ธรรมชุดเตรียมพร้อม 13

เพื่อสนทนาธรรม และแลกเปลี่ยนความคิดเห็น เพื่อความเป็นกัลยาณมิตร กัลยาณธรรมที่ดีต่อกัน

ธรรมชุดเตรียมพร้อม 13

Postโดย wiweksikkaram.hi5 » Tue Apr 20, 2010 11:03 pm

เทศน์โปรดคุณเพาพงา วรรธนะกุล ณ วัดป่าบ้านตาด

เมื่อวันที่ ๗ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๑๘

กิเลสกดถ่วงจิต



โดยปกติอากาศภายนอกไม่รบกวนประสาท เสียงต่างๆ ไม่มีประสาทก็สงบไม่มีการกระทบกระเทือนกัน การกระทบกระเทือนเป็นสาเหตุให้เกิดทุกข์ด้านจิตใจและส่วนร่างกาย ความสงบสงัดภายในก็ไม่กวนใจ นอกจากเป็น “คุณ” แก่ใจโดยถ่ายเดียว ใจที่ไม่สงบก็เพราะมีสิ่งรบกวนอยู่เสมอ ความถูกรบกวนอยู่เสมอ ถ้าเป็นน้ำก็ต้องขุ่น น้ำถ้าถูกกวนมากๆ ก็ขุ่นเป็นโคลนเป็นตมไปเลย จะอาบดื่มใช้สอยอะไรก็ไม่สะดวกทั้งนั้น เพราะน้ำเป็นตมเป็นโคลน

จิตใจที่เป็นเช่นนั้นก็แสดงว่า ให้ประโยชน์แก่ตนไม่ได้ ขณะที่ถูกรบกวนจนถึงเป็นตมเป็นโคลนอยู่ภายในจิตใจ ต้องแสดงความรุ่มร้อนให้เจ้าของได้รับความทุกข์มากเอาการ ผลของมันทำให้เป็นความทุกข์ความลำบาก เราจะเอาความทุกข์ความลำบากนี้ไปใช้ประโยชน์อะไรเล่า? เพราะความทุกข์ความลำบากภายในจิตใจนี้ โลกกลัวกันทั้งนั้น แล้วเราจะเอาทุกข์นี้ไปทำประโยชน์ที่ไหนได้ ! ไม่กลัวกับโลกผู้ดีและปราชญ์ผู้แหลมคมท่านบ้างหรือ?

การแก้ไขเพื่อไม่ให้มีอะไรกวนใจก็คือ การระวังด้วยสติ ถ้าจิตสงบก็สบาย เช่นเดียวกับน้ำที่ไม่มีอะไรรบกวน ตะกอนแม้จะมีอยู่ก็นอนก้นไปหมดเพราะน้ำนิ่งไม่ถูกรบกวนบ่อยๆ ย่อมใสสะอาด

พระพุทธเจ้าผู้ประทานธรรมไว้ ทรงถือเป็นสำคัญอย่างยิ่งสำหรับใจในอันดับแรก ทรงเล็งญาณดูสัตวโลกในขณะที่ตรัสรู้ใหม่ๆ ก็เล็งญาณดูจิตใจ ไม่ใช่เล็งญาณดูความรู้วิชา ฐานะสูงต่ำ ความมั่งมีดีจนของสัตว์โลกทั่วๆ ไปเลย แต่ทรงเล็งญาณดูจิตใจเป็นสำคัญ เช่น ผู้ควรจะได้บรรลุมรรคผลนิพพานในระยะรวดเร็ว และจะมีอันตรายมาทำลายชีวิตในเวลาอันสั้นก็มี หรือผู้มีอุปนิสัยที่ควรจะบรรลุมรรคผลนิพพานได้และไม่มีอันตรายก็มี เหล่านี้ล้วนแต่ทรงถือเรื่องจิตเป็นสำคัญ เล็งญาณก็เล็งดูจิตของสัตว์โลกว่าควรจะได้บรรลุหรือไม่ หรือไม่ควรรับธรรมเลย เป็นจำพวก “ปทปรมะ” คือมืดบอดทั้งกลางวันกลางคืนยืนเดินนั่งนอน เรียกว่า “มืดแปดทิศแปดด้าน” ไม่มีกาลสถานที่เข้ามาเปิด เข้ามาเบิกความมืดนั้นออกได้เลย มืดมิดปิดตาอยู่ภายในจิตใจ ประเภทที่เป็นเช่นนี้พระองค์ทรงทราบ และ “ชักสะพาน” คือไม่ทรงสั่งสอนอะไรทั้งสิ้น ถ้าเป็นโรค ก็คือโรคหมดหวัง แต่หมอก็ยังต้องรักษาโดยมารยาทด้วยมนุษยธรรม จึงยังต้องให้ออกซิเจนหรือยาอะไรๆ ไปบ้างตามสมควรจนกว่าจะถึงกาล

ส่วนพระพุทธเจ้าไม่ทรงสั่งสอน เพราะเป็นประเภทหมดหวังโดยสิ้นเชิงแล้ว ที่เรียกว่า “ปทปรมะ” คือประเภทที่ไม่มีทางแก้ไขเยียวยา รอเวลาความตายอยู่เพียงเท่านั้น ประเภทนี้เป็นประเภทที่มืดบอดที่สุด พระองค์ก็ทรงทราบ ทราบที่จิตใจนั้นเองไม่ทราบที่อื่น เพราะทรงมุ่งต่อจิตใจเป็นสำคัญ

ศาสนาวางลงที่จิตใจของมนุษย์เป็นสำคัญยิ่งกว่าสิ่งใดในโลกนี้

“ประเภท อุคฆฏิตัญญู” ที่จะรู้ธรรมได้อย่างรวดเร็ว เมื่อพระองค์ประทานธรรมะเพียงย่อๆ เท่านั้น พระองค์ก็ทรงทราบ และรองลงมาประเภท “วิปจิตัญญู” ก็ทรงทราบ และทรงสั่งสอนธรรมะที่ควรแก่อุปนิสัยของรายนั้นๆ “เนยยะ” คือผู้ที่ต้องสั่งสอนหลายครั้งหลายหน คือผู้ที่พอแนะนำสั่งสอนได้ พอจะนำไปได้ ฉุดลากไปได้ พูดง่ายๆ “เนยยะ” ก็แปลว่า พวกที่จะถูไถไปได้นั่นเอง พระองค์ก็ทรงสั่งสอน ผู้นั้นก็พยายามปฏิบัติตนในทางความดีไม่ลดละปล่อยวาง ก็ย่อมเป็นผลสำเร็จได้

