ธรรมชุดเตรียมพร้อม 11

เพื่อสนทนาธรรม และแลกเปลี่ยนความคิดเห็น เพื่อความเป็นกัลยาณมิตร กัลยาณธรรมที่ดีต่อกัน

ธรรมชุดเตรียมพร้อม 11

Postโดย wiweksikkaram.hi5 » Tue Apr 20, 2010 10:59 pm

เทศน์อบรมฆราวาส ณ วัดป่าบ้านตาด

เมื่อวันที่ ๕ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๑๘

ฟังธรรมะป่า



เทศน์ธรรมะป่า ไม่ได้ตั้ง “นโมฯ” ระลึกนอบน้อมต่อ พระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ แล้วก็อธิบายไปเลยทีเดียว ท่านผู้ฟังก็กรุณาฟังตามสบาย ทำความสงบใจ ไม่ต้องพนมมือก็ไม่เสียความเคารพ ขอให้ใจเคารพธรรมอยู่ภายในความรู้สึก คือ ใจ อย่าให้ใจส่งไปในที่ต่างๆ ตามปกติของใจ ชอบนึกคิดไปในอารมณ์ต่างๆ เสมอ ในขณะที่ฟังธรรม กรุณาให้ความรู้สึก คือ ใจ นั้นอยู่กับตัว การฟังเสียงอรรถเสียงธรรมก็จะชัดเจนขึ้น

จิตเมื่อได้รับสัมผัสกับธรรมอยู่โดยสม่ำเสมอ ไม่มีอะไรเข้ามาแทรก จิตไม่มีโอกาส “แย็บ” ออกไปสู่อารมณ์ภายนอก เพราะความสัมผัสกับธรรมสืบต่อเนื่องอยู่โดยลำดับแล้ว ใจก็จะสงบลงไป ใจที่สงบลงไปนั่นแหละเป็นสิ่งที่จะให้ความสุข และรู้ความแปลกประหลาดของใจ

ถ้าใจไม่มีความสงบเลย ก็จะหาความสุขไม่ได้ตลอดไป ดังเราผ่านโลกมานานทุกๆ คน นับแต่วันเวลาโผล่ออกมาสู่ความเป็นมนุษย์ ก็เริ่มผ่านโลกมาโดยลำดับ จนกระทั่งบัดนี้ เป็นเวลาหลายเดือน หลายปี สิ่งที่เกี่ยวข้องกับ “ความรู้สึก” คือ ใจ นี้เราก็ได้ทราบมาโดยลำดับ ทั้งดี ทั้งชั่ว ทั้งได้ ทั้งเสีย ทั้งสุข ทั้งทุกข์ ทั้งสรรเสริญ และนินทา เพราะโลกเต็มไปด้วยสิ่งเหล่านี้ เราต่างก็ไม่ได้ความสุข เป็นที่แน่นอน ตายใจกับสิ่งเหล่านี้บ้างเลย

ทีนี้การเรียนธรรม การอบรมธรรม การปฏิบัติธรรม เพื่อผลประโยชน์ใด? ซึ่งเป็นปัญหาหนึ่ง ที่ควรคิดอ่านกัน เพราะตามหลักธรรมท่านกล่าวไว้ว่า “ธรรมเป็นคู่ควรกับมนุษย์ยิ่งกว่าสัตว์จำพวกใดทั้งสิ้น แม้แต่พระพุทธเจ้าจะมาตรัสรู้แต่ละพระองค์ๆ ก็ต้องมาตรัสรู้ในแดนแห่งมนุษย์นี้ ไม่ได้ตรัสรู้ที่อื่น การประกาศธรรมสอนโลก ก็สอนลงในแดนแห่งมนุษย์ก่อนอื่น และแสดงอย่างเปิดเผยแก่มนุษย์ทั้งหลายทุกแง่ทุกมุม ตลอดถึงอากัปกิริยา ทางกาย ทางวาจา ตลอดทางใจที่คิดปรุงเกี่ยวกับสิ่งต่าง ๆ โลกมนุษย์เป็นผู้ที่ได้เปรียบโลกทั้งหลายอยู่มาก เกี่ยวกับ “ศาสนธรรม”

ทีนี้ศาสนากับเรามีความเกี่ยวข้องกันอย่างไรบ้าง? ความรู้สึกคนเราในบางครั้งหรือบางราย เห็นว่า “ศาสนานี้ไม่จำเป็น” ก็มี “ศาสนาเป็นความจำเป็น” ก็มี ในเมื่อศาสนาไม่จำเป็นกับเราแล้ว เราจำเป็นกับอะไร? นี่ก็เป็นปัญหาอันหนึ่ง

สำหรับเราถ้าต้องการเหตุผล ต้องการหลักเกณฑ์ ต้องการสารคุณแก่ตน เพราะเราเกิดมาทุกๆ คน ไม่ต้องการมาล่มจม มาฉิบหายวายปวง ต้องการหาคุณค่าสาระ ความดี หรือสิ่งที่พึงใจติดตัว เพื่อเพิ่มศักดิ์ศรีของมนุษย์ให้สูงส่งขึ้นโดยลำดับ หรือต้องการหลักฐานมั่นคงด้วยทรัพย์สมบัติเงินทองต่างๆ ตลอดคุณธรรมเครื่องยึดเหนี่ยวทางด้านจิตใจ แม้แต่สิ่งภายนอกเรายังขวนขวายเหมือนโลกทั่วๆ ไป เพื่อเป็นหลักฐานเครื่องประทังชีวิตความเป็นอยู่ เช่น ตึกรามบ้านช่องหรือบ้านเรือน อาหารการบริโภค เครื่องนุ่งห่มใช้สอยเหล่านี้ เป็นเครื่องยึดเหนี่ยว เครื่องอาศัยในเวลาจำเป็น

โลกทั้งหลายจึงต้องเสาะแสวงหากัน และถือเป็นสิ่งสำคัญประจำครอบครัว และชีวิต เพราะร่างกาย จิตใจ ได้อาศัยสิ่งเหล่านี้ หากไม่มีสิ่งเหล่านี้ ร่างกาย จิตใจ ย่อมตั้งอยู่ไม่ได้ และต้องสลายไป โดยไม่ถึงกาลเวลาอันควรเลย วันหนึ่งๆ เราที่ไม่เคยอดอาหาร ลองอดดูสักวันหรือสักเวลา ร่างกาย จิตใจ จะเป็นอย่างไรบ้าง ต้องเป็นความหิวโหย ทุกข์ร้อนขึ้นมา เพียงวันเวลาหนึ่งเท่านั้น ก็จะเห็นคุณค่าของอาหารมาก ในวันหรือเวลาที่เราอดอาหาร แต่ถ้ารับประทานจิ๊บๆ จั๊บๆ ทั้งวันทั้งคืน จนปากกับท้องร้องขอความช่วยเหลือ เพราะขนใส่เกินเหตุเกินผล ถึงกับปากท้องทนทำงานต่อไปไม่ได้ เนื่องจากทำงานหนักเกินขอบเขต ถ้าอย่างนี้ปากกับท้องก็แย่!

แม้อาหารการกิน ที่เคยถือเป็นความจำเป็นสำหรับความหิวโหยอ่อนเพลียทางร่างกาย ก็กลายเป็นเรื่องสนุกสนานไปเสีย ไม่มีความสำคัญ เนื่องจากความกินไม่มีประมาณความพอดี แต่อย่าลืมว่า คนชนิดนี้จะทำลายตัวเองไปเรื่อย จนตายทั้งเป็น เพราะตัวเองไม่มีความสำคัญ หาความทดสอบตนได้ยาก ถ้าอดอาหารเพียงวันหนึ่ง อาหารจะมีความจำเป็นสำหรับผู้หิวโหยอยู่ไม่น้อย!

