ธรรมชุดเตรียมพร้อม 17

เพื่อสนทนาธรรม และแลกเปลี่ยนความคิดเห็น เพื่อความเป็นกัลยาณมิตร กัลยาณธรรมที่ดีต่อกัน

ธรรมชุดเตรียมพร้อม 17

Postโดย wiweksikkaram.hi5 » Tue Apr 20, 2010 11:08 pm

เทศน์อบรมฆราวาส ณ วัดป่าบ้านตาด

เมื่อวันที่ ๑๑ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๑๘

ความอัศจรรย์แห่งธรรม



ผู้ปฏิบัติธรรมจะเริ่มรู้ธรรม หรือมีความรู้สึกในธรรม ทางด้านจิตตภาวนาเด่นกว่าด้านอื่นๆ ขยายวงกว้างออกไป เช่น ความซึ้งจากการให้ทาน ก็เป็นความซึ้งประเภทหนึ่ง เกิดจากการรักษาศีล ก็ซึ้งประเภทหนึ่ง เกิดจากการทำความดีทั้งหลาย ก็ซึ้งไปแต่ละประเภทๆ นี่เรียกว่า “ซึ้งในกุศลธรรม”

แต่ที่รวมแห่งความซาบซึ้งทั้งหลาย ก็คือ “จิตตภาวนา” เริ่มมีความรู้สึกซาบซึ้งไปตั้งแต่จิตเริ่มมีความสงบ ใจรวมกระแสเข้ามาเป็นตัวของตัวโดยเฉพาะ แม้จะยังไม่มีความสงบมากจากจิตที่รวมเข้ามาก็ตาม แต่ก็เริ่มแสดงความซาบซึ้งภายในตัวให้เห็นชัดเจน ถ้าจิตหรือธรรมเป็นด้านวัตถุแล้ว คนทั้งโลกคงจะไม่มีใครที่จะไม่นับถือศาสนา เพราะความดี ความสุข ความอัศจรรย์ที่เกิดจากศาสนา และการปฏิบัติตามหลักศาสนธรรมเป็นสิ่งที่โลกต้องการด้วยกันทั้งนั้น

คำว่า “ดี” คำว่า “สุข” คำว่า “ความอัศจรรย์” นี่เป็นสิ่งที่โลกต้องการประจำใจกันมาแต่กาลไหนๆ ไม่เคยจืดจาง และจะยังมีความต้องการกันตลอดไป จนกระทั่งโลกนี้หมดความหมาย หรือคนตายแล้ว ที่ไร้ความรู้สึกดีชั่วแล้วนั่นแล โลกจึงจะไม่ปรารถนาสิ่งที่เป็นมหามงคลเหล่านั้น คำว่า “ความสุข ความอัศจรรย์” ที่เกิดจากความอัศจรรย์ คือธรรมฝ่ายผลนั้น เป็นสิ่งที่สัตว์โลกปรารถนาทั่วหน้ากัน เป็นแต่ความสามารถมีความเหลื่อมล้ำต่ำสูงต่างกัน จึงสมหวังบ้าง ไม่สมหวังบ้าง

แต่ “ธรรม” ไม่สามารถที่จะแสดงออกให้โลกเห็นได้ โดยทาง ตา หู จมูก ลิ้น และกาย เหมือนสิ่งอื่นๆ แม้สิ่งอื่นๆ ที่เป็น “นามธรรม” คล้ายคลึงกันกับธรรมก็ตาม เช่น กลิ่น เป็นต้น แต่ก็ไม่เหมือนธรรมแท้ ซึ่งสัมผัสได้ด้วยใจของผู้ปฏิบัติธรรม หากธรรมแสดงตัวออกเหมือนด้านวัตถุได้ โลกมนุษย์จะต้องนับถือศาสนาเพื่อธรรมนั้นโดยไม่สงสัย ทั้งนี้เพราะว่า ธรรมนี้เป็นสิ่งอัศจรรย์มากยิ่งกว่าสิ่งใดๆ ในโลกทั้งสาม ไม่มีสิ่งใดที่จะเป็นความอัศจรรย์ยิ่งกว่าธรรม

ธรรมนี้จะปรากฏเป็นความอัศจรรย์ขึ้นมาได้ ย่อมเด่นชัดขึ้นที่จิต จิตเป็นผู้รับทราบ รับทราบได้เฉพาะจิตเท่านั้น ไม่สามารถแสดงออกในที่ทั่วไปได้เหมือนด้านวัตถุ ดังที่เรานำสิ่งต่าง ๆ ออกมาชม และมาอวดกัน นี่เป็นความสุดวิสัยที่ธรรม ซึ่งนำออกแสดงอย่างวัตถุต่างๆ ไม่ได้ จึงทำให้โลกขาดความสนใจ และสิ่งที่พึงหวังจากธรรมอย่างน่าเสียดาย

แม้ผู้ที่ต้องการความอัศจรรย์แห่งธรรม ก็ไม่ทราบว่าความอัศจรรย์นั้นคืออะไร หรือความลึกซึ้งแห่งธรรมนั้นคืออะไร? เพราะจิตไม่เคยได้สัมผัสกับความซาบซึ้งนั้นๆ ตาไม่เคยได้สัมผัสกับความอัศจรรย์ หูไม่เคยได้รับความอัศจรรย์จากกระแสแห่งธรรม เพราะธรรมแสดงเป็นเหมือนกระแสเสียงออกมาอย่างสิ่งทั้งหลายไม่ได้ นี่เป็นอุปสรรคอันหนึ่ง ที่ทำให้คนเกิดความซาบซึ้งในธรรมไม่ได้ เกิดความเชื่อ และความหวังพึ่งเป็นพึ่งตายในธรรม ไม่ได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย ตามที่โลกหิวกระหายต่อความสุขความเจริญมานานแสนนาน