ส่วน “ปทปรมะ” นั่นหมดหวัง ถึงจะลากไปไหนก็เหมือนลากคนตาย ไม่มีความรู้สึกอะไรเลย ทั้งใส่รถหรือเหาะไปในเรือบิน ก็คือคนตายนั่นแล ไม่เกิดผลประโยชน์อะไรในทางความดี ตลอดมรรคผลนิพพาน คนประเภทนี้เป็นคนที่หมดหวังทั้งๆ ที่ยังมีชีวิตอยู่ ไม่สนใจคิดและบำเพ็ญในเรื่องบุญ บาป นรก สวรรค์ นิพพาน ไม่สนใจกับอะไรเลยขึ้นชื่อว่า “อรรถ” ว่า “ธรรม” นอกจากตั้งหน้าตั้งตาสั่งสมบาปนรกใส่หัวใจให้เต็มจนจะหายใจไม่ออก เพราะอัดแน่นด้วยเชื้อไฟนรกเท่านั้น เพราะนั่นเป็นงานของคนประเภทนั้นจะต้องทำ เนื่องจากใจอยู่เฉยๆ ไม่ได้ ต้องคิดปรุงและทำงาน

พระองค์ทรงทราบหมดในบุคคลสี่จำพวกนี้ ทรงเล็งญาณดูสัตวโลกเป็นประจำตาม “พุทธกิจ ห้า” ซึ่งเป็นกิจของพระพุทธเจ้าโดยเฉพาะ ในพุทธกิจห้าประเภทนั้น มีการเล็งญาณตรวจดูอุปนิสัยของสัตว์โลกเป็นข้อหนึ่ง ที่พระองค์ทรงถือเป็นกิจสำคัญว่า ใครที่ข้องตาข่ายคือพระญาณของพระองค์ และควรเสด็จไปโปรดก่อน ก่อนที่ภยันตรายจะมาถึงรายนั้นๆ ในไม่ช้า ทั้งนี้หมายถึงจิตนั่นเอง เพราะฉะนั้น “จิต” จึงเป็นภาชนะสำคัญอย่างยิ่งของธรรมทั้งหลาย และจิตเป็นผู้บงการ “จิตเป็นนาย กายเป็นบ่าว” จิตได้บงการอะไรแล้ว กายวาจาจะต้องหมุนไปตามเรื่องของใจผู้บงการ เพราะฉะนั้นทางโลกเขาจึงสอน “นาย” หัวหน้างานเสียก่อน สอนหัวหน้างานให้เข้าอกเข้าใจในงานแล้วก็นำไปอบรมลูกน้องให้ดำเนินตาม

ฝ่าย “ธรรม” เมื่อสั่งสอน “ใจ” ผู้เป็นหัวหน้าให้เป็นที่เข้าใจแล้ว ใจก็ยึดมารักษากายวาจาของตน ให้ดำเนินไปตามร่องรอยแห่งธรรมที่ใจได้รับการอบรมสั่งสอนมาแล้ว การปฏิบัติตัวก็เป็นไปเพื่อความราบรื่นชื่นใจ ดังนั้นใจผู้เป็นใหญ่เป็นประธานของกายวาจา จึงเป็นสิ่งสำคัญมากในตัวเรา พูดฟังง่ายก็ว่า แก่นของคนของสัตว์ที่เป็นอยู่ก็คือใจตัวรู้ๆ อยู่ในร่างกายนั้นแล เป็นตัวแรงงานและหัวหน้างานทุกประเภท ใจจึงควรรับการอบรมด้วยดี

ศาสนธรรมจึงสั่งสอนลงที่ใจ ซึ่งเป็นภาชนะอันเหมาะสมแก่ธรรมทุกขั้นทุกภูมิ นับแต่ขั้นต่ำจนถึงขั้นสูงสุด คือ “วิมุตติพระนิพพาน” ไหลลงรวมที่ใจแห่งเดียว เราทุกคนมีจิตใจ มีความรู้อยู่ทุกขณะไม่ว่าหลับตื่น ความรู้นั้นมีอยู่เป็นประจำไม่เคยอันตรธานหายไปไหนเลย เวลาหลับสนิทก็ไม่ใช่คนตาย ความหลับสนิทผิดกับคนตาย ผู้รู้ก็รู้ว่าหลับสนิท ตื่นขึ้นมาเราพูดได้ว่า “หลับ ไม่ยุ่งกับสิ่งนอกๆ ใจจึงราวกับกับไม่รู้อะไรในเวลาหลับสนิท แต่ความจริงนั้นรู้ เวลาหลับสนิทก็ว่าหลับสนิท ตื่นขึ้นมาเราพูดได้ว่า “แหม คืนนี้หลับสนิทดีเหลือเกิน” บางคนถึงกับพูดว่า “แหม เมื่อคืนนี้นอนหลับสนิทเหมือนตายเลย” มันเหมือนเฉย ๆ แต่ไม่ตาย “ผู้รู้”อันนี้เป็นอย่างนั้น ละเอียดถึงขนาดนั้นเทียว จะฝันหรือไม่ฝัน พอตื่นขึ้นมาก็พูดได้ถ้าสัญญาทำหน้าที่ให้ คือความจำนั้นน่ะทำหน้าที่ให้ เราก็จำได้และพูดได้ ถ้า “สัญญา” คือความจำไม่อาจทำหน้าที่ได้ หลงลืมไปเสียแล้ว เราก็นำเรื่องราวในฝันมาพูดไม่ได้ สิ่งที่เป็นไปแล้วนั้นก็เป็นไปแล้ว รู้ไปแล้ว จำได้แล้ว แต่มันหลงลืมไปแล้วเท่านั้น ก็เกี่ยวกับเรื่องของความรู้คือใจนั่นเอง ใจเป็นเช่นนั้นแล ละเอียดมาก

การนอนอยู่เฉยๆ ไม่มีผู้รับรู้เช่นกับคนตายแล้ว มันจะไปทำงานทำการ ประสบพบเห็นสิ่งนั้นสิ่งนี้ เป็นเรื่องเป็นราวให้ฝันไปได้อย่างไร มันเป็นเรื่องของใจทั้งนั้นที่แสดงตัวออกไปรู้เรื่องต่างๆ ให้เราจำได้ในขณะที่ฝันและตื่นขึ้นมา “วันนี้ฝันเรื่องนั้นเรื่องนี้ แต่จิตที่ลงสู่ภวังค์แห่งความหลับสนิทอย่างเต็มที่แล้วก็ไม่มีฝัน ชื่อว่า “เข้าสู่ภวังค์แห่งความหลับสนิท” คือภวังค์แห่งความหลับสนิททางจิตเป็นอย่างนี้ ถ้าคนหลับสนิทก็ชื่อว่าใจเข้าสู่ภวังค์ความหลับสนิทอย่างเต็มที่ ก็ไม่มีฝันอะไร ตื่นขึ้นมาร่างกายก็มีกำลัง จิตใจก็สดใส ไม่มีความทุกข์ความร้อนอะไร กำลังใจก็ดี ผิดกับการหลับไม่สนิท ปรากฏเป็นนิมิตในฝันโน่นนี่อย่างเห็นได้ชัด