เช่น หน้าหนาว เราไม่ต้องห่มผ้าสักคืนหนึ่ง จะเห็นความจำเป็นและความสำคัญของผ้าห่มเพียงไร คืนหนึ่งไม่ได้นอน เราจะเห็นคุณค่าของการหลับนอนมากน้อยเพียงไร

ถ้ามีการตั้งข้อสังเกตในสิ่งต่างๆ ที่เกี่ยวกับตน จัดว่าเป็นผู้รอบคอบ ไม่หลวมไปกับอะไรง่ายๆ สมบัติเงินทอง ข้าวของต่างๆ ที่ใช้อยู่ในบ้านเรือน เฉพาะอย่างยิ่งเงิน แม้อยู่ในบ้าน ก็ยังติดกระเป๋าเราอยู่ตลอดเวลา ออกจากบ้านต้องติดตัวไปด้วยมากน้อยตามความต้องการที่เห็นว่าจะเพียงพอกับความจำเป็น

หากไม่มีสิ่งเหล่านี้จะทำอย่างไร? ต้องการจับจ่ายอะไรก็ไม่ได้ เพราะไม่มีเงินติดตัวไป บรรดาสิ่งที่เราเห็นว่ามีความจำเป็นจะต้องซื้อ หรือแลกเปลี่ยนด้วยเงิน แต่เงินไม่มีเสีย หรือเงินไม่ได้ติดตัวไปเสียเวลานั้น ความต้องการของเราต้องมีมาก ความจำเป็นต้องมีมาก “เงิน” เห็นจะเป็นความสำคัญอย่างยิ่งในเวลานั้น

นี่เทียบสิ่งภายนอกที่โลกเสาะแสวงหากัน ไม่ได้หยุดได้อยู่ จนเป็นเหมือน “กงจักร” กัน ทั้งวันทั้งคืน เพราะอะไร? ก็เพราะสิ่งเหล่านี้เกี่ยวกับธาตุขันธ์เรียกร้องต้องการนั่นเอง

ธาตุขันธ์เป็นเรื่องใหญ่โตมาก แม้จะรูปร่างเล็กๆ แต่ก็ใหญ่โตอยู่ที่ความบกพร่อง ต้องการไม่หยุดหย่อน ภูเขาทั้งลูกไม่มีความจำเป็นอะไรกับเรานักหนา แต่ธาตุขันธ์ของแต่ละราย ละราย เป็นความจำเป็นแก่ตนมาก เพราะเป็นภาระสำคัญที่จะรับผิดชอบ และดูแลรักษา นับแต่วันอุบัติจนกระทั่งถึงวันสลายวายชนม์ลงไป จะต้องปฏิบัติรักษากันเรื่อยมา เพราะเป็นความจำเป็น จะไม่ปฏิบัติรักษาก็ไม่ได้

นี่ถ้าเราลองหยุดเสียสิ่งใดสิ่งหนึ่งดังที่กล่าวมานี้ เราจะเห็นความสำคัญของสิ่งนั้นมากเพียงไร ต้องรู้ขึ้นภายในตัวเอง เฉพาะอย่างยิ่งเราเคยรับประทานอาหารวันหนึ่ง ๓ มื้อ และวันนี้ไม่รับประทานเลย ไม่รับอะไรทั้งนั้นนอกจากน้ำ ความทุกข์ ความหิวโหย จะแสดงขึ้นมากเพียงไร ขณะนั้นอาหารเครื่องบำรุงจะมีคุณค่ามากเพียงไร

ทีนี้ย้อนเข้ามาหาศาสนา ศาสนาที่มีความจำเป็นบ้างไม่จำเป็นบ้าง หรือไม่มีความจำเป็นเลย สำหรับบุคคลบางประเภท แม้พระพุทธองค์ก็ไม่สนพระทัยสั่งสอนให้เสียเวลาและเหนื่อยเปล่า

วัตถุสมบัติ มีเงินทอง เป็นต้น โลกถือเป็นความจำเป็นโดยทั่วกัน

ส่วนพระศาสนามีความจำเป็นอย่างไรบ้าง?

ศาสนา คือ โอชารส เครื่องหล่อเลี้ยงจิตใจ หรืออาหารทิพย์ อาหาร คือ ธรรมเป็นอาหารอันโอชะของจิตใจ ซึ่งมวลสัตว์กระหายภายในใจ ไม่มีอาหารอันเหมาะสมกับใจมาผ่าน เกิดความทุกข์ไม่มีประมาณ เพราะขาดอาหาร คือ “ธรรม” ฉะนั้นธรรมจึงจำเป็นต่อโลกมากมาย ถ้าไม่จำเป็นพระพุทธเจ้าจะไม่ทรงปรารถนาความเป็นศาสดาเพื่อสั่งสอนโลก แม้พระองค์เองก็คงไม่ปรารถนาความเป็นพระพุทธเจ้า เพื่อพ้นจากโลกจากสงสาร ซึ่งเป็นกองทุกข์อันยาวเหยียดหาที่สิ้นสุดมิได้ ที่มีอยู่ใน “สามโลก” นี้

พระพุทธเจ้าทรงหลุดพ้นจากทุกข์อันแสนทรมานในโลกทั้งสามนี้เพราะอะไร? ถ้าไม่ใช่เพราะ “ธรรม” ในหลักธรรมชาติ การแก้กิเลส แก้ความยุ่งเหยิงวุ่นวายทุกประเภท ต้องแก้ด้วยหลักธรรม ที่เรียกว่า “ศาสนธรรม” ถ้าไม่มี “ธรรม” เป็นเครื่องมือย่อมแก้ไม่ได้ และต้องเกิด ตาย อย่างล่มจมงมทุกข์อยู่เรื่อยไปไม่มีจบสิ้นลงได้

การแก้ใจออกจากกิเลส อันพาให้เกิดทุกข์ทั้งมวล จะเอาเงินทองข้าวของต่าง ๆ ไปแก้ สมบัตินั้นจะมีมากน้อยเพียงไร ก็สักแต่เป็น “กองเงินกองทอง” อยู่เท่านั้น กองทุกข์ก็เป็น “กองทุกข์” อยู่ภายในใจตามเดิม กองสมบัติ ก็เป็นกองสมบัติอยู่โดยปกติของตนไม่มีทางที่จะแก้ไขกันได้เลยสำหรับทุกข์ทางใจ

แต่ธรรมนี้สามารถจะแก้ และลบล้างกิเลสกองทุกข์ภายในจิตใจ ให้หมดไปได้โดยไม่สงสัย เพราะธรรมเคยแก้กิเลสมาแล้วจนกระเทือนโลก ด้วยเหตุนี้ธรรมจึงเป็นสิ่งจำเป็นทั่วโลกดินแดน ที่ต้องการความสุขความเจริญ นอกจากจะไม่มีความรู้สึกนึกคิดใดๆ เช่นเดียวกับสัตว์เดรัจฉาน และหัวตอเท่านั้น ศาสนาจึงไม่จำเป็น เพราะสัตว์และหัวตอรับศาสนาไม่ได้ สัตว์ทำอะไรก็ไม่สนใจในความหมายดี ชั่ว ผิด ถูก ใดๆ หัวตอก็ทำบาป ทำบุญไม่เป็น ไปนรก สวรรค์ นิพพาน ติดคุกติดตะรางไม่เป็น เพราะเป็น “หัวตอ”

แต่เราไม่ใช่ “หัวตอ” เราเป็นคนทั้งคน เรื่องของศาสนาจึงเป็นเรื่องจำเป็นสำหรับเรา ถ้าพิจารณาตามทางเหตุผลในความรับผิดชอบตนเองแล้ว ศาสนากับเราก็แยกกันไม่ออก เราคือศาสนา ศาสนาคือเรา เพราะเหตุใด?

ศาสนาท่านสอนว่าอย่างไร? ท่านสอนให้เป็น “คนดี” ประพฤติชอบ อยู่ในกรอบของศีลธรรม ท่านสอนในที่เป็นประโยชน์ และปลอดภัยแก่เราเอง

การแสดงออก จะแสดงออกในทางดีหรือชั่ว อะไรที่เป็นสาเหตุให้เกิดสุขหรือทุกข์ขึ้นมา ต้องอาศัยแนวทางของศาสนาเป็นเครื่องดำเนิน ลำพังเราก็เดินไม่ถูกทางและขนทุกข์ใส่ตัวเอง ตลอดกาลสถานที่ คนเราต้องการความสุข ความเจริญ เต็มหัวใจด้วยกัน แต่มักไปโดนแต่ความทุกข์เสียมากกว่าจะเจอความสุข เพราะเหตุใด? ก็เพราะเดินไม่ถูกทาง ที่จะให้เกิดความสุข ความเจริญ นั่นเอง!

ดังนั้น “ศาสนา” อันเป็นเข็มทิศแนวทางที่ถูกต้องเพื่อความสวัสดีปลอดภัย จึงจำเป็นอย่างยิ่ง! คำว่า “ศาสนา” ก็ได้แก่คำสั่งสอน นี้พูดอย่างเผินๆ ว่า “คำสั่งสอน” เมื่อแยกออกมาสู่โลกสมมุติแล้ว ไม่ค่อยเต็มเม็ดเต็มหน่วยตามความจริงของธรรมแท้ และไม่ค่อยมีน้ำหนักเท่าที่ควร คำว่า “ศาสนา ๆ” จึงไม่ค่อยถึงใจและจำเป็นสำหรับความรู้สึกของโลก ที่ไม่เข้าใจศาสนาพอ

แต่ถ้าพูดตามหลักธรรมชาติของ “ธรรม” ที่กลายมาเป็นศาสนาเครื่องสอนโลกแล้ว รู้สึกเบาๆ ไม่เต็มอรรถเต็มธรรมแท้ เหมือนธรรมสัมผัสใจ และสถิตอยู่กับใจ โดยเฉพาะ!

