ธรรมชุดเตรียมพร้อม 16

เพื่อสนทนาธรรม และแลกเปลี่ยนความคิดเห็น เพื่อความเป็นกัลยาณมิตร กัลยาณธรรมที่ดีต่อกัน

ธรรมชุดเตรียมพร้อม 16

Postโดย wiweksikkaram.hi5 » Tue Apr 20, 2010 11:07 pm

เทศน์โปรดคุณเพาพงา วรรธนะกุล ณ วัดป่าบ้านตาด

เมื่อวันที่ ๑๐ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๑๘

ชุดหัดตาย วิธีปฏิบัติเบื้องต้น



มนุษย์เราต่างจากสัตว์ สัตว์เขาอยู่โดยธรรมชาติ คือเกิดมาโดยธรรมชาติ อะไรๆ ก็ตามธรรมชาติ อยู่อย่างธรรมชาติ ตลอดความเป็นอยู่หลับนอน เป็นไปตามธรรมชาติจนกระทั่งวันตาย เขามีธรรมชาติของสัตว์เป็นประจำสัตว์ของเขา สัตว์ทุกจำพวกมักเป็นไปตามธรรมชาติเหมือนกัน ทั้งในน้ำ บนบก ใต้ดิน เหนือดิน

มนุษย์เราไม่เหมือนสัตว์ จึงต้องมีศาสนาเป็นเครื่องปกครอง ถ้าจะเปรียบเทียบแล้ว ศาสนาก็เหมือนแปลนบ้านแปลนเมือง การปลูกสร้างที่จะทำให้แน่นหนามั่นคงให้สวยงามได้มาตรฐาน ต้องอาศัยแปลนเป็นสำคัญ ไม่ได้ทำสุ่มสี่สุ่มห้าเหมือนสร้างกุฏิวัดป่าบ้านตาด เพราะนี่เป็นอีกแบบหนึ่ง คือแบบป่า แบบกรรมฐาน
การก่อสร้างให้ถูกต้องตามแบบแปลนแผนผังนั้นมันน่าอยู่และน่าดู เพราะสวยงามด้วยความเป็นระเบียบงามตา การที่จะสร้างมนุษย์ให้ถูกต้องกับความเป็นมนุษย์ซึ่งมีภูมิสูงกว่าสัตว์ จึงต้องอาศัย “ศาสนา” ซึ่งเป็นเหมือนแบบแปลน ชี้แนวทางให้ประพฤติปฏิบัติในความเป็นอยู่ของคนหมู่มาก เพราะมนุษย์เราอยู่ลำพังคนเดียวไม่ได้ อยู่ที่ไหนก็ต้องมีหมู่มีพวกมีเพื่อนเป็นธรรมดา จะอยู่โดดเดี่ยวโดยลำพังไม่ได้ เพราะมนุษย์เราเป็นนิสัยขี้ขลาดแต่ไหนแต่ไรมา เมื่ออยู่ด้วยกันถ้าไม่มีกฎหมายบ้านเมือง ไม่มีศีลธรรมเป็นเครื่องปกครอง ความเห็นแก่ตัวก็ไม่มีอะไรจะเกินหน้ามนุษย์ นี่แหละสำคัญ

ถ้าความเห็นแก่ตัวมาก การแสดงออกอย่างความเห็นแก่ตัว ก็ต้องเป็นการกระทบกระเทือนเพื่อนมนุษย์ที่อยู่ร่วมกัน เพราะไม่มีศาสนา ไม่ทราบว่าอะไรผิดอะไรถูก ทำอะไรได้อย่างใจแล้วก็เป็นที่พอใจ มนุษย์มีนิสัยชอบสร้างความทุกข์ความลำบากให้แก่ผู้อื่นเพื่อให้ความสุขสำหรับตน ซึ่งไม่ถูกกับลักษณะของมนุษย์ผู้มีความฉลาด ที่ควรจะมองเห็นคุณค่าของผู้อื่นที่อยู่ร่วมกัน

แม้มีศาสนาเป็นเครื่องชักจูงอยู่ ก็ยังไม่เห็นความสำคัญของศาสนายิ่งกว่าความรู้ความเห็นและคุณค่าของตน ซึ่งเต็มไปด้วยความมืดหนาสาโหด ศาสนาโปรดไม่ได้ การมีศาสนาก็เพื่อเป็นแนวทางเทียบเคียงทดสอบในหมู่มนุษย์ด้วยกัน ว่าสิ่งใดถูกสิ่งใดผิด สิ่งใดถูกใจเราแต่ผิดใจคนอื่น อะไรเป็นการกระทบกระเทือนกัน หรือไม่เป็นการกระทบกระเทือนกัน จากการแสดงออกของตนแต่ละอาการในวงมนุษย์ด้วยกัน ด้วยความเห็นแก่ตัวของมนุษย์ผู้จองหองพองตัวเป็นเหตุ

แม้มีศาสนาแล้ว ยังต้องมีกฎหมายบ้านเมืองไว้ปกครอง ไม่เช่นนั้นโลกต้องร้อน เพราะมนุษย์ผู้เป็นไฟเที่ยวก่อไฟเผาผลาญผู้อื่น ศาสนาจึงจำเป็นที่หมู่มนุษย์ต้องมีกันทั่วโลก เว้นแต่เดนนรก

ที่ใดเป็นแดนนรกที่นั้นไม่มีศาสนา หรือผู้ใดอยากจะเป็นสมาชิกของจำพวกแดนนรก ผู้นั้นก็ไม่มีศาสนา ถือความโหดร้ายทารุณแทนศาสนา