เวลาหลับไปแล้วฝันไปต่างๆ นั่นคือจิตไม่ได้เข้าสู่ภวังค์แห่งความหลับสนิท จิตออกเที่ยว เร่ๆ ร่อนๆ ไป ปกติของใจแล้วหลับก็รู้ คำว่า “หลับก็รู้” เป็นความรู้ในหลับโดยเฉพาะ สติปัญญาไม่เข้าเกี่ยวข้องในเวลานั้น รู้อยู่โดยธรรมชาติ ไม่เหมือนเวลาตื่น แต่เวลาตื่นแล้ว สติปัญญามีโอกาสเข้าไปเกี่ยวข้องได้ทุกระยะ ถ้ามีสติคอยตามทราบความรู้อันนั้นโดยลำดับ ใจจะแย็บไปรู้สิ่งใดก็ทราบ คนมีสติดีย่อมทราบทุกขณะจิตที่เคลื่อนไหว ไปรู้เรื่องอะไรบ้าง หากไม่มีสติ มีแต่ความรู้ก็ไม่ทราบความหมายว่ามันรู้เรื่องอะไรบ้าง ความไม่มีสติเป็นเครื่องกำกับรักษาใจ จึงไม่ค่อยได้เรื่องอะไร ดังคนบ้า นั่นเขาไม่มีสติ มีแต่ความรู้คือใจ กับความมืดบอดแห่งโมหะอวิชชาหุ้มห่อโดยถ่ายเดียว คิดจะไปไหนทำอะไร ก็ทำไปตามประสีประสาของคนไม่มีสติปัญญารับผิดชอบว่าถูกหรือผิดประการใด ไม่ใช่คนที่เป็นบ้านั้นเป็นคนตาย เขาเป็นคนมีใจครองร่าง เขารู้เหมือนกัน เป็นแต่เพียงเขาไม่รู้ดีรู้ชั่ว ไม่รู้ผิดรู้ถูกอะไรเท่านั้น เป็นเพียงรู้เฉยๆ คิดอยากไปอยากมาอยากอยู่ อยากทำอะไรก็ทำไปตามความอยากประสาคนบ้า ที่ไม่มีสติปัญญารับผิดชอบตัวเอง

นี่แหละความรู้มันเป็นอย่างนั้น จิตมันเป็นอย่างนั้น ถ้าไม่มีสติรักษาแล้ว จะไม่รู้เรื่องดีเรื่องชั่ว เรื่องผิดเรื่องถูกอะไรเลย ไม่มีการใคร่ครวญเหตุผลต้นปลายลึกตื้นหยาบละเอียดอะไรได้เลย ถ้าไม่มีสติปัญญาแฝงอยู่ในนั้น เพียงความรู้โดยลำพังก็เป็นอย่างที่ว่านั้นแหละ ย่อมกลายเป็นคนบ้าคนบอไปได้อย่างง่ายดาย

พอมีสติขึ้นมาคนบ้าก็ค่อยหายบ้า เพราะมีสติรับทราบว่าผิดหรือถูกต่าง ๆ ความรู้ที่ว่านี้ไม่ใช่ความรู้ที่บริสุทธิ์ เป็นความรู้ของสามัญชนธรรมดา และยังลดลงไปจากความรู้ของสามัญชนตรงที่ไม่มีสติคอยกำกับรักษา จึงได้เป็นความรู้ประเภทบ้าๆ บอๆ คือไม่มีสติปัญญาปกครองตน ไม่มีอะไรรับผิดชอบเลย มีแต่ความรู้โดยลำพัง จึงเป็นเช่นนั้น

ถ้ามีสติสตังเป็นเครื่องกำกับรักษาอยู่แล้ว ความรู้นั้นจะเป็นอย่างนั้นไม่ได้ เพราะมีผู้คอยกระซิบและชักจูง มีผู้คอยเร่งคอยรั้งอยู่เสมอ เหมือนกับรถที่มีทั้งคันเร่งมีทั้งเบรกมีทั้งพวงมาลัย จะหมุนไปทางไหนก็ได้ด้วยสติด้วยปัญญาของคนขับ ที่ควบคุมจิตและรถอยู่ตลอดเวลา

ส่วนจิตของท่านผู้ถึงความหลุดพ้นแล้วนั้นไม่ใช่จิตประเภทนี้! ความรู้เฉยๆ ที่ว่ามีกิเลสแฝงนั้นท่านก็ไม่มี เป็นความรู้ที่บริสุทธิ์ล้วนๆ จะว่าท่านมีสติหรือไม่มีสติท่านก็ไม่เสกสรร ท่านไม่มีความสำคัญมั่นหมายตามสมมุติใดๆ หลักใหญ่ก็คือความบริสุทธิ์ล้วนๆ เท่านั้น ซึ่งไม่มีปัญหาใดๆ เข้าไปแทรกซึมเลย ท่านเป็นคนพ้นสมมุติหรือนอกสมมุติแล้ว คำว่า “ไม่มีสติหรือขาดสติ” จึงไม่เกี่ยวข้องกับจิตดวงนั้น ใช้เพียงในวงสมมุติพอถึงกาลเท่านั้น

จิตของสามัญชนต้องอาศัยสติปัญญาเป็นเครื่องรักษา จึงจะเป็นไปในทางที่ถูกที่ควรในกิริยาอาการที่แสดงออก กิริยาท่าทางนั้นๆ ถ้ามีสติปัญญาคอยควบคุมอยู่ก็น่าดูสวยงาม การพูดการกระทำก็รู้จักผิดรู้จักถูก รู้จักควรหรือไม่ควร รู้จักสูงรู้จักต่ำ การพูดจาก็มีเหตุมีผล ทำอะไรก็มีเหตุมีผล หลักใหญ่จึงขึ้นอยู่กับสติและปัญญาเป็นสำคัญในตัวคน

