ธรรมชุดเตรียมพร้อม 14

เพื่อสนทนาธรรม และแลกเปลี่ยนความคิดเห็น เพื่อความเป็นกัลยาณมิตร กัลยาณธรรมที่ดีต่อกัน

ธรรมชุดเตรียมพร้อม 14

Postโดย wiweksikkaram.hi5 » Tue Apr 20, 2010 11:05 pm

เทศน์โปรดคุณเพาพงา วรรธนะกุล ณ วัดป่าบ้านตาด

เมื่อวันที่ ๘ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๑๘

กิเลสฝังในจิต


ศาสนาในขั้นเริ่มแรกที่พระพุทธเจ้าทรงประกาศเอง มีสาวกช่วยพุทธภาระให้เบาบางลง ในครั้งนั้นศาสนาไม่ค่อยกว้างขวาง มีแต่เนื้อๆ ครั้นต่อมานานเข้าๆ เนื้อก็ไม่ค่อยปรากฏ มักมีน้ำๆ แล้วเลยกลายเป็นมีแต่เปลือก มีแต่กระพี้ไป คือมีแต่พิธีรีตอง ไปไหนมีแต่พิธี ศาสนาจริงๆ มองไม่ค่อยเห็น มีแต่พิธีเต็มไปหมดในงานต่างๆ เกี่ยวกับศาสนา เมื่อเป็นเช่นนั้นผู้ที่จะยึดเอาเป็นหลักเป็นเกณฑ์กับศาสนาจริงๆ ก็เลยยึดไม่ได้ ไม่ทราบว่าอะไรเป็นศาสนา คือแก่นแท้ อะไรเป็นกระพี้ เป็นเปลือก คือพิธีรีตองต่างๆ เพราะการแสดงออกแห่งพิธีนั้นๆ มีมากต่อมาก ผู้ยังไม่เข้าใจก็เข้าใจว่าเป็นเรื่องศาสนาทั้งนั้น พิธีรีตองเลยทำให้ผู้ตั้งใจต่อศาสนาจริงๆ ยุ่งและสับสนไปหมด ไม่อาจจะยึดศาสนาอันแท้จริงได้

นี่เป็นปัญหาหนึ่งในเวลานี้ซึ่งมีมากมาย และถือเป็นหลักเป็นเกณฑ์เสียด้วยไม่ใช่ธรรมดา พิธีต่างๆ ซึ่งแฝงศาสนากลายเป็นหลักเกณฑ์ขึ้นมา ส่วนที่เป็นหลักเกณฑ์จริงๆ จึงคล้ายกับค่อยเสื่อมค่อยหายไปเป็นลำดับ ถ้าไม่มีการปฏิบัติเข้าไปเกี่ยวข้อง ถ้าพูดตามแบบโลกๆ ก็ว่า การปฏิบัติธรรมกับพิธีรีตองกำลังเป็นคู่แข่งกัน โดยไม่มีเจตนาหรือมีก็ไม่อาจทราบได้ เพราะเวลานี้กำลังอยู่ในความสับสนปนเปกันระหว่างพิธีรีตองต่างๆ กับการปฏิบัติ อาจไม่ทราบว่าอะไรจริงอะไรไม่จริง อะไรแท้อะไรปลอม อะไรเป็นเปลือกอะไรเป็นกระพี้ อะไรเป็นแก่น หากไม่มีการปฏิบัติเกี่ยวข้องไปด้วยแล้ว อย่างไรๆ เปลือก กระพี้จะต้องถูกเสกสรรขึ้นมาเป็นแก่นเป็นหลัก เป็นความจริงของศาสนาโดยไม่สงสัย ทั้งๆที่ไม่ใช่ความจริงเลย นี่เป็นเรื่องที่น่าวิตกอยู่มาก

ศาสนาแท้ๆ ท่านไม่มีอะไรมากมายก่ายกอง นอกจากสิ่งที่จำเป็น ทำลงไปแล้วเกิดประโยชน์เท่านั้น สมัยต่อมาชอบยุ่งไม่เข้าเรื่อง เช่น รับศีล ก็ต้องยุ่งไปหมด มาไม่ทันรับศีลก็เสียใจ นั่น! ฟังดูซิ อะไรๆ ก็รับศีล รับศีลอยู่ตลอดเวลา ดัง

“มยํ ภนฺต ติสรเณน สห ปญฺจ สีลานิ ยาจาม” ขอวันยังค่ำ แต่การรักษาศีลไม่ทราบว่ารักษาอย่างไร เห็นแต่การขอรับศีล สมาทานศีลอยู่ทำนองนั้น ไม่ว่าที่ไหน ๆ ยุ่งไปหมด

การรับศีลก็มีเจตนาอยู่ภายในใจเป็นผู้ชี้ขาด หรือการรับรองในศีลของตนด้วยเจตนาวิรัติ เรื่องก็มีเท่านั้นเป็นสำคัญ

ถ้าเป็นฆราวาสทั่วๆ ไปและศีลทั่วๆ ไป เช่น ศีลห้า ศีลแปด ก็ควรรับไว้เพื่อรักษาศีลจริงๆ จะมีประโยชน์

ส่วนศีลที่เป็นศีลของพระของเณรนั้น เพื่อประกาศเพศของตนให้โลกทราบ จึงทำอย่างมีกฎเกณฑ์ไปตามหลักธรรมหลักพระวินัย เช่น ศีลเณร ศีลพระ แต่สุดท้ายก็เจตนาอันเดียวกัน ไม่ได้มากมายอะไรนัก ทำพิธีก็ เอ้า!

ถวายทาน ก็ฟาดกันจนหมดคัมภีร์ ผู้นั่งฟังจนหาวนอน จะนอนหลับคานั่ง คำถวายทานนี้ก็ไม่ทราบว่าถวายอะไรต่ออะไร เป็นคัมภีร์ๆ ไล่มาหมดโลกธาตุ ดีไม่ดีอยากจะอวดภูมิของตัวเองด้วยว่าได้เรียนมามากและรู้มาก ให้คนอื่นเขาอัศจรรย์เสียมั่ง ภูมิน้ำลาย นั่น! อย่างนี้เป็นต้น

