ธรรมชุดเตรียมพร้อม 10

เพื่อสนทนาธรรม และแลกเปลี่ยนความคิดเห็น เพื่อความเป็นกัลยาณมิตร กัลยาณธรรมที่ดีต่อกัน

ธรรมชุดเตรียมพร้อม 10

Postโดย wiweksikkaram.hi5 » Tue Apr 20, 2010 10:57 pm

เทศน์โปรดคุณเพาพงา วรรธนะกุล ณ วัดป่าบ้านตาด

เมื่อวันที่ ๔ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๑๘

กำจัดกิเลสพ้นทุกข์


ที่ท่านพูดว่า “โลก” ก็คือหมู่สัตว์ “สตฺต” แปลว่าผู้ข้อง ผู้ยังติดยังข้อง อะไรทำให้ข้อง? เพียงเท่านั้นก็ทราบแล้ว ท่านพรรณนาไว้หลายสิ่งหลายอย่างหลายภพหลายภูมิ ล้วนแต่ภูมิสถานที่ที่ให้จิตติดจิตข้องและจะต้องไปทั้งนั้น ท่านจึงว่าจิตนี้เป็นนักท่องเที่ยว เพราะเที่ยวไปไม่หยุดไม่ถอย กลัวหรือกล้าก็ต้องไป เพราะกำลังตกอยู่ในความเป็นนักต่อสู้ ขึ้นชื่อว่า “นัก” แล้วมันต้องต่อสู้อย่างไม่ลดละท้อถอย ถ้าไม่เป็นอย่างนั้นก็ไม่เรียกว่า “นัก” คือสู้ไม่ถอย

ภพภูมิต่างๆ ไปเกิดได้ทั้งนั้น แม้แต่นรกอเวจีซึ่งเป็นสถานที่มีทุกข์เดือดร้อนมากผิดทุกข์ทั้งหลาย จิตยังต้องไปเกิด! อะไรทำให้จิตเป็นนักต่อสู้?

เชื้อแห่งภพชาติคือกิเลสทั้งมวลนั่นเอง ที่ทำให้สัตว์ทำกรรม กรรมเกิดวิบาก เป็นผลดีผลชั่ว วนไปเวียนมาในภพต่างๆ ภพน้อยภพใหญ่ไม่มีประมาณ ว่าจะหลุดพ้นจากความเกิดในภพนั้นๆ ได้เมื่อใด เกิดเป็นภพอะไรตัวประธานก็อยู่ที่ “ใจ” เป็นผู้จะไปเกิด เพราะอำนาจกิเลส กรรม วิบาก พาให้เป็นไป

ในโลกเรานี้มีสัตว์เกิดมากน้อยเพียงไรใครจะไปนับได้! เพียงในบริเวณวัดนี้สัตว์ต่างๆ ที่สุดวิสัย “ตาเนื้อ” จะมองเห็นได้มีจำนวนมากเท่าใด สัตว์ที่เกิดที่อยู่ในที่มองเห็นได้ด้วยตาเนื้อนี้ก็มี ที่ไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเนื้อ เพราะละเอียดก็มี แม้แต่สัตว์เล็กๆ ซึ่งเป็นด้านวัตถุ แต่ไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเนื้อก็มี สัตว์ที่เกิดเป็น “ภพ” เป็นทั้งลี้ลับทั้งเปิดเผยในโลกทั้งสามจึงมีมากมาย ถ้าเป็นสิ่งที่มองเห็นด้วยตาเนื้อได้แล้ว จะหาที่เหยียบย่ำลงไปไม่ได้เลย เต็มไปด้วยจิตวิญญาณของสัตว์ เต็มไปด้วยภพด้วยชาติของสัตว์ประเภทต่างๆ ทั้งหยาบทั้งละเอียด เต็มไปทั้งสามภพสามภูมิ แม้แต่ช่องลมหายใจเรายังไม่ว่าง

ในตัวของเรานี้ก็มีสัตว์ชนิดต่างๆ อยู่มากจนน่าตกใจ ถ้ามองเห็นด้วยตาเนื้อ เช่น เชื้อโรค เป็นต้น ไม่เพียงแต่วิญญาณ คือจิตเราดวงเดียวที่อาศัยอยู่ในร่างนี้เท่านั้น ยังมีอีกกี่พันกี่หมื่นวิญญาณอาศัยอยู่ในร่างนี้ด้วย ฉะนั้นในร่างกายเราแต่ละคน จึงเต็มไปด้วยวิญญาณปรมาณูของสัตว์หลายชนิดจนไม่อาจคณนา มีอยู่ทุกแห่งได้ เพราะมีมากต่อมาก และละเอียดมากจนไม่สามารถเห็นได้ด้วยตา ฟังได้ด้วยหู

ในอากาศกลางหาว ในน้ำ บนบก ทั่วทิศต่างๆ มีสัตว์เต็มไปหมด แล้วยังมัวสงสัยอยู่หรือว่า “ตายแล้วสูญไม่ได้เกิดอีก” ก็อะไรๆ มันเกิดอยู่เวลานี้เกลื่อนแผ่นดิน ภพหยาบก็มีมนุษย์ ซึ่งกำลังหาโลกจะอยู่ไม่ได้ ยังจะมาสงสัยอะไรอีก

ความเกิดก็แสดงให้เห็นอยู่ทุกแห่งหน ทั้งหยาบทั้งละเอียด ทั้งในน้ำบนบกมีไปหมด ตลอดบนอากาศ ยังจะสงสัยอยู่หรือว่าตายแล้วไม่เกิด แล้วอะไรมันมาเกิด ดูเอาซี เครื่องยืนยัน “ไม่สูญ” มีอยู่กับทุกคน ถ้าสัตว์ตายแล้วสูญดังที่เข้าใจกัน สัตว์เอาอะไรมาเกิดเล่า? ลงตายแล้วสูญไปจริงๆ จะเอาอะไรมาเกิดได้ สิ่งที่ไม่สูญนั้นเองพาให้มาเกิดอยู่เวลานี้ ไปลบล้างสิ่งที่มีอยู่ให้สูญไปได้อย่างไร ความจริงมันมีอยู่อย่างนั้น ที่ลบไม่สูญก็คือความจริงนั่นแล

จะมีใครเป็นผู้ฉลาดแหลมคม รู้ได้ละเอียดลออทุกสิ่งทุกอย่างตามสิ่งที่มีอยู่เหมือนพระพุทธเจ้าเล่า?