ศาสนาสอนคนให้เป็นคนดี ให้รู้จักความสำคัญของมนุษย์ที่อยู่รวมกัน ใครจะถือศาสนาใดก็ตามแต่อัธยาศัย คนนี้นับถือศาสนานั้น คนนี้นับถือศาสนานี้ ล้วนแต่เป็นเครื่องปกครองให้คนมีความสงบร่มเย็นต่อกันนั่นเอง อย่างพวกเราก็มีพระพุทธศาสนาเป็นเครื่องเทิดทูน เป็นที่ยึดของใจ เป็นชีวิตจิตใจ พึ่งเป็นพึ่งตายกับศาสนา มีความระลึกน้อมถึงพระพุทธเจ้าอยู่เสมอ การระลึกถึงพระพุทธเจ้าหรือการระลึกถึงศาสนา กับการระลึกถึงตน มีส่วนเกี่ยวโยงกัน
การระลึกถึงศาสนา มีความหมายถึงสิ่งที่ดีวิเศษ ที่ผู้ระลึกจะพึงหวังหรือได้รับจากศาสนา อันเป็นความเหมาะสมกับมนุษย์ผู้มีความหวังอยู่ตลอดเวลา ว่าจะได้ความสงบสุขตามกำลังแห่งความนับถือและปฏิบัติ ไม่เป็นโมฆะแบบลมๆ แล้งๆ ดังโมฆบุรุษสตรีโกหกกันเต็มโลกในสมัยปัจจุบัน

ศาสนามีหลายชั้นตามพื้นเพของจิตใจผู้ปฏิบัติ มีสูงมีต่ำ และมีสูงสุด ตามแต่ความสามารถของผู้ประพฤติปฏิบัติจะทำได้มากน้อยเพียงไร อย่างน้อยควรมีศีลห้าก็ยังดี มีความร่มเย็นเป็นสุข จากนั้นก็มีการเจริญเมตตาภาวนา การทำบุญให้ทานไปตามอัธยาศัย เพราะคุณธรรมเหล่านี้เป็นหน้าที่ของมนุษย์จะพึงทำกัน เป็นกิจจำเป็นสำหรับมนุษย์ที่อยู่ด้วยกันเป็นจำนวนมาก จะต้องมีการสงเคราะห์ การเสียสละเพื่อกันและกัน มีความเห็นอกเห็นใจและให้อภัยกัน ให้ความเป็นใหญ่หรือให้สิทธิ์แก่กันและกันไปตามสิทธิ์ ต่างคนต่างให้สิทธิ์ ต่างคนต่างให้ความเป็นใหญ่ในสมบัติของกันและกัน ไม่ล่วงล้ำกล้ำกรายสิทธิและสมบัติของผู้อื่น ให้ความเสมอภาคกันโดยธรรมตามหลักศาสนา

เมื่อต่างคนต่างมีกฎข้อบังคับสำหรับตัวอย่างเคร่งครัดอยู่แล้ว โลกมนุษย์แม้มีมากอยู่รวมกันก็เป็นความสงบสุขได้ และดีกว่าคนจำนวนน้อยที่หาความสงบสุขไม่ได้ เพราะความเห็นแก่ตัวเป็นเครื่องทำลายความสงบความสามัคคีเสียอีก

การกระเทือนจิตใจกันเป็นสิ่งที่กระเทือนมาก เสียหายมากยิ่งกว่าสมบัติต่างๆเสียไป สมบัติใดเป็นของใครก็ตาม เมื่อสูญหายไปเพราะถูกลักขโมยหรือปล้นจี้อะไรก็ตาม เหล่านี้เป็นสิ่งที่กระเทือนจิตใจมาก เฉพาะอย่างยิ่งการปล้นการจี้นี่สำคัญมากทีเดียว เพราะกระเทือนใจมาก การขโมยก็เป็นอีกอย่าง เพลากว่ากันลงบ้าง ทั้งนี้แม้สมบัตินั้นจะไม่มีคุณค่ามากนักก็ตาม แต่สำคัญที่คุณค่าของใจที่เป็นเจ้าของสมบัตินั้นๆ

ใจเป็นสมบัติที่มีค่ามาก การกระทำดังกล่าวจึงเป็นความกระทบกระเทือนใจให้เสียหายมาก จึงควรรักษาทั้งสองอย่าง คือรักษาสมบัติด้วย รักษาด้านจิตใจของกันและกันด้วย นี่หมายถึง “ศีล” และ “ธรรม” ที่มนุษย์ควรมีควรรักษา เพื่อความสงบสุขร่มเย็นแก่ตนเองและผู้อื่นทั้งปัจจุบันและอนาคต

สิ่งใดก็ตามเกี่ยวกับศีล ย่อมมีความเกี่ยวโยงกันกับเพื่อนมนุษย์ที่อยู่ร่วมกันทั้งนั้น ถ้าต่างคนต่างมี “ศีลห้า” มีธรรมในใจด้วยกันแล้ว โลกย่อมมีความร่มเย็นเป็นสุข นับแต่ส่วนย่อยไปหาส่วนใหญ่ไม่มีประมาณ เพราะศีลธรรมเป็นทำนบกั้นกิเลสบาปธรรมต่างๆ ไม่ให้รั่วไหลออกจากใจ กาย วาจาไปท่วมหัวใจและสมบัติของมนุษย์ ที่อยู่ร่วมโลกกัน ให้ได้รับความเดือดร้อนฉิบหาย

ผู้ไม่เข้าใจศาสนาอาจเห็นว่าศาสนาไม่จำเป็น ไม่สำคัญ ความจริงนั้นก็คือผู้นั้นไม่เห็นความสำคัญของตัว ลำพังตัวเองไม่อาจช่วยตัวเองได้ เกี่ยวกับความสงบสุขเป็นลำดับทางด้านธรรม นอกจากศาสนาชี้แนวทางให้เข้าใจ ใครจะเก่งกล้าเห็นว่าศาสนาไม่เป็นของสำคัญ จะเก่งกล้าสามารถฉลาดแหลมคมเพียงไรก็ตามเถอะ การแก้กิเลสซึ่งเป็นศาสตราจารย์ผู้ให้กำเนิดความฉลาดอันเป็นเรือนรังแห่งทุกข์ทั้งหลาย ถ้าไม่แก้ด้วย “วิชาธรรม” จะไม่มีทางแก้ให้เกิดความสุขอันพึงพอใจได้!