เรานับถือพระพุทธศาสนา เราเป็นชาวพุทธ คำว่า “พุทธะ” หมายความว่าอะไร ที่ว่า “พุทฺธํ สรณํ คจฺฉามิ” เป็นพุทธอันเลิศโลก คือพุทธะที่บริสุทธิ์ พุทธะที่ประเสริฐ เราถือท่านเป็นผู้ประเสริฐ น้อมท่านผู้ประเสริฐเข้ามาไว้เป็นหลักใจ มาเป็นเครื่องยึดเครื่องพึ่งพิงอาศัย เราจึงควรระลึกถึงความรู้ของเราอยู่เสมอว่า ขณะใดสติสตังไม่บกพร่องไปไม่มี เวลานั้นเราขาดสรณะ ขณะที่เราขาดสติประจำผู้รู้คือใจ แม้ความโกรธก็โกรธมาก เวลาฉุนเฉียวก็ฉุนเฉียวมาก เวลารักก็รักมาก เวลาชังชังมากเกลียดมาก เพราะความไม่มีสติรั้ง ถ้ามีสติรั้งไว้บ้าง ก็พอให้ทราบโทษของมันและพอยับยั้งตัวได้ไม่รุนแรง

วันหนึ่งๆ ถ้ามีศาสนาอยู่ภายในใจ จะประกอบหน้าที่การงานอะไร ก็ราบรื่นดีงามและเต็มเม็ดเต็มหน่ายไม่ค่อยผิดพลาด เมื่อเรื่องราวเกิดขึ้นภายในใจ ก็มีสติปัญญารับทราบและกลั่นกรองพินิจพิจารณา พอให้ทราบทางถูกและผิดได้ และพยายามแก้ไขดัดแปลงพอเอาตัวรอดไปได้

พูดตามความจริงแล้ว ธรรมะของพระพุทธเจ้าไม่ใช่เป็นสิ่งที่จะทำคนให้เสียหายล่มจม แต่เป็นสิ่งที่ฉุดลากคนให้ขึ้นจากหล่มลึกได้โดยไม่สงสัย เมื่อมีอุปสรรคหรือเกิดความทุกข์ความลำบากประการใด ธรรมะย่อมช่วยโดยทางสติปัญญาเป็นสำคัญ เพราะพระพุทธเจ้ามิได้ทรงสอนให้คนจนตรอกจนมุม แต่สอนให้มีความฉลาดเอาตัวรอดได้โดยลำดับของกำลังสติปัญญา ศรัทธา ความเพียร

จิตเป็นรากฐานสำคัญในชีวิต กรุณาพากันทราบอย่างถึงใจ ความรู้ที่มีประจำตัวเรานี้แล แม้จะจับต้องความรู้ไม่ได้เหมือนวัตถุต่างๆ ก็ตาม ก็คือความรู้อันนี้แลที่เป็นรากฐานแห่งชีวิต และเป็น “นักท่องเที่ยว” ในวัฏสงสาร จะเคยเป็นมานานขนาดไหนก็คือผู้นี้ จะสิ้นสุดวิมุตติตัดเรื่องความสมมุติคือเกิดตายทั้งหมดออกได้ ก็เพราะจิตดวงนี้ได้รับการอบรมและซักฟอกสิ่งที่เป็นภัย อันเป็นเหตุให้เกิดให้ตายอยู่ภายในออกได้โดยไม่เหลือ จึงหมดเหตุหมดปัจจัยสืบต่อก่อแขนงโดยสิ้นเชิง ทีนี้คำว่า “ใจ เป็นนักท่องเที่ยว”ก็ยุติลงทันที

เวลาที่มีกิเลสอยู่ภายในใจ ไม่ว่าใครต้องเตรียมพร้อมอยู่เสมอที่จะไปเกิดในภพน้อยภพใหญ่ไม่มีประมาณ เมื่อต่างทราบอยู่แก่ใจเช่นนี้ จึงควรทำความระมัดระวัง และศึกษาปฏิบัติต่อเรื่องของจิตให้เพียงพอ ในการดำเนินให้ถูกต้องตามหลักของพระพุทธศาสนาอย่างแท้จริง นอกจากนั้นยังจะนำอรรถธรรมนี้ไปใช้เป็นประโยชน์แก่สังคมอย่างกว้างขวาง ตามกำลังความสามารถของตนอีกด้วย

ศาสนธรรมเป็นเครื่องส่งเสริม เป็นเครื่องพยุงโลกให้มีความสงบร่มเย็น ไม่ใช่เป็นเครื่องกดถ่วง ดังที่คนจำนวนมากเข้าใจกันว่า “ศาสนาเป็นเครื่องกดถ่วงความเจริญของโลก” ความจริงก็คือผู้ที่ว่านั้นเองเป็นผู้กดถ่วงตัวเอง และกดถ่วงกีดขวางความเจริญของโลก ไม่ใช่ผู้ถือศาสนาและปฏิบัติศาสนา เพราะพระพุทธเจ้าไม่ใช่ผู้กดถ่วงโลก! ธรรมไม่ใช่ธรรมกดถ่วงโลก พระสงฆ์สาวกอรหันต์ไม่ได้เป็นผู้กดถ่วงโลก ท่านไม่เป็นภัยต่อโลกเหมือนคนไม่มีศาสนา ซึ่งกำลังเป็นภัยต่อโลกอยู่เวลานี้ ศาสนธรรมจะสิ้นสูญไปจากโลก ก็เพราะคนประเภทไม่มีศาสนาเป็นผู้ทำลาย

เมื่อพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ ไม่เป็นภัยต่อโลกแล้ว จะว่าเป็นสิ่งที่โลกน่ากลัวได้อย่างไร และจะกดถ่วงโลกจะทำความทุกข์ร้อนให้แก่โลกได้อย่างไร? ข้อสำคัญก็ความคิดเช่นนั้นของบุคคลผู้นั้นแลคือความเป็นภัยแท้ ผู้ที่หลงผิดคิดเช่นนั้น คนนั้นคือผู้เป็นภัยแก่ตนและส่วนรวมแท้ไม่อาจสงสัย

การเชื่อถือในคำของบุคคลที่เป็นภัยนั้น ย่อมจะมีความเสียหายแก่ผู้อื่นไม่มีประมาณ เพราะระบาดไปเรื่อยๆ นั้นแลคือภัยแท้ที่เห็นได้อย่างชัดเจน

ส่วนศาสนธรรมมิได้เป็นภัย ถ้าธรรมเป็นภัยแล้ว พระพุทธเจ้าวิเศษได้อย่างไร ถ้าธรรมเป็นภัยพระพุทธเจ้าก็ต้องเป็นภัยต่อพระองค์และต่อโลก แม้พระสงฆ์ก็ต้องเป็นภัยอย่างแยกไม่ออก เพราะสามรัตนะนี้เกี่ยวโยงกันอย่างสนิท แต่นี่ไม่ปรากฏ ปรากฏแต่ว่าพระพุทธเจ้า พระสาวก เสด็จไปที่ใด ประทานธรรม ณ ที่ใด สัตว์โลกมีความร่มเย็นเป็นสุขโดยทั่วกัน ไม่มีใครเบื่อหน่ายเกลียดชังท่าน หากจะมีก็คือผู้เป็นข้าศึกแก่พระศาสนาและแก่ประชาชนเท่านั้น