พวกเราตาบอดมองไม่เห็นตัวเอง ได้แต่ลูบคลำไปลูบคลำมา คลำไม่เจอก็ว่าไม่มี แต่ไปโดนอยู่ไม่หยุดหย่อนในสิ่งที่เข้าใจว่าไม่มีนั้น ต่างคนต่างโดน “ความเกิด” อย่างไรล่ะ โดนกันทุกคนไม่มีเว้น เหมือนเราไม่เห็น เดินไปเหยียบขวากเหยียบหนามนั่นน่ะ เราเข้าใจว่าหนามไม่มีขณะที่เหยียบ แต่ก็เหยียบหนามที่ตนเข้าใจว่าไม่มีนั่นแหละ มันปักคนผู้ไม่เห็นแต่ไปเหยียบเข้า เพียงเท่านี้ก็พอทราบได้ว่า ควรเชื่อแล้วหรือความรู้ความเห็นอันมืดบอดของตัวเองน่ะ เพียงหนามอันเป็นของหยาบๆ ยังไม่เห็นและไปเหยียบจนได้ ถ้ารู้ว่าที่นั่นมีหนามจะกล้าไปเหยียบได้อย่างไร เช่น หัวตอไปโดนมันทำไม ไม้ไปโดนมันทำไม ถ้าแน่ใจว่ามีใครจะกล้าไปโดน ใครจะกล้าไปเหยียบหนาม ซึ่งไม่ใช่เรื่องเล็กน้อย มันเป็นเรื่องเจ็บปวดขนาดไหน แล้วทำไมถึงโดนกันเรื่อยๆ เล่า? ก็เพราะความเข้าใจว่าหนามไม่มีนั่นเอง

ฉะนั้นสิ่งต่างๆ จึงไม่อยู่ในความสำคัญว่ามีหรือไม่มี มันอยู่ที่ความจริงอย่างตายตัว ไม่มีใครอาจแก้ไขให้เป็นอื่นไปได้

นี่ก็เหมือนกันเรื่องภพเรื่องชาติของคนและสัตว์ มีเกิดให้เห็นมีตายให้เห็นอยู่เกลื่อนแผ่นดิน เฉพาะในโลกเรานี้ก็เห็นเกลื่อนแผ่นดินอยู่แล้ว เมื่อเป็นเช่นนี้จะปฏิเสธ จะไปลบล้างได้อย่างไรว่ามันไม่เกิด ว่ามันตายแล้วสูญสิ้นไป

เราไม่เชื่อพระพุทธเจ้า แต่เราเชื่อเราเป็นอย่างไรบ้าง? ผลของมันที่แสดงตอบ! ความรู้ความเห็นของเรามีสูงต่ำหรือแหลมคมขนาดไหนถึงจะเชื่อตนเอง จนสามารถลบล้างความจริงทั้งหลายที่มีอยู่ให้สูญไปตามความรู้ความเห็นของตน ทั้งๆ ที่ตนไม่สามารถรู้ความจริงนั้นๆ ทำไมจึงสามารถอาจเอื้อมไปลบล้างสิ่งที่เคยมีอยู่ให้สูญไปเมื่อเราไม่รู้ ลบเพื่อเหตุผลอันใด? ความรู้นี่มันโง่สองชั้นสามชั้น แล้วยังจะว่าตนฉลาดอยู่หรือ?

ถ้ามุ่งต้องการความจริงด้วยใจเป็นนักกีฬา ก็ควรยอมรับตามความจริงที่ปรากฏอยู่ ลองคิดดู มีนักปราชญ์ที่ไหนบ้างสอนอย่างถูกต้องแม่นยำตามหลักความจริงเหมือนพระพุทธเจ้า จะแห่กันไปหาที่ไหน ลองไปหาดูซี หมดแผ่นดินทั้งโลกนี้จะไม่มีใครเหมือนเลย ใครจะมาสอนให้ตรงตามหลักความมีความเป็นและความจริงดังพระพุทธเจ้า แน่ใจว่าไม่มี!

ประการสำคัญก็คือการคิดว่า “ตายแล้วสูญ” นั้นเป็นภัยอันตรายแก่ผู้คิดและผู้เกี่ยวข้องไม่มีประมาณ เพราะคนเราเมื่อคิดว่าตายแล้วสูญย่อมเป็นคนสิ้นหวัง อยากทำอะไรก็ทำตามใจชอบในเวลามีชีวิตอยู่ ส่วนมากก็มักทำแต่สิ่งที่เป็นโทษเป็นภัยแก่ตัวเองและผู้อื่น เพราะชาติหน้าไม่มี ทำอะไรลงไปผลจะสนองตอบไม่มี ฉะนั้นความคิดประเภทนี้จึงทำคนสิ้นให้หวัง หลังจากนั้นก็ทำอะไรแบบไม่คำนึงดีชั่ว บุญบาป นรกสวรรค์ พอตายแล้วก็ไปเกิดในกำเนิดสัตว์ผู้สิ้นท่า เช่น สัตว์นรก เป็นต้น อย่างช่วยอะไรไม่ได้ ทั้งนี้พวกเรายังไม่เห็นเป็นของสำคัญอีกหรือ? ถ้ายังไม่เห็นศาสนธรรมซึ่งเป็นของแท้ของจริงว่าเป็นของสำคัญ ตัวเราเองก็หาสาระอะไรไม่ได้นั่นเอง ในขณะเดียวกันการปฏิเสธความจริงก็เท่ากับมาลบล้างสารคุณของเราเอง กลายเป็นคนไม่สำคัญ คนไม่มีสารคุณ คนหมดความหมาย คนทำลายตัวเอง ชนิดบอกบุญไม่รับ เพราะความคิดที่ลบล้างความจริงที่มีอยู่นั้นเป็นความคิดทำลายตนเอง สิ่งที่มีความหมายแต่ไปลบล้างสิ่งที่จริง แต่ไปขัดความจริง สุดท้ายก็สะท้อนกลับสิ่งที่จริงมาหาตัวเอง เป็นผู้รับเคราะห์กรรมเสียเองโดยไม่มีใครอาจช่วยได้ กลายเป็นคนขาดทุนทั้งขึ้นทั้งล่องซี!

พวกเรานับว่าดีมาก วาสนาเรามีความดีคุ้มครองถึงได้มาพบพระพุทธศาสนาอันเป็นศาสนาที่ถูกต้องตายตัว บอกขวากหนามให้สัตว์โลกรู้และหลบหลีกกัน และบอกสวรรค์ นิพพาน ให้สัตว์โลกได้ไป ได้น้อมใจเข้ามาประพฤติปฏิบัติ ถวายกาย วาจา ใจ ตลอดชีวิตทุกสิ่งทุกอย่างกับพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ ดำรงตนอยู่ด้วยศีลด้วยธรรม ประพฤติคุณงามความดีตลอดมา เพื่อเป็นการเพิ่มพูนบุญวาสนาบารมีของตนๆ ให้สูงส่งยิ่งขึ้นไป

ผู้ไม่มีโอกาสทำได้อย่างนี้มีจำนวนมากมาย อยากจะพูดว่า ราว ๙๙ % ประเภทเป็นอยู่ด้วยความเชื่อบุญเชื่อบาป ยังเหลือเปอร์เซ็นต์เดียวหรือไม่ถึงเปอร์เซ็นต์ก็อาจเป็นได้ เมื่อเทียบกับโลกทั้งโลก

ความเกิดความตายมันเห็นอยู่ชัดๆ ภายในจิต เพราะฉะนั้นขอให้เรียนความจริงซึ่งมีอยู่ที่จิต มันเกิดอยู่ที่นั่น มันตายอยู่ที่นั่น เชื้อให้เกิดให้ตายมีอยู่ที่จิต เมื่อเรียนและประพฤติปฏิบัติทางด้านจิตตภาวนา ทดสอบเข้าไปหาความจริงที่มีอยู่ภายในจิต ทั้งเรื่องเกิดเรื่องตาย เรื่องความเกี่ยวข้องพัวพันต่างๆ เรื่องดีเรื่องชั่ว เรื่องบุญเรื่องบาป เรียนเข้าไปตรงนั้น จะเจอเข้ากับความจริงในแง่ต่างๆ ที่นั่นโดยไม่มีทางสงสัย