เมื่อได้ผ่านการปฏิบัติมาพอสมควร ได้เห็นว่าอะไรทำให้เสียเวล่ำเวลา อะไรจริงอะไรปลอม หรืออะไรมันยืดเยื้อ กว่าจะเข้าถึงตัวจริงละโอ้โห เป็นชั่วโมงๆ อย่างนี้ไม่ทราบว่าทำเพื่ออะไร เพราะฉะนั้นในวงกรรมฐานท่านจึงไม่ค่อยมีพิธีรีตองอะไรนัก อยากจะพูดว่า “ไม่มี” แต่พูดว่า “ไม่ค่อยมี” นั้นเป็นความเหมาะสม เพราะบางทีก็ต้องอนุโลมผ่อนผันทั้งๆ ที่ก็ทราบอยู่แล้ว เพื่อจิตใจคนผู้ยังใหม่ต่อศาสนา แม้เช่นนั้นก็ควรนำของจริงมาโชว์กัน อวดพิธีกันให้โก้หรูไป แต่เอาของปลอมมาโชว์! เมื่อพอผ่อนผันสั้นยาวก็ผ่อนไปบ้างทั้งที่ขวางใจขวางธรรม ในวาระต่อไปค่อยบอกกันให้รู้เรื่องรู้ราวในความจริง และหลักเกณฑ์ของพระพุทธศาสนา

จะเห็นได้ในขณะที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนสาวกตั้งแต่เริ่มเข้าบวช พระองค์เริ่มมีความจริงจังขึ้นในขณะบวชทีเดียว ครั้งแรกพระองค์ทรงบวชเองด้วยพระวาจาว่า “เอหิภิกขุอุปสัมปทา”.ท่านจงเป็นภิกษุเถิด นี่เป็นวาระแรก ต่อมาก็ “ติสรณูอุปสัมปทา” ถึงสรณะสาม คือพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ แล้วก็สำเร็จเป็นพระขึ้นมา ถึงวาระที่สามนี้ก็ยกให้สงฆ์เป็นใหญ่ ให้สำเร็จในสงฆ์ ตอนนี้ท่านประกาศ “รุกฺขมูลเสนาสนํ” ให้เป็นที่อยู่อาศัยของพระเพื่อประพฤติพรหมจรรย์ เพื่อความสิ้นทุกข์โดยชอบ ทั้งๆ ที่แต่ก่อนก็สอนให้อยู่รุกขมูลร่มไม้อยู่แล้ว แต่ไม่ได้ยกขึ้นเป็นกฎเป็นเกณฑ์ในการบวช พอต่อมาวาระที่สามนี้ขึ้นเป็นกฎเกณฑ์เลย

“รุกฺขมูลเสนาสนํ”อุปัชฌาย์จะไม่สอนอย่างนี้ไม่ได้ ผิด ต้องสอนให้ถูกต้องตามนี้ อุปัชฌาย์ใดก็ตาม แม้เจ้าของจะไม่ชอบ “รุกฺขมูลเสนาสนํ” ขนาดไหน การบวชกุลบุตรตอนสุดท้ายภายหลัง ก็ต้องบวชต้องสอนอย่างนี้ มี “รุกฺขมูลเสนาสนํ” ขึ้นหน้าอนุศาสน์ ไม่เลือกว่าใครหรือนิกายไหน เพราะคำว่า “นิกาย” ก็เป็นเพียงชื่ออันหนึ่งเท่านั้น หลักใหญ่คือการบวชนั่นเอง

ท่านเอาจริงเอาจัง สอนแล้วไล่เข้าป่าเข้าเขาไปเลยเพื่อประพฤติปฏิบัติ จนได้บรรลุธรรมแล้วแม้ท่านจะออกประกาศธรรมสอนประชาชน ก็ให้เป็นไปตามอัธยาศัยของท่านผู้มีอำนาจวาสนามากน้อย มีความรู้ความฉลาดลึกตื้นหยาบละเอียดมากน้อยเพียงไร ก็สั่งสอนประชาชนไปตามภูมินิสัยวาสนาของตน

องค์ใดที่ท่านไม่มีนิสัยเกี่ยวข้อง วาสนาท่านไม่มีในทางนั้น ท่านก็ไม่เกี่ยว เช่น พระอัญญาโกณฑัญญะ ไปอยู่ที่สระ “ฉัททันต์” มีช้าง “ฉัททันต์” เป็นหัวหน้าโขลงอุปถัมภ์อุปัฏฐากท่าน ตั้งสิบเอ็ดปี ผ้าสบงจีวรย้อมด้วยดินแดง ถึงวาระแล้วก็มาทูลลาพระพุทธเจ้าเข้าสู่นิพพานไปเลย องค์นี้ปรากฏว่าได้สอนเฉพาะ “พระปุณณมันตานีบุตร” ซึ่งเป็นหลานชายเท่านั้น สอนองค์เดียว และพระปุณณมันตานีบุตร ปรากฏว่าเป็น “ธรรมกถึกเอก” นอกนั้นท่านไม่สนใจกับใครเลย พระอัญญาโกณฑัญญะ เป็น “รัตตัญญู” เป็นพระสาวกองค์แรกที่ได้บรรลุธรรมพระศาสดาใดในต้นพุทธกาล

องค์ที่ท่านมีอำนาจวาสนาในทางใด ท่านก็เป็นไปตามเรื่องของท่านเอง เช่น “พระสารีบุตร” “พระโมคคัลลาน์” เป็นผู้ที่มีอำนาจวาสนามากเกี่ยวกับบริษัทบริวาร มีความรู้ความฉลาดมากดัง “พระสารีบุตร” การแนะนำสั่งสอนก็กว้างขวางลึกซึ้ง ทุกสิ่งทุกอย่างเต็มไปด้วยความเหมาะสม เพราะฉลาดในการสั่งสอน “พระโมคคัลลาน์” ก็เป็นผู้ทรงฤทธิ์ทรงเดช เป็นไปตามนิสัยวาสนาของท่านที่เกี่ยวข้องกับบริษัทบริวารพระเณร เมื่อถึงขั้น “อรหัตภูมิ” แล้ว เป็นนิสัยวาสนาล้วนๆ ไม่มีกิเลสเจือปน ท่านจะอบรมสั่งสอนประชาชนมากน้อยเพียงไร ย่อมเป็นไปตามอัธยาศัยของท่าน ไม่มีกิเลสเข้าเคลือบแฝง ไม่ลุ่มๆ ดอนๆ สูงๆ ต่ำๆ เพราะท่านสอนท่านได้แล้วค่อยมาสอนคนอื่น จึงไม่มีความผาดโผนโลดเต้นแฝงอยู่ในองค์ท่าน เวลาเกี่ยวข้องกับประชาชนที่มาพึ่งร่มเงาแห่งธรรมท่าน