คำว่า “ธรรม” นั้น สำคัญมาก ศาสนธรรมที่ดึงออกจากธรรมแท้ นั่นแหละมาเป็น “กรุย” เป็น “หมายป้ายทาง” หรือเป็นแบบแปลนแผนผัง พอสัตว์โลกได้ดำเนินตาม เพื่อได้เข้าถึงองค์แห่งธรรมแท้ ซึ่งจะสัมผัสและสถิตอยู่ที่ใจของผู้ปฏิบัติธรรม

เบื้องต้นก็อาศัยธรรมฝ่ายเหตุ ชี้บอกให้ทำอย่างนั้น ให้ละอย่างนี้ ให้ปฏิบัติดำเนินอย่างนี้ จะประสบพบเห็นผลนั้นๆ คือ ธรรมฝ่ายผลอันแท้จริงนั้นแล ซึ่งจะเข้าสัมผัสใจ เพราะการบำเพ็ญเหตุอันถูกต้อง

จิตใจของโลก มีความต้องการความสุข ผ่านความทุกข์ทุกประเภทให้พ้นไป อยู่ตลอดเวลา แม้จะโง่แสนโง่ ก็ต้องการความสุขความเจริญ ดังที่กล่าวมาอยู่ตลอดเวลานาที ใจเสาะแสวงหาความสุข และหาทางออกจากทุกข์ไม่มีวันจืดจาง เป็นแต่ไม่พบทางออก มาสู่ภพนี้แล้ว ก็อยากไปสู่ภพนั้นต่อไปอีก ที่จิตคิดปรุงเรื่องนั้น เรื่องนี้ เรื่องโลกนั้น โลกนี้ เรื่องบุญ เรื่องบาป เรื่องทุกข์ เรื่องสุข เรื่องรัก เรื่องชัง เรื่องโกรธ เรื่องเกลียด คิดไปตลอดเวลา จิตไม่ได้หยุดอยู่เป็นปกติ ก็เพราะความเสาะความแสวง ความตั้งหน้าตั้งตาท่องเที่ยวของจิต เพื่อหาความสุขนั้นแล

ส่วนมาก ก็คือ ความทุกข์ และความโลภ ราคะ ตัณหา บีบบังคับให้ต้องคิดวกไปเวียนมาหาที่จอดแวะไม่ได้ ใจจึงเป็นทุกข์มากกว่ากาย เพราะหาที่ออก ที่ถูก ที่ดี ไม่ได้ ถ้าไม่มี “ธรรม” เป็นหนทางให้คิดให้ทำในทางถูก ทางดี ใครก็ตามย่อมหาความสงบสุขทางใจได้ยากเต็มที เหมือนนักโทษในเรือนจำ แม้มีจำนวนมาก ก็ไม่ช่วยกันให้มีความสุขได้เลย

ในโลกถ้ามีมนุษย์ชนิดที่เต็มไปด้วยความโลภ ความโกรธ ความหลง และราคะตัณหา อยู่ด้วยกันจำนวนมาก ก็ไม่อาจยังกันและกันให้ถึงความสุขโดยถูกทางได้เลย นอกจากจะกดถ่วง หรือฉุดลากกันลงเหวลงบ่อ ให้ล่มจมไปตามๆ กันเท่านั้น เมื่อคิดถึงคนจำนวนมาก ที่ไม่อาจชี้แนวทาง “บุญ บาป นรก สวรรค์ และนิพพาน ให้กันได้โดยถูกต้อง เหมือนศาสนธรรม ที่ประกาศสอนไว้ พุทธศาสนิกชนจึงควรภูมิใจ ที่ได้เกิดมาพบพระพุทธศาสนา อันเป็น “ศาสนธรรมแท้” แน่แก่ใจ และปฏิบัติบำเพ็ญเต็มความสามารถ แม้หัวใจขาดดิ้นสิ้นซาก ก็ขอถวายเป็นพุทธบูชา ธรรมบูชา สังฆบูชา ไปเลย ไม่อาลัยเสียดาย เพราะในโลกนี้นับตัวเราท่านเข้าด้วยกัน ไม่มีอะไรวิเศษเลอเลิศยิ่งกว่า “ธรรม” ธรรมเป็นสูงสุดในแดนโลกธาตุ

ทั้งนี้กรุณาปฏิบัติให้รู้ธรรมทางใจ สัมผัสธรรมทางใจเถิด คำว่า “ธรรมเลิศ ๆ” จะเป็นคำอุทานของท่านเอง โดยไม่มีใครบอกใครแนะ ใครบังคับ หากเป็นความยอมรับอย่างซึ้งใจของท่านเอง

ธรรมที่สัมผัสใจ หรือธรรมที่สถิตอยู่ในใจของท่านผู้ปฏิบัตินี้แล เป็นธรรมที่ถึงใจอย่างบอกไม่ถูก คำว่า “ศาสนธรรม” คือ คำสอนของพระพุทธเจ้านั้น ฝ่ายเหตุสอนให้รู้ธรรมภายในใจ ส่วนผล คือ ธรรมอันเลิศที่สัมผัสใจ หรือสถิตอยู่ภายในใจ ธรรมที่เป็นสักขีพยานอย่างเด่นชัด นอกจากธรรมฝ่ายผลที่ปรากฏเด่นอยู่ที่ใจของผู้บำเพ็ญแล้ว ผู้เทศน์ไม่อาจกล่าวที่ไหนได้ถูกต้องยิ่งกว่า ธรรมที่อยู่ในใจของท่านผู้ได้บรรลุธรรมด้วยข้อปฏิบัติของตน

ธรรมแท้ไม่เหมือนคำพูด ไม่เหมือนการคาดคิดนึกเดาเอา ไม่เหมือนมโนภาพ แต่เหมือนใจที่สงบผ่องใส เหมือนใจที่สง่าผ่าเผย เหมือนใจที่ปราศจาก “สมมุติ” โดยประการทั้งปวง คือใจที่บริสุทธิ์ มากกว่าจะเหมือนอะไรในโลก จะเห็นได้ว่า “เอกีภูตมฺปนตฺถโต” เมื่อสงเคราะห์จาก พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ แล้วก็รวมเป็นธรรมแท่งเดียว “เอกีภาโว”

ธรรมเป็นขั้นๆ ดังกล่าวมาควรแก่มนุษย์กว่าสัตว์จำพวกใดในโลก จึงไม่ควรปัดธรรมออกจากตัวเรา ผู้ปัดธรรมออกจากตัว คือผู้ปัดความสุข ความสมหวังทุกด้านออกจากตัว เหลือแต่เนื้อ หนัง กระดูก หุ้มห่อกันอยู่เท่านั้น ก็ไม่ผิดอะไรกับสัตว์ตายตามข้างถนน ที่ยังมีหนังหุ้มกระดูกอยู่ แต่กลิ่นเหม็นไปทั่วสารทิศ

คนที่ชอบธรรม รักใคร่เลื่อมใสในธรรม คือ ประเภทผ้าขี้ริ้วห่อทอง หรือประเภทผ้าราคาแพงห่อทอง เป็นผู้มีคุณค่ามาก โดยไม่ต้องอาศัยการเสกสรรปั้นยอใดๆ ทั้งสิ้น

ท่านผู้ใดยังไม่มีธรรม ยังไม่สนใจในธรรม ควรสนใจและบำเพ็ญ ทาน ศีล ภาวนา เสียแต่บัดนี้ ท่านจะไม่เสียใจภายหลัง เพราะความจำเป็นหรือความจนตรอกรออยู่ข้างหน้าทุกคนไม่มีการยกเว้น ถึงวันเวลาผู้นั้นก็รู้เอง ไม่จำเป็นต้องบอกก็ได้

เฉพาะอย่างยิ่ง “จิตตภาวนา” เป็นธรรมสำคัญมาก สามารถทราบความเป็นมาความเป็นอยู่ และความเป็นไปของตนภายในจิตได้ไม่ต้องสงสัย เช่น ความเกิด ความตาย เป็นต้น ตายที่นั่นมาเกิดที่นี่ มีอยู่กับจิตดวงเดียว เป็นสาเหตุพาให้ไป เป็นไปไม่มีสิ้นสุด ถ้าไม่ตัดเชื้อที่ทำให้เกิดซึ่งมีอยู่กับใจนี้เสีย

