ธรรมชุดเตรียมพร้อม 8

เพื่อสนทนาธรรม และแลกเปลี่ยนความคิดเห็น เพื่อความเป็นกัลยาณมิตร กัลยาณธรรมที่ดีต่อกัน

ธรรมชุดเตรียมพร้อม 8

Postโดย wiweksikkaram.hi5 » Tue Apr 20, 2010 10:54 pm

เทศน์โปรดคุณเพาพงา วรรธนะกุล ณ วัดป่าบ้านตาด

เมื่อวันที่ ๒ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๑๘

โลกในเรือนจำกับโลกนอก


จิตถ้าเราจะเทียบทางโลกแล้ว ก็เป็นผู้ต้องขังมาตลอดเวลา เหมือนคนที่เกิดอยู่ในเรือนจำ โดยอยู่ในเรือนจำ ในห้องขัง ไม่มีวันออกมาดูโลกภายนอก อยู่แต่ในห้องขังตั้งแต่เล็กจนโต จึงไม่ทราบว่าภายนอกเขามีอะไรกันบ้าง ความสุขความทุกข์ก็เห็นกันอยู่แต่ภายในเรือนจำ ไม่ได้ออกมาดูโลกภายนอกเขา ว่ามีความสุข ความสบาย และมีอิสระกันอย่างไรบ้าง ความรื่นเริงบันเทิง การไปมาหาสู่ เขาไปแบบไหน มาอย่างไร อยู่อย่างไรกัน โลกภายนอกเขามีความเป็นอยู่กันอย่างไร ไม่มีทางทราบได้ เพราะเราถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำมาตั้งแต่วันเกิดจนถึงวันตาย นี่เป็นข้อเปรียบเทียบ เทียบเคียง

ความสุข ความทุกข์ ก็เท่าที่มีอยู่ในนั้น ๆ ไม่มีอะไรเป็นพิเศษ ไม่มีอะไรที่ได้ไปจากโลกภายนอก เมื่อกลับเข้าไปสู่ภายในเรือนจำพอได้เห็นว่า นี่เป็นสิ่งที่แปลกจากโลกในเรือนจำ สิ่งนี้มาจากโลกนอก คือนอกเรือนจำ เอามาเทียบเคียงกันพอให้ทราบว่า อันนี้เป็นอย่างนี้ อันนั้นเป็นอย่างนั้น อันนี้ดีกว่าอันนั้น อันนั้นดีกว่าอันนี้ อย่างนี้ไม่มี เพราะไม่มีสิ่งใดเข้าไปเกี่ยวข้อง มีแต่เรื่องของเรือนจำ สุขหรือทุกข์มากน้อยเพียงใด ขาดแคลนลำบากลำบน ถูกกดขี่บังคับขนาดไหน ก็เคยเป็นมาอย่างนั้นตั้งแต่ดั้งเดิม เลยไม่ทราบจะหาทางออกไปไหน จะปลดเปลื้องตนไปได้อย่างไร ด้วยวิธีใด แม้จะออกไปโลกนอก โลกนอกก็ไม่ทราบอยู่ที่ไหน เพราะเห็นแต่โลกในคือเรือนจำ ที่ถูกควบคุมอยู่ตลอดเวลา และถูกกดขี่บังคับ เฆี่ยนตีกัน ทรมานกันอยู่อย่างนั้น อด ๆ อยาก ๆ ขาด ๆ แคลน ๆ ตลอดถึงที่นอนหมอนมุ้ง อาหารปัจจัย ที่อยู่อาศัยทุกสิ่งทุกอย่าง อยู่ในลักษณะของนักโทษในเรือนจำทั้งหมด เขาก็อยู่กันไปได้ เพราะไม่เคยเห็นโลกนอกว่าเป็นอย่างไร พอที่จะเอาไปเทียบเคียงว่า อันใดดีกว่า อันใดมีสุขกว่ากันอย่างไรบ้าง พอที่จะมีแก่ใจอยากเสาะแสวงหาทางออกไปสู่โลกภายนอก

จิตที่ถูกควบคุมจากอำนาจแห่งกิเลสอาสวะทั้งหลายก็เป็นเช่นนั้น คือถูกคุมขังอยู่ด้วยกิเลสประเภทต่าง ๆ ตั้งแต่กัปไหนกัลป์ไหน เช่นเกิดมาในปัจจุบันนี้ กิเลสที่เป็นเจ้าอำนาจบนหัวใจสัตว์นั้นมีมาตั้งแต่วันเกิด ถูกคุมมาเรื่อย ๆ ไม่เคยได้เป็นอิสระภายในตัวบ้างเลย จึงยากที่เราจะคาดได้ว่า ความสุขที่นอกเหนือไปจากสิ่งที่เป็นอยู่ในเวลานี้นั้น คือความสุขอย่างไรกัน เช่นเดียวกับคนที่เกิดในเรือนจำ และอยู่มาตลอดเวลา

โลกนอกเป็นโลกยังไง ? น่าไปและน่าอยู่ไหม ? ธรรมท่านประกาศสอนอยู่ปั๊งๆก็ไม่ค่อยสนใจกัน แต่ยังดีที่ผู้สนใจยังมีอยู่บ้างบางแห่งบางสถานที่ ที่ไหนไม่มีใครประกาศ ไม่มีใครพูดถึงเลยว่าโลกนอก คือจิตที่มีธรรมครองใจนั้นเป็นอย่างไร ไม่มีใครพูดให้ฟัง จึงไม่ทราบว่าศาสนธรรมเป็นอย่างไร ความสุขที่เกิดขึ้นจากอรรถจากธรรมเป็นอย่างไร มืดแปดทิศ ติดแบบจมดิ่งไม่มีวันฟู พอมองเห็นอวัยวะส่วนใดส่วนหนึ่งบ้างเลย เพราะไม่มีศาสนาช่วยฉุดลาก เหมือนว่า “โลกนอก” ไม่ปรากฏเลย มีแต่เรือนจำคือกิเลสควบคุมใจเท่านั้น เกิดมาในโลกนี้มีแต่เรือนจำเป็นที่อยู่อาศัย ที่เป็นที่ตาย อยู่นี่ตลอดไป