ในเบื้องต้นท่านฝึกอบรมใจท่าน การอบรมสั่งสอนคนท่านทำอย่างเต็มที่ ท่านฝึกฝนทรมานตนอย่างเต็มฝีมือ ไม่ลูบๆ คลำๆ การฝึกอบรมตนด้วยวิธีต่างๆ เพื่อแก้กิเลสทั้งมวล ก็ต้องเป็นการทรมานตัวอยู่โดยตรง ถ้าไม่ทำอย่างนั้นกิเลสก็ไม่ยอมจำนนและหมดไปจากใจ การทรมานกิเลสกับการทรมานตนในขณะนั้น จะเรียกว่าเป็น “ความทุกข์ในคนๆ เดียวกัน” ก็ได้ไม่น่าจะผิด เพราะขณะที่ทุ่มเทกำลังเพื่อ “การรบรากับกิเลส” หรือ “เพื่อแก้กิเลส” นั้น ต้องใช้ความ “อุตส่าห์พยายาม” อย่างเต็มที่ ต้องได้รับความทุกข์มาก สมกับขึ้นเวทีเพื่อชัยชนะโดยถ่ายเดียว แม้ทุกข์มากน้อยหรือจะถึงขั้นตาย เจ้าของต้องยอมรับ ไม่ยอมรับไม่ได้ชัยชนะมาครอง มีบางองค์ท่านเดินจงกรมจนฝ่าเท้าแตก นั่นเห็นไหม! ทั้งๆ ที่ฝ่าเท้านั้นไม่ใช่กิเลส แต่จำเป็นก็ต้องได้รับความกระทบกระเทือนไปด้วย ถึงฝ่าเท้าแตกด้วยการรบกิเลส บางองค์ก็ตาแตก “พระจักขุบาล” ตาแตกทั้งสองข้าง เพราะไม่นอนเป็นเวลาตั้งสามเดือน ท่านฝึกทรมานอย่างเต็มที่จนตาทั้งสองข้างแตก แต่ใจสว่างจ้าขึ้นมาในขณะนั้น เพราะบรรลุขั้นอรหัตธรรม

ถึงคราวที่จะต้องรับความทุกข์ลำบาก เพราะการประกอบความเพียรเพื่อแก้กิเลส ก็ต้องยอมรับกัน จะไม่ยอมรับไม่ได้ ต้องยอมรับ เมื่อถึงขั้นยอมรับเพื่อชัยชนะอันใหญ่หลวง พระพุทธเจ้าก็ทรงยอมรับ พระสาวกทั้งหลายกว่าจะได้มาเป็น “สรณะ” ของพวกเรา ท่านก็ยอมรับความทุกข์ความลำบากในการฝึกฝนทรมานตนเพื่อฆ่ากิเลสทั้งนั้น เพราะกิเลสอยู่กับตัว การฟันกิเลส ถ้าไม่ฟันเข้าไปถูกตัวด้วยก็ไม่กระทบกระเทือนกิเลสที่อยู่กับตัว ฉะนั้นการห้ำหั่นกิเลสไม่กระทบกระเทือนตัวด้วยจึงไม่ได้ ต้องมีการกระทบกระเทือนตัวเป็นธรรมดา

พวกเราก็เหมือนกัน ถ้าจะให้กิเลสมันอยู่ห้องโน้น เรามาอยู่ห้องนี้ ขังกิเลสไว้ในห้องโน้น เรามาอยู่ในห้องนี้ มันเป็นไปไม่ได้ ถ้าเป็นไปได้พระองค์ต้องทรงทราบก่อนใครๆ ในโลก เราอยู่ในห้องไหนกิเลสก็อยู่ในห้องนั้น การฝึกทรมานเราตรงไหนก็เป็นการฝึกทรมานกิเลสตรงนั้น และในขณะเดียวกันก็เป็นความทุกข์ในการแก้กิเลสเช่นเดียวกัน คือเราต้องยอมรับทุกข์ เช่น นั่งมากก็ทุกข์ เดินมากก็ทุกข์ นอนมากก็ทุกข์ คือ นอนพิจารณาเพื่อแก้กิเลสน่ะ ไม่ใช่นอนแบบหมูขึ้นเขียง เวลากำหนดภาวนามันทุกข์ด้วยกันทั้งนั้น ชื่อว่า “ประโยคพยายามที่จะแก้กิเลส”แล้ว มันเป็นความทุกข์ด้วยกันทั้งนั้น ฉะนั้นจึงไม่ควรท้อใจอ่อนใจ กิเลสจะแข็งข้อต่อสู้เอาจะว่าไม่บอก

แม้จะเป็นการอดนอนผ่อนอาหาร มันก็เป็นเรื่องความทุกข์ทั้งนั้นแหละ แต่เพื่อดับเชื้อของกิเลสน่ะ ทุกข์ก็ต้องยอมรับ การขาดตกบกพร่องในสิ่งใดบรรดาที่อาศัย เป็นความฝืดเคืองกับสิ่งใดก็ยอมรับ อะไรจะขาดตกบกพร่องต้องยอมรับ ๆ เมื่อเข็มทิศอันใหญ่ยิ่งมุ่งต่ออรรถต่อธรรม คือแดนแห่งความพ้นทุกข์อยู่แล้ว อะไรๆ ก็ต้องยอมรับ ต้องยอมรับทั้งนั้นไม่กังวล ไม่ยอมรับไม่ได้ กิเลสมันอยู่กับเรา เราไม่ยอมรับความกระทบกระเทือน ความทุกข์ความลำบากด้วยเพราะการแก้กิเลส ย่อมไม่ได้ ต้องยอมรับ

เอ้า! ทุกข์ก็ทุกข์ ยอมทุกข์ ลำบากก็ยอม ขอให้กิเลสมันค่อยหมดไป ๆ เพราะกิเลสเป็นเครื่องก่อกวนภายในจิตใจ จำพวกบ่อนทำลายก็คือกิเลสนี่แหละ อย่างภายนอกที่เราเห็นนั่นแหละ ล้วนแล้วแต่กิเลสบงการ เพื่อความมักใหญ่ใฝ่สูงเกินมนุษย์มนา เทวดาอินทร์พรหม ไม่ยอมมองดูตัว เดี๋ยวสไตร๊ค์ที่นั่น สไตร๊ค์ที่นี่ เดินขบวนที่นั่น เดินขบวนที่นี่ ก็คือพวกบ่อนทำลาย ทำลายบ้านเมือง ทำลายที่นั่นทำลายที่นี่ ทำลายหลายครั้งหลายหนมันก็แหลกไปเอง นั่น!