ครั้งไหนๆ ก็มีคนฉลาดประจำโลกมาโดยลำดับเช่นกัน แม้พระพุทธเจ้าและสาวกทั้งหลายก็มิใช่คนโง่บัดซบ ท่านยังต้องแสวง “วิชาธรรม” มาแก้ความฉลาดแกมโกงนั้นจนเป็นความฉลาด ทางยอดความจริงขึ้นมาล้างกิเลสตัวฉลาดแกมโกงนั้น ออกจากใจโดยสิ้นเชิง จึงเป็นศาสดาสอนโลกได้เต็มภูมิ

การเกิดมาได้พบพระพุทธศาสนานี่ก็เป็นบุญลาภของเรา ที่ไม่พบศาสนาเลยนั้นมีจำนวนไม่น้อย มีมากมายที่ไม่ทราบว่า “พุทธ” เป็นอย่างไร “ธรรม” เป็นอย่างไร“สงฆ์” เป็นอย่างไร นั้นมีมากและมีมากขึ้นทุกวันเวลา จนสาระสำคัญของจิตใจไม่มีเลย เพียงอยู่ไปวันหนึ่ง กินไปวันหนึ่ง นอนไปวันหนึ่ง อาศัยด้านวัตถุพอให้เพลินไปวันหนึ่งเท่านั้น ก็เข้าใจว่าตนมีความสุข ทั้งๆ ที่หาหลักยึดของจิตไม่มีเลย คือจิตใจจะหา“ธรรม” ซึมซาบและบำรุงไม่มี นี่แลโลกที่ไม่มีศาสนาภายในใจ จึงขาดหลักอันสำคัญไปอย่างน่าเสียดาย ทั้งที่มนุษย์ควรจะรู้จักคุณค่าและมีคุณค่ากว่าสิ่งใดๆ ในโลก

เพราะฉะนั้นการนิยมทางด้านวัตถุจนลืมด้าน “นามธรรม” คือศาสนา ที่เป็น“ธรรมโอสถ” เครื่องบำรุงรักษาใจให้มีหลักแหล่งและชุ่มเย็น ผลจึงเป็นความทุกข์ร้อน ทั้งๆ ที่สิ่งบำรุงบำเรอมีเต็มบ้านเต็มเมืองและเต็มแผ่นดินถิ่นอาศัย เนื่องจากใจไม่มี“ธรรม” เป็นอาหารเครื่องบำรุง เวลาเกิดความห่อเหี่ยวแห้งใจ เพราะอารมณ์ต่างๆ มีวัตถุเป็นต้น เข้ามาบีบคั้นย่ำยีใจ ใจหาที่หลบซ่อนไม่ได้จึงเกิดความทุกข์ร้อนขึ้นมา และหาที่ปลงวางไม่ได้ ถึงกับเป็นโรคประสาทไปก็มี แต่ยังไม่ยอมเห็นโทษของมัน ก็ยิ่งนับวันจะจมดิ่งลงไปอย่างไม่มีจุดหมายปลายทางเลย

ที่ถูกด้านวัตถุก็ทำ เพราะกายของเราเป็นด้านวัตถุ ต้องอาศัยวัตถุเข้ามาเยียวยารักษา ร่างกายอยู่ได้ด้วยวัตถุ เช่น อาหาร บ้านเรือน เป็นต้น ส่วนจิตใจก็มีความร่มเย็นได้ด้วยศีลด้วยธรรม ไม่ใช่ต้องอาศัยวัตถุอย่างเดียว จึงควรมีศีลมีธรรมอันเป็นคุณงามความดีทางใจ ที่จะพึงสั่งสมอบรมขึ้นให้มีมาก และควรจะกลัวจิตอดอยากขาดแคลนอาหาร คือ “กุศลธรรม” เช่นเดียวกับความกลัวอาหารจะขาดแคลนจากร่างกาย จิตใจจะได้มีหลักฐานเป็นเครื่องยึด เพื่อปลดเปลื้องหรือบรรเทาทุกข์ในเวลาต้องการและจำเป็น

เฉพาะอย่างยิ่งใจเป็นสิ่งสำคัญมาก ควรจะมีหลักยึดของใจ ที่ใจวอกแวกคลอนแคลนเนื่องจากหาหลักยึดไม่ได้ แม้ถึงสิ่งภายนอกจะมีสมบูรณ์บริบูรณ์ ใจเมื่อขาดคุณงามความดีคือศีลธรรมอันเป็นเครื่องทำให้ชุ่มเย็นแล้ว จิตใจก็ร้อน ร้อนทั้งๆ ที่มีความรู้ความสามารถ ร้อนทั้งๆ ที่มีสมบัติมากมาย ร้อนทั้งๆ ที่อะไรเราก็ไม่อดอยากขาดแคลนทางด้านวัตถุ ตลอดญาติมิตร บริษัทบริวาร เพื่อนฝูง แต่ความร้อนของใจจะร้อนอยู่ไม่ลดละ เพราะขาดอาหารภายในใจ ขาดเครื่องบำรุงภายในใจ คือ “กุศลธรรม” ยาบำรุงรักษาใจ”!