เมื่อเจอด้วยใจตนเองอย่างประจักษ์แล้ว ก็เหมือนเราไปเห็นด้วยตาเนื้อเราจริงๆ เราจะลบล้างได้อย่างไร ปฏิเสธได้อย่างไรว่าสิ่งนั้นไม่มี แต่ก่อนเข้าใจว่าไม่มี แต่ไปเห็นด้วยตาแล้วจะปฏิเสธได้อย่างไร เพราะตนเป็นผู้เห็นเอง ถ้าลบก็ต้องลบด้วยการควักลูกตาตนออกเพราะลูกตาโกหก

ที่ลบล้างไม่ลงลบล้างไม่ได้เพราะตนเห็นด้วยตาว่า สิ่งนั้นมันมีอยู่จริง ถ้าเป็นด้านวัตถุที่จับต้องดูได้ก็จับต้องดูได้ เมื่อเป็นเช่นนั้นตนจะลบล้างได้เหรอ? ว่าสิ่งนั้นไม่มี คือสิ่งที่ตนถือและดูอยู่นั้น ลบล้างไม่ได้ ดังนั้นความจริงที่มีอยู่ ท่านผู้ใดรู้เห็น ท่านผู้นั้นต้องยอมรับความจริงนั้น นอกจากผู้ไม่สนใจอยากรู้อยากเห็นยิ่งกว่าการเชื่อตัวเองเท่านั้น ก็สุดวิสัยที่ธรรมจะช่วยได้

เรื่องของความจริงเป็นอย่างนี้ และพวกที่รู้ความจริงก็รู้อย่างนี้ ท่านจึงไม่ลบล้างและสอนตามความมีความจริง พวกเราเป็นคนมืดบอด จึงควรเชื่อและดำเนินตามท่านจะเป็นทางที่ถูกต้องดีงาม เป็นความสวัสดีมงคลแก่ตัวเอง ผู้มุ่งหวังความหลุดพ้นทั้งปวงนับแต่ขั้นต่ำจนถึงขั้นสูงสุด เป็นความจริงไปตามขั้นของธรรมและขั้นของผู้เรียน “จิตตภาวนา” นั่นแหละ เป็นผู้จะทราบได้ชัดเจน

ในวงขันธ์มีความกระเพื่อม กระเทือนด้วยภพชาติ โดยอาศัยอารมณ์เป็นผู้ชักใยอยู่ตลอดเวลา ด้วยความเกิดความดับ ๆ อันมีเชื้ออยู่ภายในให้เป็นผู้ผลักดันให้อาการของจิตออกแสดงตัว จิตยังไปไม่ได้เพราะยังมีอัตภาพเป็นความรับผิดชอบอยู่ จิตจึงกระเพื่อมอยู่ อารมณ์เป็นความเกิดดับ ๆ อยู่เพียงเท่านั้น ถ้าใจสามารถออกจากร่างได้ ใจจะเข้าปฏิสนธิสักกี่อัตภาพก็ได้ในวันหนึ่งๆ จะได้เป็นล้านอัตภาพในคนๆ หนึ่ง เพราะมีความติดความข้องความรักความชอบใจเป็นสายใย รักก็ติด ชังก็ติด โกรธก็ติด เกลียดก็ติด ติดได้ทั้งนั้นไม่มีอั้น อะไรๆ มันติดทั้งนั้น ถ้าใจติดอะไรทำให้เป็นภพเป็นชาติขึ้นมาอย่างเปิดเผยในขณะที่ติดแล้ว วันหนึ่งๆ จะมีกี่ล้านอัตภาพในตัวเราเอง แต่นี่มันได้อัตภาพอย่างเปิดเผยเพียงอันเดียวเท่านั้น ใจจึงเป็นเพียงไปติดไปยึดอยู่กับอารมณ์นั้นๆ เท่านั้น ไม่อาจถอนตัวออกจากอัตภาพนี้ไปเข้าสู่อยู่กับอารมณ์ที่ใจติดได้ คนเราจึงมีได้เพียงอัตภาพเดียว ความเป็นจริงอย่างนี้ การเรียนก็เรียนอย่างนี้ เรียนให้ทราบวิถีของจิตซึ่งพร้อมที่จะติดอยู่เสมอ

คิดเรื่องอะไรคอยแต่จะติด ตำหนิติชมสิ่งใดก็ไปติดกับสิ่งนั้น ตำหนิก็ติด ชมก็ติด ถ้าจิตอยู่ในขั้นที่ควรจะติดเป็นติดทั้งนั้น ไม่ถอยในเรื่องติด เพราะฉะนั้นเรื่องเกิดเรื่องตายของจิตจึงไม่มีถอย เรื่องสุขเรื่องทุกข์ของจิตจึงมีประจำตน เพราะความคิดปรุงพาให้เป็นไป จิตเป็นผู้ไม่ถอยในการทำกรรมดีชั่ว ผลสุขทุกข์จึงเป็นเงาตามตัวแล้วปฏิเสธได้อย่างไร เรื่องความเป็นของจิตก็เป็นอยู่อย่างนี้ เห็นชัดๆ ภายในตัวเอง การเรียนจึงเรียนลงที่นี่ เมื่อเรียนลงไปที่นี่ซึ่งเป็นเป้าหมายแห่งความจริงทั้งหลาย ก็รู้ชัดเจนโดยลำดับๆ

อันใดที่ควรปล่อย เมื่อมีความสามารถรู้ได้ด้วยสติปัญญาแล้วมันปล่อยของมันเอง เมื่อปล่อยแล้วสิ่งนั้นไม่มีมาข้องใจอีกค่อยๆ หมดไป ๆ ใจหดตัวเข้ามาเลื่อนเข้ามา จากที่เคยอยู่วงกว้าง ปล่อยแล้วปล่อยเข้ามา ๆ วงก็แคบเข้าจนกระทั่งเหลือนิดเดียวคือที่ใจนี้ ก็รู้ว่า “นี่เชื้อแห่งภพยังมีอยู่ภายในใจ” นี่เชื้อแห่งภพนี้เป็นสิ่งหลอกตาได้เป็นอย่างดี ถ้าไม่ใช้สติปัญญาพิจารณาอย่างละเอียดสุขุม จะติดเชื้อแห่งภพอย่างไม่สงสัย ได้เคยบอกแล้วว่า จิตมันรู้ตัวเองอย่างชัดๆ จากการปฏิบัติ จะลบล้างได้อย่างไรว่า “จิตนี้เมื่อตายไปแล้วจะไม่พาเกิดอีก” เพราะตัวเกิดก็อยู่กับจิต จิตก็รู้ว่าการจะเกิดอีกนั้นเพราะเชื้อนี้เป็นเหตุ รู้ๆ เห็นๆ กันอย่างเปิดเผยจากการปฏิบัติทางจิตตภาวนา ซึ่งเป็นทางดำเนินที่ทรงดำเนินแล้ว ทรงรู้ประจักษ์พระทัยมาแล้ว เชื้อแห่งภพชาติมีอยู่ในจิตมากน้อย จิตจะต้องเกิดในภพอีก