กิเลสมันทำลายเรามันทำลายอย่างนั้น มันบ่อนที่ตรงนั้น มันบ่อนที่ตรงนี้ แต่เราไม่ทราบว่ามันบ่อนทำลายเราซิ เราเลยหลงไปเข้าข้างมันเสีย แล้วก็แย่! ตัวเราก็เลยเป็นกองทุกข์ขึ้นมาโดยไม่เห็นโทษของตัว

เพราะฉะนั้นจึงต้องใช้ปัญญาแยกแยะออก เจตสิกธรรมอันใดเป็นไปเพื่อความก่อทุกข์ความลำบากแก่ตน ให้ระมัดระวังว่า เจตสิกธรรมคือความคิดประเภทที่ผิด พยายามแก้ไขโดยถูกทาง ก็จะมีความสุขเย็นใจ ผู้เกี่ยวข้องก็มีความผาสุกเย็นใจเช่นเดียวกัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับอุบายแห่งการแก้กิเลสของแต่ละรายจะขวนขวายใส่ตน

คำว่า “กิเลส” เราอย่าคิดว่ามันอยู่ที่ไหน ก็คือความคิดความปรุงนี่แหละ เป็นเครื่องมือของกิเลสโดยตรง กิเลสจริงๆ มีฝังอยู่ในใจ ฝังอย่างจมมิด ไม่ทราบว่าใจคืออะไร กิเลสคืออะไร เพราะมันเป็นอันเดียวกัน ในขณะนี้มันเป็นอันเดียวกัน มันเป็นอย่างนั้นจริงๆ กระเทือนใจก็กระเทือนกิเลส

เมื่อแยกแยะกันไปโดยลำดับด้วยความเพียรพยายาม เราถึงจะทราบว่า กิเลสเป็นชนิดใด ใจแท้หรือ “จิตแท้” เป็นอย่างไร เพราะอำนาจของปัญญาเป็นเครื่องทดสอบ สติเป็นเครื่องระลึกรู้ในวงงานนั้นๆ ปัญญาเป็นผู้คลี่คลายพิจารณาให้ทราบว่า ผิดหรือถูกโดยทางเหตุผล แล้วก็แก้กันไปได้ตามลำดับของกิเลสที่มีประเภทต่างๆ กัน เราจะทราบว่าอันไหนเป็นเรื่องของกิเลส อันไหนเป็นเรื่องของธรรม ก็ค่อยทราบไปเรื่อยๆ โดยภาคปฏิบัติจิตตภาวนา แต่เรื่องความทุกข์เพราะความเพียร ก็ย่อมมีเป็นธรรมดาของการทำงาน ไม่ว่าจะเป็นความเพียรเพื่อแก้กิเลสขั้นต่ำ ขั้นกลาง หรือขั้นละเอียด เมื่อกิเลสยังมีอยู่ ความทุกข์ในการฝึกฝนทรมานตนก็ต้องมีอยู่โดยดี ถึงจะมีก็ตาม พึงทราบว่าการทำงานไม่ว่างานชนิดใด งานเล็กงานใหญ่ต้องเป็นความทุกข์ตามความหนักเบาของงาน แต่คุณค่านั้นสูงสมกับงาน

ผู้หวังพ้นทุกข์ต้องมีความเข้มแข็ง ไม่เข้มแข็งไม่ได้ การฉุดการลากจิตออกจากสิ่งมัวหมอง ออกจากกิเลส ออกจากสิ่งสกปรกโสมมนี้ เป็นของทำได้ยาก เพราะฉะนั้นโลกจึงไม่อยากทำกัน สู้นอนจมอยู่กับกิเลสไม่ได้ ก็จำเป็นต้องนอน นอนจมอยู่นั่นแลนอนบ่นอยู่นั่นแหละ เฝ้ากองทุกข์ บ่นทุกข์บ่นยาก บ่นว่าลำบากรำคาญ แต่ไม่มีทางที่จะแยกทุกข์ออกจากตัวได้ แม้บ่นกันกระทั่งวันตายก็ตายไปเปล่าๆ ไม่ได้รับประโยชน์อะไร ฉะนั้นการมีแต่บ่นให้ทุกข์และระบายทุกข์ออกด้วยการบ่น จึงไม่เกิดผลอะไร แต่ก็จำเป็นต้องระบายตามนิสัยที่เคยบ่นกันแก้ไม่ตก ได้ระบายให้ใครฟังนิดหนึ่งก็ยังคิดว่าได้เปลื้องทุกข์บ้าง ทั้งที่ทุกข์ยังมีอยู่อย่างเดิม เพราะนั่นไม่ใช่การแก้ทุกข์! ถ้าไม่แก้กิเลสซึ่งเป็นตัวก่อทุกข์ให้เบาบางและสิ้นไป! การบ่นเพื่อระบายทุกข์ เป็นการเพิ่มพูนกิเลสขึ้นเสียอีก ไม่ใช่อุบายแก้ทุกข์!

ถ้าเดินทางสติปัญญาโดยจิตตภาวนา ใคร่ครวญไตร่ตรอง ก็มีทางแก้กิเลสและกองทุกข์ได้ดังท่านพาดำเนินมาแล้ว มีพระพุทธเจ้าและพระสาวกเป็นตัวอย่าง ท่านแก้กิเลสกองทุกข์ด้วยวิธีปฏิบัติต่อจิตใจ

ศาสนาในครั้งพุทธกาลท่านปฏิบัติและสอนอย่างนี้ ท่านสอนเข้าในวงจิตโดยเฉพาะ การแสดงออกทางกายทางวาจานั้น เป็นกิริยาที่ส่อออกมาจากใจ เมื่อใจได้รับการอบรมดีแล้ว อันไหนถูกอันไหนผิดใจย่อมทราบเอง

ข้อสำคัญให้จิตได้รับธรรมคือเหตุผลเข้าสู่ดวงใจ ทุกสิ่งทุกอย่างแสดงออกจะเป็นด้วยเหตุด้วยผลและเป็นความราบรื่นดีงาม การแก้กิเลสถ้าไม่มีเหตุผลเป็นเครื่องมือแก้ เช่น โกรธใคร ก็พึงย้อนจิตเข้ามาดูตัวผู้กำลังโกรธอันเป็นต้นเหตุไม่ดี เป็นต้น คนเราย่อมจะเห็นโทษของตัว ความโกรธก็ระงับไป ไม่ใช่ไปเพ่งเล็งผู้ถูกโกรธ ซึ่งเป็นการเพิ่มพูนกิเลสและกองทุกข์ให้แก่ตัวมากขึ้น

อ่านคัมภีร์ไหนก็ว่าแต่เรื่องกิเลส เราเลยเข้าใจว่ากิเลสไปอยู่ในคัมภีร์นั้นๆ เสีย นั่นซีมันผิดน่ะ อันหนึ่งความโลภ ความโกรธ ความหลง หรือกิเลสพันห้าตัณหาร้อยแปด อะไรทำนองนี้ เข้าใจว่ามันอยู่ในคัมภีร์ การอ่านชื่อกิเลสได้มากๆ เรียนจำได้มากๆ ก็ว่าตัวนี้รู้แหลมหลักนักปราชญ์ชาติกวีไปเสีย แน่ะมันผิดไปแล้วนั่น มันผิดจากหลักธรรมและเจตนาของพระพุทธเจ้า ที่ทรงสั่งสอนเพื่อแก้กิเลสซึ่งมีอยู่กับตัว คืออยู่กับใจ การเข้าใจดังที่ว่านั้น มันเป็นการสั่งสมกิเลสโดยไม่รู้สึกตัวเลย เช่นสำคัญว่ากิเลสอยู่ในคัมภีร์ ไปจำชื่อกิเลสนั้นแล้วก็ว่าตัวรู้ตัวเข้าใจตัวฉลาดเสีย แน่ะ!ทั้งๆ ที่ไม่ได้ให้ใจแตะต้องหรือเขย่าพอให้กิเลสตกใจบ้างสักตัวเดียว หรือพอให้มันหนังถลอกไปบ้าง กิเลสยังอยู่เต็มหัวใจ และมากกว่าที่ยังไม่ได้เรียนชื่อของมันเสียอีก ทั้งนี้มันผิดพระประสงค์ของพระพุทธเจ้า!