จิตใจไม่เคยทราบว่าอะไรที่พอจะให้ความสุขความสบาย ความเป็นอิสระยิ่งกว่าที่เป็นอยู่เวลานี้ ถ้าจะเทียบเข้าไปอีกแง่หนึ่งก็เหมือน “เป็ด” เล่นน้ำอยู่ใต้ถุนบ้านใต้ถุนเรือน แชะๆๆๆๆ อยู่อย่างนั้น สกปรกโสมมขนาดไหนมันก็พอใจเล่น เพราะมันไม่เคยเห็นน้ำมหาสมุทรทะเล ไม่เคยเห็นน้ำบึงน้ำบ่อที่กว้างขวางพอที่จะแหวกว่าย หัวหางกลางตัวได้อย่างสะดวกสบาย มันเห็นแต่น้ำใต้ถุนบ้านใต้ถุนเรือน ที่เขาล้างสิ่งของลงไปขังอยู่เท่านั้น มันก็ไปเที่ยวเล่นและถือว่าสนุกสนาน แหวกว่ายของมันอย่างสะดวกสบายรื่นเริง เพราะเหตุไร ? เพราะมันไม่เคยเห็นน้ำที่กว้างขวางหรือลึกยิ่งกว่านั้น พอที่จะให้เกิดความรื่นเริงบันเทิง เกิดความสุขความสบายแก่การไปมา หรือการแหวกว่าย หัวหางกลางตัวสะดวกสบายกว่าน้ำใต้ถุนบ้านใต้ถุนเรือน

ส่วนเป็ดที่อยู่ตามลำคลองอันกว้างลึกนั้น ผิดกันกับเป็ดใต้ถุนบ้าน มันสนุกสนานรื่นเริง เที่ยวไปตามห้วยหนองคลองบึง เจ้าของไล่ไปเที่ยวที่ไหนมันก็ไป ตามถนนหนทางข้ามไปมา โอ้โห ! แผ่กระจายกันเป็นฝูง ๆ เป็นร้อย ๆ เป็นพัน ๆ เป็ดพวกนี้ยังพอมีความสุขบ้าง นี่ได้แก่อะไร ?

ถ้าเทียบเข้ามาก็ได้แก่ “จิต” ที่ไม่เคยเห็นความสุขความสบาย ความรื่นเริงบันเทิงที่เกิดขึ้นจากอรรถจากธรรม ซึ่งเป็นเช่นเดียวกับเป็ดที่เล่นน้ำใต้ถุนบ้านใต้ถุนเรือน และจำพวกที่เพลินเล่นน้ำในลำคลอง หรือในบึงบางต่าง ๆ นั้นแล

พวกเรามีความสุขความรื่นเริง ด้วยอำนาจของกิเลสบังคับบัญชาอยู่เวลานี้ ซึ่งเหมือนกับความสุขของนักโทษในเรือนจำนั้นแล เมื่อ “จิต” ได้รับการอบรมจากโลกนอก หมายถึงธรรม ซึ่งออกมาจากโลกุตรธรรม มาจากดินแดนนิพพาน ลงมาโดยลำดับ ๆ จนกระทั่งถึงมนุษย์โลก ท่านชี้แจงไว้หมดชั้นหมดภูมิทีเดียว

ผู้มีอุปนิสัยมีความสนใจต่อโลกนอก ต่อความสุขที่ยิ่งไปกว่าความเป็นอยู่เวลานี้มีอยู่ เมื่อได้ยินเสียงอรรถเสียงธรรมและอ่านตามตำรับตำราเกี่ยวกับโลกนอก คือเรื่องอรรถเรื่องธรรม เรื่องความปลดเปลื้องความทุกข์ความทรมาน ที่ถูกบังคับขับไสอยู่ภายในใจโดยลำดับ จิตใจก็มีความรื่นเริงบันเทิง มีความพออกพอใจสนใจอยากฟัง สนใจอยากประพฤติปฏิบัติ จนปรากฏผลขึ้นมาโดยลำดับลำดา นั่นแหละเริ่มเห็นกระแสแห่งโลกนอกพาดพิงเข้ามาแล้ว จิตใจก็มีความดิ้นรนที่จะพยายามแหวกว่ายออกให้พ้นจากความกดขี่บังคับซึ่งมีอยู่ภายในใจ อันเปรียบเหมือนนักโทษในเรือนจำ

ยิ่งได้ปฏิบัติทางด้านจิตใจมีความสงบขึ้นเพียงไร ความตะเกียกตะกาย ความอุตส่าห์พยายามก็ยิ่งมากขึ้น ๆ สติปัญญาก็ค่อยปรากฏขึ้นมา เห็นโทษแห่งการกดขี่บังคับของกิเลสภายในใจ เห็นคุณค่าแห่งธรรมอันเป็นเครื่องปลดเปลื้องได้มากน้อยเพียงไร ก็เป็นความสบายภายในใจ เบาอกเบาใจ ซึ่งเป็นเครื่องเพิ่มศรัทธาขึ้นโดยลำดับ ความอุตส่าห์พยายามความอดทนเกิดขึ้นตาม ๆ กัน สติปัญญาที่เคยนอนจมปลักอยู่อย่างแต่ก่อน ก็ค่อยฟื้นตัวตื่นขึ้นมา และค้นคิดพิจารณา

แม้สิ่งเหล่านี้จะเคยเป็นข้าศึกมานมนาน และกระทบกระเทือนกันอยู่ทั้งวันทั้งคืน แต่ไม่เคยสนใจ ก็เกิดความสนใจขึ้นมา อะไรมากระทบกระเทือนทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ซึ่งแต่ก่อนก็เหมือนคนตาย ถือเป็นธรรมดา ๆ ไม่สะดุ้งสะเทือนสติปัญญาพอให้ได้คิดค้น หาเหตุผลต้นปลายบ้างเลย แต่เมื่อใจเริ่มเข้ากระแสแห่งธรรมที่ได้รับการอบรม จนเป็นพื้นเพแห่งสติปัญญาไปโดยลำดับ ย่อมจะเห็นทั้งโทษทั้งคุณประจักษ์ใจ เพราะเป็นของมีอยู่ด้วยกันทั้งโทษทั้งคุณภายในใจดวงนี้ จิตใจก็มีความคล่องแคล่วในการคิด การพิจารณา ใจจะเกิดความอาจหาญ ขุดค้นเห็นทั้งโทษ พยายามแก้ เห็นทั้งคุณ พยายามแหวกว่าย พยายามส่งเสริมไปโดยลำดับ