ไม่ว่าพระพุทธเจ้าองค์ใดที่ได้มาตรัสรู้ในโลก และสอนธรรมแก่โลก ทุกพระองค์ท่านต้องไตร่ตรองเต็มพระปรีชาสามารถในวิธีการสอนโลกมากมาย พอให้โลกได้มองเห็นธรรมที่เป็นของอัศจรรย์ เพราะไม่อาจอัญเชิญธรรมออกมาตั้งโชว์หน้าร้าน หรือสาธารณสถานต่างๆ ได้ เพราะ “ธรรมแท้” มีอยู่ที่จิตใจ และแสดงออกมาเพียง ทางกาย ทางวาจา เท่านั้น ซึ่งไม่ชวนให้ดูดดื่มอย่างถึงใจนัก ยิ่งกว่าการสัมผัสด้วยใจ

เมื่อไม่มีทางพอนำออกได้ จึงได้ทรงนำออกด้วยการประกาศสั่งสอน ชี้ถึงเหตุแห่งธรรมเครื่องดำเนิน และการประพฤติปฏิบัติ เพื่อเข้าถึงผลแห่งธรรมจุดนั้นๆ หรือขั้นนั้นๆ และประกาศสอนทั้งฝ่ายผล คือ ความประเสริฐ ความอัศจรรย์ ตามขั้นภูมิแห่งธรรม ซึ่งจะพึงสัมผัสได้โดยทางใจ จนถึงความอัศจรรย์อันสูงสุด ได้แก่ “วิมุตติ” ความหลุดพ้นทางใจที่เรียกว่า “นิพพานภายในใจ”

ทุกๆ พระองค์ต้องทรงคิดค้นอุบายวิธีประกาศสอนธรรม เพื่อนำความอัศจรรย์นั้นออกมาสู่โลกด้วยกระแส หรือด้วยอากัปกิริยาต่างๆ เช่น การแสดงธรรม และ แสดงอากัปกิริยาของธรรม ว่าเป็นอย่างนั้น อย่างนั้น แต่องค์แห่งธรรมแท้นั้นนำออกแสดงไม่ได้ เป็นสิ่งที่รู้อยู่จำเพาะใจ เช่น พระพุทธเจ้าแต่ละพระองค์ หรือ พระอรหันต์แต่ละองค์นั้น เป็นผู้ทรงไว้ซึ่งความอัศจรรย์ดังกล่าวนี้ ไม่มีองค์ใดมีความบกพร่อง ในบรรดาพระพุทธเจ้าทุกๆ พระองค์ และพระอรหันต์ทั้งหลายที่เป็นผู้ทรงไว้ซึ่งความอัศจรรย์นี้

ความอัศจรรย์นี้อยู่ที่จิต เป็นแต่เพียงไม่สามารถนำเอาธรรมอัศจรรย์ที่ปรากฏอยู่ออกแสดงได้อย่างเต็มภูมิแห่งความอัศจรรย์นี้เท่านั้น จึงได้หาอุบายวิธีนำออกทางกิริยาซึ่งก็เป็นอาการแห่งธรรมเท่านั้น ไม่ใช่ธรรมอันแท้จริง! ดังศาสนธรรมที่ท่านสอนไว้ในคัมภีร์ใบลาน เหล่านี้เป็นอาการแห่งธรรมทั้งนั้น กิริยาที่ท่านสอนก็เป็นอาการแห่งธรรมเช่นเดียวกัน สิ่งที่เป็น “ธรรมแท้ ๆ” ก็คือ “ผู้ปฏิบัติ” หรือผู้สดับตรับฟังจากการแสดงของท่าน ตามเรื่องราวต่างๆ แห่งธรรม โดยวิธีปฏิบัติ และสัมผัสขึ้นภายในจิตใจของตนโดยลำดับๆ นั้นชื่อว่า “เริ่มสัมผัสธรรมแท้” เป็นขั้นๆ ไป จะสัมผัสมากน้อยเพียงไรก็เป็นที่ซาบซึ้งอยู่ภายในจิตใจของผู้ได้รับการสัมผัส จากการปฏิบัติธรรมของตนโดยเฉพาะๆ เท่านั้น

ถ้าพูดถึงความฉลาดแหลมคมในการสั่งสอนแล้ว ก็ไม่มีใครเกินพระพุทธเจ้าแต่ละพระองค์ไปได้ แม้เช่นนั้นก็ได้ทรงนำออกมาเท่าที่เห็นสมควรจะเป็นไปได้แก่มวลมนุษย์เท่านั้น แต่ธรรมแท้ไม่สามารถที่จะนำออกมาได้ เช่น ความอัศจรรย์ในพระทัยจริงๆ ที่จะนำมาคลี่คลายให้สัตว์โลกได้เห็นว่า “นี่ความอัศจรรย์ของตถาคต, ของพระพุทธเจ้าแต่ละพระองค์เป็นอย่างนี้ พวกท่านทั้งหลายเห็นไหม?” อย่างนี้ทำไม่ได้ นี่คือความอัศจรรย์แห่งความบริสุทธิ์ของใจ ซึ่งแต่ก่อนถูกกิเลสครอบงำอยู่ เป็นเหมือนมูลสดมูลแห้งแต่เวลานี้กลายเป็นธรรมชาติที่บริสุทธิ์ผุดผ่อง หรือเป็นธรรมชาติที่บริสุทธิ์ อัศจรรย์ ขึ้นมาอย่างนี้ เพราะการปฏิบัติซักฟอกอยู่เสมอไม่ลดละปล่อยวางนั่นเอง แต่ไม่ทรงนำธรรมนั้นออกแสดงโชว์ได้ว่า:

“ท่านทั้งหลายเห็นไหม นี่ดูเอา ดูเอา พาให้ชมเสียให้อิ่มใจ แล้วพากันบำเพ็ญให้เป็น “อัตสมบัติ” นะ ดังนี้ ท่านจึงได้สอนด้วยอุบายวิธีต่างๆ ให้แก่ผู้ปฏิบัติ และบอกเรื่องราวแถวทางไว้อย่างสมบูรณ์ ทั้งเหตุและผล การแสดงออกก็มีแต่กระแสเสียง อันเป็นลมปาก คือ การนำออกมาพูดนั้น ก็เป็นเพียงลมปากนั่นเอง ความจริงเอาออกมาไม่ได้ เช่นว่าอัศจรรย์อย่างนี้ ก็เป็นเพียงเสียง ธรรมชาติที่อัศจรรย์นั้นเอาออกมาไม่ได้ จะนำออกมาได้แต่เพียงกิริยาว่า ธรรมชาตินั้นอัศจรรย์! ให้เราได้คาดได้หมายเอาเองว่า ความอัศจรรย์เป็นอย่างไร แม้จะไม่หายสงสัย ก็ยังดีกว่าไม่ได้ยินไม่ได้ฟังเสียเลย