เพื่อถูกตามความเป็นไปของธรรม หรือนโยบายของพระพุทธเจ้า กิเลสตัวใดก็ตาม เรียนรู้ชื่อมันอยู่ในคัมภีร์ใดก็ตาม นั่นเป็นชื่อของมัน แต่กิเลสอยู่ภายในใจคน หัวใจสัตว์ ความโลภชื่อมันอยู่ในคัมภีร์ ตัวโลภอยู่ในใจคน ความโกรธในคัมภีร์ไม่ได้โกรธ แต่หัวใจคนมันโกรธต่างหาก ความลุ่มหลงคัมภีร์ไม่ได้ลุ่มหลง ชื่อของกิเลสไม่ได้ลุ่มหลง ตัวกิเลสที่อยู่ภายในตัวของเรานี้เอง เป็นตัวให้ลุ่มหลงต่างหาก

การแก้กิเลสจึงต้องแก้ที่นี่คือใจ แก้ที่อื่นไม่ถูกไม่เกิดผล การแก้ถูกหลักถูกวิธี กิเลสจะค่อยเบาบางลงและหมดไปจากใจ ผู้ปฏิบัติจิตตภาวนาจึงควรดูใจตัวเองและแก้กิเลสที่ใจเป็นสำคัญ ดูภายนอกแล้วก็ย้อนทบทวนเข้าดูภายในจึงชื่อว่า “เรียนธรรมปฏิบัติธรรม” อย่าดูแบบโลกๆ ที่ดูไปรักไปชังไปเกลียดไปโกรธ อันเป็นการสั่งสมกิเลสให้มากมูนจนลืมเนื้อลืมตัว

ถ้าดูเข้ามาในตัวดูออกไปข้างนอก เทียบเคียงเหตุเทียบเคียงผลเพื่อหาทางแก้ ย่อมมีส่วนที่จะลงกันและแก้กิเลสได้เป็นพักๆ ไป ใจก็สบายและเบา ไม่หนักอึ้งด้วยการแบกการหามกิเลสทั้งโคตรแซ่ปู่ย่าตาทวดดังที่เคยแบกหามมา วันหนึ่ง ๆ ให้พิจารณาทบทวนมากๆ ทบทวนเรื่องของตัว พิจารณาเรื่องของตัวให้มาก ด้วยสติปัญญาพิจารณาย้อนหน้าย้อนหลังเพื่อรู้ความจริง เพราะวันเวลาหนึ่งๆ ใจผลิตความยุ่งเหยิงวุ่นวายขึ้นมาภายในตัวไม่ได้หยุดถ้าเราเผลอ แม้แต่ไม่เผลอกิเลสมันยังโผล่ออกมาได้ซึ่งๆ หน้าอย่างกล้าหาญตามสันดานที่หยาบคายของมัน บางทีมันยังแสดงลวดลายออกมาต่อหน้าต่อตาแก้มันไม่ได้ก็มี เพราะกำลังของเราไม่เพียงพอ ขณะนั้นจำต้องยอมไปก่อน อันไหนอยู่ในวิสัยก็พยายามแก้มันไป

นี่แหละการแก้กิเลส ที่ท่านดำเนินมา ท่านไม่ท้อถอยและยอมมันเอาง่ายๆ จะทุกข์ยากลำบากก็ทนเอา เพราะเป็นงานของตัวโดยเฉพาะ คนอื่นช่วยไม่ได้ ทั้งนี้ก็เพื่อรื้อสิ่งที่เป็นเสี้ยนหนามอยู่ภายในใจออกนั่นแล เพราะขึ้นชื่อว่า “กิเลส” แล้วมันเป็นเสี้ยนหนามทิ่มแทงจิตใจทั้งนั้นแหละ จงพยายามถอดถอนออกไปโดยลำดับ จนไม่มีอะไรทิ่มแทงใจต่อไป และเป็นใจที่ “สมบูรณ์แบบแท้”

ประการสำคัญก็คือ ชีวิตจิตใจมันหมดไปทุกวัน ๆ เมื่อวานนี้ก็หมดไปแล้ววันหนึ่ง มันมีแต่หมดไปเรื่อยๆ หมดจนกระทั่งไม่มีเหลือ ชีวิตสังขารผ่านไปเรื่อยๆ จนไม่มีอะไรเหลือติดตัว เมื่อไม่มีลมหายใจเหลือติดตัวแล้วเขาเรียกว่า “คนตาย” กันทั้งนั้น

คนตายสัตว์ตายที่ไม่มีกุศลผลบุญติดเนื้อติดตัว ยิ่งเป็นความทุกข์อย่างหาที่ปลงวางไม่ได้ ฉะนั้นจึงต้องรีบเร่งขวนขวายก่อสร้างคุณงามความดีซึ่งจะไม่สูญหายไปไหน เสียแต่บัดนี้ ความดีนี้จะติดแนบกับใจไปในภพหน้า ไม่ลดละปล่อยวางเจ้าของผู้บำเพ็ญ การสร้างคุณงามความดีท่านเรียกว่า “สร้างวาสนาบารมี”

“วาสนา” ก็คือธรรมเครื่องอยู่นั่นเองจะเป็นอะไรไป คือธรรมเครื่องอยู่เครื่องอาศัย เครื่องพึ่งพิง เครื่องส่งเสริมจิตใจ เหมือนคนมีบ้านมีเรือนเป็นที่อยู่อาศัยย่อมสบาย ถ้าไม่มีก็ลำบาก บ้านเมืองเขามีที่อยู่ที่อาศัยแต่เราไม่มี ซึ่งเราไม่ใช่กระจ้อนกระแต ไม่ใช่สัตว์ จึงไม่สมควรอย่างยิ่ง แม้แต่สัตว์เขายังมีรวงรัง มนุษย์เราไม่มีบ้านมีเรือนอยู่ได้เหรอ? มันลำบากแค่ไหน จิตใจไม่มีหลักมีเกณฑ์ ไม่มีเหตุมีผล ไม่มีที่พึ่งพิงอาศัย ไม่มีที่เกาะที่ยึดเหนี่ยว อยู่โดยลำพังไม่มีสรณะ จะเป็นทุกข์เพียงไร ลองวาดภาพดูก็ได้ ภาพของคนทุกข์เป็นอย่างไร