นี่เรียกว่าจิตค่อยปลดเปลื้องจากสิ่งกดขี่บังคับ คือเรือนจำภายในออกได้โดยลำดับ ทั้งมองเห็นโลกนอกอีกด้วยว่าโลกนอกเป็นโลกอย่างไร เหมือนเรือนจำที่มีอยู่เวลานี้ไหม ? ตาก็พอมองเห็นโลกนอกบ้างว่าท่านซึ่งอยู่โลกนอกท่านเป็นอยู่อย่างไร ไปมาหากันอย่างไร เราเป็นอยู่อย่างไรภายในเรือนจำ ความเป็นอยู่ภายใต้กิเลสครอบงำนี้เป็นอย่างไร ความที่เบาบางจากกิเลสลงเป็นลำดับ ๆ จิตใจมีความรู้สึกอย่างไรบ้าง ซึ่งพอเทียบกันได้

ทีนี้พอมีโลกนอก โลกใน เข้าเทียบกันแล้ว คือความสุขความสบายที่เกิดขึ้นจากการแก้กิเลสออกได้มากน้อยก็ปรากฏ ความทุกข์ที่กิเลสยังมีค้างอยู่พาให้แสดงผลก็ทราบชัด และเห็นโทษด้วยปัญญาเป็นขั้น ๆ และพยายามแก้ไขอยู่ตลอดเวลา ไม่ลดละความพากเพียร

นี่แหละตอนที่สติปัญญา ศรัทธา ความเพียร เริ่มหมุนตัวออกแนวรบ ก็ตอนที่เห็นทั้งโลกนอก คือความปลดเปลื้องกิเลสออกจากใจได้มากน้อย และเห็นทั้งโลกในที่กิเลสกดขี่บังคับมาเรื่อย ๆ แต่ก่อนไม่ทราบจะเอาอะไรมาเทียบ เพราะไม่รู้ไม่เห็น เกิดขึ้นมาก็จมอยู่ในความทุกข์ทรมานอย่างนี้ ขึ้นชื่อว่าความสุขนั้น ไม่ปรากฏจากโลกนอกเลย คือ ไม่ปรากฏจากอรรถจากธรรม

การปรากฏก็ปรากฏแต่ความสุขแบบที่ความทุกข์อยู่หลังฉาก ซึ่งคอยจะมาเหยียบย่ำทำลาย เพื่อลบล้างความสุขนั้นให้หายไปโดยไม่มีเวลานาฬิกาเตือนบอกเลย ทีนี้ได้รู้ได้เห็นบ้าง ความสุขภายนอก คือจากโลกนอกของผู้ที่ธรรมครองใจนั้น ก็เห็นความสุขภายในเรือนจำ คือความสุขที่อยู่ใต้อำนาจของกิเลสก็เห็น ความทุกข์ที่อยู่ใต้อำนาจของกิเลสก็เห็น คือรู้ได้ด้วยสติปัญญาของตัวเองประจักษ์ใจ

ความสุขที่เกิดขึ้นจากโลกนอก ได้แก่กระแสแห่งธรรมที่ซาบซึ้งเข้าไปในจิตใจ ก็เห็นพอเป็นเครื่องเทียบเคียงกันไปโดยลำดับ ๆ เห็นโลกภายนอก โลกภายใน ทั้งคุณและโทษนำมาประกอบเทียบเคียงกัน ก็ยิ่งทำให้เกิดความเข้าใจ และความพากเพียรความอดทนมากขึ้น กระทั่งอะไรผ่านเข้ามาขึ้นชื่อว่าเรื่องของกิเลส ซึ่งเคยกดขี่บังคับจิตใจแล้ว ต้องต่อสู้กันทันที และแก้ไขปลดเปลื้อง หรือรื้อถอนกันโดยลำดับ ๆ ด้วยอำนาจแห่งสติปัญญา มีความเพียรเป็นเครื่องหนุนหลัง

จิตใจจะหมุนไปเอง เมื่อความเห็นโทษมีมาก ความเห็นคุณก็มีมาก เมื่อความอยากรู้อยากเห็นธรรมมีมาก และความอยากหลุดพ้นมีมากเพียงไร ความพากเพียรก็ต้องมากขึ้นไปตาม ๆ กัน แม้ความอดความทนก็ตาม ๆ กันมา เพราะมีอยู่ในใจดวงเดียวกัน เห็นโทษก็เห็นที่ใจทั้งดวงนั้นแล ใจทั้งดวงเป็นผู้เห็นโทษ แม้เห็นคุณก็ใจทั้งดวงนั้นเป็นผู้เห็น

การที่พยายามแหวกว่ายด้วยวิธีต่าง ๆ ตามความสามารถของตน ก็เป็นเรื่องของใจทั้งดวงจะเป็นผู้ทำความพยายามปลดเปลื้องตนเอง เพราะฉะนั้นสิ่งเหล่านี้มีความเพียรเป็นต้น ที่เป็นเครื่องมือของจิต เป็นเครื่องสนับสนุนจิต จึงมาพร้อม ๆ กัน เช่น ศรัทธา ความเชื่อต่อมรรคต่อผล ความเชื่อต่อแดนพ้นทุกข์ วิริยะ ความพากเพียรที่จะทำตัวให้หลุดพ้นไปโดยลำดับ ขันติ ความอดความทน เพื่อบึกบึนให้ผ่านพ้นไปได้ ก็มาพร้อม ๆ กัน สติปัญญา ที่จะใคร่ครวญไปตามแนวทาง อันใดถูกอันใดผิดก็มาตาม ๆ กัน