ส่วนมากที่ประจักษ์ในเรื่องความเป็นภัยนั้นเห็นๆ กัน แต่คนไม่มีธรรมในใจนั้นแล เป็นภัยทั้งแก่ตนและแก่ส่วนรวม เพราะสติปัญญาเครื่องระลึกรู้บุญบาปไม่มี คุณค่าของใจไม่มี ถูกความเสกสรรทางวัตถุทับถมจนมองไม่เห็น การแสดงออกจึงรักก็เป็นภัย เกลียดก็เป็นภัย โกรธก็เป็นภัย ชังก็เป็นภัย อะไรๆ เป็นภัยหมดเพราะจิตเป็นตัวภัยด้วย.“ราคคฺคินา โทสคฺคินา โมหคฺคินา” ผู้นี้แลคือผู้เป็นภัย เพราะกิเลสตัวทับถมเหล่านี้พาให้เป็นภัย

ศาสนธรรมซึ่งเป็นเครื่องแก้สิ่งที่เป็นภัยทั้งหลายโดยตรงอยู่แล้ว เมื่อเป็นเช่นนั้นจะเป็นภัยได้อย่างไร หากเป็นภัยแล้วจะแก้สิ่งไม่ดีเหล่านั้นได้อย่างไร

พระพุทธเจ้าทรงแก้สิ่งเหล่านี้ได้แล้วโดยสิ้นเชิง ไม่มีเหลืออยู่เลยในพระทัยขึ้นชื่อว่าภัยดังที่กล่าวมา จนเป็นผู้บริสุทธิ์วิมุตติพุทโธทั้งดวง จึงเรียกว่าเป็น “ผู้เลิศ” “ผู้ประเสริฐ”

พระธรรมของพระองค์ก็เหมือนกัน “ธมฺโม ปทีโป” เป็นธรรม “กระจ่างแจ้งภายในจิต”

สังโฆเป็นผู้ทรงไว้ซึ่งความสว่างกระจ่างแจ้งแห่งธรรมทั้งดวง ด้วยความบริสุทธิ์วิมุตติหลุดพ้น นำศาสนธรรมที่ปราศจากภัยมาสอนโลก

ทำไมศาสนธรรมจะเป็นเครื่องกดถ่วงโลกและเป็นภัยต่อโลก นอกจากผู้สำคัญว่าศาสนาเป็นภัยนั้นแลเป็นตัวภัยแก่ตัวและสังคม เพราะความสำคัญเช่นนี้เป็นความสำคัญผิด!

อะไรที่พาให้ผิด? ก็คือหัวใจที่เป็นบ่อเกิดแห่งความคิดนั้นแล เป็นต้นเหตุแห่งความผิดหรือเป็นผู้ผิด การแสดงออกมานั้นจึงเป็นความผิด หากไม่เป็นความผิดเราลองนำความคิดเช่นนี้ไปใช้ในโลกดูซิ โลกไหนจะไม่ร้อนเป็นฟืนเป็นไฟไม่มี แม้ตัวเองก็ยังร้อน

หากนำศาสนาไปสอนโลกตามหลักที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนและได้ทรงบำเพ็ญมาแล้วจนได้ตรัสรู้ โลกจะเป็นภัย โลกจะเดือดร้อนได้อย่างไร? โลกวุ่นวายมันถึงเกิดความทุกข์ความร้อน พระพุทธเจ้าไม่ได้ทรงสอนให้วุ่นวาย แต่สอนให้มีความสงบร่มเย็น ให้เห็นอกเห็นใจกัน ให้รู้จักรักกัน สามัคคีกลมกลืนเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันเสมอ ให้รู้จักเหตุจักผล รู้จักเขารู้จักเรา เพราะโลกอยู่ด้วยกัน ไม่ใช่อยู่คนหนึ่งคนเดียว อยู่ด้วยกันเป็นหมู่เป็นคณะ ตั้งเป็นบ้านเป็นครอบครัว เป็นตำบลหมู่บ้าน เป็นอำเภอเป็นจังหวัด เป็นมณฑลหรือเป็นภาค เป็นเขตเป็นประเทศ ทั้งประเทศนั้นประเทศนี้ ล้วนแต่หมู่ชนที่รวมกันอยู่ทั้งนั้น ซึ่งควรจะเห็นคุณค่าของกันและกัน และของการอยู่ร่วมกันด้วยธรรม มีเมตตากรุณาธรรม เป็นมาตรฐานของการอยู่ร่วมกันของคนหมู่มาก

คนที่อยู่ด้วยกันไม่เห็นอกเห็นใจกัน มีแต่ความเบียดเบียนทำลายกัน มีแต่ความคับแคบเห็นแก่ตัวจัด ย่อมเป็นการทำลายคนอื่น เพราะความเห็นแก่ตัว แม้ไม่ทำลายอย่างเปิดเผยก็คือการทำลายอยู่นั่นแล จึงทำให้เกิดความกระทบกระเทือนกันอยู่เสมอในสังคมมนุษย์ ขึ้นชื่อว่า “คนคับแคบ เห็นแก่ตัวจัด” จะไม่ทำให้คนอื่นเดือดร้อนฉิบหายนั้นไม่มี! ไม่ว่าที่ใดถ้ามีคนประเภทนี้แฝงอยู่ด้วย สังคมย่อมเดือดร้อนทุกสถานที่ไป เพราะคนประเภทนี้เคยเป็นภัยแก่สังคมมามาก และนานจนประมาณไม่ได้ สังคมจึงรังเกียจกันเรื่อยมาจนปัจจุบันนี้

ที่ธรรมท่านสอนไม่ให้เบียดเบียนกัน ก็เพราะหัวใจมนุษย์มีคุณค่าด้วยกัน ตลอดสมบัติแต่ละสิ่งละอย่างซึ่งอยู่ในครอบครอง ด้วยเป็นของมีคุณค่าทางจิตใจอยู่มาก จึงไม่ควรทำจิตใจกันให้กำเริบ เพราะใจของใครๆ ก็ต้องการอิสรภาพเช่นเดียวกัน ไม่ประสงค์ความถูกกดขี่บังคับด้วยอาการใดๆ ซึ่งล้วนเป็นการทำลายจิตใจกันให้กำเริบ อันเป็นสาเหตุให้ก่อกรรมก่อเวรไม่มีที่สิ้นสุดยุติลงได้ เพียงสัตว์เขายังกลัวตาย เขายังกลัวความเบียดเบียนการทำลาย