แต่หลักใหญ่ที่จะทำให้รู้เห็นธรรมอัศจรรย์ ก็จำต้องคาดหมายไปก่อน และปฏิบัติตาม ก็ชื่อว่า ดำเนินตามหลักธรรมที่ท่านสอนไว้ซึ่งเป็นความถูกต้อง ผู้ประพฤติปฏิบัติดำเนินตาม จะได้รับความยุ่งยากลำบากเพียงไรก็ตาม เพราะทางเดินอยู่ที่นี่ ไม่มีทางอื่นเป็นที่ปลีกแวะ เพื่อความสะดวกสบายและถึงจุดที่หมายได้ เพราะฉะนั้น ความยากหรือความลำบากใดๆ ก็ตาม อย่าได้ถือมาเป็นอุปสรรคในการดำเนิน คือ การปฏิบัติของตนยากก็ต้องฝืน ทุกข์ลำบากก็ต้องทน เพราะเป็นภาระของเราจะต้องทำ จะต้องแบกต้องหามในขณะที่ทำงานเพื่อสำเร็จตามความมุ่งหมาย

คำว่า “ธรรม” เป็นดังที่ว่านี้แล จิตเป็นธรรม ธรรมเป็นจิต การเรียกว่า “จิต” ก็เรียกได้แต่ในขณะที่ยังมีธาตุมีขันธ์อยู่ เรียกว่า “จิตบริสุทธิ์” หรือ “จิตของพระอรหันต์, จิตของพระพุทธเจ้า” พูดได้เท่านั้น พอผ่านจากขันธ์ไปแล้ว ไม่มีสมมุติพอที่จะพาดพิงเทียบเคียงกันได้เลย จึงพูดไม่ได้

แม้ธรรมชาตินั้นจะอัศจรรย์เพียงไร ก็ไม่ใช่วิสัยที่จะนำสมมุติไปพูดไปเทียบเคียงได้ เพราะธรรมนั้น แดนวิมุตตินั้น ไม่มีสมมุติเป็นที่พึ่งพิงหรือที่เทียบเคียง เช่นเดียวกับเราอยู่บน “อวกาศ” เสียจริงๆ แล้ว ทิศใต้ ทิศเหนือ อยู่ทางไหนไม่ทราบกันละ ถ้าเราอยู่บนแผ่นดิน ก็พูดได้ว่า ตะวันออก ตะวันตก ทิศเหนือ ทิศใต้ เพราะมันมีที่พอสังเกต พอเทียบเคียง และพอพูดได้ว่า ทิศทางใดเป็นทิศใด เพราะถือแผ่นดินเป็นเกณฑ์ สูงต่ำ ก็หมายเอาแผ่นดินที่เราอยู่นี้เป็นหลักฐาน สูงกว่านี้ไปเท่าไร ต่ำไปกว่านี้ ไปเหนือ ไปใต้ เท่าไร เราพูดได้

ถ้าอยู่บนอวกาศเสียจริงๆ ไม่มีอะไรพาดพิงพอจะให้วัดกันได้มันก็พูดไม่ได้ เหมือนอย่างเรือบินที่ขึ้นไปในอากาศ ไม่ทราบมันช้ามันเร็วเท่าไร เมื่อผ่านก้อนเมฆก็ทราบได้ว่า มันเร็ว ถ้าตามสายตาของเราก็ต้องคิดว่า เรือบินมันบินเร็วสู้รถยนต์ไม่ได้! พวกเราสายตาฝ้าฟางอย่างเห็นได้ชัดเช่นนี้เอง มองเห็นรถยนต์วิ่งตามถนน โอ้โห! มองดูต้นไม้มันล้มระนาวคืนข้างหลังโน่น เวลารถยนต์วิ่งไปข้างหน้า ต้นไม้สองข้างถนนล้มครืนข้างหลังหมด ความจริงต้นไม้มันก็อยู่เฉพาะมัน เป็นแต่รถยนต์วิ่งผ่านมันไปเท่านั้น อาศัยมีสิ่งที่สัมผัสพาดพิงถึง จึงดูเหมือนรถมันเร็วเสียจริง ๆ

ส่วนเรือบิน ไม่มีอะไรพาดพิง มองดูมันเหมือนบินเอื่อยๆ ราวกับว่า เรือบิน บินช้ากว่ารถยนต์ ความจริง เรือบินมันเร็วกว่าตั้งหลายเท่า

นี่เมื่อเทียบจิตใจของปุถุชน กับจิตใจของพระพุทธเจ้าแล้ว ก็เป็นอย่างนั้น อันไหนที่ท่านว่าดี อันไหนที่ท่านว่าประเสริฐ ปุถุชนเรามักจะว่า “ไม่ดี ไม่ประเสริฐ” สิ่งที่เจ้าของชอบ ถึงจะเลวขนาดไหนก็ว่าดีทั้งนั้น! ไม่ยอมรับตามความจริง เหมือนที่เข้าใจว่า รถยนต์มันวิ่งเร็วกว่าเรือบินนั่นเอง

การปฏิบัติจิตใจเป็นสิ่งสำคัญมาก พยายามฝึกหัดสติปัญญาให้ดี จะทันกับสิ่งที่มาเกี่ยวข้องพัวพันกับจิตใจ ส่วนมากใจนั้นแล เป็นผู้ก่อเรื่องเอง ผลิตขึ้นมาเรื่อยๆ ไม่หยุดไม่ถอย เราก็หลงอารมณ์ของใจที่แสดงออก ทำให้เกิดความเดือดร้อนวุ่นวาย เสียอกเสียใจ ก็เพราะความคิดปรุงของใจ ซึ่งเกิดขึ้นจากตัวเอง แล้วก็หลงอารมณ์ของตัวเอง ว่าสิ่งนั้นเป็นนั้น สิ่งนี้เป็นนี้ ทั้งๆ ที่สิ่งนั้นก็เป็นอยู่ตามธรรมชาติของเขา เขาไม่ได้มีความหมายในตัวเขาว่า เขาเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ เป็นแต่เพียงจิตเป็นผู้ไปให้ความหมาย แล้วก็หลงความหมายของตัวเอง จึงทำให้เกิดความดีใจ ความเสียใจ กับสิ่งนั้นๆ ไม่มีสิ้นสุด ทุกข์ที่เป็นผลจากความคิดปรุงต่างๆ จึงหาที่สิ้นสุดจุดหมายปลายทางไม่ได้ ราวกับลอยคออยู่ในมหาสมุทร รอลมหายใจในวาระสุดท้าย