ถ้าจะพูดตามหลักธรรมที่ท่านกล่าวไว้ ก็เรียกว่า “มรรคสมังคี” ค่อยรวมตัวกันเข้ามาอยู่ในใจดวงเดียวนี้ อะไรก็รวมเข้ามา สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปโป สัมมาวาจา สัมมากัมมันโต ตลอดถึงสัมมาสมาธิ ก็รวมเข้ามาอยู่ในจิตดวงเดียวนี้ทั้งมวล ไม่ไปที่อื่น

สัมมากัมมันตะ ก็มีแต่เดินจงกรม นั่งสมาธิ ซึ่งเป็นงานชอบ สัมมากัมมันตะ คือ งานชอบ เพราะเข้าถึงงานอันละเอียดที่ใจรวมเข้ามา จิตเป็น มรรคสมังคี คือมรรครวมตัวเข้ามาสู่ใจดวงเดียว สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปโป ได้แก่เรื่องของปัญญา ค้นคว้าอยู่ตลอดเวลา เกี่ยวกับเรื่องธาตุเรื่องขันธ์ เรื่องต่าง ๆ ที่ปรากฏหรือสัมผัส เกิดขึ้นแล้วดับไปทั้งดีทั้งชั่วทั้งอดีตและอนาคต ที่ขึ้นมาปรากฏภายในใจ สติปัญญาเป็นผู้ฟาดฟันหั่นแหลกไปโดยลำดับ ไม่รอให้เสียเวล่ำเวลา สัมมากัมมันตะ การงานชอบที่เกี่ยวกับกาย ก็คือการนั่งภาวนาหรือเดินจงกรม อันเป็นความเพียรละกิเลสในท่าต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับทางใจก็คือวิริยะ ความพากเพียรทางใจ

สัมมาวาจา พูดกันแต่เรื่องอรรถเรื่องธรรม การสนทนากันก็มีแต่เรื่อง “สัลเลขธรรม” ธรรมเป็นเครื่องขัดเกลา หรือชำระล้างกิเลสอาสวะออกจากจิตใจ ว่าเราจะทำด้วยวิธีใดกิเลสจึงจะหมดไปโดยสิ้นเชิง นี่คือสัมมาวาจา สัมมาอาชีวะ อารมณ์อันใดที่เป็นข้าศึกต่อจิต เมื่อนำเข้ามาเป็นอารมณ์ของใจเรียกว่า “เลี้ยงชีพผิด” เพราะเป็นข้าศึกต่อจิต จิตต้องมีความมัวหมองไม่ใช่ของดี ต้องเป็นทุกข์ขึ้นมาภายในใจมากน้อยตามส่วนแห่งจิตที่มีความหยาบละเอียดขึ้นไปโดยลำดับ นี่ก็ชื่อว่า“เป็นยาพิษ” เลี้ยงชีพไม่ชอบ ต้องแก้ไขทันที ๆ

อารมณ์ของจิตที่เป็นธรรม อันเป็นไปเพื่อความรื่นเริง เป็นไปเพื่อความสุขความสบายนั่นแล คืออารมณ์ที่เหมาะสมกับจิต และเป็นอาหารที่เหมาะกับใจ ทำให้ใจเกิดความสงบสุข การเลี้ยงชีพชอบจึงเลี้ยงอย่างนี้ โดยทางธรรมขั้นปฏิบัติต่อจิตเป็นขั้น ๆ ขึ้นไป ส่วนการเลี้ยงชีพชอบทางร่างกายด้วยอาหารหรือบิณฑบาตนั้น เป็นสาธารณะสำหรับชาวพุทธทั่ว ๆ ไปจะพึงปฏิบัติให้เหมาะสมกับหน้าที่ของตน ๆ

สัมมาวายามะ เพียรชอบ เพียรอะไร ? นี่เราก็ทราบ ท่านบอกเพียรใน ๔ สถาน คือพยายามระวังไม่ให้บาปเกิดขึ้นในตนหนึ่ง พยายามละบาปที่เกิดขึ้นแล้วให้หมดไป การระวังบาปต้องระวังด้วยความมีสติ พยายามสำรวมระวังอย่าให้บาปเกิดขึ้นด้วยสติ คือระวังจิตที่จะคิด เที่ยวกว้านเอาความทุกข์ความทรมานเข้ามาสู่จิตใจนั่นเอง เพราะความคิดความปรุงในทางไม่ดีนั้นเป็นเรื่องของ “สมุทัย” จึงพยายามระวังรักษาด้วยดี อย่าประมาทหนึ่ง พยายามเจริญสิ่งที่เป็นกุศล เป็นความเฉลียวฉลาด ให้มีมากขึ้นโดยลำดับ ๆ หนึ่ง และเพียรระวังรักษากุศลที่เกิดขึ้นแล้วให้เจริญยิ่งขึ้น อย่าให้เสื่อมไปหนึ่ง

“สัมมัปปธาน สี่” ที่ท่านว่าก็อยู่ที่ตัวเรานี้แล “สัมมาสติ” ก็ดูอยู่ในใจของเรานี่ การเคลื่อนไหวไปมา ความระลึก ความรู้ตัวนี้ รู้อยู่ตลอดเวลา อะไรมาสัมผัสทางตาทางหูทางจมูก ทางลิ้นทางกาย ไม่เข้าไปสู่ใจจะไปที่ไหน ใจเป็นสถานที่ใหญ่โตคอยรับทราบเรื่องราวต่าง ๆ ทั้งดีทั้งชั่วอยู่ตลอดเวลา ปัญญาเป็นผู้วินิจฉัยใคร่ครวญ สติเป็นผู้คอยดูตรวจตราพาชีอยู่เสมอ ในเมื่ออะไรเข้ามาเกี่ยวข้องกับใจ เป็นดีหรือเป็นชั่ว อารมณ์ชนิดใด สติปัญญาใคร่ครวญเลือกเฟ้นในอารมณ์ต่าง ๆ ที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับใจ อันใดที่เห็นว่าไม่ชอบธรรม จิตจะสลัดปัดทิ้งทันที ๆ คือปัญญานั่นแหละเป็นผู้ทำการสลัดปัดทิ้ง แน่ะ