มนุษย์อยู่ด้วยกันไม่กลัวการเบียดเบียน ไม่กลัวการทำลาย ไม่กลัวการเอารัดเอาเปรียบกัน ไม่กลัวการดูถูกเหยียดหยามกัน จะมีได้หรือ! สิ่งเหล่านี้ใครก็ไม่ปรารถนากันทั้งโลก

การที่ทำให้เกิดความกระทบกระเทือนซึ่งกันและกัน จนโลกหาความสงบไม่ได้ เป็นฟืนเป็นไฟอยู่ตลอดเวลามาจนกระทั่งปัจจุบันนี้ และจะเป็นไปโดยลำดับไม่มีที่สิ้นสุด เพราะอะไรเป็นเหตุ ถ้าไม่ใช่เพราะความเห็นแก่ตัว อันเป็นเรื่องของกิเลสตัวสกปรกตัวหยาบๆ นี้จะเป็นเพราะอะไร

ความผิดถูกดีชั่วต่างๆ พระพุทธเจ้าท่านทรงสอนไว้หมด ท่านมีพระเมตตากรุณาสุดส่วนแก่มวลสัตว์ทุกประเภทแม้ปรมาณู ก็ไม่ให้เบียดเบียนทำลายกัน เพราะมีกรรม มีวิบากแห่งกรรม อย่างเต็มตัวด้วยกัน อยู่ด้วยกรรมไปด้วยกรรม สุขทุกข์ด้วยกรรมเหมือนกัน ควรนับถือกันเป็นความเสมอภาค ดังในธรรมว่า

“สัตว์ทั้งหลายที่เป็นเพื่อนทุกข์เกิดแก่เจ็บตายด้วยกัน ไม่ให้เบียดเบียนทำลายกัน” เป็นต้น

เมื่อต่างคนต่างเห็นความสำคัญของชีวิตจิตใจ และสมบัติของกันและกันเช่นนี้ ย่อมไม่เบียดเบียนกัน เพราะทำกันไม่ลง เมื่อต่างคนต่างมีความรู้สึกอย่างนี้แล้ว โลกก็เย็น อยู่ด้วยกันอย่างผาสุก มีการยอมรับผิดรับถูก มีหลักธรรมเป็นกฎเกณฑ์ ต่างคนต่างระมัดระวัง ไม่หาเรื่องหลบหลีกปลีกกฎหมายและศีลธรรมกัน เป็นหลักปกครองให้เกิดความร่มเย็นผาสุก

เช่นไม่ยอมรับความจริงดังที่เป็นอยู่เวลานี้ และที่เคยเป็นเรื่อยมาจนกระทั่งปัจจุบัน ไม่มีใครกล้าเป็นกล้าตายตัดหัวธรรม ด้วยการยอมรับความจริง แม้ไปฉกไปลักเขามาหยกๆ เวลาถูกจับตัวได้ก็แก้ตัวว่า “เขาหาว่า” คนเราถ้ารับความจริงแล้วจะว่า “เขาหาว่า....” ไปทำไม! ขายตัวเปล่าๆ ! แม้คนติดคุกติดตะรางลองไปถามดูซิว่า “นี่เป็นอะไรถึงต้องมาติดคุกติดตะรางล่ะ?” ต้องได้รับคำตอบว่า “เขาหาว่าผมลักควาย” เป็นต้น เมื่อถามกลับว่า “เราไม่ได้ลักควายของเขาจริงๆ หรือ?” “ลักจริงๆ” แน่ะ! ลักจริงๆ ทำไมบอก “เขาหาว่า....” ทั้งนี้เพราะไม่ยอมรับความจริง เนื่องจากความเห็นแก่ตัว กลัวเสียเกียรติ ขายขี้หน้า ว่าเป็นคนเลวทรามหยามเหยียด อายเพื่อนมนุษย์นั่นแล แต่การพูดโกหกไม่ยอมรับความจริงซึ่งเป็นความผิดสองซ้ำนั้น ไม่พึงเฉลียวใจและอายบ้าง ความเป็นมนุษย์ผู้ดีจะได้มีทางกระเตื้องขึ้นมาบ้าง

เหล่านี้เป็นเรื่องของกิเลสความเห็นแก่ตัว เห็นแก่ได้ จึงทำให้หมดยางอายโดยสิ้นเชิง สิ่งเหล่านี้เป็นของสกปรกเลวทรามในวงผู้ดีมีศีลธรรมในใจ สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งกดถ่วง เป็นสิ่งทำลายจิตใจและทำลายสมบัติของเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน สิ่งสกปรกรกรุงรังเหล่านี้ ผู้มีจิตใจใฝ่ต่ำชอบมันอย่างยิ่ง ทั้งที่มันให้โทษมากไม่มีประมาณ มีมากมีน้อยก็ทำความกระทบกระเทือน และทำความฉิบหายแก่ผู้อื่นไม่สงสัย

จึงขอตั้งปัญหาถามตัวเองเพื่อเป็นข้อคิดว่า “เหล่านี้หรือที่ว่าโลกเจริญ?”เจริญด้วยสิ่งเหล่านี้หรือ? อันนี้หรือที่เรียกว่า “เชิดชูกันและกัน และเชิดชูโลกให้เจริญ?”

คำตอบ “จะเชิดชูโลกอย่างไร เวลานี้โลกกำลังร้อนเป็นฟืนเป็นไฟ ยังไม่ทราบว่ามันกดถ่วงอยู่หรือ? นั่น! ส่วนศาสนามีบทใดบาทใดที่สอนให้โลกเบียดเบียนกัน ให้เกิดความเดือดร้อนวุ่นวายแก่กัน เพียงสังเกตตามความรู้สึกธรรมดาก็ไม่ปรากฏเลย”

ทีนี้ทำ “โอปนยิโก” น้อมข้างนอกเข้ามาข้างในเพื่อให้เกิดประโยชน์ ไม่เสียหายไปเปล่า” การแสดงธรรมมีทั้งข้างนอกข้างใน ข้อสำคัญก็ให้น้อมเข้ามาเป็นสาระสำหรับเรา

การแสดงนั้นก็เพื่อแยกข้างนอกให้ดูเสียก่อน แล้วย้อนเข้ามาข้างใน เวลานี้ข้างในของเราเป็นอย่างไรบ้าง? “สวัสดีมีชัยอยู่หรือเป็นประการใดบ้าง?” “เวลานี้กิเลสประเภทต่างๆ ที่เป็นเจ้าอำนาจกดถ่วงจิตใจเรามีบ้างไหม? โลกแห่งขันธ์ และระหว่างขันธ์กับจิต สวัสดีมีชัยอยู่หรือ? ไม่กดถ่วงใจของผู้เป็นเจ้าของขันธ์หรือ?