พระพุทธเจ้าทั้งหลาย ท่านก็ตรัสรู้ที่แดนมนุษย์นี้ เพราะแดนมนุษย์สมบูรณ์ด้วย “สัจธรรม” คือ รู้เห็นได้อย่างชัดๆ “ทุกขัง อริยสัจจัง” ก็มีอยู่กับกายมนุษย์ มนุษย์รู้เรื่องของความทุกข์ นั่นเพราะมนุษย์ฉลาดกว่าสัตว์ “สมุทัย อริยสัจจัง” ก็มีอยู่ภายในใจของมนุษย์ “มรรค” คือ ทางปฏิบัติเพื่อแก้กิเลส ตัณหา อาสวะ อันเป็นตัวผลิตทุกข์ทั้งมวล มนุษย์ก็ทราบ! มรรค คือ อะไร? สรุปลงแล้ว คือ ศีล สมาธิ ปัญญา ที่มนุษย์ก็ทราบ และปฏิบัติดำเนินได้ “นิโรธ” ความดับทุกข์ มนุษย์ก็ทราบ ไม่ว่า “สัจจะใด” มนุษย์ทราบทั้งสิ้น นอกจากไม่ทราบวิธีปฏิบัติ หรือไม่สนใจปฏิบัติตาม “สัจธรรม” นั้นๆ เท่านั้น จึงสิ้นวิสัยที่ “ธรรม” จะช่วยได้

พระพุทธเจ้าทั้งหลาย ท่านจึงสอนธรรมในแดนมนุษย์ เพราะเป็นศูนย์กลางแห่งภพทั้งหลาย

เราเกิดในท่ามกลางแห่งภพแห่งชาติที่สถิตแห่งศาสนา เราควรปฏิบัติตัวเราให้ถูกตามจุดศูนย์กลางของศาสนา เพื่อรู้เรื่องของศาสนธรรม ซึ่งอยู่ในท่ามกลางหัวใจเรา

ธรรมอันประเสริฐก็อยู่ที่นี่ ไม่มีอยู่ในที่อื่นใด จิตเป็นผู้เอื้อมถึงธรรม และจิตเป็นผู้รับรู้ธรรมทั้งหลาย เรื่องของธรรมแล้ว จะไม่เหนือจากจิตใจ ซึ่งเป็นภาชนะอันเหมาะสมไปได้เลย ดี ชั่ว สุข ทุกข์ ต่างๆ จิตใจเป็นผู้รับทราบก่อนอื่น จึงควรผลิตสติปัญญาขึ้นมาให้เฉลียวฉลาดทันกับเหตุการณ์ ซึ่งมาเกี่ยวข้องกับจิตอยู่เสมอในวันหนึ่งๆ

ถ้าตั้งใจพิจารณาบ่อเกิดแห่งทุกข์ คือ สมุทัย อันกระจายมาจากความคิดปรุงต่างๆ จะเกิดขึ้นไม่มีเวลาหยุดยั้งเลย เกิดขึ้นที่ใจนี้แหละ ปรุงแต่งอยู่ที่นี่ แม้เราพยายามทำให้สงบมันยังสงบไม่ได้ เพราะเหตุใด เพราะความไม่สงบ ก็คือความคิดรบกวนตัวเองนั่นแหละ ที่คิดปรุงและส่งออกสู่อารมณ์ตลอดเวลา คิดออกไปแล้ว ก็โกยทุกข์เข้ามาหาตัวเองอยู่อย่างนี้ ทั้งเข้าทั้งออก เวลาออกไปเป็น “สมุทัย” เวลาเข้ามาเป็น “ทุกข์” นี่คือปรุงออกไปแล้วเป็นสมุทัย เวลาผลย้อนกลับเข้ามาสู่จิตใจ ก็คือทุกข์นั่นแล มันผลิตอยู่อย่างนั้นตลอดเวลา

ต้องการจะให้มีความสงบเพียงเล็กๆ น้อยๆ ยังต้องฝืนกันเต็มที่ แม้เช่นนั้นมันก็ยังผลักดันจิตให้ออกคิดออกปรุงจนได้ ขณะที่เราเผลอ นี่แหละเรื่องของ “สมุทัย” ที่ผลิตทุกข์ออกโดยสม่ำเสมอมันอยู่ที่ใจ มันเกิดอยู่ตลอดเวลา เพราะฉะนั้น การกำหนดรู้ การแก้สมุทัย จึงต้องอาศัยสติ อาศัยปัญญา เพื่อคอยจดจ้องมองดู และระงับดับมันที่ตรงนั้นไม่นอนใจ จะนั่งอยู่ที่ไหน เดินอยู่ที่ไหน ในอิริยาบถทั้งสี่ ดูที่จุดนี้ ด้วยสติจดจ่อ ปัญญาคลี่คลายให้รู้ตามความเป็นจริงอยู่เสมอ

บรรดานักปฏิบัติเพื่อถอนกิเลส ท่านทำอย่างนี้ เฉพาะอย่างยิ่งนักบวช ผู้ปฏิบัติ เข้าไปอยู่ในป่า ก็เพื่อจะระงับดับตัวข้าศึกอันนี้แล ท่านหาสถานที่อันเหมาะสมในการบำเพ็ญ ไปในบ้านก็ตาม ไปที่ไหน อยู่ที่ไหนก็ตาม มีความจดจ่อสืบเนื่องกันโดยลำดับ ในทางความเพียรเพื่อถอดถอน “สมุทัย” อันเป็นเสี้ยนหนามต่อจิตใจให้ระงับดับไป ย่อมจะมีความสุขความสบายขึ้นมาตามลำดับ แห่งความพากเพียรของผู้บำเพ็ญ