ใครจะมีความเฉลียวฉลาดยิ่งไปกว่าพระพุทธเจ้าในโลกทั้งสาม ปรากฏว่าไม่มีเลย พระพุทธเจ้าทรงทราบความจำเป็นทั้งสองอย่าง คือทางด้านวัตถุ ที่เกี่ยวกับร่างกาย ทางด้านศีลธรรมคือคุณงามความดี ที่เกี่ยวกับจิตใจโดยเฉพาะทั้งในปัจจุบันและอนาคต ทรงทราบโดยตลอดทั่วถึง เพราะฉะนั้นจึงต้องทรงสั่งสอนบรรดาสัตว์ให้ทราบ ทั้งสิ่งภายนอกทั้งสิ่งภายใน คือใจ ทั้งปัจจุบันทั้งอดีตที่ผ่านมาแล้ว ทั้งอนาคตที่จะเป็นไปข้างหน้า ที่เป็นเรื่องของจิตใจจะพาเป็น พาไปหาสุข พาทุกข์ พาโง่ พาฉลาด พามีพาจน ตลอดพาให้พ้นทุกข์ เป็นเรื่องของใจทั้งสิ้น ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่ แต่โลกไม่ค่อยสนใจคิดกัน จึงมักมีแต่ความทุกข์ร้อนเป็นเพลิงเผาใจอยู่เสมอ
อดีต ที่ผ่านมาแล้วก็ได้แก่ ความเกิด แก่ เจ็บ ตาย ในภพนั้นๆ จนมาถึงปัจจุบันในฐานะที่เป็นอยู่เวลานี้ ความสุข ความทุกข์ ก็ทราบกันอยู่ตามเหตุปัจจัยว่า เกิดสุขบ้างทุกข์บ้าง ดังที่ทราบกันอยู่เวลานี้ และอนาคตที่จะเป็นไปข้างหน้า มีอะไรที่จะเป็นหลักของจิตใจ ที่จะสืบภพสืบชาติไปได้ด้วยดี ไม่มีความทุกข์ร้อน พระพุทธเจ้าก็ทรงทราบและทรงสั่งสอนให้บำเพ็ญ “สาระ” อันสำคัญ คือคุณงามความดีไว้สำหรับใจ จะได้มีความร่มเย็นเป็นสุข ไปเกิดในภพใดชาติใดก็เป็น “สุคติ สุคโต” ไม่ว่าจะเป็นศาสนาของพระพุทธเจ้าพระองค์ใด ที่ทรงสั่งสอนไว้ในโลกในยุคนั้นๆ ทรงสั่งสอนเป็นแบบเดียวกัน

ในโอวาทปาฏิโมกข์ “ท่านสอนไว้ย่อๆ

สพฺพปาปสฺส อกรณํ -การไม่ทำชั่วอันจะให้เกิดความเสียหายทั้งปวง หนึ่ง

กุสลสฺสูปสมฺปทา - การยังกุศลคือความฉลาดในทางที่ชอบให้ถึงพร้อม หนึ่ง

สจิตฺตปริโยทปนํ - การทำจิตให้ผ่องใสจนถึงความบริสุทธิ์ หนึ่ง

เอตํ พุทฺธาน สาสนํ -เหล่านี้เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย
นี่หลักใหญ่ของศาสนาท่านสอนเป็นแบบเดียวกัน เพราะกิเลสและสัตว์โลกเป็นชนิดเดียวกัน มีความทุกข์ความลำบาก มีกิเลสตัณหาเป็นเครื่องผูกพัน เป็นเครื่องร้อยรัดภายในจิตใจ ให้เกิดความเดือดร้อนวุ่นวายเช่นเดียวกัน การสั่งสอนธรรมจึงต้องอาศัยเรื่องของสัตว์โลกเป็นต้นเหตุ ที่จะสั่งสอนอย่างไรจึงจะถูกต้องเหมาะสม และเป็นประโยชน์แก่มวลสัตว์

เวลานี้เราทุกคนถ้าไม่มีหลักใจ เราก็ไม่แน่ใจตัวเองอยู่ตลอดเวลา ว่าถ้าตายแล้วจะไปไหน? จะไปสุขไปทุกข์ไปคติใด? ไปเกิดเป็นภพอะไรบ้าง เป็นสัตว์หรือบุคคลชนิดใด หรือจะไปลงนรกขุมไหน? เมื่อเชื่อตัวเองไม่ได้ การไม่ทราบได้นี้ เราก็ไม่ควรเสี่ยงต่อการไม่ทราบได้อยู่เสมอไป จึงควรสร้างความแน่ใจให้มีภายในตน การสร้างความแน่ใจก็คือสร้างตนด้วยหลักธรรมของพระพุทธเจ้า การให้ทาน การรักษาศีล การเจริญภาวนา นี่เป็นสิ่งที่แน่ใจสำหรับใจอย่างยิ่ง ไม่มีสิ่งใดที่จะแน่ใจยิ่งไปกว่าความดีเป็นเครื่องประกันนี้เลย

ความดีนี้มีอยู่ภายในจิตใด จิตนั้นเรียกว่า“ประกันตัวได้” เพราะความดีเป็นเครื่องประกัน จึงควรสร้างความแน่นอนไว้ให้จิตเสียแต่ในบัดนี้ อย่าให้เสียเวล่ำเวลาที่เกิดมาเป็นมนุษย์ทั้งคนทั้งชาติ กาลเวลาล่วงเลยมาแล้วเป็นหลายเดือน โดยไม่คิดอ่านไตร่ตรองอะไรเลย ในบรรดาสาระสำคัญที่จะเป็นคุณสมบัติของจิตนั้น ไม่สมควร!

สิ่งสมควรอย่างยิ่งนั้น คือพยายามทำเสียแต่ในบัดนี้ ไม่มีใครจะพูดให้เป็นที่เชื่อถือและพูดถูกต้องแม่นยำได้ยิ่งกว่าพระพุทธเจ้า คนพูดกันทั้งโลกมีความปลอมแฝงอยู่เรื่อยๆ ส่วนมากพูดออกมาด้วยความลุ่มหลง ไม่ได้พูดออกมาด้วยความจริงจัง เพราะต่างคน ต่างก็ไม่รู้จริงเห็นจริง จะเอาความจริงมาพูดอย่างอาจหาญได้อย่างไร

ส่วนพระพุทธเจ้า ในธรรมทุกบททุกบาทที่ได้ประทานไว้นี้ ล้วนแต่ทรงทราบด้วยเหตุด้วยผลประจักษ์พระทัยมาแล้ว จึงได้นำมาสั่งสอนสัตว์โลก คำสั่งสอนนั้นจึงเป็นที่แน่ใจได้ ผู้ปฏิบัติตามหลักธรรมที่พระองค์ทรงสอนไว้ จึงเป็นผู้แน่ใจในตนเองไป เรื่อยๆ จนกระทั่งแน่ใจเต็มภูมิหาที่สงสัยไม่ได้ เมื่อถึงขั้นแน่ใจเต็มภูมิแล้วเป็นอย่างนั้นเมื่อความดีเข้าสัมผัสใจแล้ว ย่อมเป็นที่แน่ใจได้เองสำหรับผู้ปฏิบัติบำเพ็ญ