การที่จะประคับประคองจิตให้ไปเกิดที่ดีคติที่งามนี้ ต้องประคับประคองด้วยการสร้างธรรม คือ กุศลธรรมขึ้นในใจ ผลก็เป็นคุณงามความดี ให้ผู้บำเพ็ญได้เสวยสุขทุกภพทุกชาติไป เราเป็นมนุษย์จึงควรบำเพ็ญศีลธรรมให้มีขึ้นภายในใจ เพื่อให้ใจได้ยึดเป็นหลักใจ เมื่อมีของดีเป็นที่ยึดเหนี่ยวเกี่ยวเกาะแล้ว ย่อมไปดี อยู่ดี มีสุข จะไปเกิดภพไหนก็ไปเถอะ คนมี “บุญ” ประจำใจแล้วไม่ล่มจมแน่นอน

แต่คนมีบาป อยู่เฉยๆ ก็ร้อน นั่งอยู่ก็ร้อน เดินอยู่ก็ร้อน ยังไม่ตายก็ร้อน ตายไปก็ร้อน เพราะความร้อนอยู่กับหัวใจ ไม่ได้อยู่ที่อื่นใด ไปเกิดในภพใดแดนใดก็ร้อนหาความร่มเย็นเป็นสุขไม่ได้เลย และไม่มีใครช่วยได้

ชาตินี้ ใครก็เคยเจอทุกข์ และกลัวทุกข์อยู่แล้ว ยังจักกล้าหาญต่อทุกข์ในภพต่อไปอยู่หรือ ซึ่งอาจทุกข์หนักมากกว่าที่เคยเจออยู่นี้ ใครจะไปทราบได้!

สิ่งอื่นเราเคยได้ศึกษาและอบรมมามากต่อมาก สรุปผลก็ดังที่เห็นๆ กันนั่นแล แต่จิตเราที่กำลังแสดงละครอยู่ตลอดเวลา ทั้งวันทั้งคืน ยืน เดิน นั่ง นอน ภายในตัวเรา ยังไม่ได้พิสูจน์กันว่าเป็นอย่างไร พอมีรายได้กับมันบ้างไหม หรือมีแต่ขาดทุนสูญดอกลงทุกวัน ใจคิดเรื่องอะไรบ้าง คิดหายาพิษหรือหาภัยอะไรบ้างมาเผาลนตนเอง เหล่านี้เรายังไม่ค่อยได้คิดกัน ไม่ได้หาอุบายแก้ไข หรือมิได้สนใจที่จะแก้ไขกันบ้างเลย จึงต้องแบกแต่ทุกข์ทั้งวันทั้งคืน เพราะความปล่อยขโมยออกหายาพิษ ไม่ว่าจะเป็น ชาติ ชั้น วรรณะ ใดก็ตาม ย่อมหลีกเว้นความทุกข์ อันเป็นผลแห่งการปล่อยตัวปล่อยใจ ไปตามยถากรรมนี้ไม่ได้ เพราะจิตเป็นผู้สร้างขึ้น มิใช่ผู้ใดเป็นผู้สร้าง อุบายวิธีที่จะแก้ไขสิ่งไร้ค่านี้จะแก้ด้วยวิธีใด?

หลักสำคัญ ก็คือ พยายามฝืน ไม่ทำตามใจเสียทุกอย่าง เมื่อทราบว่าสิ่งนี้ไม่ดีจะต้องแก้ไข มิให้เป็นไปตามความอยากซึ่งหาประมาณมิได้ คล้อยตามและส่งเสริมเท่าไร ยิ่งกำเริบใหญ่ยิ่งกว่าไฟได้เชื้อ

ประการสำคัญ ก็คือ ต้องฝึกหัดจิตใจ ธรรมดาของใจต้องมีความคิดความปรุง ต่างๆ อยู่เสมอ มีนิสัยหลุกหลิก วอกแวก คลอนแคลน ไม่มีอะไรจะคล่องแคล่วรวดเร็วไปยิ่งกว่าใจ แต่เมื่ออาศัยหลักธรรม มี “สติ” เป็นต้น มีคำบริกรรมแห่งธรรมบทใดบทหนึ่ง เช่น “พุทโธ” หรือ อานาปานสติ เป็นต้น เข้าเป็นเครื่องกำกับใจ มีสติรับรู้อยู่กับคำบริกรรมนั้นๆ ไม่ให้เผลอส่งใจไปสู่อารมณ์อื่นๆ ในขณะที่ทำภาวนานั้นแหละ จิตจึงจะสงบจากความวุ่นวายต่างๆ ลงได้

เมื่อใจมีความสงบ ย่อมจะรู้เห็นสารคุณขึ้นภายในตัว และเห็นโทษแห่งความระเหเร่ร่อนในความไม่มีหลักมีเกณฑ์ของใจ ถ้ายังไม่มีสิ่งเทียบเคียง ได้แก่ ความสงบสุข กับความฟุ้งซ่าน ให้เกิดทุกข์มาเทียบเคียงกัน ก็ไม่ทราบว่าอะไรดี อะไรไม่ดี จึงต้องมีสิ่งเทียบเคียงเป็นคู่แข่งกัน

มีแต่ความทุกข์ร้อน ร้อนไปทั้งวันทั้งคืน นับแต่เกิดมาไม่เคยมีความเย็นเป็นเครื่องแก้กัน ก็ไม่ทราบว่าอะไรจะดีกว่าสิ่งที่ตนกำลังเผชิญอยู่ ฉะนั้นความเห็นคุณในสิ่งหนึ่ง จึงทำให้เห็นโทษภัยในอีกสิ่งหนึ่งได้อย่างชัดเจน และหาทางออกจากสิ่งที่เป็นภัยเพื่อสิ่งที่เป็นคุณต่อไป

เมื่อเป็นเช่นนี้ จึงควรอบรมใจให้เป็นไปในทางดี วันเวลามีอยู่ มืดแจ้งมีอยู่ ตั้งแต่วันเกิดมา ไม่เคยหายไปไหน เช่น มืดในขณะนี้ พรุ่งนี้เช้าก็สว่างขึ้นมา มืดกับแจ้งไม่เคยหายไปไหน เราหาโอกาสกับมืดและแจ้งได้ทุกเวลานอกจากจะไม่หา วันเวลาจะมีเพียงไร ก็ไม่มีสำหรับเขาอยู่นั่นเอง ความจนตรอกจนมุม หาทางออกไม่ได้ก็อยู่กับผู้นั้น ทั้งๆ ที่เวลามีอยู่แต่ก็หาเวล่ำเวลาไม่ได้

ถ้าสนใจแก้ปัญหานี้ให้ตกไปบ้างแม้ไม่มาก ก็พอสะดุดใจบ้าง และควรระลึกเตือนตน พอให้ได้สติยั้งคิดบ้างว่า “วันไหนก็ไม่มีเวลา วันไหนก็ไม่มีเวลา ไม่ว่าวันนี้ วันหน้า เดือนไหน ปีใด ที่ผ่านมา ล้วนไม่มีเวลา แม้ปัจจุบันนี้ก็ไม่มีเวลา ต่อไปอนาคตข้างหน้า ก็จะไม่มีเวลาเลยจริงๆ เหรอ แต่เวลาตาย ทำไมตายได้? ทำไมจึงมีโอกาสตายล่ะ? ไปได้เวลามาจากไหนถึงได้ตาย เวลาหายใจอยู่ ทำไมไม่มีโอกาส ไม่มีเวลา บทตายทำไมมีเวลาล่ะ!” เพียงเท่านี้ก็สะดุดใจ!