เราจะเห็นได้อย่างชัดๆ ในขณะที่จิตสงบตัวลงไป ความคิดความปรุงสงบ หรือไม่มี ความก่อกวน วุ่นวาย ก็ไม่เกิด! ความทุกข์อันเป็นผลก็ไม่ปรากฏ ขณะที่จิตสงบทุกข์ก็สงบไปด้วย เมื่อความปรุงมันสงบ สมุทัยก็สงบตัวไปด้วย ทุกข์ก็สงบตัวไปด้วย เหลือแต่ความเย็นสบายในขณะนั้น

สงครามระหว่างกิเลสสมุทัย กับจิตเป็นอย่างนี้ ต้องอาศัยการต่อสู้ด้วยความพากเพียร และอาศัยสติปัญญา ศรัทธา ความเพียร ต่อสู้กับสงคราม ที่ก่อกวนทำลายใจให้เอนเอียง โยกคลอนอยู่เสมอภายในใจ จะระงับดับลงไปเรื่อยๆ แม้สงบเพียงชั่วขณะหนึ่ง เราก็พอเห็นโทษของความคิดปรุงทั้งหลายที่ก่อกวนอยู่เสมอมา และเห็นคุณแห่งความสงบใจว่าเป็นความสุขจริง สงบมากน้อยก็เป็นสุขขึ้นมา ตามฐานแห่งความสงบ หรือกำลังแห่งความสงบ ในตำราท่านให้ชื่อว่า “สมาธิ”

จิตที่สงบลงไปแล้ว ไปรวมตัวอยู่ ท่านเรียกว่า “จิตเป็นสมาธิ” หรือ จิตรวมลงเป็นสมาธิ” นี่แหละสมาธิอันแท้จริงภายในใจเป็นอย่างนี้ ชื่อของสมาธินั้นมีอยู่ทั่วไปไม่เลือกกาล สถานที่ แต่องค์สมาธิแท้มีอยู่ที่ใจ ผู้กระทำให้เกิดสมาธิ ก็คือใจ เป็นผู้ผลิต ผู้ทำเอง เมื่อสมาธิมีความสงบ ใจก็มีความร่มเย็นเป็นสุข มีฐานะเป็นของตน ตั้งขึ้นมาภายในใจแน่นหนามั่นคง ไม่วอกแวกคลอนแคลน เหมือนเราอยู่ในร่มไม้ชายคาอันร่มเย็นนั่นเอง เวลาฝนตกก็อยู่สบาย แดดออกก็อยู่สบาย เพราะไม่ต้องตากแดดตากฝน จิตใจที่มีฐานแห่งความสงบอยู่ภายในตนก็เช่นกัน ไม่ได้รับความกระทบกระเทือนจากอารมณ์นั้นอารมณ์นี้ ให้ยุ่งเหยิงวุ่นวายอยู่ร่ำไปไม่ขาดวรรคขาดตอน เพราะความสงบเป็นที่อาศัยของใจ ที่ท่านเรียกว่า “สมาธิ” ซึ่งเป็นเรือนใจขั้นหนึ่ง

“ปัญญา” คือ ความแยบคาย ความพินิจพิจารณา สอดส่องในเหตุในผลทั้งข้างนอก ข้างใน เบื้องบน เบื้องล่าง สถานกลาง ภายในร่างกายเรา ตลอดถึงกระแสของจิตที่คิดออกในแง่ใด สติปัญญาตามพินิจพิจารณาเพื่อให้รู้เหตุรู้ผล ตามความคิดความปรุงของใจ หรือตามสภาพสังขารที่มีอยู่ในตัวเรา จนเห็นความเป็นจริงจากสิ่งนั้นๆ

อย่าพิจารณาอย่างผิดๆ พลาดๆ ฉลาดด้วยสัญญา ซึ่งปีนเกลียวกับความจริง! เพราะการพิจารณาธรรมทั้งหลาย พิจารณาตามความจริง ไม่ใช่ไปฝืนความจริง ซึ่งเป็นการส่งเสริมกิเลสสมุทัย ให้มากมูนขึ้นในขณะที่ตนคิดว่าพิจารณาธรรม เพื่อถอดถอน!

การเกิด ก็เกิดมาแล้ว แก่ก็แก่มาตั้งแต่วันเกิด แก่มาเป็นลำดับลำดา อายุกี่ปีก็แก่มาแล้วเท่านั้นปี จนถึงอวสานแห่งชีวิต เมื่อแก่เต็มที่แล้วก็สลาย คือแก่มาตั้งแต่ขณะแรกเกิด แก่วัน แก่เดือน แก่ปี และแก่มา แก่มาเรื่อยๆ เราก็ว่า “คนเจริญเติบโต” ความจริงแล้ว ก็คือมันแก่ต่างหากนี่

จงพิจารณาตามเรื่องของมันซิ นี่คือ “ทางหลวง” คือ “คติธรรมดา” หลักธรรมชาติเป็นอย่างนี้ เราอย่าฝืนเขา เช่นมันแก่ เราก็ไม่อยากจะแก่ อยากหนุ่มอยู่เสมอ อยากสาวอยู่เสมอ เรียกว่า “ฝืนความจริง” มันเป็นทุกข์ แม้ฝืนก็ไม่ได้เรื่อง จะฝืนให้เป็นทุกข์หาประโยชน์อะไร รังแต่หาทุกข์ใส่ตัวเท่านั้น เพราะการฝืนความจริง