เราเคยเห็นทั้งคนและสัตว์เป็นทุกข์ทรมานจนตายต่อหน้าต่อตาก็เคยเห็น มันน่ายินดีเมื่อไหร่! เมื่อมีบารมีธรรมก็พอมีความร่มเย็นเป็นสุขภายในใจบ้าง ยังดีกว่ามีแต่ทุกข์ล้วนๆ อันเป็นไฟทั้งกองบนร่างกายและจิตใจเป็นไหนๆ เฉพาะอย่างยิ่งให้สร้างสติปัญญาขึ้นให้มาก แก้กิเลสในปัจจุบันนั่นแหละ ให้เห็นชัดๆ กับใจ แก้ไปได้มากน้อยก็รู้เอง กิเลสมันเต็มอยู่ที่ในจิตนี้แหละไม่เคยบกพร่องเลย แม้โลกจะพากันบ่นว่า สิ่งนี้บกพร่องสิ่งนั้นบกพร่อง หรือว่าโลกบกพร่อง มันวิ่งออกทาง “ขันธ์” และทาง “อายตนะ” คือทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ อยู่ตลอดเวลา ไม่เคยบกพร่องกับใครถ้าไม่ทำลายมัน

แม้เวทนาจะเกิดขึ้น มันก็ไม่เกิดเฉพาะเวทนาเท่านั้น กิเลสมันเกิดด้วยถ้าสติไม่มี ทำให้เกิดความเดือดร้อนเสียใจ เพราะเป็นทุกข์ที่นั่นเจ็บปวดที่นี่ ความเสียใจนั้นเกิดขึ้นจากความหลงขันธ์หลงอายตนะว่าเป็นตนเป็นของตน กิเลสจึงเกิดขึ้นตรงนี้ ความทุกข์ทางใจจึงเกิดขึ้นได้ เช่นเกิดความกระวนกระวายภายในใจว่า ทุกข์เกิดขึ้นที่นั่นที่นี่บ้าง กลัวทุกข์จะไม่หายบ้าง กลัวตนจะตายบ้าง เหล่านี้มีแต่เรื่องส่งเสริมกิเลสให้เกิดขึ้นซ้ำเติมเจ้าของ เพราะความโง่เขลาเบาปัญญาตามไม่ทันมันนั่นแล!

ถ้าจะเป็นศิษย์พระตถาคตจริงไม่เป็นศิษย์ปลอมละก็ตายซี้! เราเรียนความรู้เรียนเพื่ออะไร ก็เพื่อความรอบรู้ในสิ่งเหล่านี้เอง เป็นก็เป็นมาแล้วตั้งแต่วันเกิดจนกระทั่งบัดนี้ ทราบทุกระยะอยู่แล้ว เวลาตายทำไมจะไม่ทราบ เพราะอยู่ในอวัยวะอันเดียวกัน เอ้า ตายเดี๋ยวนี้ก็ให้ทราบกันเดี๋ยวนี้ซิ จิตไม่เคยอาภัพความรู้แต่ไหนแต่ไรมา

เรื่องความเป็นความตายเป็นเรื่องของธาตุขันธ์ การรู้ความเป็นความตายของตัวเองเป็นหลักวิชา คือสติปัญญาทางพุทธศาสนา เมื่อรู้แล้วตัวเองก็ไม่เสียท่าเสียทีไปกับสิ่งที่เกิดขึ้นดับไป มีเวทนาเป็นต้น หรือร่างกายที่ปรากฏขึ้นแล้วสลายตัวลงไป จิตใจมีความมั่นคงไม่หวั่นไหวโยกคลอนไปตาม จิตมีหลักเกณฑ์เป็นที่อยู่อาศัย มีความมั่นคงภายในตัวเอง ไม่วุ่นวายไปกับธาตุขันธ์ที่มันจะสลายตัวไป ที่กิเลสมันแทรกขึ้นได้นั้น เพราะความสำคัญมั่นหมายของจิตเป็นต้นเหตุ ว่าความทุกข์ที่นั่น ความเจ็บปวดที่นี่ กายเราทุกข์ตรงนั้น ขาเราเจ็บตรงนี้ ศีรษะเราปวดข้างนั้น ท้องเราเดินไม่หยุด กลัวจะไม่หาย กลัวจะตาย กลัวจะตายวันนั้น กลัวจะตายวันนี้ หาเรื่องคิดไปไม่มีเวลาจบสิ้น ทั้งนี้มีแต่เรื่องก่อความทุกข์ความลำบากให้แก่ร่างกายและจิตใจ รับภาระหนักซ้ำเข้าไปอีก ดีไม่ดีโรคเสียใจเมื่อเกิดมากขึ้น ก็ทำให้ตายเร็วกว่าที่ควรจะเป็น จึงไม่ใช่ของดี ไม่ใช่เรื่องแก้กิเลสให้ระงับหรือสิ้นไป แต่เป็นเรื่องส่งเสริมกิเลสให้ซ้ำเติมทั้งร่างกายและจิตใจให้หนักเข้าโดยลำดับ จึงควรคำนึงให้มากในเวลาไม่สบาย

การแก้กิเลสคืออย่างไร? เอ้า! อะไรเกิดขึ้นก็ให้รู้เรื่องความเกิดขึ้นของสิ่งนั้น เจ็บก็ให้ทราบว่ามันเจ็บขนาดไหน จะรู้ให้ถึงความจริงขนาดนั้น เรื่องของความเจ็บเป็นอันหนึ่งต่างหาก ผู้รู้เจ็บเป็นอันหนึ่งต่างหาก ไม่ใช่อันเดียวกันนี้ จะตายก็ให้ทราบถึงขณะตาย อันไหนตายก็ให้มันตายไป ผู้ไม่ตายคือผู้รู้ ก็ให้รู้ว่าไม่ตาย เพราะผู้ที่รู้ไม่ได้ตายไม่มีป่าช้า เป็น “อมตํ” (อะมะตัง)

อมตํ ก็หมายถึงจิตนี้เอง แม้มีกิเลสอยู่ใจก็เป็น “อมตํ” ของมัน กิเลสสิ้นไปแล้วก็เป็น อมตํ แต่เป็น“อมตํ” ที่ต่างกันเท่านั้นเอง อมตํอันหนึ่งเป็นอมตํวัฏฏะ คือ ตัวหมุนเวียนอย่างนั้นเรื่อยๆไป อมตํอีกอันหนึ่งไม่เกิดต่อไปอีกและไม่ตายด้วย นี่เป็นอมตํของความบริสุทธิ์แห่งใจ มีอยู่สองอย่างจงเรียนให้รู้ อันใดที่มาเกี่ยวข้องมาทำลายจิตใจ ให้ทราบว่าอันนั้นคือข้าศึก ให้รีบแก้ไขทันที