จงดูให้ดีด้วยสติ พิจารณาด้วยปัญญาอย่างรอบคอบ ขณะใดที่สติปัญญาประลาตไปจากใจ ขณะนั้นแลเราได้รับความทุกข์ความเดือดร้อน เพราะถูกกดถ่วงย่ำยีโดยอาการต่างๆ ของกิเลสทั้งหลาย ขณะใดมีสติปัญญารักษาใจไม่เผลอตัว แม้สติปัญญาจะยังไม่เพียงพอกับความต้านทาน หรือปราบปรามสิ่งเหล่านั้นให้หมดไป เราก็ยังพอยับยั้งได้ ไม่ทุกข์ถึงขนาด หรือไม่ทุกข์เสียจนเต็มเปา ยังพอลดหย่อนผ่อนเบากันบ้าง ยิ่งมีสติปัญญาพอตัวแล้ว ไม่มีกิเลสตัวใดที่จะมาเป็นข้าศึกต่อใจได้เลย! พอขยับตัวออกมาก็ถูกปราบเรียบในขณะนั้น

นี้แลผู้มีธรรมครองใจเป็นอย่างนี้ ใจเป็นอิสระเพราะธรรมครองใจ ใจมีความสงบสุขได้เพราะการรักษาใจด้วยธรรม ตลอดถึงความหลุดพ้นจากความกดถ่วงทั้งหลายโดยประการทั้งปวง ก็เพราะการปฏิบัติธรรม เพราะรู้ธรรม เพราะเห็นธรรมประจักษ์ใจไม่สงสัย ลูบๆ คลำๆ ดังที่เคยเป็นมาในขั้นเริ่มแรก

ธรรมอยู่ในสถานที่ใด ต้องเย็นในสถานที่นั้น ธรรมอยู่ที่ใจ ใจย่อมชุ่มเย็นผาสุกทุกอิริยาบถไม่มีสิ่งรบกวน เมื่อจิตก้าวเข้าถึงขั้นธรรมเป็นใจ ใจเป็นธรรม ยิ่งเย็น ไม่มีกาลสถานที่เข้ามาเกี่ยวข้องเลย เย็นเต็มที่เต็มฐาน ก็คือใจเป็นธรรม ธรรมเป็นใจ นั่นแล

เราคิดดูซิ ธรรมบทใดแง่ใดที่ทำความกดถ่วง ทำโลกให้มีความทุกข์ความเดือดร้อน ไม่ปรากฏแม้แต่นิดหนึ่ง! การทำให้เราและโลกเดือดร้อนวุ่นวายระส่ำระสายจนแทบไม่มีที่ปลงวาง ก็เพราะมันมีแต่เรื่องของกิเลสทั้งนั้นเป็นเจ้าการ!

ผู้ปฏิบัติทั้งหลายที่มีสติปัญญาประคองตัว กิเลสแสดงออกมามากน้อยย่อมทราบทันที และเริ่มแก้ไขถอดถอนไม่นอนใจ จนไม่มีอะไรแสดงแล้วก็อยู่เป็นสุข ดังปราชญ์ว่า “ฆ่ากิเลสได้แล้วอยู่เป็นสุข” ถ้าพลิกกลับก็ว่า “ฆ่ากิเลสไม่ได้ย่อมเป็นทุกข์ ทั้งอยู่ทั้งไป ทั้งเป็นทั้งตาย!” ฉะนั้นพวกเราต้องสร้างสติปัญญาให้ดี เพื่อต่อสู้กิเลสที่มีอยู่ภายในตัว จงระวังอย่าให้มันกล่อมเสียหลับทั้งคืนทั้งวัน ทั้งยืนเดินนั่งนอน ให้มีเวลาตื่นบ้าง ให้มีเวลาต่อสู้กับเขาบ้าง ถ้ามีการต่อสู้กัน คำว่า “แพ้ ชนะ” ก็จะปรากฏขึ้นมา ไม่หมอบราบเสียทีเดียว เพราะไม่มีการต่อสู้ มีแต่หมอบราบ และเชื่อมันไปหมด กิเลสว่ายังไงเชื่อไปหมด หากมีการต่อสู้บ้าง ก็มีแพ้มีชนะสับปนกันไป ต่อไปก็ชนะเรื่อยๆ ชนะไปเรื่อยๆ และชนะไปเลย ใจเป็นอิสระเต็มภูมิ!

นี่อำนาจแห่งศาสนธรรมที่ผู้นำมาปฏิบัติเป็นอย่างนี้! เป็นที่เชื่อใจ เป็นที่แน่ใจได้ ไม่มีอะไรที่จะแน่ใจได้ยิ่งกว่าศาสนธรรม ถ้าเราปฏิบัติเต็มกำลังความสามารถเราก็เชื่อใจเราได้ เมื่อบรรลุถึงขั้น “จิตบริสุทธิ์” แล้วก็แน่นอนตลอดเวลาไม่สงสัย ไม่อยากไม่หิวโหยกับอะไรทั้งนั้น ไม่อยากรู้ไม่อยากเห็น ไม่อยากศึกษากับใครๆ ว่าน่าจะเป็นอย่างนั้น น่าจะเป็นอย่างนี้ อยากรู้นั้นอยากรู้นี้ เพื่อนั้นเพื่อนี้อีกต่อไป!

รู้ทุกสิ่งทุกอย่างอยู่ภายในใจ เมื่อเต็มภูมิความรู้ความเห็นแล้ว ก็ไม่อยากไม่หิวโหย ไม่มีอะไรรบกวนใจก็แสนสบาย ขอให้พากันนำธรรมนี้ไปปฏิบัติรักษาตน อยู่สถานที่ใดไปสถานที่ใดจงทราบเสมอว่า ความผิดถูกชั่วดีนั้นอยู่กับเรา การละวางในสิ่งที่ควรละวาง และการส่งเสริมสิ่งที่ควรส่งเสริม ก็อยู่ที่ตัวของเรา ไปไหนให้มีวัด อย่าให้ปราศจากวัด อย่างท่านอาจารย์ฝั้นท่านเคยว่า “วัดที่นั่น วัดที่นี่ วัดอยู่ภายในใจ”

ท่านพูดถูก ให้มีวัดอยู่ภายในจิตใจเสมอ คือ “วัตรปฏิบัติ” มีสติ ปัญญา ศรัทธา ความเพียร ใคร่ควรดูเหตุดูผลอยู่เสมอ เวลานั่งรถไปก็ภาวนาไปเรื่อยๆ ใครจะว่าบ้าว่าบอก็ตาม ข้อสำคัญผู้รับผิดชอบเรานี้คือเราเอง อย่าเป็นบ้าไปกับเขาก็แล้วกัน ถ้าเราไม่เป็นบ้าเสียอย่างเดียว คนเป็นร้อยๆ คนจะมาติเตียนหรือกล่าวตู่ว่าเราเป็นบ้าเป็นบอ คนร้อยๆ คนนั้นน่ะมันเป็นบ้ากันทั้งนั้นแหละ! เราไม่เป็นบ้าเสียคนเดียวเราก็สบาย