ปกติธรรมของพระพุทธเจ้าเป็นที่แน่ใจสำหรับโลกทั่วไป ไม่มีโลกใดผู้ใดคัดค้านได้ นอกจาก“โลกเทวทัต” และพวกเทวทัตจำพวกเดียว ที่ไม่ยอมเป็นคนดีและไม่ยอมลงกับใคร แม้นายยมบาล ก็ไม่แน่ใจว่าเทวทัตจะทะลึ่งทะเลาะไม่ได้ ถ้าไม่มีมารเป็นสิ่งดลบันดาลใจ โดยเห็นสิ่งที่แน่ใจนั้นว่าเป็นของไม่แน่ใจไปเสีย เห็นสิ่งที่เป็นพิษเป็นภัยว่าเป็นของดีแล้วยึดถือ หรือคว้ามาเผาผลาญตนนั้นก็ไม่มีใครช่วยได้ ยกให้“เวรกรรมของสัตว์”

เราทั้งหลายทราบอยู่ด้วยกันว่า ดี ชั่ว บาป บุญ นรก สวรรค์ นิพพาน เป็นของมีมาดั้งเดิม ไม่ใช่เป็นสิ่งเสกสรรขึ้นมาเฉยๆ แต่เป็นสิ่งที่มีมาดั้งเดิมแล้ว พระพุทธเจ้าทรงสอนตามสิ่งที่มีอยู่ดั้งเดิม ไม่ได้มารื้อมาถอน มาปรุงมาแต่งเอาใหม่ว่ามี ทั้งๆ ที่สิ่งนั้นไม่มี นั่นไม่มีในโอวาทคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทุกๆ พระองค์ ที่ทรงนามว่า“สวากขาตธรรม” ซึ่งเป็นธรรมตรัสไว้ชอบแล้ว ทุกบททุกบาท ทุกแง่ทุกมุม “นิยยานิกธรรม” เอื้อมมือรอฉุดลากชาวพุทธ ช่วยเหลือชาวพุทธอยู่ตลอดเวลา “อกาลิโก” !

เช่น คำว่า “บาป” ก็หมายถึงความเศร้าหมอง ความสกปรกโสมม เหมือนมูตรคูถนั่นเอง ผลก็คือทุกข์ ถ้า “บาป” มันไม่มี แต่สัตว์โลกแต่ละราย ๆ ก็มีความทุกข์ประจักษ์ตนนั้น เพราะอะไรถึงเป็นทุกข์? ก็เพราะบาปมีนั่นเอง และเพราะสาเหตุคือ “กรรม” เมื่อโลกนี้ยังมีการทำกรรมอยู่ตราบใด ไม่ว่าฝ่ายดีฝ่ายชั่ว ผลจะแสดงให้เห็นอยู่เสมอว่า “เป็นสุขเป็นทุกข์” เรื่อยๆ ไป หากต้องการจะลบล้างกรรม ก็ต้องลบล้างการกระทำเสียทั้งหมด คือลบล้างบุญด้วยการไม่ทำบุญ ลบล้างบาปด้วยการไม่ทำบาปที่ตัวเราเอง ถ้าจะเป็นไปได้ แต่อย่าไปรื้อถอน “เรือนจำ” ซึ่งเป็นที่อยู่ของนักโทษเสียก็แล้วกัน ชาวเมืองจะเดือดร้อนและรุมตีเอาตายจะว่าไม่บอก! อย่าไปรื้อถอน “นรกสวรรค์” จงรื้อถอนที่การกระทำ “ดี ชั่ว” ของตัวเอง จะเป็นการลบล้าง “บาป บุญ”ไปในตัว

“นรก” ก็เป็นสถานที่อยู่ของสัตว์ผู้หยาบช้าลามก “สวรรค์” เป็นสถานที่อยู่ของผู้มีความดีหรือของผู้มีบุญ เราก็รู้เห็นอยู่แล้ว แม้ในโลกมนุษย์เราก็ยังมีสถานที่และเครื่องดัดสันดานมนุษย์ที่ทำไม่ดี เช่น เรือนจำเป็นสถานที่อยู่ของใคร ก็เป็นที่อยู่ของมนุษย์บาปหนา มีสติปัญญาที่นำไปใช้ในทางไม่เข้าเรื่อง สถานที่ดีกว่านั้นก็ยังมีอีกเยอะแยะ นอกจากเรือนจำ ที่ไม่ได้ถูกกักขังไม่ได้ถูกทำโทษทำกรรม ก็เห็นๆ กันอยู่ เพียงโลกนี้เราก็เห็น ทำไมโลกอื่นจะไม่มี เมื่อโลกนี้มีโลกอื่นมี วันนี้มีวันอื่นก็มี มันเป็นคู่กันมาอย่างนี้ แต่เราไม่สามารถมองเห็น ถึงจะมีมากน้อยกว้างแคบเพียงใด แต่สายตาเราสั้น เพียงมองดูขวากดูหนามตามสายทางเดิน ก็ยังไม่เห็นและเหยียบมันจนได้ หัวตอโดนหัวแม่เท้าก็ยังไม่เห็น โดนเอาจนนิ้วเท้าแตก แน่ะ ! คิดดูซิ ขณะจะโดนขณะจะเหยียบก็ต้องเข้าใจว่า “สิ่งนั้นไม่มี” แต่ความไม่มีนั้นลบล้างความมีอยู่ได้ไหม เวลาเดินไปเหยียบและโดนเอาอย่างนี้ หนามปักเท้าหรือไม่ปัก มันก็ปัก เพราะสิ่งนั้นมีอยู่ ไปเหยียบถูกมันก็ปัก ไปโดนหัวตอหัวแม่เท้าแตกจนได้ ทั้ง ๆ ที่หัวตอไม่มี นี่แหละลองคิดดู ความคิดด้นเดากับความจริงมันเข้ากันไม่ได้