ขณะที่ตายแล้วจะมาทำอะไรไม่ได้ และไม่เกิดประโยชน์ เพราะหมดลมหายใจแล้ว ทำอะไรไม่ได้แล้ว สุดหนทางเดินของชีวิต! เห็นมีแต่นิมนต์พระมา “กุสลา ธมฺมา อกุสลา ธมฺมา” ให้ยุ่งไปเปล่าๆ เวลายังเป็นอยู่ไม่สนใจกับ “กุสลา” คือ ความฉลาดหาบุญ ฉะนั้นเพื่อความแน่ใจ จงสร้าง “กุสลา” คือ ความฉลาดขึ้นกับตนในเวลามีชีวิตอยู่นี้อย่าประมาท แบบไม่มีความอิ่มพอ บทเวลาเจอทุกข์จะทานน้ำหนักไม่ได้

เฉพาะอย่างยิ่ง ให้มีความเฉลียวฉลาดต่อความเป็นอยู่ ความเป็นไปของใจ ชื่อว่า “กุสลา” คือ การสร้างความเฉลียวฉลาดขึ้นภายในตนให้เป็นที่มั่นใจ เวลาตายแล้ว ใครจะ “กุสลา” หรือไม่กุสลา ก็ไม่เห็นเป็นปัญหาอะไร เพราะพระพุทธเจ้าสอนให้มีความฉลาดในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ ไม่ใช่ตายแล้วนิมนต์พระมา “กุสลา ธมฺมา” ยกไปสวรรค์ นิพพานกันหมด ถ้าเช่นนั้นจะมาปฏิบัติศาสนาให้ลำบากทำไม หลวงตาบัวตัวบรมขี้เกียจนี้ยิ่งแล้ว ไม่มาบวชให้เสียเวล่ำเวลา ตายแล้วนิมนต์พระขรัวตาสักองค์เดียวก็พอ มาสวด กุสลา ธมฺมาให้ไปสวรรค์ฉิบ เพราะการบวชนี้ลำบากลำบนเหลือเกินแต่ก็ทนเอา เพราะต้องการความดี ความฉลาด อันเป็นธรรมพาให้พ้นทุกข์ จนทนอยู่ ทนปฏิบัติมาจนบัดนี้

ถ้า “กุสลา” เป็นของง่าย ๆ สวดขึ้น ก็พาคนตายไปสวรรค์กันหมดจริงๆ ก็จะยากอะไร บวชขรัวตาไว้เฝ้าวัดสักองค์ก็พอ เวลาใครตายก็นิมนต์ไป “กุสลา ธมฺมา กุสลา ธมฺมา” และยกคนตายไปสวรรค์ ไปนิพพานเสียหมด ไม่ต้องลำบากในการทำบุญให้ทาน รักษาศีล ภาวนา อะไรเลย แต่นี่มันไม่เป็นเช่นนั้น ถ้า “กุสลา ธมฺมา” คือ ความฉลาดไม่มีอยู่ภายในจิต ภายในตัวแล้วจะทำอย่างไรให้ฉลาด ให้เป็นสวรรค์ นิพพาน มันก็อย่างนั้นเอง ยกมากี่คันรถ กี่พระไตรปิฎกมาสวด มันก็เท่านั้นแหละ! เพราะสวดออกจากปากต่างหาก กุสลา ธมฺมา ไม่ได้อยู่กับใจของผู้ตาย นี่!

การสวดเพื่อคนตาย ได้สำเร็จด้วย “มาติกา” หรือ อภิธรรมสูตร นั้นๆ นี่ก็ยังไม่เห็น เพราะผู้ตายหมดความรู้สึกและการรับทราบใดๆ แล้ว การสวดจะช่วยละกิเลสตัณหา เสริมความดี ละความชั่วของคนนั้นๆ ได้อย่างไร!

ธรรมบทใดก็ตาม เพื่อปราบกิเลสของผู้บำเพ็ญธรรม ในเวลา “เป็น” อยู่ต่างหาก การทำบุญให้ทานขณะที่ตาย เราไม่ปฏิเสธว่าไม่เป็นบุญ ไม่เป็นกุศล แต่อยากให้เห็นความสำคัญในแง่ที่สำคัญเพิ่มขึ้นอีก ที่พวกเราควรทราบไว้ด้วย จะไม่เห็นความสำคัญของ “กุสลา ธมฺมา” ในตำรายิ่งไปกว่า “กุสลา ธมฺมา” ที่สร้างขึ้นในจิตก่อนตาย ตามที่พระองค์ทรงเน้นหนักแก่มวลสัตว์ตลอดวันปรินิพพาน

การสร้างกุศล คือ ความฉลาดให้แก่ตนเสียแต่บัดนี้นั้นเป็นความชอบธรรม ตายแล้ว ใครจะมา “กุสลา” หรือไม่กุสลา ก็ไม่วิตก เป็นห่วงกับกุศลที่เขาอุทิศให้ จงสร้างให้พอแต่บัดนี้ เต็มตัวแต่บัดนี้แล้ว ใครจะอุทิศให้หรือไม่อุทิศให้ ก็ไม่สำคัญ เพราะเรามีอยู่ในตัวเราแล้ว และไปอย่างสบายหายห่วง นี่เป็นหลักประกันตัวได้อย่างแน่นอน

เวลานี้ใจเราโง่หรือฉลาด? จงดูความฉลาดและความโง่ที่ใจเรา ซึ่งส่วนมากมีแต่กิเลสฉลาดกว่าเราแทบทุกอาการที่เคลื่อนไหว จึงพาให้เราจนมุมด้วยความทุกข์ ความลำบาก อยู่เสมอ หากฉลาดด้วยธรรมแล้ว ก็จะมีความคล่องแคล่วแกล้วกล้าต่อทางดี ใจก็มีความผ่องใส มีความสงบเย็น

ความฉลาดในธรรม นำบุคคลผู้บำเพ็ญให้มีความสงบร่มเย็น ทั้งปัจจุบันและอนาคต ชื่อว่า “กุสลา ธมฺมา พาอยู่ พาไป พาให้เป็นสุข”

การเรียนตามคัมภีร์ใบลานนั้นไม่ได้ปฏิเสธ เรียนเท่าไรก็เรียนไปเถิด ถ้าไม่ได้สร้างสติปัญญาขึ้นภายในใจให้มีความเฉลียวฉลาด แก้กิเลสอันเป็นตัวทำให้โง่อยู่ภายในให้หมดไปด้วยการปฏิบัติ แม้จะแบกคัมภีร์ไปเต็มบ่า ตั้งร้อยตั้งพันคัมภีร์ นั้นก็เป็นเพียงแต่คัมภีร์ ไม่อาจแก้กิเลสตัวใดได้ กิเลสก็ยังเต็มหัวใจอยู่นั่นแล จะมี “ดีกรี” พอกิเลสกลัวบ้างหาได้ไม่

พระพุทธเจ้าท่านทรงสอนให้พิจารณาที่จิต ซึ่งเป็นที่ซ่องสุมของกิเลส ของทุกข์ทั้ง มวล กิเลส ตัณหา ภพชาติน้อยใหญ่ทั้งหลาย เกิดขึ้นที่ใจ จึงต้องเรียนและปฏิบัติให้รู้ที่ใจเป็นสำคัญ เพราะคำว่า “กิเลส ตัณหา อาสวะ เป็นต้นนั้น เป็นเพียงชื่อของกิเลส ตัวกิเลสแท้นี่มีอยู่ในใจของสัตว์โลก” ฉะนั้นเมื่อเรียนรู้ชื่อแล้ว จำต้องปฏิบัติ ที่ท่านเรียกว่า “จิตตภาวนา” เป็นขั้นๆ ไป อันเป็นวิธีการถอดถอนกิเลสออกจากใจโดยลำดับไม่อับจน!

การภาวนา คือ การตะล่อมกิเลส และขุดค้นตัวกิเลสขึ้นมาทำลายด้วยสติปัญญา มีความเพียรเป็นเครื่องหนุนหลัง จะชื่อว่า “ผู้ฉลาดฆ่ากิเลส” คือ ฉลาดฆ่า ความโลภ ความโกรธ ความหลง ของตัวให้หมดไปโดยลำดับๆ ใจก็นับวันโปร่งโล่งสบาย เพราะปกติคนเรามันหนัก มันทุกข์ เพราะความโลภ เพราะความโกรธ เพราะความหลง ไม่ใช่จะมีความสุขความสบาย เพราะความโลภ ความโกรธ ความหลง สัตว์โลกเป็นทุกข์เพราะสิ่งเหล่านี้แลเป็นสำคัญ

ธรรม ท่านสอนให้แก้ ให้ปลดเปลื้องสิ่งเหล่านี้ให้หมดไป หมดไป ความสุขนั้นไม่ต้องถาม จะเกิดขึ้นมาเอง การสร้างตัวเองให้ฉลาด การบำเพ็ญตัวเองเพื่อเป็นคนดีมีความสุข จงสร้างที่ตรงนี้ อย่าให้ถึงเวลาเขาเอาเข้าโลงแล้ว เคาะโลงป๊ก ๆ “รับศีลนะพ่อนะ รับศีลนะแม่นะ” ราวกับเด็กไม่รู้เดียงสา ตอนมีชีวิตอยู่ไม่สนใจกับอรรถกับธรรม ตายแล้วจะไปเอาศีลมาจากไหน จะรู้ศีลรู้ธรรมได้ที่ไหน ถ้าไม่รู้ในขณะยังมีชีวิตอยู่?