นี่แหละเรียนธรรม คือเรียนเรื่องธาตุเรื่องขันธ์ เรื่องอายตนะ สำคัญที่สุดก็คือขันธ์ ระหว่างขันธ์กับจิตนี่ มันกระทบกระเทือนกันอยู่ทั้งวันทั้งคืนยืนเดินนั่งนอน หรือทุกอิริยาบถ มันกระทบกระเทือนกันอยู่เสมอไม่เคยมีเวลาสงบตัวเลย

ถ้ามีสติปัญญา สิ่งเหล่านั้นก็เป็นหินลับอยู่เสมอ ความกระเทือนทั้งนี้เป็นหินลับปัญญา คือเป็นเครื่องปลุกสติปัญญาให้ตื่นทันกับเหตุการณ์ และให้รู้รอบขอบชิดต่อสิ่งนั้นๆ สิ่งเหล่านั้นก็ไม่ซึมซาบเข้าภายในและปล่อยยาพิษเข้าไปในใจได้ ใจก็ไม่เดือดร้อนกระวนกระวาย

เอ้า! ถึงวาระจะตายก็ตายไปอย่าง “สุคโต” เพราะความรู้รอบคอบแล้ว ความจริงก็เป็นอย่างนั้น เรียนธรรมปฏิบัติธรรมทำอย่างนี้แหละ กิเลสทั้งหลายถึงจะกลัวและล่าถอย ไม่ตั้งหน้าย่ำยีจิตใจดังที่เคยเป็นมา

กิเลสก็คือความสำคัญมั่นหมายต่างๆ นี่แหละ ซึ่งเกิดขึ้นจากจิตดวงเดียว แก้ให้ทันกับเหตุการณ์ที่ปรากฏขึ้น ยิ่งเวลาจนตรอกเข้าจริงๆ เวทนามีมากเท่าไหร่ จะโหมตัวเข้ามาอย่างเต็มที่เวลานั้น แต่พึงทราบว่า “นั่นตัวเวทนา” อย่าเข้าใจว่าเวทนาเป็นตน สำคัญมาก!

จงพิจารณาให้เห็นความจริงของเวทนา แม้ทุกข์มากน้อยเพียงไรก็ให้รู้ เอาจิตกำหนดอยู่ตรงนั้น พิจารณาอยู่ตรงนั้น จนรู้ความจริงของเวทนา จิตเป็นธรรมชาติรู้ เวทนาเป็นสิ่งที่แสดงขึ้น เกิดขึ้นแล้วดับไปตามธรรมชาติของมันเอง ผู้ที่รู้ให้รู้เวลาเวทนาเกิดและดับ ถ้าจะตายก็ให้รู้ว่ามันตาย อะไรมันตายก็ให้รู้ สิ่งที่ไม่ตายก็อยู่ คือผู้รู้นี่!

ให้ทันกันอยู่ทุกเวลา แล้วก็ไม่วิตกกังวล การเป็นการตายเป็นเรื่อง ธรรมด๊าธรรมดา! ถ้าทราบตามหลักธรรมชาติแล้ว จะไม่มีปัญหากับเรื่องการเป็นการตายอะไรเล้ย การจะก่อปัญหาขึ้นมา ก็คือกิเลสเป็นผู้สร้างปัญหาขึ้นมา แล้วก็มาพัวพันจิตใจให้เกิดความเดือดร้อนวุ่นวายไปด้วย

ทั้งๆ ที่ยังไม่ตายก็เดือดร้อนแล้ว กลัวตาย แน่ะ! เวลาจะตายจริงๆ ยิ่งเดือดร้อนใหญ่ ซึ่งไม่เกิดประโยชน์อะไร มีแต่ความทุกข์เต็มตัว ตายแล้วก็เสียท่าเสียทีเพราะความร้อนเป็นเหตุอีกนั่นแหละ เพราะเหตุนั้นจึงต้องแก้ความเดือดร้อน ด้วยความรู้ความเข้าใจในธาตุในขันธ์ในอวัยวะต่างๆ ซึ่งอยู่ในกองขันธ์กองสมมุติทั้งมวล

เราอาศัยกองสมมุตินี้ จะให้กองสมมุตินี้เป็นตัวเราได้อย่างไร? มันก็ต้องเป็นเรื่องของเขาอยู่นั่นเอง ธาตุก็เป็นธาตุ ขันธ์ก็เป็นขันธ์ ดินเป็นดิน น้ำเป็นน้ำ ลมเป็นลม ไฟเป็นไฟ จะให้มาเป็น “เรา” มันเป็นไม่ได้ จะให้ตั้งอยู่ยืนนานถาวรตามที่ความคาดหมายความสำคัญแห่งใจ ก็เป็นไปไม่ได้ เพราะหลักธรรมชาติของมันเป็นอย่างนั้นมาดั้งเดิม ผู้เรียนวิชาธรรมะจึงต้องเรียนให้รู้ตามหลักธรรมชาติ แล้วอยู่ตามหลักธรรมชาติ

ต่างอันต่างจริงก็สบาย ไม่มีอะไรมาก่อกวน นี่แหละชื่อว่า “เรียนธรรม” ชื่อว่า “แก้กิเลส” ปฏิบัติเพื่อแก้กิเลส แก้อย่างนี้

ถึงเวลาเร่งต้องเร่งเต็มที่ เป็นกับตายไม่ถือเป็นภาระความกังวล เพราะเพื่อความรู้ความหลุดพ้นอย่างเดียว อะไรอื่นๆ ไม่เกี่ยว จนรู้เท่าและปล่อยวางไว้ตามสภาพของสิ่งทั้งปวง

ความดีเหล่านี้แหละ จะเป็นเครื่องสนับสนุนจิตให้พ้นจากโลกได้ พ้นด้วยอำนาจแห่งความดีนี้แล

นี่หลักศาสนาส่วนใหญ่ท่านสอนลงที่นี่ แต่เราอย่าพากันเดินจงกรมแต่พอเป็นพิธีก็แล้วกัน การทำพอเป็นพิธีนั้น คือนั่งก็สักแต่ว่านั่ง สติสตังไม่มีเลย นั่งสัปหงกงกงัน แล้วหลับครอกๆ อยู่กับท่านั่ง นั่นแหละมันพิธีอะไรไม่รู้ล่ะ พิธีบ้าน่ะ!จะว่ายังไง? ผู้เป็นคนดีฟังเอง!