“สัมมาสมาธิ” การงานเพื่อสงบกิเลสโดยสมาธิก็มั่นคงอยู่ตลอดเวลา จนปรากฏผลเป็นความสงบเย็นแก่ใจที่พักงานอย่างแท้จริง ไม่มีความฟุ้งซ่านเข้ามากวนใจในขณะนั้นประการหนึ่ง

ในขณะที่จะเข้าสมาธิเป็นการพักผ่อนจิต เพื่อเป็นกำลังของปัญญาในการค้นคว้าต่อไปก็พักเสีย พักในสมาธิ คือเข้าสู่ความสงบ ได้แก่หยุดการปรุงการแต่งการคิดค้นคว้าทางด้านปัญญาโดยประการทั้งปวง ให้จิตสงบตัวเข้ามาอยู่อย่างสบาย ไม่ต้องคิดต้องปรุงอะไรซึ่งเป็นเรื่องของงาน พักจิตให้สบายโดยความมีอารมณ์เดียว หากว่าจิตมีความเพลิดเพลินต่อการพิจารณาไปมากจะยับยั้งไว้ไม่ได้ เราก็เอา “พุทโธ” เป็นเครื่องฉุดลากเข้ามา ให้จิตอยู่กับ “พุทโธ ๆๆ”

คำบริกรรมกับ “พุทโธ” นี้ แม้จะเป็นความคิดปรุงก็ตาม แต่เป็นความคิดปรุงอยู่ในธรรมจุดเดียว ความปรุงอยู่ในธรรมจุดเดียวนั้นเป็นเหตุให้จิตมีความสงบตัวได้ เช่น คำว่า “พุทโธ ๆๆ” หากจิตจะแย็บออกไปทำงานเพราะความเพลิดเพลินในงาน งานยังไม่เสร็จ เราก็กำหนดคำบริกรรมนั้นให้ถี่ยิบเข้าไป ไม่ยอมให้จิตนี้ออกไปทำงาน คือจิตขั้นที่เพลินกับงานนั้นมีอยู่ ถ้าพูดแบบโลกก็ว่า “เผลอไม่ได้” แต่จะว่าจิตเผลอก็พูดยาก การพูดที่พอใกล้เคียงก็ควรว่า “รามือไม่ได้” พูดง่าย ๆ ว่ายังงั้น เรารามือไม่ได้ จิตจะต้องโดดออกไปหางาน ตอนนี้ต้องหนักแน่นในการบริกรรม บังคับจิตให้อยู่กับอารมณ์อันเดียว คือ พุทโธ เป็นเครื่องยับยั้งจิต กำหนด พุทโธ ๆๆๆ ให้ถี่ยิบอยู่นั้น แล้ว พุทโธ กับจิตก็เป็นอันเดียวกัน ใจก็แน่ว สงบลง สงบลงไป ก็สบาย ปล่อยวางงานอะไรทั้งหมด ใจก็เยือกเย็นขึ้นมา นี่คือสมาธิที่ชอบ

ในขณะที่จะพักต้องพักอย่างนี้ ท่านเรียกว่า “สัมมาสมาธิ” เป็นสมาธิชอบ พอสมควรเห็นว่าใจได้กำลังแล้ว เพียงปล่อยเท่านั้นแหละจิตจะดีดตัวออกทำงานทันทีเลย ดีดออกจากความเป็นหนึ่ง ความเป็นอารมณ์อันเดียวนั้น แล้วก็เป็นสองกับงานละทีนี้ ใจทำงานต่อไปอีก ไม่ห่วงกับเรื่องของสมาธิในขณะที่ทำงาน ในขณะที่ทำสมาธิเพื่อความสงบก็ไม่ต้องห่วงกับงานเลยเช่นเดียวกัน

ขณะที่พักต้องพัก เช่นในขณะที่รับประทานต้องรับประทาน ไม่ต้องทำงานอะไรทั้งนั้น นอกจากทำงานในการรับประทาน จะพักนอนหลับก็นอนหลับให้สบาย ๆ ในขณะที่นอนไม่ต้องไปยุ่งกับงานอะไรทั้งสิ้น แต่เวลาที่เริ่มทำงานแล้วไม่ต้องไปยุ่งในเรื่องการกินการนอน ตั้งหน้าทำงานจริง ๆ นี่ได้ชื่อว่าทำงานเป็นชิ้นเป็นอัน ทำงานเป็นวรรคเป็นตอน ทำงานถูกต้องโดยกาลโดยเวลาเหมาะสมกับเหตุการณ์ เรียกว่า สัมมากัมมันตะ “สัมมากัมมันตะ” คือการงานชอบ ไม่ก้าวก่ายกัน เป็นงานที่เหมาะสม

เรื่องสมาธิปล่อยไม่ได้ การปฏิบัติเพื่อความรื่นเริงของใจ การเห็นว่า “สมาธิ” อยู่เฉย ๆ ไม่เกิดประโยชน์นั้นไม่ถูก ถ้าผู้ติดสมาธิไม่อยากออกทำงานเลยอย่างนั้น เห็นว่าไม่ถูกต้องควรตำหนิ เพื่อให้ผู้นั้นได้ถอนตัวออกมาทำงาน แต่ถ้าจิตมีความเพลิดเพลินในงานแล้ว เรื่องของสมาธิก็มีความจำเป็นในด้านหนึ่ง ในเวลาหนึ่งจนได้ คนเราทำงานไม่พักผ่อนนอนหลับบ้างเลยนี้ทำงานต่อไปไม่ได้ แม้จะรับประทานอาหาร สมบัติเสียไปด้วยการรับประทานก็ให้มันเสียไป ผลที่ได้คือธาตุขันธ์มีกำลังจากการรับประทาน ประกอบการงานตามหน้าที่ต่อไปได้อีก เงินจะเสียไป ข้าวของอะไรที่นำมารับประทานจะเสียไป ก็เสียไปเพื่อเกิดประโยชน์ เพื่อเป็นพลังในร่างกายเราจะเป็นอะไรไป ให้มันเสียไปเสียอย่างนี้ ไม่เสียผลเสียประโยชน์อะไร ถ้าไม่รับประทานจะเอากำลังมาจากไหน ต้องรับประทาน เสียไปก็เสียไปเพื่อกำลัง เพื่อให้เกิดกำลังขึ้นมา