เราจึงควรรู้เสียแต่บัดนี้ ถ้ารู้ศีล รู้ธรรม ภายในใจเสียแต่ในบัดนี้ เราบำเพ็ญให้เต็มสติกำลังเสียแต่บัดนี้แล้ว อยู่ที่ไหนก็อยู่เถอะคนเราจะไม่เดือดร้อนเลย เพราะธรรมของพระพุทธเจ้าไม่ใช่ “ตุ๊กตา” เป็นเครื่องเล่นของเด็ก พอจะเที่ยวหลอกคนว่า “ตายแล้วค่อยเอาบุญ” ตอนยังมีชีวิตอยู่ยังไม่มีบุญ ความจริงศาสนามิได้เป็นอย่างนั้น จงทำลงไปให้เห็นประจักษ์กับตัวเอง เพราะศาสนธรรมประกาศท้าทายความจริงอยู่ตลอดเวลา นับแต่พระพุทธเจ้าตรัสรู้มาจนกระทั่งบัดนี้ และจะเป็นความจริงตลอดไปไม่มีสิ้นสุด นอกจากจิตใจของสัตว์โลกจืดจาง และปลอมไป ไม่สนใจในธรรมเท่านั้น ความจริงแทรกเข้าไม่ได้

ปกติของใจสามัญชน สิ่ง “ปลอม” ทั้งหลายเข้าได้วันยังค่ำ ดังความโกหกหลอกลวง เป็นต้น ซึ่งเป็นของปลอม มักเชื่อกันง่ายๆ ส่วนความจริงไม่ค่อยเชื่อ เพราะหัวใจสกปรก หยิบยื่นของสะอาด คือ ธรรมเข้าไปให้ มันไม่เข้า ไม่รับ เพราะใจสกปรก เอาของดี ของจริง เข้าไปให้จึงไม่รับ ถ้าเป็นของสกปรกด้วยกันแล้ว วันยังค่ำมันรับได้ ราวกับความทุกข์ที่เกิดจากของปลอม จะทำให้ตนตายไม่ได้ ใจสกปรกกับอารมณ์สกปรกพันกันไป เลยยิ่งกว่า “แหพันลิง” ฉะนั้นจิตสามัญชนจึงเป็นจิตประเภท “แหพันลิง”

กำหนดลงที่ใจดูซิ เวลานี้ใจเป็นอย่างไร มันเป็นแบบ “แหพันลิง” หรือแบบไหน เพราะเราเป็นผู้พิสูจน์เราเอง เป็นผู้เรียนและปฏิบัติธรรม ควรจะรู้ใจตัวเองว่าหนักไปในทางใด ถ้าผิดต้องรีบแก้ไข ไม่นอนใจสมกับเป็นผู้เห็นภัยในกิเลส ตัวก่อทุกข์อยู่บนหัวใจ

พระพุทธเจ้าไม่ทรงหวังอะไรจากพวกเราเลย นอกจากพระเมตตาอย่างเดียวเท่านั้น ศาสนธรรมที่ประกาศสอนโลก ก็ด้วยพระเมตตาล้วนๆ เราเองผู้รับเหมากองทุกข์บนหัวใจอยู่ตลอดเวลา ยังไม่สะดุดใจบ้างเลย ก็สุดวิสัยที่ธรรมจะเข้าแทรกถึงใจได้ และตายเปล่าแบบไม่มีกุศลภายในใจ

เมื่อไม่มีกุศลภายในใจนับแต่วันเกิดจนถึงวันตาย จะมีอะไรไปช่วยแก้ทุกข์ในภพนั้นๆ เวลาไปตกทุกข์ในกำเนิด “อบายภูมิ” และเป็นผู้รับเหมากองทุกข์อยู่คนเดียวนั้นดีแล้วหรือ ? ควรคิดให้ดีขณะที่ยังมีลมหายใจอยู่นี้ ตายแล้วหมดหนทางคิดเพื่อแก้ไขดัดแปลง

รีบคิดเสียแต่ในบัดนี้ อย่าปล่อยให้ความประมาทกดขี่บนหัวใจไปตลอดกาล การแก้ทุกข์เพราะวิบากกรรมของความประมาทนั้น มันแก้ไม่ได้ ถ้าไม่รีบแก้เสียแต่ยังไม่ถึงขั้นนั้น เช่น คนยังไม่ติดคุก รีบแก้ตัวเสียก่อน ก็พอพ้นภัยได้ แต่เมื่อติดคุกแล้ว จะไปแก้คดีทีหลังหมดทางแก้ ต้องรับเสวยทุกข์ไป นี่เรายังไม่ตาย ก็รีบแก้เสียแต่บัดนี้ ชื่อว่า “มนุษย์เป็นผู้ฉลาด” ฉลาดเอาตัวรอด ฉลาดปลดเปลื้องสิ่งที่เป็นภัยแก่ตัว ด้วยการสร้างความดี หรือกลับตัวสร้างแต่ความดีโดยลำดับๆ เพราะวันคืน ปีเดือน ล่วงไป ล่วงไป ชีวิตความเป็นอยู่ก็ล่วงไปด้วย สังขารร่างกายค่อยเสื่อมโทรมลงไปโดยลำดับ จะเข้าใจว่ามันเจริญไปที่ไหน นอกจากเจริญไปหา “ป่าช้า” เท่านั้น

“โลก อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา” นี้ ใครจะว่าดีวิเศษ มีความสุขความเจริญสักเท่าใด ก็มีแต่ความสำคัญมั่นหมายไปเฉยๆ “เมาอารมณ์” กันอยู่เท่านั้น ความจริง ก็คือ “ความเย็นใจ ไม่มีติดตัวไป” นั่นแล เกิดเป็นวัน เป็นคืน มีแต่กองทุกข์ที่แบกหามเต็มกำลังภายในใจ หาที่ปลงวางไม่ได้ ถ้าไม่มีความดีเข้าสนับสนุน หรือต้านทานกันบ้าง

อันความเสกสรรปั้นยอ และความสำคัญมั่นหมายว่า ตนเป็นอย่างนั้น ตนเป็นอย่างนี้นั้น มันหลอกต่างหาก หาความจริงไม่ได้ อย่าไปหลงมันหลอกมากนักเลย ให้ดูจิตใจตัว ที่กำลังแบกทุกข์อยู่นี่น่ะ เพราะส่วนมากมันแบกแต่ทุกข์ ไม่ยอมปลงวางในอิริยาบถต่างๆ

บางทีมีคนมายกยอว่า เราฉลาด แต่เราฉลาดจริงไหม ให้ดูตัวนี้ โลกธรรมมันมีอยู่ที่นี่ ให้รู้ตัวนี้ แล้วใจจะสบายหายห่วง ตายก็ตายไปเถอะ ไม่ยากไม่ลำบากอะไร เพราะการเกิดกับการตาย เป็นของคู่กันมาตั้งแต่ไหนแต่ไรแล้ว กลัวมันไปไหน? กลัวมันให้โง่ทำไม มันอยู่กับเรานี่ เราวิ่งมันก็วิ่ง เรานอนมันก็นอน เรานั่งมันก็นั่ง เราเดินมันก็เดินตามเราไปทุกขณะ ถึงวาระสุดท้ายแล้วก็ตาย! เพราะ “เกิด” กับ “ตาย” เป็นของคู่กัน

ในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่จงสร้างความดีที่จะเป็นผลเป็นประโยชน์แก่ตน อย่าให้เสียท่าเสียทีที่เกิดมาเป็นมนุษย์ในท่ามกลางพระพุทธศาสนา อย่ากอดกองมหาสมบัติอยู่ แต่ไม่ได้อะไรเป็นสาระแก่นสารติดตัวไปบ้างเลย การเป็นเช่นนั้นดูว่าเรานี้โง่กว่ามนุษย์เดินดินกินข้าวด้วยกันเกินไป ไม่สมกับเกิดทันพระพุทธศาสนา พระพุทธเจ้าทรงเป็นจอมปราชญ์ฉลาดแหลมคม ทรงแก้กิเลสได้แล้ว ทรงทุ่มเท “ธรรมะ” สั่งสอนโลกด้วยพระเมตตาจริงๆ

เราผู้ที่รับธรรม ข้อปฏิบัติจากท่านมาประพฤติปฏิบัติ เพื่อเป็นสารคุณแก่ตน ยังปฏิบัติไม่ได้ แล้วจะไปหวังความสุขความเจริญจากอะไร จากโลกไหน ไม่มีทางเลย ถ้าปล่อยโอกาสนี้แล้ว นั่นคือความหมดหวัง อยู่ที่ใด ไปที่ใด ก็หมดหวัง มีแต่ความขื่นขมจมทุกข์อยู่เท่านั้น ถ้าไม่สร้างความหวังให้แก่ตนเสียตั้งแต่ยังมีชีวิตอยู่เวลานี้

จะจัดว่าเป็นบุคคลผู้ฉลาด ก็เมื่อสามารถนำตนผ่านไปได้ด้วย “ธรรม” อันเป็นสมบัติกลาง ผู้ฉลาดก็ยึดเป็นที่พึ่งอันเกษมได้!