เดินจงกรมก็เดิน เดินไปยังงั้นแหละ สติสตังไม่ทราบไปอยู่ไหน แล้วก็มานับคะแนนเอาเองว่า “วันนี้เราเดินจงกรมได้เท่านั้นนาทีเท่านี้นาที ดีใจ!” ดีใจกับลมกับแล้งไป ไม่ได้เรื่องอะไรเลย!

พระพุทธเจ้า พระอรหันต์ ตลอดครูอาจารย์ ท่านเบื่อเจ้าพิธีแทบจะอยู่กับโลกพิธีไม่ได้ ไม่ได้คิดบ้างหรือว่า กิเลสมันไม่ใช่เจ้าพิธีเหมือนพวกเรานี่นา มันคือตัวเหยียบย่ำทำลายผู้เป็นเจ้าพิธีโดยตรง ฉะนั้นต้องแก้มันลงที่ใจนั้น แก้ที่ตรงนั้น โดยถูกทางแล้วด้วยสติปัญญาอันแหลมคม อยู่ไหนก็เป็นความเพียร นั่งอยู่ก็เป็นความเพียร ถ้ามีสติปัญญารักษาจิตใจอยู่โดยสม่ำเสมอ อิริยาบถทั้งสี่เป็นความเพียรด้วยกันทั้งสิ้น

เอ้า! ให้มีความเพียรกันจริงๆ จังๆ นะ นี่แหละเรียกว่า “เดินทางศาสนาแบบศาสดา” เดินตามแนวทางของผู้แก้กิเลส เราจะสิ้นกิเลสด้วยแบบนี้ สิ้นในลักษณะนี้ ไม่สิ้นในแบบอื่นลักษณะอื่น

พระพุทธเจ้าท่านสิ้นไปเพราะเหตุนี้ สาวกท่านสิ้นไปด้วยอุบายวิธีนี้ ด้วยปฏิปทาอันนี้ กิเลสมีประเภทเดียวกัน การดำเนินแบบเดียวกัน กิเลสจะต้องหลุดลอยไปโดยลำดับๆ เช่นเดียวกัน และถึงความพ้นทุกข์เช่นเดียวกัน จึงขอให้เป็นที่ลงใจในการปฏิบัติของตน

ขอยุติเพียงเท่านี้
เวลาทำสมาธิ

ให้ระลึกลมหายใจเข้าออก

ให้รู้ลมหายใจเข้าออก

หายใจเข้าสั้นก็รู้

หายใจออกสั้นก็รู้

หายใจเข้ายาวก็รู้

หายใจออกยาวก็รู้

ไม่ต้องบังคับลมหายใจ

ตามรู้ลมหายใจเข้าออก

สงบก็รู้ ไม่สงบก็รู้

สงบก็ไม่ยินดี ไม่สงบก็ไม่ยินร้าย

ไม่เอาทั้งสงบและไม่สงบ

เอาแค่รู้ตามความเป็นจริงของสภาวธรรมปัจจุบันนั้น

ทำอะไรก็ให้รู้เหตุปัจจัย

รู้ไม่ใช่เพื่อ ยินดี ยินร้าย รู้เพื่อให้ รู้เหตุปัจจัย

เหตุแห่งความเจริญ

เคารพ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์

เคารพ สิกขา 3 ศีล สมาธิ ปัญญา

เคารพในความไม่ประมาท

เคารพในการปฎิสันฐาน

เคารพใน ศีล

เคารพใน สมาธิ

เคารพในกันและกัน

หลักตัดสิน ธรรมวินัย 8 ประการ

ธรรมเหล่านี้เป็นไปเพื่อคลายกำหนัด

เป็นไปเพื่อไม่ประกอบสัตว์ไว้

เป็นไปเพื่อไม่สั่งสมกิเลส

เป็นไปเพื่อความเป็นผู้มักน้อย

เป็นไปเพื่อสันโดษ

เป็นไปเพื่อความสงัดจากหมู่คณะ

เป็นไปเพื่อปรารภความเพียร

เป็นไปเพื่อความเป็นคนเลี้ยงง่าย

ธรรมที่ควรเจริญ

สติ

สัมปัชชัญญะ

ศีล

สมาธิ

ปัญญา

วิมุตติ

วิมุตติญาณทัสสนะ

สัมมาทิฏฐิ เห็นชอบ

สัมมาสังกัปปะ ดำริชอบ

สัมมาวาจา พูดชอบ

สัมมาอาชีโว อาชีพชอบ

สัมมากัมมันโต การงานชอบ

สัมมาวายาโม ความเพียรชอบ

สัมมาสติ ระลึกชอบ

สัมมาสมาธิ ตั้งมั่นชอบ

สัมมาญาณะ ความรู้ชอบ

สัมมาวิมุตติ หลุดพ้นชอบ

สัมมาวิมุตติญาณทัสสนะ ความเห็นในการหลุดพ้นชอบ

สัมมาทิฏฐิ

คือ รู้ชัดซึ่ง เหตุแห่ง กุศล วิชชา เป็น เหตุ

รู้ชัดซึ่ง เหตุแห่ง อกุศล อวิชชา เป็น เหตุ

การบรรลุธรรมอาศัย สติ ปัญญา อุเบกขา เป็นมัทยัทธ์

รักษาสัจจะ เพิ่มพูลจาคะ ไม่ประมาทปัญญา ศึกษาสันติ

การปฎิบัติธรรม

คบสัตบุรุษ ฟังพระสัทธรรม อยู่ในประเทศเหมาะสม ตั้งสัจจะ เดินสัมมาทิฏฐิ เจริญความสงบ

ออกพิจารณาด้านปัญญา + พลังกุศล - บ่มอินทรีย์ นิพพิทา วิราคะ วิมุตติ วิมุตติญาณทัสสนะ

สติ - ศีล - สมาธิ - ปัญญา - วิมุตติ - วิมุตติญาณทัสสนะ

อัปปมาโณพุทโธ อานุภาพพระพุทธเจ้าไม่มีประมาณ

อัปปมาโณธัมโม อานุภาพพระธรรมไม่มีประมาณ

อัปปมาโณสังโฆ อานุภาพพระสงฆ์ไม่มีประมาณ

เรื่องของสมมติ อวิชชา ตัวตน ยึดตรงไหน หลงที่ไหน ผิดที่นั้น จุดต่อมแห่งภพชาติ

wiweksikkaram.hi5
 
จำนวนผู้ตอบ: 114
สมัครสมาชิก: Mon Mar 15, 2010 12:20 am
ที่อยู่: สุทธาวาสภูมิ

กลับไปหน้า ธรรมเพื่อชีวิต

ผู้ที่กำลัง online

ผู้ที่กำลังอ่าน forum นี้: สมาชิก ไม่มีสมาชิก และ ผู้เยี่ยมชม 2 คน

cron