เมื่อปฏิบัติจิตตภาวนาเข้าสู่ขั้นละเอียด กิเลสยังมีมากน้อยย่อมรู้ได้ชัดด้วยปัญญา เพราะสติปัญญาอันละเอียดนี้คมมาก ไม่มีอะไรจะหนีรอดไปได้ เพราะปัญญาความรู้เห็นสิ่งต่างๆ ที่มาเกี่ยวข้องกับจิตได้อย่างรวดเร็ว จิตจะมีสาเหตุให้ไปเกิดที่นั่น ไปเกิดที่โน่น สติปัญญาตามแก้ไขทันกับเหตุการณ์ไม่เนิ่นช้า และสามารถตัดขาดได้ในโอกาสที่เหมาะสม

ประการหนึ่ง จิตขั้นละเอียดนี้พร้อมที่จะหลุดพ้นอยู่แล้ว เมื่อสติปัญญาถึงพร้อมกับสิ่งที่ควรตัดในโอกาสที่ควร จนสามารถตัดขาดเสียได้ ไม่มีเงื่อนสืบต่อภายในจิต จนเป็นจิตที่บริสุทธิ์ล้วนๆ ขึ้นมา

เมื่อจิตบริสุทธิ์แล้วจะสูญไปไหน? ถ้ามีการสูญไปอยู่จะเอาอะไรมาบริสุทธิ์? และเอาอะไรมาศักดิ์สิทธิ์วิเศษ? แม้พิจารณาเท่าไรๆ ก็ไม่มีเงื่อนสืบต่อ เพราะกิเลสหมดไปแล้ว จิตถึงความบริสุทธิ์แท้แล้ว จึงเป็นอันหมดปัญหากับจิตดวงนี้ ความที่จิตนี้จะเกิดจะตายต่อไปอีกไม่มี! ความสูญก็ไม่ปรากฏว่ามี เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าผู้บริสุทธิ์ จึงไม่ทรงแสดงความสูญไว้กับจิตพระอรหันต์ และจิตของสัตว์โลก จึงขอย้ำอีกว่าจิตที่จะหมดปัญหาแล้วมันสูญไหม? จิตยิ่งเด่น แล้วจะเอาอะไรมาสูญเล่า? เมื่อความจริงเป็นอย่างนี้จะเอาอะไรมาสูญ? ขุดค้นเรื่องสูญเท่าไร จิตยิ่งเด่นยิ่งชัดไม่มีอะไรสงสัย เด่นจนพูดไม่ถูก บอกไม่ถูกตามโลกนิยมสมมุติซึ่งหาที่สิ้นสุดยุติไม่ได้ ถ้าใครยังอวดเก่งต่อความคิดว่า “ตายแล้วสูญ” เวลาไปโดยผลที่ไม่คาดฝันในภพหน้า ก็จงเรียก “ความตายแล้วสูญ” มาช่วยถ้าจะสมหวัง

จิตที่เด่นนอกวงสมมุตินี้ แม้เด่นเพียงไรก็พูดให้ถูกต้องความจริงไม่ได้!

เมื่อปัญหาเกี่ยวกับการตายเกิดตายสูญสิ้นไปจากใจแล้ว ก็เป็นผู้ “สิ้นเรื่อง” โดยประการทั้งปวง ถึงความบริสุทธิ์เต็มภูมิ จิตที่บริสุทธิ์เต็มภูมินี้สูญไหม? เมื่อรู้ชัดเห็นชัดอย่างนี้แล้วธรรมชาตินี้จะสูญไปไหน? ลงความจริงที่รู้อยู่นี่จะลบได้ไหม? จะให้สูญได้ไหม? ใครจะไปลบเล่า? นอกจากคนตาฝ้าฟางมองไม่เห็นหนทาง เหยียบแต่ขวากแต่หนามแล้วก็บอกว่าหนทางไม่ดี สิ่งที่มีก็คือขวากหนามเต็มฝ่าเท้าเท่านั้น เมื่อเป็นเช่นนั้นเราจะเชื่อคนตาดีหรือคนตาบอด จงตัดสินใจด่วน! อย่าให้เสียดายเดี๋ยวตายเปล่า จะว่าไม่บอกไม่เตือน ที่อธิบายมาทั้งนี้เป็นคำบอกคำเตือนอยู่แล้ว

ความบริสุทธิ์ที่ไม่ต้องฝืนอะไรๆ ก็คืออันนี้แล แล้วอันนี้จะสูญไปได้อย่างไร แต่จะมาตั้งอยู่เหมือนหม้อไหโอ่งน้ำไม่ได้ เพราะคนไม่ใช่หม้อ และนี่เป็นจิต จิตธรรมดากับจิตบริสุทธิ์นั้นผิดกันมากมาย จะมาตั้งกฎเกณฑ์ให้เป็นอย่างนี้ ให้อยู่แบบนี้ๆ ไม่ได้ ไม่ว่าแบบใดๆ เพราะไม่ใช่ “ฐานะ” ของจิตประเภทนี้ที่จะมาตั้งแบบนี้หรือแบบใดๆ ดังท่านว่า “นิพฺพานํ ปรมํ สุญฺญํ” นิพพานสูญแบบนี้เอง คือสูญแบบนิพพาน มิใช่สูญแบบโลกๆ ที่เข้าใจกัน

“สูญแบบนิพพาน” คือไม่มีอะไรบรรดาสมมุติเหลืออยู่ภายในจิต ผู้ที่รู้ว่าสิ่งทั้งหลายสูญสิ้นแล้วจากใจนั่นเลย นั่นแหละคือตัวจริง นั่นแหละคือผู้บริสุทธิ์ ผู้นี้จะสูญไปไม่ได้ ยิ่งเด่นยิ่งชัดยิ่งเข้าใจแจ่มแจ้งทุกสิ่งทุกอย่าง ผู้นี้ไม่สูญ ผู้นี้แลเป็นผู้ทรงคุณสมบัติอันยอดเยี่ยม ในบทที่สองว่า “นิพฺพานํ ปรมํ สุขํ” ผู้นี้แลเป็นสุขอย่างยิ่ง นอกสมมุติทั้งปวง

ถ้าจิตบริสุทธิ์ได้สูญไปจริงๆ ธรรมบทนี้จะขึ้นมารับไม่ได้ เพราะก็สูญไปหมดแล้ว ไม่มีอะไรจะมาเป็นสุขอย่างยิ่งได้เลย การปฏิบัติให้เข้าใจความจริงความแท้ของธรรม ต้องปฏิบัติให้ถูกธรรม อย่าฝืนธรรม จะไม่รู้ความจริงแม้มีอยู่ในตน

คำว่า “โลก” คือ “หมู่สัตว์” ก็หมู่สัตว์ตรงนี้เอง คือตรงที่มีเชื้อได้แก่อวิชชาตัณหาอุปาทานพาให้เกิดอยู่ไม่หยุด ก่อนจะไปเกิดใหม่ต้องเกิดอยู่ภายในจิตนี้เอง ท่านเรียกว่า “หมู่สัตว์พากันเกิดอยู่ทั่วโลกดินแดน” “ตายทั่วโลกดินแดน” ก็คือธรรมชาติที่ว่านั่นเอง ไม่มีอันใดเป็นผู้พาให้เกิดพาให้ตาย