การฝึกหัด “ภาวนา” ในเบื้องต้นโปรดยึดคำบริกรรมเป็นสำคัญ กว่าการเล็งผลใดๆ เช่น บริกรรม “พุทโธๆ” ก็ให้มีความรู้สึกอยู่กับคำว่า “พุทโธ” จริงๆ มีสติกำกับความรู้สึกอยู่ตลอดไปจนถึงเวลาหยุด เมื่อคำบริกรรมติดต่ออยู่กับ “พุทโธ” คือ ติดแนบอยู่กับงานโดยสม่ำเสมอแล้ว ความรู้สึกที่เคยคิดสร้างเรื่องต่างๆ ให้วุ่นวาย ก็จะรวมเข้ามาในจิตนี้ ที่ท่านเรียกว่า “จิตสงบ” จิตสงบนั้นหมายถึงอย่างนี้ คือ กระแสของใจรวมตัวเข้ามาสู่จิตดวงเดียว เป็นความสงบสุข

การภาวนาเป็นความลำบากและหนักใจอยู่บ้าง ก่อนจะเห็นความแปลกประหลาดภายในใจดวงนี้ ซึ่งไม่เคยรู้เคยเห็นมาแต่ก่อน ทั้งๆ จิตก็อยู่กับตัว สิ่งที่จะให้รู้ให้เห็นก็อยู่กับตัว แต่ไม่ทราบว่าเป็นอย่างไรจึงไม่รู้ไม่เห็นตัวและเรื่องของตัว ใจจึงมั่นหมายเอา ทั้งตัวเราทั้งหมดเป็นตัวรู้ เมื่อร่างกายนี้สลายลงไป เจ้าตัวก็หมดปัญญา ราวกับสูญสิ้นล่มจมไปหมด ทั้งๆ ที่ใจมิได้สลายไป มิได้สูญสิ้นไปจากความเป็นจิตเป็นใจมาดั้งเดิม ฉะนั้นคนที่มีความเห็นว่า “ตายแล้วสูญ” จึงมักจะคิดอย่างนี้

“ถ้าจับตัวสำคัญ” นั้นไม่ได้ คือ “ตัวสำคัญว่าตายแล้วสูญ” นั้นไม่ได้ ก็จะต้องก่อความลังเลสงสัยอยู่ร่ำไป แต่ผลที่ได้รับก็คือ ความผิดหวัง ในที่ทุกสถาน ตลอดกาลของภพชาติที่ยังเป็นไปอยู่

ความสำคัญว่า “ตายแล้วสูญ ตายแล้วสูญ” นี้แลเป็นภัยใหญ่ และยืดเยื้อแก่สัตว์โลก ราวกับเป็นผู้สิ้นหวังโดยประการทั้งปวงทั้งที่ยังมีชีวิตอยู่ เพราะอนาคตเป็นความหมดหวัง เหมือนหินหักครึ่งท่อนต่อกันให้ติดไม่ได้ จะเรียกว่า “ผู้มีอนาคตอันกุดด้วน” ก็ไม่น่าจะผิด

ความจริงนั้นใจนี้ไม่สูญ ท่านจึงสอนให้รู้ความจริงของใจ และสิ่งเกี่ยวข้องกับใจ โดยทางจิตตภาวนา เพราะพระพุทธเจ้าทรงรู้ความจริงได้จากจิตตภาวนา มิได้รู้ด้วยการคาดคะเน หรือด้นเดาเอาเฉย ๆ

ผู้ต้องการความจริงอย่างแน่ใจ หายสงสัย จึงควรทำตามแบบของพระพุทธเจ้า ผู้สิ้นความสงสัยโดยสิ้นเชิงแล้ว แต่อย่าทำตามแบบคนที่มีกิเลส เช่น ด้นเดาเอา เป็นต้น

ต่อไปนี้เป็น “ถาม ตอบ”

ถาม ๑ ดิฉันอยากกราบเรียนว่า การเดินจงกรมนั้น เดินวิธีใด ถึงจะถูกค่ะ ?

ตอบ กิริยาของการเดินจงกรม ตามปกติ ก็เดินกลับไปกลับมา แต่ความระลึกรู้ของเราที่จิต ผู้ทำงานก็ให้ทำงานอยู่ภายใน ดังที่เคยทำอยู่ เช่น กำหนด “พุทโธ”เดินไป ก็ให้รู้อยู่กับ “พุทโธ” กลับไปกลับมา ก็ถูกต้องตามวิธีเดินทำความเพียรในอิริยาบถเดิน และอาการของการเดิน

นั่ง จะนั่งแบบไหนก็ได้ แต่ที่ท่านชอบนั่งกัน ท่านนั่งแบบ “ขัดสมาธิเพชร” หรืออะไรทำนองนั้น ทั้งนี้ก็เพื่อความสม่ำเสมอในอิริยาบถต่างๆ ของร่างกาย การนั่งพับเพียบ มักจะหนักทางด้านที่ถูกทับ คือ นั่งพับทางนี้ก็จะหนักทางด้านนี้ ไม่เสมอกัน ท่านจึงนั่งขัดสมาธิ รู้สึกว่ากายทรงความหนักเบาเสมอกัน ไม่หนักทางใดทางหนึ่งมากไป เวลานั่งนานๆ ความกดของส่วนร่างกายกับพื้นก็เสมอกัน เราจะเห็นคุณค่าของการนั่งขัดสมาธิในเวลานั่งนานๆ พอนั่งรู้สึกเมื่อย ก็พลิกเปลี่ยนเสีย พลิกเปลี่ยนเสียทุกครั้งที่รู้สึกเมื่อย ก็จะไม่เห็นความสำคัญของการนั่งขัดสมาธิ การนั่งขัดสมาธิเป็นเวลานานๆ คือ นั่งหลายๆ ชั่วโมง เช่น ๕-๖ ชั่วโมง ๗-๘ ชั่วโมง หรือแต่หัวค่ำจนสว่าง อย่างนี้จะเห็นความสำคัญของการนั่งขัดสมาธิ ว่ามีส่วนเหน็ดเหนื่อยเสมอกัน

ถาม ๒ ขณะที่กำหนดจิตว่า “พุทโธๆ ๆ” นี้ จำเป็นที่จะต้องทราบลมหายใจเข้าออกหรือไม่ ?

ตอบ ถ้าต้องการทราบก็ได้ ไม่ขัดข้อง ไม่เป็นอุปสรรคต่อกัน ตามแต่จริตนิสัยชอบ อย่าฝืนจริตนิสัยที่ถนัดในวิธีใด ก็เป็นการถูกต้อง

ถาม ๓ แต่ถ้าเรากำหนดจิต “พุทโธๆ ๆ” อย่างเดียว แล้วเอาใจอยู่ที่ “พุทโธ” อย่างเดียวโดยไม่ไปคำนึงถึงลมหายใจเข้าออก จะไม่เป็นการสะดวกหรือ ?

ตอบ อันนี้ให้เป็นไปตามอัธยาศัยของเจ้าของ ถ้าเจ้าของเห็นอะไรสะดวกก็ให้ทำอย่างนั้นได้ อันนี้เป็นไปตามอัธยาศัย เพราะจริตนิสัยคนเราไม่เหมือนกัน เช่น กำหนด “พุทโธ” แล้วกำหนดลมหายใจ ตามด้วย “พุทโธ” ก็ได้หรือกำหนดเฉพาะ “พุทโธ” ก็ได้ หรือจะดูเฉพาะลมก็ได้ แต่ส่วนมากถ้าสติยังไม่ดีจะกำหนดเฉพาะลมอย่างเดียวไม่ค่อยจะได้หลักเกณฑ์เป็นที่พอใจเท่าที่ควร ต้องอาศัยคำบริกรรมกำกับด้วย

แต่ถ้าท่านผู้ชำนาญแล้วนั่นเป็นอีกแง่หนึ่ง ผิดกัน ผิดกันมาก บางครั้งต้องบังคับให้จิตสงบด้วยบทภาวนาเสียแทบล้มแทบตาย ก็ยังไม่สงบเลย บางครั้งยังพาเผ่นเสียด้วยซ้ำไป ความจริงก็ไม่น่าพูดว่า “พาเผ่น” แต่เรื่องมันน่าพูดก็จำต้องพูด เพราะขณะนั้นจิตดื้อ และผาดโผนมากจนเอาไว้ไม่อยู่ จึงควรจะเรียกว่า “เผ่น” ทั้งนี้เพราะกำลังสติไม่พอกับกำลังกิเลสตัณหาในจิต ผาดโผนโลดเต้นเผ่นกระโดด เมื่ออาศัยการฝึกทรมานหลายครั้งหลายหนเข้า ใจก็ค่อยเชื่องขึ้น พอฝึกเข้า ฝึกเข้า สติก็ค่อยๆ มีขึ้นมา ใจก็ค่อยมีกำลังขึ้นเรื่อยๆ และจิตก็สงบได้ง่าย พอมีความชำนาญเข้าจริงๆ แล้ว จะทำให้สงบเมื่อใดก็ได้ตามใจหวัง ไม่ขัดขืน นั่นฟังซิ!