สายตาเรามันสั้นอย่างนี้แหละ ประกอบกับความประมาทด้วย จึงโดนโน่นชนนี่อยู่เสมอ เพียงแต่มองดูหัวแม่เท้าตนมันก็ยังไม่ทั่วถึง ยังต้องโดนขวากโดนหนามโดนหัวตอจนได้ แล้วยิ่งสิ่งที่จะกล่าวเหล่านี้เป็นสิ่งที่ละเอียดยิ่งกว่าขวากหนามเป็นต้นมากมาย เป็นวิสัยของผู้ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญ เฉลียวฉลาด มีญาณหยั่งทราบความจริงอันละเอียดทั้งหลายเหล่านี้เท่านั้น ไม่ใช่ฐานะของคนอย่างเราๆ ท่านๆ ที่กำลังบอดๆ หนวกๆ แม้มีด้วยกันเต็มโลก จะมองเห็นได้

แต่พวกที่บอดๆ หนวกๆ นี้แหละ ชอบอวดเก่งแข่งพระพุทธเจ้าไม่มีพวกอื่น สิ่งที่ท่านว่า “มี” ก็ลบล้างเสียว่า “ไม่มี” สิ่งที่ท่านว่า “ไม่มี” ก็ลบเสีย เอาคำว่า “มี” มาแทน ท่านว่าสิ่งนี้ดีก็ลบเสีย เอาชั่วเข้ามาแทน ที่ท่านว่าสิ่งนั้นชั่วก็ลบเสีย เอาคำว่า “ดี”เข้ามาแทน ผลแห่งการ “แข่ง” ก็คือ ความแพ้ตัวเองตลอดไป ไม่ยอมเห็นโทษ ความเก่งไม่เข้าเรื่องของตน

พูดถึงการเชื่อ เราจะเชื่อคนตาดีหรือเชื่อคนตาบอด เราจะเชื่อคนโง่หรือเชื่อคนฉลาด เราจะเชื่อคน “เป็นธรรม” หรือเชื่อคน “จอมโกหก” พระพุทธเจ้าเป็นคนจอมโกหกหรือเป็นจอมปราชญ์ ? นั่น! ถ้าเชื่อคนตาบอดก็ต้องโดนไม้เรื่อยๆ ไป เพราะคนตาบอดไม่ได้เดินตามทาง ชนนั้นชนนี้ไปเรื่อยๆ ตามประสีประสาของคนตาไม่เห็นหนทาง ถ้าคนตาดีก็ไม่โดน นอกจากจะเผลอตัวหรือประมาท จึงไปโดนหรือเหยียบขวากเหยียบหนาม คนตาดีเหยียบได้ในขณะที่เผลอ ขณะที่ไม่เห็น แต่คนตาบอดนี่เห็นไม่เห็นก็ไม่ทราบละ เหยียบและชนดะไปเลย อะไรไม่ขาดหลุดไปในขณะนั้น ค่อยใส่ยากันทีหลัง

แล้วคนอย่างเราๆ ท่านๆ จะยอมเชื่อคนตาบอดไหมล่ะ? ถ้าไม่เชื่อก็ควรคำนึงในบทว่า “พุทฺธํ ธมฺมํ สงฺฆํ สรณํ คจฺฉามิ” บ้าง เวลาคนตาบอดเอื้อมมือมาจะจูงด้วยความเมตตาของเขาจะได้ระลึกทัน ไม่จมไปแบบ “ไม่เป็นท่า” น่าอับอายขายขี้หน้าไปตลอดวันตาย

การเกิดของสัตว์โลกก็เกิดดะไปเลย เหมือนคนตาบอดโดนไม้นั่นแล เพราะไม่เห็นไม่ทราบแล้วแต่กรรมจะพาไป กรรมจูงกรรมลากกรรมฉุดไปไหนก็จำต้องไป เพราะไม่มีอำนาจไม่มีกำลังที่จะฝ่าฝืนกรรมทั้งหลายได้ กรรมต้องเป็นผู้ฉุดลากไป ถ้าเป็นกรรมชั่วมันก็ฉุดลากเข้าป่าเข้ารกตกเหวลงบ่อไปเรื่อยๆ จนตกนรกอเวจีไม่มีสิ้นสุด ถ้าเป็นกรรมดีก็พยุงส่งเสริมให้ไปในทางที่ดี ตามแต่กำลังกรรมที่มีมากมีน้อย

พวกเกิดที่เกิดไม่รู้เรื่องรู้ราว ที่เกิดไม่มีบุญพาไปเกิด ที่เกิดไม่มีความสามารถอาจรู้ด้วยญาณ ก็มันเป็นแบบ “เกิดดะ” ดะไปเลย สุขก็มีทุกข์ก็มี อะไรก็ค่อยรับเสวยและแบกหามเอา ไม่ทราบว่ามันจะมีมาเมื่อไร แม้แต่เราเกิดมานี้ก็ยังไม่ทราบว่า มาจาก“ภพอะไร”

คิดดูซิ เราเป็นตัวภพตัวชาติ ตัวเกิดตัวตายอยู่แล้ว ยังไม่สามารถทราบเรื่องของตัวได้ จะไปพูดถึงข้างหน้าอะไรได้ อะไรที่จะเป็นเครื่องให้เราเป็นที่แน่นอนใจ เราก็ควรทราบเสียตั้งแต่บัดนี้ และรีบบำเพ็ญเสียแต่บัดนี้อย่าประมาท! เพราะผลแห่งความประมาทเคยทำสัตว์โลกให้ล่มจมมานับไม่ถ้วนแล้ว

การตายแบบสุ่มๆ เดาๆ การเกิดแบบสุ่มๆ เดาๆ ที่ไม่แน่ใจตัวเอง ตลอดความเป็นอยู่ก็ไม่แน่ใจอย่างนี้ เรายังจะตายใจกับความไม่แน่ใจอยู่หรือ ? นั่นไม่สมควรแก่เราเลย ! ไม่สมกับเราเป็นมนุษย์ผู้ฉลาดในวงพระศาสนา อันเป็นยอดคำสอนให้คนฉลาดต่อเหตุการณ์และปฏิบัติต่อตัวเอง