ส่วน ความทุกข์ความลำบากที่มาจากธรรมชาติที่ก่อภพ ได้แก่ “ชาติปิ ทุกฺขา ชราปิ ทุกฺขา มรณมฺปิ ทุกฺขํ” ธรรมชาติอันนี้เอง เมื่อละหมดโดยตลอดทั่วถึงไม่มีเชื้อ “วัฏฏะ” ที่จะพาให้เกิดอีกแล้ว ธรรมชาตินี้ก็เป็น “วิวัฏฏะ”

คำว่า “โลกคือหมู่สัตว์” ก็พูดไม่ได้อีกแล้ว หมดปัญหาที่จะพูดว่าโลกคือหมู่สัตว์ของผู้บริสุทธิ์นั้น ฉะนั้นพวกเราจงพยายามปฏิบัติตามหลักความจริงที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนไว้แล้วนี้ ในธรรมท่านว่า “สฺวากฺขาโต ภควตา ธมฺโม” พระธรรมอันพระพุทธเจ้าตรัสไว้ชอบแล้ว ชอบทุกสิ่งทุกอย่าง ไม่ว่าเบื้องต้น คือ “อาทิกลฺยาณํ” ไพเราะเพราะพริ้ง เต็มไปด้วยเหตุด้วยผลในเบื้องต้นแห่งธรรม “มชฺเฌกลฺยาณํ” ไพเราะเพราะพริ้ง เต็มไปด้วยเหตุด้วยผล เต็มไปด้วยความถูกต้องดีงามในท่ามกลางแห่งธรรม “ปริโยสานกลฺยาณํ” ไพเราะในที่สุด ทำให้ผู้ฟังซาบซึ้ง เต็มไปด้วยเหตุด้วยผล ด้วยความถูกต้องดีงามสุดส่วนแห่งธรรม ทุกชั้นทุกวรรคทุกตอน

สิ่งที่น่าติเตียนและควรแก้ไขอย่างยิ่งก็คือ จิตใจของสัตว์โลกผู้ฝืนหลักธรรมอยู่ตลอดเวลา เพราะกิเลสมีอำนาจมากกว่าจึงทำให้ฝืนธรรม เมื่อฝืนธรรมก็ต้องได้รับความทุกข์ เกิดก็เป็นเรา แก่ก็เป็นเรา เจ็บก็เป็นเรา ตายก็เป็นเรา ทุกข์ยากลำบากชนิดไหนๆ ตนก็เป็นคนรับเสียเอง กิเลสมันไม่มารับแทนพอจะให้มันกลัวทุกข์ แล้วแสวงหาธรรมเป็นที่พึ่งดังพวกเรา

พระพุทธเจ้าท่านไม่รับทุกข์ สาวกท่านไม่รับทุกข์ ดังที่มวลสัตว์รับกัน!

เพราะฉะนั้นจึงควรเห็นโทษแห่งการฝืนธรรมว่าเป็นของไม่ดี จะทำให้เกิดไปเรื่อยๆ ตามความฝ่าฝืน จงพยายามแก้ไขดัดแปลงหรือฝึกทรมาน ชำระสะสางสิ่งที่พาให้ฝืนนั้นออกจากใจ เราจะคล้อยตามธรรมซาบซึ้งในธรรมไปเรื่อยๆ ความซาบซึ้งในธรรมนั้น เพราะธรรมเริ่มเข้าถึงใจเรา และกิเลสก็เริ่มถอยทัพ กิเลสเบาบางลงไปแล้วจึงทำให้มีความซาบซึ้งดื่มด่ำ มีความพอใจบำเพ็ญศีลบำเพ็ญธรรม

ถ้ามีแต่กิเลสล้วนๆ เต็มหัวใจ ไม่มีธรรมเข้าขัดขวางต้านทานไว้บ้างเลย ย่อมไม่มีใครจะสนใจในอรรถในธรรมกัน ชาตินี้นับว่ามีเราวาสนา เพราะมีธรรมคอยสะกิดใจ ให้เรามีความชอบความพอใจอยากไปวัดไปวา บำเพ็ญศีล บำเพ็ญทาน บำเพ็ญภาวนา ให้มีช่องทางปฏิบัติบำเพ็ญธรรม มีความดูดดื่ม มีความพออกพอใจ มีความเชื่อความเลื่อมใสในธรรม อันเป็นธรรมรสภายในใจ มีธรรมคุ้มครองจิตใจ กิเลสแม้ยังมีอยู่ในใจก็จริง แต่ธรรมที่ได้สั่งสมมาจึงพอต่อสู้ต้านทานกัน หากมีแต่เรื่องกิเลสล้วนๆ แล้ว การทำความดีย่อมเป็นการทำยากยิ่ง ทั้งไม่สนใจจะทำ สนใจแต่ “บาปกรรม” นำตนเข้าสู่ความลามกตกนรกทั้งเป็นทั้งตาย ไม่มีวันผลุบโผล่ได้เลย

ผู้ไม่มีธรรมในใจ ก็คือผู้มีบาปเต็มไปทั้งดวงใจนั้นแล ผลของบาปจึงได้รับแต่ความทุกข์ความลำบากเรื่อยๆ ไป ไม่ว่าอยู่ในภพใดกำเนิดใด แดนใดภาษาใด เพราะใจนั้นมันไม่มีชาติชั้นวรรณะ ไม่มีภาษา แต่เป็นแหล่งผลิตกรรมดีชั่วทั้งปวง และเป็นคลังแห่งวิบากคือผู้รับผล จึงต้องรับทั้งความสุขความทุกข์ที่ตนสร้างขึ้นทำขึ้นมากน้อย จะหลบหลีกปลีกตัวไปที่ไหนไม่ได้ ถ้าไม่สร้างป้อมปราการคือบุญกุศลไว้เสียแต่บัดนี้ ซึ่งยังไม่สายเกินไป เพื่อบรรเทาหรือลบล้างบาปให้ลดน้อยลงจนไม่มีบาปติดตัวติดใจ ผู้นี้แลคือผู้มีความสุขแท้ ไม่เพียงแต่ความสุขที่เกิดจากการเสกสรรปั้นยอซึ่งหาความจริงมิได้

การกล่าวทั้งหมดนี้ ให้ต่างคนต่างน้อมเข้าสู่ใจของตนเอง ซึ่งเป็นตัวการก่อกรรมทำเข็ญด้วยกัน เป็นตัวการทั้งเรื่องที่เป็นมานี้ เป็นตัวการทั้งเรื่องชำระคือแก้ไข ต้องฝืนต่อสู้กับกิเลส ต้องฝืน อย่าถอยมันจะได้ใจ เพราะกิเลสเคยฝืนเราและเคยบังคับเรามานานแล้ว คราวนี้เราพอมีทางสู้ เพราะได้อรรถได้ธรรมมาจากพระพุทธเจ้า จากครูบาอาจารย์เป็นเครื่องมือต่อสู้กับกิเลส สู้ไม่ถอย ขึ้นชื่อว่าสู้แล้วจะต้องมีชัยชนะจนได้ในวันเวลาหนึ่ง ทีแรกเรายอมมันแบบหมอบราบเลย ถ้าไม่สู้มันก็ไม่เรียกว่า “ลูกศิษย์พระตถาคต” ผู้เก่งกล้าในการรบกับกิเลส การต่อสู้ยังดีกว่ายอมแพ้เสียทีเดียว คราวนี้แพ้เพราะกำลังยังไม่พอ ก็ต้องยอมแพ้ไปก่อน คิดอุบายขึ้นมาใหม่ สู้เรื่อยๆ สู้กันไปสู้กันมา ย่อมมีทางชนะกันไปเรื่อยๆ เมื่อสู้บ่อยเข้าความชำนาญย่อมตามมา และความชำนะมีมากขึ้น ๆ ต่อไปความแพ้ไม่ค่อยบ่อยไม่ค่อยมี นั่น! ฟังซิ

ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น? เพราะจิตถึงธรรมขั้นไม่ยอมถอยทัพกลับแพ้แล้ว ถ้าจะแพ้กิเลสน้อยใหญ่ต่อไปอีก ก็ขอให้ตายเสียดีกว่าที่จะมาเจอความแพ้นี้ ซึ่งเป็นความต่ำต้อยด้อยสติปัญญา ศรัทธา ความเพียร จึงขอให้ตายเสียดีกว่า ขอให้ชนะกิเลสทุกประเภทโดยถ่ายเดียวเท่านั้น ไม่ขออย่างอื่นที่โลกขอกัน ถ้าไม่ชนะ ก็ให้ตาย นั่น! ฟังซิ เด็ดไหม? จิตดวงเดียวนี่แหละ ดวงที่เคยแพ้ เคยล้มลุกคลุกคลาน นี่แหละ

เมื่อเวลาพลิกตัวขึ้นสู่ธรรม ด้วยได้รับการฝึกฝนอบรมจากครูอาจารย์มาแล้วด้วยดี จิตมีกำลังวังชาพอมีความรู้ความฉลาด ตลอดถึงผลที่ได้รับประจักษ์ใจ เป็นเครื่องสนับสนุนจิตใจให้ถึงขั้นที่ว่า “ให้ตายเสียดีกว่าที่จะเจอความแพ้กับกิเลสน้อยใหญ่อีก” ไม่ประสงค์อีกแล้ว เรื่องความแพ้นี้ ไม่เป็นของดีพอจะส่งเสริมเลย

เขาแข่งกีฬากันแพ้กัน ผู้แพ้ก็ย่อมเสียใจ แม้จะเป็นการเล่นสนุกกันก็ตาม ยังทำให้ผู้แพ้เสียใจได้

เรื่อง “วัฏสงสาร” คือเรื่องความเกิดความตาย เรื่องกิเลสซึ่งเป็นภัยต่อเราโดยตรง ไม่ใช่เรื่องเล่นๆ ดังเขาเล่นกีฬากัน เป็นเรื่องของความทุกข์กองทุกข์ในตัวเราแท้ๆ การแพ้สิ่งนี้ถือเป็นของเล่นของดีแล้วหรือ เราคิดดูให้ดี ความจริงแล้วไม่ใช่ของดีเลย ความแพ้กิเลสเป็นความเสียหายแก่ตัวเราไม่มีที่สิ้นสุด ฉะนั้นการแพ้กิเลสจึงเป็นเรื่องใหญ่โตมาก ทำไมถึงยอมแพ้มันเรื่อยๆ เอ้า! สู้มันไม่ถอย จนได้ชัยชนะไปเป็นลำดับๆ จนถึงขั้นไม่ให้มีคำว่า “แพ้” กระทั่งชนะไปเลย!

ผู้นี้แลเป็นผู้ประเสริฐ เมื่อชนะไปเลยแล้ว ทีนี้คำว่า “ตายแล้วเกิด ตายแล้วสูญ” นั้นหมด! ไม่มีอะไรเหลืออยู่ในใจเลย เพราะความสำคัญมั่นหมายเป็นกิเลสทั้งนั้น คำว่า “ตายแล้วเกิด ตายแล้วสูญ นรกมีหรือไม่มี สวรรค์มีหรือไม่มี นี้เป็นเรื่องของกิเลสพาไปให้คิดด้นเดาทั้งสิ้น

พอมาถึงขั้น “ชนะไปเลย” เรื่องเหล่านี้ก็หมดไปในทันทีทันใด ไม่มีการเกิดได้อีกเพราะไม่มีสิ่งผลักดันให้เกิด ความลังเลสงสัยปลงใจลงกับธรรมไม่ได้ ท่านเรียกว่า “นิวรณ์” เครื่องกั้นกางทางดี แต่เปิดทางชั่วให้ทำ ผู้มีนิวรณ์เข้าเป็นใหญ่ในใจ จึงต้องตัดสินใจเพื่อความดีงามอะไรไม่ได้ นอกจากงานที่จะลงทางต่ำไปเรื่อยๆ นั้น เป็นงานที่สนใจจดจ่อ โดยไม่คิดว่าจะผิดพลาดประการใดและให้ผลเช่นไรบ้าง ด้วยเหตุนี้ความชั่วสัตว์โลกจึงทำได้ง่าย แต่ความดีนั้นทำได้ยาก ผู้โดนทุกข์จึงมีมากแทบทุกตัวคนและมีอยู่ทุกหนทุกแห่ง แม้จะพูดว่าหลงกองทุกข์กันก็ไม่ผิด แต่ผู้เป็นสุขกายสุขใจนั้นมีน้อยมาก แทบไม่น่าเชื่อว่าจะมีได้

การที่เราเห็นเขาแสดงความรื่นเริงออกมาในท่าต่างๆ และ สถานที่ต่างๆ เช่นในหน้าหนังสือพิมพ์เป็นต้น นั่นเป็นเพียงเครื่องหลอกกันเล่นไปอย่างนั้นเอง ความจริงต่างอมความทุกข์ไว้ภายในใจแทบระเบิด โดยไม่เลือกชาติชั้นวรรณะใดๆ เลย ทั้งนี้เพราะสิ่งที่ทำให้ซ่อนความจริงไว้นั้น ได้แก่ความอาย กลัวเสียเกียรติ และเป็นคนใหญ่คนโตที่โลกนิยม นี่ จึงนำออกให้โลกและสังคมเห็นแต่อาการที่เห็นว่าเป็นความสุขรื่นเริงเท่านั้น

ตัวผลิตทุกข์แก่มวลสัตว์มันผลิตอยู่ภายในใครไม่อาจรู้เห็นได้ นอกจากปราชญ์ที่เรียนรู้และปล่อยวางมัน และกลมารยาของมันแล้วเท่านั้น จึงทราบได้อย่างชัดเจนว่าภายในหัวใจของสัตว์โลกคุกรุ่นอยู่ด้วยไฟราคะตัณหา ไฟความโลภ หาความอิ่มเพียงพอไม่เจอ แม้จะแสดงออกในท่าร่าเริง ท่าฉลาดแหลมคม ท่าผู้ดีมีความสุขฐานะดีเพียงไร ก็ไม่สามารถปิดความจริงที่มีอยู่ในหัวใจให้มิดได้เลย ปราชญ์ทั้งหลายรู้เห็นจับได้ เพราะกลมายาของกิเลสกับธรรมละเอียดต่างกันอยู่มาก ท่านผู้เป็นปราชญ์โดยธรรม จึงทราบได้ไม่ยากเย็นอะไรเลย