นี่การพักในสมาธิ ในขณะที่พักให้มีความสงบ ความสงบนั้นแลเป็นพลังของจิต ที่จะหนุนทางด้านปัญญาได้อย่างคล่องแคล่ว เราต้องพักให้มีความสงบ ถ้าไม่สงบเลยมีแต่ปัญญาเดินท่าเดียว ก็เหมือนกับมีดไม่ได้ลับหิน ฟันตุ๊บ ๆ ตั๊บ ๆ ไม่ทราบว่าเอาสันลงเอาคมลง มีแต่ความอยากรู้อยากเห็น อยากเข้าใจ อยากถอนกิเลสโดยถ่ายเดียว โดยที่ปัญญาไม่ได้ลับจากการพักสงบ อันเป็นสิ่งที่หนุนหลังให้เป็นความสงบเย็นใจ ให้เป็นกำลังของใจ แล้วมันก็เหมือนกับมีดที่ไม่ได้ลับหินน่ะซี ฟันอะไรก็ไม่ค่อยขาดง่าย ๆ เสียกำลังวังชาไปเปล่า ๆ

เพราะฉะนั้นเพื่อความเหมาะสม ในขณะที่พักสงบจิตในเรือนสมาธิต้องให้พัก การพักผ่อนจึงเหมือนเอาหินลับปัญญานั่นเอง การพักธาตุขันธ์ คือสกลกายก็มีกำลัง การพักจิต จิตก็มีกำลังด้วย

พอมีกำลังแล้ว จิตออกคราวนี้ก็เหมือน “มีดได้ลับหินแล้ว” อารมณ์อันเก่านั้นแล ปัญญาอันเก่านั้นแล ผู้พิจารณาคนเก่านั้นแล แต่พอกำหนดพิจารณาลงไป มันขาดทะลุไปเลย คราวนี้เหมือนกับคนที่พักผ่อนนอนหลับ รับอาหารให้สบาย ลับมีดพร้าให้เรียบร้อยแล้ว ไปฟันไม้ท่อนนั้นแล คน ๆ นั้น มีดก็เล่มนั้น แต่มันขาดได้อย่างง่ายดาย เพราะมีดก็คม คนก็มีกำลัง

นี่อารมณ์ก็อารมณ์อันนั้นแล ปัญญาก็ปัญญาอันนั้นแล ผู้ปฏิบัติคนนั้นแล แต่ได้ “ลับหิน” แล้ว กำลังของจิตก็มีแล้วเป็นเครื่องหนุนปัญญา จึงแทงทะลุไปได้อย่างรวดเร็ว ผิดกับตอนไม่ได้พักในสมาธิเป็นไหน ๆ

เพราะฉะนั้นเรื่องของสมาธิกับเรื่องของปัญญา จึงเป็นธรรมเกี่ยวเนื่องกัน เป็นแต่เพียงทำงานในวาระต่าง ๆ กันเท่านั้น วาระที่จะทำสมาธิก็ทำเสีย วาระนี้จะพิจารณาทางด้านปัญญาให้เต็มอรรถเต็มธรรม เต็มเม็ดเต็มหน่วย เต็มสติกำลัง พิจารณาลงไปให้เต็มเหตุเต็มผล เวลาจะพักก็พักให้เต็มที่เต็มฐานเหมือนกัน ให้เป็นคนละเวลาไม่ให้ก้าวก่ายกัน แบบทั้งจะพิจารณาทางด้านปัญญา ทั้งเป็นห่วงสมาธิ เวลาเข้าสมาธิแล้วก็เป็นอารมณ์กับเรื่องปัญญา อย่างนี้ไม่ถูก จะปล่อยทางไหน จะทำงานอะไรให้ทำงานนั้นจริง ๆ ให้เป็นชิ้นเป็นอัน นี่ถูกต้องเหมาะสม สัมมาสมาธิ ก็เป็นอย่างนี้จริง ๆ

เรื่องของกิเลสเป็นเรื่องกดถ่วงจิตใจ จิตเรานี่เหมือนเป็นนักโทษ ถูกกิเลสอาสวะทั้งหลายครอบงำอยู่ตลอดเวลา และบังคับทรมานจิตใจมาตลอดนับแต่เกิดมา

เมื่อปัญญาได้ถอดถอนกิเลสออกโดยลำดับ ๆ แล้ว ใจก็มีความสว่างไสวขึ้นมา ความเบาบางของจิตก็เป็นคุณอันหนึ่ง ที่เกิดขึ้นจากการที่ถอดถอนสิ่งที่เป็นภัย สิ่งที่สกปรกออกได้ เราก็เห็นคุณค่าอันนี้ แล้วพิจารณาไปเรื่อย ๆ

รวมแล้ว กิเลสอยู่ที่ไหน ภพชาติอยู่ที่ไหน ก็มีอยู่ที่ใจดวงเดียวนี้แหละ นอกนั้นเป็นกิ่งก้านสาขา เช่น ออกไปทางตา ทางจมูก ทางหู ทางลิ้น ทางกาย แต่ต้นของมันจริง ๆ อยู่ที่ใจ เวลาพิจารณาสิ่งเหล่านั้นรวมเข้ามา รวมเข้ามาแล้ว จะเข้ามาสู่จิตดวงเดียวนี้ “วัฏวน” ไม่ได้แก่อะไร ได้แก่จิตดวงเดียวนี้เป็นผู้หมุนผู้เวียน เป็นผู้พาให้เกิดให้ตายอยู่เท่านี้ เพราะอะไร ? เพราะเชื้อของมันมีอยู่ภายในใจ