ปัญญาจงพิจารณาอย่างนี้ ก็อะไรเป็นทุกข์ เกิดขึ้นภายในร่างกายส่วนไหน มีหยูกยาพอแก้ไขกัน ก็แก้ไขกันไปตามเรื่อง เมื่อมันถูกมันก็หาย ถ้ามันไม่ถูกก็ตาย มันก็ไปของมันเอง เราไม่ต้องไปบังคับไม่ให้มันตาย หรือให้มันอยู่เท่านั้นปี เท่านี้กัป ซึ่งนับเข้าในความเหลวไหล เพราะบังคับก็ไม่อยู่ ไม่ได้ผล เหนื่อยเปล่า! มันต้องเป็นไปตามหลักธรรมชาติของมัน เมื่อพิจารณาตามความจริงของมันอย่างนี้เราก็สบาย! ถ้าทุกข์มีที่ไหนก็ให้รู้ตามความเป็นจริงของมันไปเรื่อยๆ มันเจ็บมาก เจ็บน้อย ทุกข์มาก ทุกข์น้อย ก็ให้รู้ตามที่มันเป็น จนกระทั่งถึงที่สุดแห่งทุกข์ ก็คือความตายในธาตุ ในขันธ์นี้ ที่สุดของมันก็มีเท่านั้น

จงทราบตามความเป็นจริงของมันโดยไม่ต้องไปฝืน ไม่ต้องไปตั้งความอยากขึ้น เพราะการตั้งความอยาก ก็คือความบกพร่อง หรือ ความหิวโหยนั่นเอง ความหิวโหยไม่ว่าจะเกิดขึ้นเวลาใด ด้วยอาการใด เช่น หิวนอน มันก็เป็นทุกข์ หิวข้าวก็เป็นทุกข์ หิวน้ำก็เป็นทุกข์ มันเป็นของดีเมื่อไร ความหิวโหยน่ะ

ความหิว ความอยากที่มันเกิดขึ้น อยากให้เป็นอย่างนั้น อยากให้เป็นอย่างนี้ ล้วนแต่เรื่องก่อกวน เรื่องให้เกิดทุกข์ทั้งนั้น ท่านจึงไม่ให้ฝืนหลักความจริง

ปัญญา ให้พิจารณาไตร่ตรองตามหลักธรรมชาติของมันที่เป็นไปอยู่แล้ว นั่นเรียกว่า “ปัญญา” ไม่ปีนเกลียว “กับความจริง” ใจก็สบาย

เราเรียน “อริยสัจสี่” ในตัวของเรานี่ คือ เรียนเรื่องความเกิดด้วย เรียนเรื่องความแก่ด้วย เรียนความเจ็บไข้ด้วย เรียนความตายด้วย ที่มีอยู่ด้วยกันในก้อนธาตุอันเดียวนี้ไม่พรากจากกันเลย เรื่องความเกิดก็ธาตุอันนี้ เจริญหรือแก่ มันก็แก่ที่นี่ เจ็บมันก็เจ็บที่นี่ส่วนใดส่วนหนึ่งจนได้ เมื่อตายมันก็จะตายที่นี่ เราต้องเรียนรู้ที่นี่จะไปรู้ที่ไหน มันต้องเรียนรู้สิ่งที่เกี่ยวข้องกับตนก่อนอื่น เรียนรอบ เรียนจบ เรียนความเกิดของตัวเอง ความแก่ ความเจ็บ ความทุกข์ทรมานของตัว เรียนจบความตายของตัวแล้วก็ฉลาด! คือฉลาดทันกับเหตุการณ์ที่มีอยู่รอบตัว

คนที่เรียนรู้อรรถรู้ธรรมให้ทันกับเหตุการณ์ซึ่งมีอยู่กับตัวด้วยการปฏิบัติแล้ว ผู้นั้นไม่หวั่นไหวกับโลกสมมุตินิยมใดๆ ทั้งสิ้น การเรียนธรรม การรู้เห็นธรรมทางจิตใจเป็นอย่างนี้ คือ รู้ดี รู้ชอบ “สติปัญญาฉลาดรอบตัว” ฉลาดอย่างนี้ ไม่ใช่ฉลาดเพียงจำได้เฉยๆ ต้องฉลาดแก้ความสงสัย แก้ความขัดข้องภายในใจ แก้ความยึดมั่นถือมั่นสำคัญผิดของตนด้วย เหลือแต่ธรรมชาติล้วนๆ แล้วแสนสบาย หายห่วง!

ขันธ์ก็ให้เป็นขันธ์ล้วนๆ ของเขาไป ไม่ไปยุ่ง ไม่ไปแย่งชิงอำนาจ ไม่ไปกดขี่บังคับเขาให้เป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ขันธ์ก็เป็นขันธ์ จิตก็เป็นจิต ต่างอันต่างจริง ไม่กระทบกระทั่งกันตามที่เคยเป็นมา ต่างอันต่างทำหน้าที่ของตัว เรียกว่า “เป็นขันธ์ล้วน ๆ” “จิตล้วน ๆ” ไม่มีสมมุติเข้าเจือปน ผู้รู้ก็เป็นผู้รู้ ธาตุเป็นธาตุ ขันธ์เป็นขันธ์

อะไรแตกก็แตก ทราบด้วยปัญญาอย่างชัดเจนแล้วไม่สงสัย ตั้งแต่ยังไม่ตาย ก็ทราบล่วงหน้าไว้แล้ว ตายแล้ว จะไปสงสัยกันที่ไหน ยิ่งแสดงความจริงขึ้นมาให้เห็นอย่างชัดเจน นั้นเรียกว่า “เรียนธรรม ปฏิบัติธรรม” เรียนอย่างนี้ รู้อย่างนี้ ตามที่ปราชญ์ท่านดำเนินและรู้เห็นมา

อาการเหล่านี้มันเป็นเรื่องของสมมุติ เป็นเรื่องของโลก เป็นเรื่องธาตุเรื่องขันธ์ หรือเรื่องอายตนะ ขันธ์ห้า ขันธ์สี่ อะไรเหล่านี้ มันเป็นอาการหนึ่ง อาการหนึ่งที่แยกออกไปตามสมมุติ ปัญญาเป็นอาการหนึ่ง สติก็เป็นอาการอันหนึ่ง เป็นอาการของใจ แต่เป็นธรรมเครื่องแก้จิตที่มัวหมอง ชะล้างสิ่งที่มัวหมองออกไป จนกระทั่งเกิดความผ่องใสขึ้นมาภายในใจ เพราะอำนาจของปัญญาเป็นผู้ชะล้าง เมื่อผ่องใสแล้ว ลำดับต่อไปก็บริสุทธิ์

