครสมาชิก: Mon Mar 15, 2010 12:20 am
ที่อยู่: สุทธาวาสภูมิ

กลับไปหน้า ธรรมเพื่อชีวิต

ผู้ที่กำลัง online

ผู้ที่กำลังอ่าน forum นี้: สมาชิก ไม่มีสมาชิก และ ผู้เยี่ยมชม 4 คน

cron