เฉพาะอย่างยิ่งการผลิตความดีความเฉลียวฉลาดขึ้นภายในใจ ด้วยจิตตภาวนานี้ เป็นสิ่งสำคัญมาก อาจมองเห็นได้และสามารถมองเห็นได้ใน “บาป บุญ นรกสวรรค์ หรือนิพพาน” เพราะเป็นสิ่งมีอยู่ดั้งเดิมแล้ว จึงอาจมองเห็นได้ด้วยจิตตภาวนาที่มีความสามารถต่างกัน บุญอยู่ที่ไหนใจก็ทราบ ทราบอยู่ที่ไหน อยู่ที่จิต ทราบว่าบุญอยู่ที่ใจอย่างประจักษ์แล้วใจก็เย็นสบาย ความรุ่มร้อนเกิดขึ้นเมื่อใด เพราะสาเหตุอันใดก็ทราบที่ใจดวงคอยรับทราบอยู่แล้วนั่นเอง นรก สวรรค์ ก็ทราบ ทราบอยู่ภายในใจ ทราบทั้งที่จะไปข้างหน้า ตัวนี้เป็นผู้พาไป จะไปอยู่ในสถานที่ใดเล่า คนชั่วก็ไปเข้าเรือนจำ คือติดคุกติดตะราง จิตที่ชั่วก็ไปลงนรก จิตดีมีกุศลก็ไปสู่สุคติภูมินั้น ตามกำลังแห่งบุญของตนของตน

เมื่อปฏิบัติไป ๆ สิ่งที่ปิดบังจิตใจค่อยหมดไปจางไป ๆ ความสว่างกระจ่างแจ้งค่อยเกิดขึ้นแทนที่ และสามารถมองเห็นสิ่งต่างๆ ได้โดยลำดับๆ ก็ค่อยฉายแสงออกมาจนเต็มภูมิของจิต จะไปเกิดที่ไหนก็ทราบอยู่ในฐานของจิตในชั้นภูมิของจิต จะไม่เกิดก็ทราบตามชั้นภูมิของจิตว่า “หมดเชื้อแล้ว” ไม่มีการที่จะเกิดต่อไปอีกแล้ว ต้องทราบ เมื่อถึงขั้นที่จะทราบแล้วปิดไม่อยู่

ฉะนั้นท่านจึงสอนให้อบรมจิต จิตนี้เป็นตัวรู้ตัวฉลาดแหลมคมมาก ต้องสอนให้แหลมคม อบรมใจละเอียดสุขุมเต็มภูมิจนมีความเฉลียวฉลาด มีความสามารถมากกว่าสิ่งใดในโลกไม่มีสิ่งใดเสมอเหมือน แต่เราไม่ได้อบรมสั่งสอน จิตจึงอาภัพและอาภัพอยู่ตลอดเวลา ยืน เดิน นั่ง นอน อาภัพทั้งนั้น เพราะสิ่งอาภัพมันปกปิดกำบังไว้ มันมีอำนาจเหนือกว่า จิตจึงเลยกลายเป็นจิตอาภัพไปตามๆ มัน

จำต้องช่วยจิตด้วยสติปัญญา ให้มีความสงบร่มเย็นทรงตัวได้ ไม่ถูกเขย่าก่อกวนอยู่ตลอดเวลาดังที่เคยเป็นมา เมื่อใจสงบภายในก็เห็นคุณค่าของใจ สงบมากก็เห็นมากรู้มาก เข้าใจมาก และผลิตสติปัญญา

พิจารณาดูโลกธาตุอันนี้ไม่มีอะไรที่ควรชื่นชมเทิดทูนรื่นเริงอะไรนักหนา สถานที่อยู่อาศัยอาหารปัจจัยเครื่องปรนปรือ เต็มไปด้วย อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา คอยจะให้หลั่งน้ำตากับมันอยู่เรื่อยๆ นอนใจไม่ได้เลย มองไปรอบด้านล้วนแต่ป่าช้าของสัตว์ของคน เต็มไปด้วย “อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา” เข้าในบ้านก็ได้ยินเสียงบ่น ออกนอกบ้านก็ได้ยินเสียงบ่น เข้าในเมืองก็ได้ยินเสียงบ่นเพ้อไปทั่วทุกหนทุกแห่ง เพราะเรื่องความทุกข์ความทรมานของสัตว์ของคน มีอยู่ทุกแห่งทุกหนตำบลหมู่บ้าน จะสงสัยที่ไหนว่าจะมีความสุขความสบาย ไม่มีอะไรมาก่อกวนให้ได้รับความทุกข์ความลำบาก แท้จริงมันล้วนกองทุกข์อยู่รอบตัว นอกจากการสร้างจิตใจเราให้มีความแน่นหนามั่นคงขึ้นด้วยศีลด้วยธรรมเท่านั้น

นี่แหละเป็นที่ปลอดภัยไร้ทุกข์ อยู่ที่ไหนก็ไม่มีอะไรมากวน นี้เป็นสิ่งสำคัญมาก เมื่อสร้างให้เต็มภูมิแล้วต้องเย็น สถานที่นั่นเป็นยังไง ? สถานที่นี่เป็นยังไง ? ไม่ถามให้เสียเวลา เพราะความเย็นอยู่กับเจ้าของ ความสุขอยู่กับเจ้าของ หลักใหญ่อยู่กับเจ้าของแล้ว ก็ไม่ทราบจะถามเอาสมบัติที่ไหนกัน ตัวจริงอยู่กับเรา เรารู้อยู่ เห็นอยู่ ครองอยู่จะไปเจอทุกข์ที่ไหนกัน!