ด้วยเหตุนี้จึงควรพยายามสร้างความดีให้พอแก่ความต้องการ จิตใจเป็นของแก้ไขได้ ใจชั่วแก้ให้ดีก็ได้ ทำไมจะแก้ไม่ได้ ถ้าแก้ไม่ได้พระพุทธเจ้าจะฝึกพระองค์ให้ดีได้อย่างไร บาปนั้นมีด้วยกัน เพราะเราทุกคนเกิดมาท่ามกลางแห่งบาป เกิดมากับกิเลสและอยู่ในวงล้อมของกิเลสด้วยกัน เกิดมากับบุญกับบาป และอยู่ในท่ามกลางสิ่งที่ดีชั่วเหล่านี้แล เนื่องจากยังไม่มีความดีพอจะให้อยู่เหนือสิ่งเหล่านี้ได้ แดนมนุษย์เป็นสถานที่และกำเนิดอันเหมาะสมดีอยู่แล้ว จะสร้างอะไรก็ได้เต็มภูมิ แต่การสร้างความดีนั้นเหมาะสมกับภูมิมนุษย์อย่างยิ่ง ดังพวกเราสร้างหรือบำเพ็ญอยู่เวลานี้ อันใดควรแก้ไขดัดแปลง ก็แก้ไขและดัดแปลง สิ่งที่ควรส่งเสริมก็ส่งเสริมไปเรื่อยๆ ด้วยความไม่ประมาทนอนใจ

การไม่ประมาท สร้างประโยชน์เพื่อโลกและตัวเองอยู่เสมอ แม้ไปเกิดภพใดก็ไม่เสียท่า คนที่มีความดีแล้วไม่เสียที มีแต่ความสุขความเจริญไปเรื่อยๆ ในภพนั้นๆ มีความสุขสบายตลอดไป จนอุปนิสัยวาสนาสามารถเต็มที่แล้ว ก็ผ่านไปยังแดนเกษมสำราญ การผ่านไปก็ผ่านไปด้วยดี อยู่ด้วยความดี ความดีเป็นเครื่องสนับสนุนให้ผ่านกองทุกข์ต่างๆ ไปได้โดยไม่มีอุปสรรค ถ้าไม่มีความดีก็ไปไม่ได้ การไปสู่ความสุขความเจริญนั้น โลกอยากไปด้วยกันทุกคนนั่นแล แต่ทำไมจึงไปไม่ได้? ก็เพราะกำลังไม่พอที่จะไปนั่นเอง

ถ้าไปได้ด้วยความอยากไปเท่านั้น โลกทั้งโลกใครจะไม่ทนรับความทุกข์ความลำบากที่เป็นอยู่นี้เลย แม้แต่สัตว์เขายังกลัวทุกข์ ทำไมมนุษย์ฉลาดกว่าเขาจึงจะไม่กลัวทุกข์ จะทนแบกหามทุกข์อยู่ทำไม? ทั้งๆ ที่รู้อยู่ว่าทุกข์น่ะ สัตว์อยากพ้นจากทุกข์อย่างเต็มใจด้วยกัน ทำไมไม่พ้นไปเสีย? ทั้งนี้ก็เพราะกรรมยังมี วาสนาบารมียังไม่สมบูรณ์ สุดวิสัยที่จะไปได้ จึงยอมอยู่กันและเสวยทุกข์ตามที่ประสบ

ยิ่งหลวงตาบัวซึ่งเป็นคลังแห่งกองทุกข์อย่างเต็มตัวเต็มใจอยู่แล้ว มีใครมากระซิบว่า “โน่น! ความเกษมสำราญอยู่โน่นน่ะ มานอนกอดทุกข์อยู่ทำไม ไปซี!” จะโดดผางเดียวก็ถึงแดนเกษมน่ะ เอ้า! โดด ๆ ๆ เดี๋ยวนี้ จะถึงเดี๋ยวนี้” ถ้าเป็นไปได้ดังที่ว่านี้ ขาขาดแขนขาดไปขณะที่โดดก็ขาดไปเถอะ ขรัวตาบัวต้องโดดผึงเลยอย่างไม่เสียดาย เพื่อไปเสวยความสุขให้บานใจหน่อยก็ยังดี ดีกว่านอนกอดทุกข์อยู่ตลอดภพชาติที่เต็มไปด้วยทุกข์ ไม่มีความสุขมาเยี่ยมเยียนบ้างเล้ย แต่นี่มันสุดวิสัย จึงยอมนั่งหาเหาเกาหมัดแบบคนสิ้นท่าอยู่อย่างนี้

ฉะนั้นขอทุกท่านจงเห็นคุณค่าแห่งความเพียรเพื่อไปสู่แดนเกษม อย่าเอาเพียงความอยากไปมาหลอกล่อให้จมอยู่ในทุกข์เปล่า ธรรมท่านกล่าวไว้ว่า “คนจะล่วงพ้นจากทุกข์ไปได้โดยลำดับๆ เพราะความเพียรพยายามเป็นหลักใหญ่” นี่เป็นธรรมของพระพุทธเจ้าผู้พ้นจากความทุกข์เพราะความเพียร ไม่ใช่เพราะความอยากพ้นเฉยๆ และความท้อถอยอ่อนแอแย่ลงทุกวัน กระทั่งรับประทานอาหารก็นอนรับเพราะขี้เกียจลุก นี่ขำดี

เราเป็นลูกศิษย์พระตถาคต เป็นพุทธบริษัท ท่านหมายถึงอะไร หมายถึงลูกเต้าเหล่ากอของพระพุทธเจ้า พระองค์ทรงพาเราดำเนินไปอย่างใด พระองค์ทรงดำเนินก้าวหน้า เราเดินถอยหลังมันจะเข้ากันได้ไหม? เราก็ต้องเดินก้าวหน้าไปด้วยความพากเพียรไม่ลดละท้อถอย จะช้าหรือเร็วก็ตาม ขอให้ความพยายามนั้นเป็นไปตามกำลังสติปัญญาความสามารถ อย่าละเว้นความเพียรเท่านั้น ก็เชื่อว่า “เป็นลูกศิษย์ที่มีครูสอน ดำเนินตามครู” วาสนาเราสร้างทุกวัน ทำไมจึงจะไม่เจริญก้าวหน้า พระพุทธเจ้าก็ทรงสอนให้สร้างคุณงามความดีเพื่อเป็นอำนาจวาสนา ทำไมวาสนาจะไม่สนับสนุนเรา ความจริงตามธรรมแล้ว ธรรมเหล่านั้นต้องสนับสนุนอยู่โดยดี จงทำให้ยิ่งๆ ขึ้นไปโดยลำดับ ผลสุดท้ายก็เป็นไปได้เช่นเดียวกับพระพุทธเจ้านั้นแล

ดังที่กล่าวเมื่อสักครู่นี้ว่า ทีแรกก็ยอมแพ้ไปก่อน สู้ไปแพ้ไป ๆ ต่อไปสู้ไปแพ้บ้างชนะบ้างสลับกันไป ทั้งแพ้ทั้งชนะมีสลับขั้นกันไป ทีเขาทีเรา ต่อไปทีเราชนะมากกว่าทีเขาชนะ ต่อไปทีเราชนะมากเข้า ๆ สุดท้ายมีแต่ทีเราชนะ!