เมื่อใช้สติปัญญาพิจารณาค้นคว้าเห็นชัดและตัดเข้ามา ๆ เป็นลำดับ ๆ จนเข้าถึงจิตซึ่งเป็นตัวการ มี “อวิชชา” ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญมากที่เป็นเชื้อ “วัฏฏะ” อยู่ภายในใจ แยกลงไปพิจารณาลงไป ๆ ไม่ให้มีอะไรเหลืออยู่ ว่านี้คือนั้น นั้นคือนั้น กำหนดพิจารณาลงไปที่จิตเช่นเดียวกับสภาวธรรมทั่ว ๆ ไป

แม้ใจจะมีความสว่างไสวขนาดไหนก็ตาม ก็พึงทราบว่านี้เป็นเรือนใจที่พอพักอาศัยไปชั่วกาลชั่วเวลาเท่านั้น หากยังไม่สามารถพิจารณาให้แตกกระจายลงไปได้ แต่เราอย่าลืมว่า จิตที่มีความเด่นดวงนี้แลคืออวิชชาแท้ ให้พิจารณาเอาอันนั้นแหละเป็นเป้าหมายแห่งการพิจารณา

เอ้า ! อันนี้จะสลายลงไปจนหมดความรู้ไม่มีอะไรเหลือ กระทั่ง “ผู้รู้” จะฉิบหายจมไปด้วยกันก็ให้รู้เสียที เราพิจารณาเพื่อหาความจริง เพื่อรู้ความจริง ต้องให้ลงถึงเหตุถึงผลถึงความจริงทุกสิ่งทุกอย่าง อะไรจะฉิบหายลงไปก็ให้ฉิบหาย แม้ที่สุด “ผู้รู้” ที่กำลังพิจารณาอยู่นี้จะฉิบหายไปตามเขา ก็ให้รู้ด้วยสติปัญญา ไม่ต้องเหลือไว้ว่าอะไรเป็นเกาะเป็นดอนหลอกเรา อะไรเป็นเรา อะไรเป็นของเรา ไม่มีเหลือไว้เลย พิจารณาลงไปให้ถึงความจริงไปด้วยกันหมด

สิ่งที่เหลือหลังจากกิเลส “อวิชชา” ที่ถูกทำลายลงโดยสิ้นเชิงแล้วนั้นแล คือสิ่งที่หมดวิสัยของสมมุติที่จะเอื้อมเข้าถึงและไปทำลายได้ นั้นแลท่านเรียกว่า “จิตบริสุทธิ์” หรือ “ความบริสุทธิ์” ธรรมชาติแห่งความบริสุทธิ์นี้ไม่มีอะไรทำลายได้

กิเลสเป็นสิ่งสมมุติที่เกิดขึ้นได้ดับได้ เพราะฉะนั้นจึงชำระได้ มีมากขึ้นได้ ทำให้ลดลงได้ ทำให้หมดสิ้นไปก็ได้ เพราะเป็นเรื่องของสมมุติ

แต่จิตล้วน ๆ ซึ่งเป็นธรรมชาติที่เรียกว่า “จิตตวิมุตติ” แล้ว ย่อมพ้นวิสัยแห่งกิเลสทั้งมวลอันเป็นสมมุติจะเอื้อมเข้าถึงและทำลายได้ ถ้ายังไม่บริสุทธิ์มันก็เป็นสมมุติเช่นเดียวกับสิ่งทั้งหลาย เพราะสิ่งสมมุตินั้นแทรกตัวอยู่ในจิต เมื่อแก้นี้ออกจนหมดแล้ว ธรรมชาติที่เป็นวิมุตตินี่แล เป็นธรรมชาติที่กิเลสใด ๆ จะทำอะไรต่อไปไม่ได้อีก เพราะพ้นวิสัยแล้ว แล้วอะไรฉิบหาย ?

ทุกข์ก็ดับไปเพราะสมุทัยดับ นิโรธความดับทุกข์ก็ดับไป มรรคเครื่องประหารสมุทัยก็ดับไป สัจธรรมทั้งสี่ดับไปด้วยกันทั้งนั้น คือ ทุกข์ก็ดับ สมุทัยก็ดับ มรรคก็ดับ นิโรธก็ดับ แน่ะ ! ฟังซิ

อะไรที่รู้ว่า “สิ่งนั้น ๆ ดับไป” นั่นแลคือผู้ไม่ใช่สัจธรรม ผู้นี้ผู้เหนือสัจธรรม การพิจารณาสัจธรรม คือการพิจารณาเพื่อผู้นี้เท่านั้น เมื่อถึงตัวจริงนี้แล้ว สัจธรรมทั้งสี่ก็หมดหน้าที่ไปเอง โดยไม่ต้องไปชำระ ไม่ต้องไปแก้ไข ไม่ต้องไปปลดเปลื้อง เช่น ปัญญาเราทำงานเต็มที่แล้วปัญญาเราปล่อยได้ ไม่ต้องมีกำหนดกฎเกณฑ์ สติก็ดี ปัญญาก็ดี ที่เป็นเครื่องรบ พอสงครามเลิก ข้าศึกหมดไปแล้ว ธรรมเหล่านี้ก็หมดปัญหาไปเอง นั่น

อะไรเหลืออยู่ ? ก็คือความบริสุทธิ์นั้นแหละ พระพุทธเจ้าที่ทรงประกาศธรรมสอนโลก ก็เอาจากธรรมชาติที่บริสุทธิ์นี้แลไปสอน ศาสนธรรมออกจากธรรมชาติอันนี้ และอุบายแห่งการสอน ต้องสอนทั้งเรื่องของทุกข์ เรื่องของสมุทัย ของนิโรธ ของมรรค เพราะอาการเหล่านั้นเป็นอาการเกี่ยวข้องกับจิตดวงนี้ ให้รู้วิธีแก้ไข รู้วิธีดับ รู้วิธีบำเพ็ญทุกสิ่งทุกอย่าง จนถึงจุดหมายปลายทาง อันไม่ต้องพูดอะไรต่อไปอีกแล้ว ได้แก่ความบริสุทธิ์ จิตออกสู่โลกนอกแล้วทีนี้ ออกจากเรือนจำแล้วไปสู่โลกนอกคือความอิสรเสรี ที่ไม่ต้องถูกคุมขังอีกแล้ว