เหตุใดจึงบริสุทธิ์? ก็เพราะมลทินหลุดออกไปจากใจแล้ว ความสำคัญผิดต่างๆ ที่เป็นเรื่องของกิเลสมันหมดไปจากใจ ใจก็บริสุทธิ์ ใจบริสุทธิ์นั้นแล ชื่อว่า “เรียนเรื่องของตัวจบ” “วุสิตํ พฺรหฺมจริยํ กตํ กรณียํ ” ตรงกับธรรมบทนี้ว่า “เสร็จกิจในพระศาสนา พรหมจรรย์ได้บำเพ็ญจบแล้ว กิจที่จะทำให้ยิ่งกว่านี้ไม่มี”

กิจที่ควรทำคือ ละ และการบำเพ็ญ ได้ทำสำเร็จแล้วก็รู้ที่นี่เอง เพราะความหลงก็อยู่ที่ใจนี้ เราเรียนและปฏิบัติเพื่อจะแก้ความหลงของเรานั่นเอง เมื่อรู้ที่นี่และหมดความหลงแล้ว จะรู้อะไรไปอีก! เพราะให้รู้ยิ่งกว่านี้ไปอีกไม่มี! จะให้หลงอะไรไปอีกก็ไม่หลงแล้ว! นั่น! เพราะรู้รอบขอบชิดแล้ว

จิตดวงนี้แล ที่กล่าวเบื้องต้นนั้นว่า “เป็นธรรมประเสริฐ เป็นธรรมอัศจรรย์” หมายถึงจิตถึงธรรมดวงนี้แล แต่เป็นสิ่งที่ทราบอยู่โดยลำพังตัวเอง เป็นอยู่โดยเฉพาะตัวเองเท่านั้น อัศจรรย์ก็ทราบอยู่ภายในจิตตัวเอง ประเสริฐก็ทราบอยู่ภายในจิตตัวเอง ไม่สามารถที่จะนำออก หรือคลี่คลายออกแสดงให้คนอื่นได้เห็นได้ชมเหมือนสิ่งต่างๆ ได้

ฉะนั้น เพื่อต้องการอวด “อริยสมบัติ” ของตัว ก็จงประพฤติปฏิบัติ กำจัดสิ่งสกปรกโสมมทั้งหลายนั้นออกให้หมดเสีย สิ่งที่ประเสริฐดังที่กล่าวนี้ก็จะปรากฏขึ้นโดยธรรมชาติของตัวเอง คือ เกิดขึ้นที่จิต ท่านเรียกว่า “เรียนธรรมจบ และเรียนโลกก็จบตรงนี้”

“โลก” ก็คือโลกธาตุ โลกแห่งธาตุแห่งขันธ์ที่มีอยู่กับตัวเราทุกคนนี้แล สำคัญยิ่งกว่าโลกแห่งธาตุขันธ์ของผู้อื่น เพราะโลกแห่งธาตุขันธ์นี้อยู่กับเรา และทับจิตใจเราอยู่ตลอดมา

การเรียนธรรมจนถึง “วิมุตติธรรม” แล้ว ก็จบเท่านั้น เรียน “โลก” ก็จบ เรียน “ธรรม” ก็รอบหายสงสัย ไม่มีอะไรจะให้สงสัยต่อไปอีก ดังพุทธอุทานท่านแสดงไว้ว่า เมื่อธรรมทั้งหลายปรากฏแก่พราหมณ์ผู้มีเพียรเพ่งอยู่ ความสงสัยย่อมสิ้นไป เพราะสิ้นปัจจัย เครื่องสืบต่อภพต่อชาติ” เมื่อถึงขั้นนี้แล้วอยู่ไหนก็อยู่เถอะ สงครามก็ระงับดับหมดแล้ว คือสงครามระหว่างจิตกับกิเลส หรือระหว่างธรรมกับกิเลสสิ้นสุดกันลงไปแล้ว! รื้อภพ รื้อชาติ รื้อกันที่นี่! รื้อกองทุกข์ในวัฏสงสาร รื้อที่ใจนี่แล เพราะใจเป็นนักท่องเที่ยวในวัฏสงสาร ต้องรื้อกันที่นี่ รู้กันที่นี่ รู้แล้วก็หมดปัญหากันที่นี่!

โลกกว้างแสนกว้างก็ไม่มีอะไรเป็นปัญหา ปัญหามีเฉพาะเรื่องของใจที่หลงตัวเองและหลงสิ่งทั้งหลายที่เกี่ยวข้องกับตนเท่านั้น เมื่อแก้ตัวเองที่เกี่ยวข้องกับสิ่งทั้งหลายลงโดยสิ้นเชิงไม่มีอะไรเหลือแล้ว ก็หมดปัญหากันเท่านั้น!

จากนั้นก็ไม่มีปัญหาอะไรๆ ให้ยุ่งใจอีก จนกระทั่งวัน “นิพพาน” นี่แหละเรียนธรรมจบ เรียนอย่างนี้ เรียนโลก คือเรียนเรื่องธาตุเรื่องขันธ์จบ ก็จบลงที่นี่

ดังนั้นจงพยายามทำต่อไป ให้เห็นความอัศจรรย์ดังที่กล่าวแล้วในเบื้องต้นนั้น ซึ่งกล่าวตามความจริงแท้ ไม่มีแง่ที่น่าสงสัย

พระพุทธเจ้าก็ดี พระสงฆ์สาวกก็ดี ท่านมีธรรมอยู่ภายในพระทัย ภายในใจอย่างเต็มเปี่ยม เราก็เป็นลูกศิษย์ตถาคตนี่ มีจิตดวงหนึ่งซึ่งสามารถแสดงความอัศจรรย์ได้ด้วยการปฏิบัติให้บริสุทธิ์เช่นเดียวกับพระพุทธเจ้า และพระสาวกทั้งหลาย จงพยายามทำให้สงบ ผ่องใส เพราะใจเคยนอนจมปลักมานาน พอเห็นโทษและเกิดความเบื่อหน่ายต่อปลักได้แล้ว รีบตื่นตัว สะดุดใจ และตะเกียกตะกายออกจากมันให้จงได้ พระนิพพานแบมือรอรับอยู่แล้ว ไม่ออกไปกันหรือ?