นี่แหละเป็นคติหรืออุดมการณ์อันสำคัญ ฟังแล้วจงพากันนำไปประพฤติปฏิบัติ เวลาถูกใครว่าอะไรก็ให้คำนึงถึงพระพุทธเจ้า อย่าไปโกรธไปเกรี้ยวให้เขา ความโกรธให้เขาก็คือไฟเผาตัว ความไม่พอใจให้เขาก็คือไฟเผาตัวไม่ใช่เผาที่ไหน มันเผาที่นี่ก่อนมันถึงไปเผาที่อื่น ให้ระมัดระวังไฟกองนี้อย่าให้เกิด!

เราจะไป “สุคโต” นั่งรถนั่งราไปก็สุคโตเรื่อยไป นั่งในบ้านก็สุคโต อยู่ก็สบาย อยู่ที่ไหนก็สบาย เวลาตายก็เป็นสุข ไม่วุ่นหน้าวุ่นหลังดิ้นพล่านอยู่ราวกับลิงถูกลูกศร ซึ่งดูไม่ได้เลยในวงปฏิบัติ


** ท่านผู้เข้าชมทุกท่านโปรดทราบ
เนื่องจากกัณฑ์เทศน์บางกัณฑ์มีความยาวค่อนข้างมาก ซึ่งจะส่งผลต่อความเร็วในการเปิดเว็บไซต์ ขอแนะนำให้ทุกท่านได้อ่านเนื้อหากัณฑ์เทศน์บางส่วนจากเว็บไซต์ และให้ทำการดาวน์โหลดไฟล์กัณฑ์เทศน์ที่มีนามสกุล .pdf ไปเก็บไว้ในเครื่องของท่านแทนการอ่านเนื้อหาทั้งหมดจากเว็บไซต์
เวลาทำสมาธิ

ให้ระลึกลมหายใจเข้าออก

ให้รู้ลมหายใจเข้าออก

หายใจเข้าสั้นก็รู้

หายใจออกสั้นก็รู้

หายใจเข้ายาวก็รู้

หายใจออกยาวก็รู้

ไม่ต้องบังคับลมหายใจ

ตามรู้ลมหายใจเข้าออก

สงบก็รู้ ไม่สงบก็รู้

สงบก็ไม่ยินดี ไม่สงบก็ไม่ยินร้าย

ไม่เอาทั้งสงบและไม่สงบ

เอาแค่รู้ตามความเป็นจริงของสภาวธรรมปัจจุบันนั้น

ทำอะไรก็ให้รู้เหตุปัจจัย

รู้ไม่ใช่เพื่อ ยินดี ยินร้าย รู้เพื่อให้ รู้เหตุปัจจัย

เหตุแห่งความเจริญ

เคารพ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์

เคารพ สิกขา 3 ศีล สมาธิ ปัญญา

เคารพในความไม่ประมาท

เคารพในการปฎิสันฐาน

เคารพใน ศีล

เคารพใน สมาธิ

เคารพในกันและกัน

หลักตัดสิน ธรรมวินัย 8 ประการ

ธรรมเหล่านี้เป็นไปเพื่อคลายกำหนัด

เป็นไปเพื่อไม่ประกอบสัตว์ไว้

เป็นไปเพื่อไม่สั่งสมกิเลส

เป็นไปเพื่อความเป็นผู้มักน้อย

เป็นไปเพื่อสันโดษ

เป็นไปเพื่อความสงัดจากหมู่คณะ

เป็นไปเพื่อปรารภความเพียร

เป็นไปเพื่อความเป็นคนเลี้ยงง่าย

ธรรมที่ควรเจริญ

สติ

สัมปัชชัญญะ

ศีล

สมาธิ

ปัญญา

วิมุตติ

วิมุตติญาณทัสสนะ

สัมมาทิฏฐิ เห็นชอบ

สัมมาสังกัปปะ ดำริชอบ

สัมมาวาจา พูดชอบ

สัมมาอาชีโว อาชีพชอบ

สัมมากัมมันโต การงานชอบ

สัมมาวายาโม ความเพียรชอบ

สัมมาสติ ระลึกชอบ

สัมมาสมาธิ ตั้งมั่นชอบ

สัมมาญาณะ ความรู้ชอบ

สัมมาวิมุตติ หลุดพ้นชอบ

สัมมาวิมุตติญาณทัสสนะ ความเห็นในการหลุดพ้นชอบ

สัมมาทิฏฐิ

คือ รู้ชัดซึ่ง เหตุแห่ง กุศล วิชชา เป็น เหตุ

รู้ชัดซึ่ง เหตุแห่ง อกุศล อวิชชา เป็น เหตุ

การบรรลุธรรมอาศัย สติ ปัญญา อุเบกขา เป็นมัทยัทธ์

รักษาสัจจะ เพิ่มพูลจาคะ ไม่ประมาทปัญญา ศึกษาสันติ

การปฎิบัติธรรม

คบสัตบุรุษ ฟังพระสัทธรรม อยู่ในประเทศเหมาะสม ตั้งสัจจะ เดินสัมมาทิฏฐิ เจริญความสงบ

ออกพิจารณาด้านปัญญา + พลังกุศล - บ่มอินทรีย์ นิพพิทา วิราคะ วิมุตติ วิมุตติญาณทัสสนะ

สติ - ศีล - สมาธิ - ปัญญา - วิมุตติ - วิมุตติญาณทัสสนะ

อัปปมาโณพุทโธ อานุภาพพระพุทธเจ้าไม่มีประมาณ

อัปปมาโณธัมโม อานุภาพพระธรรมไม่มีประมาณ

อัปปมาโณสังโฆ อานุภาพพระสงฆ์ไม่มีประมาณ

เรื่องของสมมติ อวิชชา ตัวตน ยึดตรงไหน หลงที่ไหน ผิดที่นั้น จุดต่อมแห่งภพชาติ

wiweksikkaram.hi5
 
จำนวนผู้ตอบ: 114
สมัครสมาชิก: Mon Mar 15, 2010 12:20 am
ที่อยู่: สุทธาวาสภูมิ

กลับไปหน้า ธรรมเพื่อชีวิต

ผู้ที่กำลัง online

ผู้ที่กำลังอ่าน forum นี้: สมาชิก ไม่มีสมาชิก และ ผู้เยี่ยมชม 2 คน

cron