แต่โลกนี้ไม่มีใครอยากไปกันเพราะไม่เคยเห็น โลกนี้เป็นโลกสำคัญ “โลกุตระ” เป็นแดนสูงกว่าโลกทั่วไป แต่เราเพียงว่า “โลกนอก” นอกจากสมมุติทั้งหมด เรียก “โลก” ไปยังงั้นแหละ เพราะโลกมีสมมุติก็ว่ากันไปอย่างนั้น ให้พิจารณาออกจากที่คุมขังนี้ซิ เกิดก็เกิดในที่คุมขัง อยู่ก็อยู่ในที่คุมขัง ตายก็ตายในที่คุมขัง ไม่ได้ตายนอกเรือนจำสักที เอาให้ใจได้ออกนอกเรือนจำสักทีเถิด จะได้แสนสบาย ๆ ดังพระพุทธเจ้าและสาวกทั้งหลายท่าน ท่านก็เกิดในเรือนจำเหมือนกัน แต่ท่านออกไปตายนอกเรือนจำ ออกไปตายนอกโลก ไม่ได้ตายอยู่ในโลกอันคับแคบนี้

ขอยุติการแสดง
เวลาทำสมาธิ

ให้ระลึกลมหายใจเข้าออก

ให้รู้ลมหายใจเข้าออก

หายใจเข้าสั้นก็รู้

หายใจออกสั้นก็รู้

หายใจเข้ายาวก็รู้

หายใจออกยาวก็รู้

ไม่ต้องบังคับลมหายใจ

ตามรู้ลมหายใจเข้าออก

สงบก็รู้ ไม่สงบก็รู้

สงบก็ไม่ยินดี ไม่สงบก็ไม่ยินร้าย

ไม่เอาทั้งสงบและไม่สงบ

เอาแค่รู้ตามความเป็นจริงของสภาวธรรมปัจจุบันนั้น

ทำอะไรก็ให้รู้เหตุปัจจัย

รู้ไม่ใช่เพื่อ ยินดี ยินร้าย รู้เพื่อให้ รู้เหตุปัจจัย

เหตุแห่งความเจริญ

เคารพ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์

เคารพ สิกขา 3 ศีล สมาธิ ปัญญา

เคารพในความไม่ประมาท

เคารพในการปฎิสันฐาน

เคารพใน ศีล

เคารพใน สมาธิ

เคารพในกันและกัน

หลักตัดสิน ธรรมวินัย 8 ประการ

ธรรมเหล่านี้เป็นไปเพื่อคลายกำหนัด

เป็นไปเพื่อไม่ประกอบสัตว์ไว้

เป็นไปเพื่อไม่สั่งสมกิเลส

เป็นไปเพื่อความเป็นผู้มักน้อย

เป็นไปเพื่อสันโดษ

เป็นไปเพื่อความสงัดจากหมู่คณะ

เป็นไปเพื่อปรารภความเพียร

เป็นไปเพื่อความเป็นคนเลี้ยงง่าย

ธรรมที่ควรเจริญ

สติ

สัมปัชชัญญะ

ศีล

สมาธิ

ปัญญา

วิมุตติ

วิมุตติญาณทัสสนะ

สัมมาทิฏฐิ เห็นชอบ

สัมมาสังกัปปะ ดำริชอบ

สัมมาวาจา พูดชอบ

สัมมาอาชีโว อาชีพชอบ

สัมมากัมมันโต การงานชอบ

สัมมาวายาโม ความเพียรชอบ

สัมมาสติ ระลึกชอบ

สัมมาสมาธิ ตั้งมั่นชอบ

สัมมาญาณะ ความรู้ชอบ

สัมมาวิมุตติ หลุดพ้นชอบ

สัมมาวิมุตติญาณทัสสนะ ความเห็นในการหลุดพ้นชอบ

สัมมาทิฏฐิ

คือ รู้ชัดซึ่ง เหตุแห่ง กุศล วิชชา เป็น เหตุ

รู้ชัดซึ่ง เหตุแห่ง อกุศล อวิชชา เป็น เหตุ

การบรรลุธรรมอาศัย สติ ปัญญา อุเบกขา เป็นมัทยัทธ์

รักษาสัจจะ เพิ่มพูลจาคะ ไม่ประมาทปัญญา ศึกษาสันติ

การปฎิบัติธรรม

คบสัตบุรุษ ฟังพระสัทธรรม อยู่ในประเทศเหมาะสม ตั้งสัจจะ เดินสัมมาทิฏฐิ เจริญความสงบ

ออกพิจารณาด้านปัญญา + พลังกุศล - บ่มอินทรีย์ นิพพิทา วิราคะ วิมุตติ วิมุตติญาณทัสสนะ

สติ - ศีล - สมาธิ - ปัญญา - วิมุตติ - วิมุตติญาณทัสสนะ

อัปปมาโณพุทโธ อานุภาพพระพุทธเจ้าไม่มีประมาณ

อัปปมาโณธัมโม อานุภาพพระธรรมไม่มีประมาณ

อัปปมาโณสังโฆ อานุภาพพระสงฆ์ไม่มีประมาณ

เรื่องของสมมติ อวิชชา ตัวตน ยึดตรงไหน หลงที่ไหน ผิดที่นั้น จุดต่อมแห่งภพชาติ

wiweksikkaram.hi5
 
จำนวนผู้ตอบ: 114
สมัครสมาชิก: Mon Mar 15, 2010 12:20 am
ที่อยู่: สุทธาวาสภูมิ

กลับไปหน้า ธรรมเพื่อชีวิต

ผู้ที่กำลัง online

ผู้ที่กำลังอ่าน forum นี้: สมาชิก ไม่มีสมาชิก และ ผู้เยี่ยมชม 2 คน

cron