ทั้ง ๆ ที่แต่ก่อนมันพาเราเผ่น พอสติมีความสามารถบังคับได้แล้ว ใจก็หมอบเลย พอกำหนดปั๊บ มันหมอบ และ “ลง” ปุ๊บ ในเวลานั้น ไม่ชักช้าเลย นี่แลเราจึงพอเห็นได้ว่า การฝึกจิต กับไม่ฝึกนั้น มีผลต่างกันอย่างไร และการฝึกจิตในขณะที่สติยังไม่ดี กับสติที่มีความสามารถบังคับจิตได้เป็นลำดับๆ แล้ว ผิดกันอย่างไร นั่นเราต้องทราบในตัวของเราเอง ไม่จำเป็นต้องถามใคร เพราะ “สนฺทิฏฺฐิโก” พระพุทธเจ้ามิได้ทรงผูกขาดเฉพาะพระองค์ผู้เดียว ผู้ปฏิบัติดี มีสิทธิ์รู้เห็นได้ด้วยกัน

ถ้าใจสงบดีก็ไม่มีอะไรมากวน การกวนก็คือเจ้าของกวนเจ้าของนั่นแหละ ตามหลักธรรมชาติแล้วเจ้าของกวนตัวเอง โดยคิดเรื่องนั้น คิดเรื่องนี้ ใจปรุงแต่งออกไปเป็นภาพต่างๆ เป็นภาพสิ่งนั้นบ้าง สิ่งนี้บ้าง เป็นภาพเรื่องนี้ เป็นภาพเรื่องนั้น เป็นภาพคนนั้น เป็นภาพคนนี้ ไม่อาจพรรณนาให้จบสิ้นได้ คือ แย็บออกไปจากใจก็เป็นภาพ ภาพที่ปรากฏนั้น ก็ออกไปจากตัวนี่แหละ ที่กระเพื่อมกวนตัวเอง ไม่ใช่ที่ไหนสิ่งใดมาหลอกลวงเรา มีแต่จิตปรุงภาพ หลอกตัวเองทั้งสิ้น พอจิตสงบลงไปแล้ว ภาพต่างๆ ก็ไม่แสดงตัว ก็ไม่มีเรื่องอะไร มีแต่ความรู้ล้วนๆ เหมือนโลกนี้ไม่มี เพราะตัวนี้ไปให้ความหมายอะไรทั้งโลก พอจิตสงบ สิ่งหลอกลวงด้วยภาพต่างๆ ก็ระงับไป นี่แล คือ สงบ

คำว่า “โลกนี้ไม่มี” ทั้งๆ ที่โลกนี้มีอยู่ แต่ความรู้สึก คือ ใจ ไม่ไปเกี่ยวข้องว่าอันนั้นมี อันนั้นเป็นอย่างนั้น มีความรู้อันเดียวทรงตัวอยู่ด้วยความสงบสุข ขณะนี้ คือ ขณะใจสบาย ไม่มีอะไรกวน เจ้าของก็ไม่กวนเจ้าของ นี่เป็นขั้นนี้ก่อน

รู้สึกว่าดี และดีใด ไม่เหมือนดีใจ ได้อะไร ไม่เหมือนได้ใจมาครองเป็นมหาสมบัติเด่นอยู่กับตัวตลอดเวลา “อกาลิโก”!

ขั้นละเอียดไปกว่านี้ ก็ยังมีอีกเป็นลำดับ จนสุดคำว่า “ละเอียด” หมดความหมายไปโดยสิ้นเชิง ถ้าถึงนั่นแล้ว ก็ไม่มีปัญหาอะไรอีก หมดปัญหาภายในใจ

ggggggg
เวลาทำสมาธิ

ให้ระลึกลมหายใจเข้าออก

ให้รู้ลมหายใจเข้าออก

หายใจเข้าสั้นก็รู้

หายใจออกสั้นก็รู้

หายใจเข้ายาวก็รู้

หายใจออกยาวก็รู้

ไม่ต้องบังคับลมหายใจ

ตามรู้ลมหายใจเข้าออก

สงบก็รู้ ไม่สงบก็รู้

สงบก็ไม่ยินดี ไม่สงบก็ไม่ยินร้าย

ไม่เอาทั้งสงบและไม่สงบ

เอาแค่รู้ตามความเป็นจริงของสภาวธรรมปัจจุบันนั้น

ทำอะไรก็ให้รู้เหตุปัจจัย

รู้ไม่ใช่เพื่อ ยินดี ยินร้าย รู้เพื่อให้ รู้เหตุปัจจัย

เหตุแห่งความเจริญ

เคารพ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์

เคารพ สิกขา 3 ศีล สมาธิ ปัญญา

เคารพในความไม่ประมาท

เคารพในการปฎิสันฐาน

เคารพใน ศีล

เคารพใน สมาธิ

เคารพในกันและกัน

หลักตัดสิน ธรรมวินัย 8 ประการ

ธรรมเหล่านี้เป็นไปเพื่อคลายกำหนัด

เป็นไปเพื่อไม่ประกอบสัตว์ไว้

เป็นไปเพื่อไม่สั่งสมกิเลส

เป็นไปเพื่อความเป็นผู้มักน้อย

เป็นไปเพื่อสันโดษ

เป็นไปเพื่อความสงัดจากหมู่คณะ

เป็นไปเพื่อปรารภความเพียร

เป็นไปเพื่อความเป็นคนเลี้ยงง่าย

ธรรมที่ควรเจริญ

สติ

สัมปัชชัญญะ

ศีล

สมาธิ

ปัญญา

วิมุตติ

วิมุตติญาณทัสสนะ

สัมมาทิฏฐิ เห็นชอบ

สัมมาสังกัปปะ ดำริชอบ

สัมมาวาจา พูดชอบ

สัมมาอาชีโว อาชีพชอบ

สัมมากัมมันโต การงานชอบ

สัมมาวายาโม ความเพียรชอบ

สัมมาสติ ระลึกชอบ

สัมมาสมาธิ ตั้งมั่นชอบ

สัมมาญาณะ ความรู้ชอบ

สัมมาวิมุตติ หลุดพ้นชอบ

สัมมาวิมุตติญาณทัสสนะ ความเห็นในการหลุดพ้นชอบ

สัมมาทิฏฐิ

คือ รู้ชัดซึ่ง เหตุแห่ง กุศล วิชชา เป็น เหตุ

รู้ชัดซึ่ง เหตุแห่ง อกุศล อวิชชา เป็น เหตุ

การบรรลุธรรมอาศัย สติ ปัญญา อุเบกขา เป็นมัทยัทธ์

รักษาสัจจะ เพิ่มพูลจาคะ ไม่ประมาทปัญญา ศึกษาสันติ

การปฎิบัติธรรม

คบสัตบุรุษ ฟังพระสัทธรรม อยู่ในประเทศเหมาะสม ตั้งสัจจะ เดินสัมมาทิฏฐิ เจริญความสงบ

ออกพิจารณาด้านปัญญา + พลังกุศล - บ่มอินทรีย์ นิพพิทา วิราคะ วิมุตติ วิมุตติญาณทัสสนะ

สติ - ศีล - สมาธิ - ปัญญา - วิมุตติ - วิมุตติญาณทัสสนะ

อัปปมาโณพุทโธ อานุภาพพระพุทธเจ้าไม่มีประมาณ

อัปปมาโณธัมโม อานุภาพพระธรรมไม่มีประมาณ

อัปปมาโณสังโฆ อานุภาพพระสงฆ์ไม่มีประมาณ

เรื่องของสมมติ อวิชชา ตัวตน ยึดตรงไหน หลงที่ไหน ผิดที่นั้น จุดต่อมแห่งภพชาติ

wiweksikkaram.hi5
 
จำนวนผู้ตอบ: 114
สมัครสมาชิก: Mon Mar 15, 2010 12:20 am
ที่อยู่: สุทธาวาสภูมิ

กลับไปหน้า ธรรมเพื่อชีวิต

ผู้ที่กำลัง online

ผู้ที่กำลังอ่าน forum นี้: สมาชิก ไม่มีสมาชิก และ ผู้เยี่ยมชม 3 คน

cron