กิเลสหมอบลงเรื่อยๆ นอกจากหมอบแล้ว เราฆ่ามันจนฉิบหายไปหมดไม่มีอะไรเหลือ เมื่อฆ่ากิเลสให้ตายแล้วไม่ต้องบอกเรื่องความพ้นทุกข์ ใจหากพ้นไปเอง เท่าที่หาความสุขอันพึงหวังไม่เจอ ก็เพราะกิเลสเป็นกำแพงขวางกั้นไว้นั่นเอง พอทำลายมันให้วอดวายไปแล้ว ความพ้นทุกข์ก็เจอเองไม่ต้องถามใคร!

การที่สัตว์มาเกิดและทนทุกข์ทรมาน ก็เพราะมาอยู่ใต้อำนาจของกองกิเลสเท่านั้น ไม่มีเรื่องอื่นใดเลยเป็นสำคัญกว่าเรื่องกิเลสชนิดต่างๆ ซึ่งเป็นนายเหนือหัวสัตว์โลก เราจึงไม่ควรมองข้ามกิเลสว่าเป็นของเล็กน้อย เรื่องของกิเลสก็คือเรื่องกองทุกข์นั่นเอง มองให้ซึ้งๆ กิเลสอยู่ในใจของเรานี่แล มองให้เห็นกันที่นี่ ฝึกกันนี่ที่ แก้กันที่นี่ ฆ่ากันที่นี่ ตายกันที่นี่ ไม่ต้องเกิดกันก็ที่นี่แหละ! ที่สิ้นทุกข์ก็อยู่ที่นี่ไม่อยู่ที่อื่น

ขอให้พากันนำไปพินิจพิจารณา และบำเพ็ญคุณงามความดีให้มากเท่าที่จะมากได้ ไม่ต้องกลัวจะพ้นทุกข์เพราะความดีมีมาก นั่นคิดผิด กิเลสหลอกลวงอย่าเชื่อมัน เดี๋ยวจมจะว่าไม่บอก กิจการใดก็ตามที่จะให้เกิดความดี จะเกิดจากการให้ทานก็ตาม ศีลก็ตาม ภาวนาก็ตาม เป็นความดีด้วยกันทั้งนั้น รวมกันเข้าก็เป็นมหาสมบัติ เป็นเครื่องสนับสนุนจิตใจเราให้เป็นสุข เป็นสุขเรียกว่า “สุคโตๆ” อยู่ก็สุคโต ไปก็สุคโต ถ้าคนมีบุญ เพราะการสร้างบุญ ไม่มีอย่างอื่น มีอันนี้เป็นสำคัญของคนใจบุญ

จึงขอยุติการแสดงแต่เพียงเท่านี้
เวลาทำสมาธิ

ให้ระลึกลมหายใจเข้าออก

ให้รู้ลมหายใจเข้าออก

หายใจเข้าสั้นก็รู้

หายใจออกสั้นก็รู้

หายใจเข้ายาวก็รู้

หายใจออกยาวก็รู้

ไม่ต้องบังคับลมหายใจ

ตามรู้ลมหายใจเข้าออก

สงบก็รู้ ไม่สงบก็รู้

สงบก็ไม่ยินดี ไม่สงบก็ไม่ยินร้าย

ไม่เอาทั้งสงบและไม่สงบ

เอาแค่รู้ตามความเป็นจริงของสภาวธรรมปัจจุบันนั้น

ทำอะไรก็ให้รู้เหตุปัจจัย

รู้ไม่ใช่เพื่อ ยินดี ยินร้าย รู้เพื่อให้ รู้เหตุปัจจัย

เหตุแห่งความเจริญ

เคารพ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์

เคารพ สิกขา 3 ศีล สมาธิ ปัญญา

เคารพในความไม่ประมาท

เคารพในการปฎิสันฐาน

เคารพใน ศีล

เคารพใน สมาธิ

เคารพในกันและกัน

หลักตัดสิน ธรรมวินัย 8 ประการ

ธรรมเหล่านี้เป็นไปเพื่อคลายกำหนัด

เป็นไปเพื่อไม่ประกอบสัตว์ไว้

เป็นไปเพื่อไม่สั่งสมกิเลส

เป็นไปเพื่อความเป็นผู้มักน้อย

เป็นไปเพื่อสันโดษ

เป็นไปเพื่อความสงัดจากหมู่คณะ

เป็นไปเพื่อปรารภความเพียร

เป็นไปเพื่อความเป็นคนเลี้ยงง่าย

ธรรมที่ควรเจริญ

สติ

สัมปัชชัญญะ

ศีล

สมาธิ

ปัญญา

วิมุตติ

วิมุตติญาณทัสสนะ

สัมมาทิฏฐิ เห็นชอบ

สัมมาสังกัปปะ ดำริชอบ

สัมมาวาจา พูดชอบ

สัมมาอาชีโว อาชีพชอบ

สัมมากัมมันโต การงานชอบ

สัมมาวายาโม ความเพียรชอบ

สัมมาสติ ระลึกชอบ

สัมมาสมาธิ ตั้งมั่นชอบ

สัมมาญาณะ ความรู้ชอบ

สัมมาวิมุตติ หลุดพ้นชอบ

สัมมาวิมุตติญาณทัสสนะ ความเห็นในการหลุดพ้นชอบ

สัมมาทิฏฐิ

คือ รู้ชัดซึ่ง เหตุแห่ง กุศล วิชชา เป็น เหตุ

รู้ชัดซึ่ง เหตุแห่ง อกุศล อวิชชา เป็น เหตุ

การบรรลุธรรมอาศัย สติ ปัญญา อุเบกขา เป็นมัทยัทธ์

รักษาสัจจะ เพิ่มพูลจาคะ ไม่ประมาทปัญญา ศึกษาสันติ

การปฎิบัติธรรม

คบสัตบุรุษ ฟังพระสัทธรรม อยู่ในประเทศเหมาะสม ตั้งสัจจะ เดินสัมมาทิฏฐิ เจริญความสงบ

ออกพิจารณาด้านปัญญา + พลังกุศล - บ่มอินทรีย์ นิพพิทา วิราคะ วิมุตติ วิมุตติญาณทัสสนะ

สติ - ศีล - สมาธิ - ปัญญา - วิมุตติ - วิมุตติญาณทัสสนะ

อัปปมาโณพุทโธ อานุภาพพระพุทธเจ้าไม่มีประมาณ

อัปปมาโณธัมโม อานุภาพพระธรรมไม่มีประมาณ

อัปปมาโณสังโฆ อานุภาพพระสงฆ์ไม่มีประมาณ

เรื่องของสมมติ อวิชชา ตัวตน ยึดตรงไหน หลงที่ไหน ผิดที่นั้น จุดต่อมแห่งภพชาติ

wiweksikkaram.hi5
 
จำนวนผู้ตอบ: 114
สมัครสมาชิก: Mon Mar 15, 2010 12:20 am
ที่อยู่: สุทธาวาสภูมิ

กลับไปหน้า ธรรมเพื่อชีวิต

ผู้ที่กำลัง online

ผู้ที่กำลังอ่าน forum นี้: สมาชิก ไม่มีสมาชิก และ ผู้เยี่ยมชม 2 คน

cron