ความพยศ ก็คือความฟุ้งซ่านนั่นเอง ความหายพยศ ก็คือความสงบ ถ้าสงบแล้วก็เป็นสุข ถ้าไม่สงบ ใจก็ร้อนเป็นฟืนเป็นไฟ อยู่ที่ไหนก็ร้อนไปหมด สงบแล้วอยู่ที่ไหนก็เย็น เย็นที่ใจนี่แหละ ฉะนั้นจงทำให้ใจเย็นด้วยการปฏิบัติ เพราะร้อนก็คือใจ ร้อนไฟเป็นอย่างหนึ่ง ร้อนใจนี้ร้อนยิ่งกว่าไฟ พยายามดับไฟกิเลสตัณหาอาสวะที่เป็นอยู่ภายในใจนี้ ให้เหลือแต่ธรรมชาติ “ธรรมแท้” แล้วก็เย็น ไม่มีกาล ไม่มีสถานที่!

จึงขอยุติเพียงเท่านี้ฯ



ggggggg




** ท่านผู้เข้าชมทุกท่านโปรดทราบ
เนื่องจากกัณฑ์เทศน์บางกัณฑ์มีความยาวค่อนข้างมาก ซึ่งจะส่งผลต่อความเร็วในการเปิดเว็บไซต์ ขอแนะนำให้ทุกท่านได้อ่านเนื้อหากัณฑ์เทศน์บางส่วนจากเว็บไซต์ และให้ทำการดาวน์โหลดไฟล์กัณฑ์เทศน์ที่มีนามสกุล .pdf ไปเก็บไว้ในเครื่องของท่านแทนการอ่านเนื้อหาทั้งหมดจากเว็บไซต์
เวลาทำสมาธิ

ให้ระลึกลมหายใจเข้าออก

ให้รู้ลมหายใจเข้าออก

หายใจเข้าสั้นก็รู้

หายใจออกสั้นก็รู้

หายใจเข้ายาวก็รู้

หายใจออกยาวก็รู้

ไม่ต้องบังคับลมหายใจ

ตามรู้ลมหายใจเข้าออก

สงบก็รู้ ไม่สงบก็รู้

สงบก็ไม่ยินดี ไม่สงบก็ไม่ยินร้าย

ไม่เอาทั้งสงบและไม่สงบ

เอาแค่รู้ตามความเป็นจริงของสภาวธรรมปัจจุบันนั้น

ทำอะไรก็ให้รู้เหตุปัจจัย

รู้ไม่ใช่เพื่อ ยินดี ยินร้าย รู้เพื่อให้ รู้เหตุปัจจัย

เหตุแห่งความเจริญ

เคารพ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์

เคารพ สิกขา 3 ศีล สมาธิ ปัญญา

เคารพในความไม่ประมาท

เคารพในการปฎิสันฐาน

เคารพใน ศีล

เคารพใน สมาธิ

เคารพในกันและกัน

หลักตัดสิน ธรรมวินัย 8 ประการ

ธรรมเหล่านี้เป็นไปเพื่อคลายกำหนัด

เป็นไปเพื่อไม่ประกอบสัตว์ไว้

เป็นไปเพื่อไม่สั่งสมกิเลส

เป็นไปเพื่อความเป็นผู้มักน้อย

เป็นไปเพื่อสันโดษ

เป็นไปเพื่อความสงัดจากหมู่คณะ

เป็นไปเพื่อปรารภความเพียร

เป็นไปเพื่อความเป็นคนเลี้ยงง่าย

ธรรมที่ควรเจริญ

สติ

สัมปัชชัญญะ

ศีล

สมาธิ

ปัญญา

วิมุตติ

วิมุตติญาณทัสสนะ

สัมมาทิฏฐิ เห็นชอบ

สัมมาสังกัปปะ ดำริชอบ

สัมมาวาจา พูดชอบ

สัมมาอาชีโว อาชีพชอบ

สัมมากัมมันโต การงานชอบ

สัมมาวายาโม ความเพียรชอบ

สัมมาสติ ระลึกชอบ

สัมมาสมาธิ ตั้งมั่นชอบ

สัมมาญาณะ ความรู้ชอบ

สัมมาวิมุตติ หลุดพ้นชอบ

สัมมาวิมุตติญาณทัสสนะ ความเห็นในการหลุดพ้นชอบ

สัมมาทิฏฐิ

คือ รู้ชัดซึ่ง เหตุแห่ง กุศล วิชชา เป็น เหตุ

รู้ชัดซึ่ง เหตุแห่ง อกุศล อวิชชา เป็น เหตุ

การบรรลุธรรมอาศัย สติ ปัญญา อุเบกขา เป็นมัทยัทธ์

รักษาสัจจะ เพิ่มพูลจาคะ ไม่ประมาทปัญญา ศึกษาสันติ

การปฎิบัติธรรม

คบสัตบุรุษ ฟังพระสัทธรรม อยู่ในประเทศเหมาะสม ตั้งสัจจะ เดินสัมมาทิฏฐิ เจริญความสงบ

ออกพิจารณาด้านปัญญา + พลังกุศล - บ่มอินทรีย์ นิพพิทา วิราคะ วิมุตติ วิมุตติญาณทัสสนะ

สติ - ศีล - สมาธิ - ปัญญา - วิมุตติ - วิมุตติญาณทัสสนะ

อัปปมาโณพุทโธ อานุภาพพระพุทธเจ้าไม่มีประมาณ

อัปปมาโณธัมโม อานุภาพพระธรรมไม่มีประมาณ

อัปปมาโณสังโฆ อานุภาพพระสงฆ์ไม่มีประมาณ

เรื่องของสมมติ อวิชชา ตัวตน ยึดตรงไหน หลงที่ไหน ผิดที่นั้น จุดต่อมแห่งภพชาติ

wiweksikkaram.hi5
 
จำนวนผู้ตอบ: 114
สมัครสมาชิก: Mon Mar 15, 2010 12:20 am
ที่อยู่: สุทธาวาสภูมิ

กลับไปหน้า ธรรมเพื่อชีวิต

ผู้ที่กำลัง online

ผู้ที่กำลังอ่าน forum นี้: สมาชิก ไม่มีสมาชิก และ ผู้เยี่ยมชม 3 คน

cron