นี่แหละท่านว่าการสร้างตัวในด้านธรรมสร้างอย่างนี้ สร้างตัวทางโลกก็ดังที่ทราบๆ กันอยู่คือ สร้างเนื้อสร้างตัวด้วยการขวนขวายในด้านกิจการทำมาหาเลี้ยงชีพ ให้มีทรัพย์สมบัติเงินทอง เรียกว่า “สร้างเนื้อ สร้างตัว สร้างฐานะในทางโลก” ผู้นั้นก็พอเป็นพอไปเกี่ยวกับสมบัติฐานะ ตลอดความเป็นอยู่ต่างๆ

สร้างภายในคือสร้างจิตใจให้มีหลักมีฐานมั่นคง ให้รู้สิ่งดีสิ่งชั่ว พยายามแก้ไขดัดแปลงไปโดยสม่ำเสมอ จนจิตใจมีความเชื่อถือตัวเองได้ มีความแน่ใจได้ อยู่ที่ไหนก็เป็นหลักเกณฑ์ มีความสุขความสบาย ตายแล้วก็เป็นสุข นี่ผู้มีหลักจิตใจเป็นอย่างนี้ ผิดกับผู้ไม่มีหลักใจอยู่มาก

บรรดาที่เป็นคนด้วยกันก็ไม่เหมือนกันในความรู้สึก จิตก็ว่าจิตเหมือนกัน แต่ก็ต่างกันในฐานะสูงต่ำของจิต ความโง่ความฉลาดผิดแปลกกันอยู่มาก ท่านว่า “เป็นนิสัยสมบัติ” เป็นตามบุญกรรมอำนาจวาสนาที่สร้างมา จะเหมือนกันไม่ได้




** ท่านผู้เข้าชมทุกท่านโปรดทราบ
เนื่องจากกัณฑ์เทศน์บางกัณฑ์มีความยาวค่อนข้างมาก ซึ่งจะส่งผลต่อความเร็วในการเปิดเว็บไซต์ ขอแนะนำให้ทุกท่านได้อ่านเนื้อหากัณฑ์เทศน์บางส่วนจากเว็บไซต์ และให้ทำการดาวน์โหลดไฟล์กัณฑ์เทศน์ที่มีนามสกุล .pdf ไปเก็บไว้ในเครื่องของท่านแทนการอ่านเนื้อหาทั้งหมดจากเว็บไซต์


<<
เวลาทำสมาธิ

ให้ระลึกลมหายใจเข้าออก

ให้รู้ลมหายใจเข้าออก

หายใจเข้าสั้นก็รู้

หายใจออกสั้นก็รู้

หายใจเข้ายาวก็รู้

หายใจออกยาวก็รู้

ไม่ต้องบังคับลมหายใจ

ตามรู้ลมหายใจเข้าออก

สงบก็รู้ ไม่สงบก็รู้

สงบก็ไม่ยินดี ไม่สงบก็ไม่ยินร้าย

ไม่เอาทั้งสงบและไม่สงบ

เอาแค่รู้ตามความเป็นจริงของสภาวธรรมปัจจุบันนั้น

ทำอะไรก็ให้รู้เหตุปัจจัย

รู้ไม่ใช่เพื่อ ยินดี ยินร้าย รู้เพื่อให้ รู้เหตุปัจจัย

เหตุแห่งความเจริญ

เคารพ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์

เคารพ สิกขา 3 ศีล สมาธิ ปัญญา

เคารพในความไม่ประมาท

เคารพในการปฎิสันฐาน

เคารพใน ศีล

เคารพใน สมาธิ

เคารพในกันและกัน

หลักตัดสิน ธรรมวินัย 8 ประการ

ธรรมเหล่านี้เป็นไปเพื่อคลายกำหนัด

เป็นไปเพื่อไม่ประกอบสัตว์ไว้

เป็นไปเพื่อไม่สั่งสมกิเลส

เป็นไปเพื่อความเป็นผู้มักน้อย

เป็นไปเพื่อสันโดษ

เป็นไปเพื่อความสงัดจากหมู่คณะ

เป็นไปเพื่อปรารภความเพียร

เป็นไปเพื่อความเป็นคนเลี้ยงง่าย

ธรรมที่ควรเจริญ

สติ

สัมปัชชัญญะ

ศีล

สมาธิ

ปัญญา

วิมุตติ

วิมุตติญาณทัสสนะ

สัมมาทิฏฐิ เห็นชอบ

สัมมาสังกัปปะ ดำริชอบ

สัมมาวาจา พูดชอบ

สัมมาอาชีโว อาชีพชอบ

สัมมากัมมันโต การงานชอบ

สัมมาวายาโม ความเพียรชอบ

สัมมาสติ ระลึกชอบ

สัมมาสมาธิ ตั้งมั่นชอบ

สัมมาญาณะ ความรู้ชอบ

สัมมาวิมุตติ หลุดพ้นชอบ

สัมมาวิมุตติญาณทัสสนะ ความเห็นในการหลุดพ้นชอบ

สัมมาทิฏฐิ

คือ รู้ชัดซึ่ง เหตุแห่ง กุศล วิชชา เป็น เหตุ

รู้ชัดซึ่ง เหตุแห่ง อกุศล อวิชชา เป็น เหตุ

การบรรลุธรรมอาศัย สติ ปัญญา อุเบกขา เป็นมัทยัทธ์

รักษาสัจจะ เพิ่มพูลจาคะ ไม่ประมาทปัญญา ศึกษาสันติ

การปฎิบัติธรรม

คบสัตบุรุษ ฟังพระสัทธรรม อยู่ในประเทศเหมาะสม ตั้งสัจจะ เดินสัมมาทิฏฐิ เจริญความสงบ

ออกพิจารณาด้านปัญญา + พลังกุศล - บ่มอินทรีย์ นิพพิทา วิราคะ วิมุตติ วิมุตติญาณทัสสนะ

สติ - ศีล - สมาธิ - ปัญญา - วิมุตติ - วิมุตติญาณทัสสนะ

อัปปมาโณพุทโธ อานุภาพพระพุทธเจ้าไม่มีประมาณ

อัปปมาโณธัมโม อานุภาพพระธรรมไม่มีประมาณ

อัปปมาโณสังโฆ อานุภาพพระสงฆ์ไม่มีประมาณ

เรื่องของสมมติ อวิชชา ตัวตน ยึดตรงไหน หลงที่ไหน ผิดที่นั้น จุดต่อมแห่งภพชาติ

wiweksikkaram.hi5
 
จำนวนผู้ตอบ: 114
สมัครสมาชิก: Mon Mar 15, 2010 12:20 am
ที่อยู่: สุทธาวาสภูมิ

กลับไปหน้า ธรรมเพื่อชีวิต

ผู้ที่กำลัง online

ผู้ที่กำลังอ่าน forum นี้: สมาชิก ไม่มีสมาชิก และ ผู้เยี่ยมชม 3 คน

cron