หน้า 1 จาก 1

สงสัยในกรรม

PostPosted: Sun Oct 10, 2010 7:10 pm
โดย pongsthep
สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม มีกรรมเป็นแดนเกิด มีกรรมเป็นเผาพันธ์ มีข้อสงสัยอยู่ว่า
1. บุพกรรมของพระมหาโมคคัลลานะ ในอดีตชาติที่ปลอมมาเป็นโจร ใช้ไม้ทุบพ่อและแม่ตายทั้งคู่ และในชาติสุดท้ายพระมหาโมคคัลลานะถูกโจรทุบตีกระดูกแตกละเอียด
1.1 อยากทราบว่าโจรกลุ่มนี้เคยเป็นเจ้ากรรมนายเวรของท่านหรือเปล่า หรือเป็นพ่อแม่ท่านที่เคยถูกกระทำ
1.2 ถ้าไม่มีใครทำท่านจะหมดกรรมได้หรือไม่ โจรกลุ่มนี้กระทำเท่ากับว่าสร้างกรรมใหม่ แล้วเวรย่อมระงับด้วยการไม่จองเวรยังต้องรับกรรมนั้นอยู่หรือเปล่า

2. ไม่เจตนาเป็นกรรมหรือเปล่า หมายถึง เจตนาช่วยเหลือคนอื่นแต่ทำให้เขาได้รับความเดือนร้อนจนถึงความตาย

3. ทำอย่างไรไม่ต้องกลับมาเกิดอีก ต้องเข้าถึงพระอรหันต์อย่างเดียวหรือไม่
3.1 ไม่บวชเป็นพระ เป็นปุถุชนมีสิทธิ์เข้าถึงนิพพานได้หรือไม่
3.2 ต้องบำเพ็ญเท่าไร(กัลป์) ถึงไ้ด้พระอรหันต์

Re: สงสัยในกรรม

PostPosted: Mon Oct 11, 2010 6:24 pm
โดย wiweksikkaram.hi5
เรื่องของกรรมไม่ขอตอบ เป็นวิสัยของพระพุทธเจ้า

ทำอย่างไรไม่เกิดก็ทำลายสิ่งที่ทำให้เกิด คือ อวิชชา

ไม่ต้องบวชก็สามารถเข้าถึงได้

ตามปกติก็ 100000 กัลป์ แต่ไม่ต้องสนใจอดีต ปัจจุบันมาเจอคำสอนของพระพุทธเจ้าแล้ว

เอาปัจจุบันให้แจ้ง

Re: สงสัยในกรรม

PostPosted: Tue Oct 12, 2010 4:41 am
โดย ผู้เขียน
ตอบถูกต้องแล้วทุกอย่างครับ ขออนุโมทนาด้วย

(เรื่องกรรมเป็นเรื่องพุทธวิสัย ปัจจุบันชอบมีผู้ตอบปัญหากรรมกันเป็นล่ำเป็นสัน บางทีผิด บางทีถูก ทั้งนี้เพราะไปล่วงล้ำสิ่งอันเป็นพุทธวิสัย เพราะพระพุทธเจ้าตรัสไว้แล้วครับว่า ความละเอียดในกรรม เป็นวิสัยของพระพุทธเจ้าเท่านั้นถึงจะเข้าพระทัยได้อย่างแจ่มแจ้งทุกแง่มุม ฉะนั้น หน้าที่เรามีเพียงไม่ทำกรรมชั่วทุกประการ ทำแต่ความดี และทำจิตใจให้บริสุทธิ์ ลด ละ เลิกโลภ โกรธ หลง ครับ)

Re: สงสัยในกรรม

PostPosted: Tue Oct 12, 2010 2:00 pm
โดย นิรทุกข์
สาธุ สาธุ สาธุ ขออนุโมทนาสาธุกับคำเฉลยของคุณ wiweksikkaram.hi5 ด้วยครับ ตอบได้ชัดแจ้ง กระจ่างยิ่งนัก

ด้วยความที่เคยอ่านมาบ้างเรื่องของฆราวาสที่บรรลุอรหันต์ ขอยกตัวอย่างสั้นๆ คือ เรื่องของ พาหิยะ ฆราวาสที่ฟังธรรมด้วยธรรมะที่สั้นๆว่า จงอย่ายึดมั่นถือมั่นในสิ่งทั้งปวงเลย เพียงเท่านี้ก็บรรลุเป็นพระอรหันต์ หลักจากนั้นก็ทูลขอบรรพชากับพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าจึงให้ไปหาบาตร หาจีวรมาก่อน ขณะที่กำลังหาบาตร หาจีวรอยู่นั้นก็โดนวัวชนตายเสียก่อนบวช พระพุทธเจ้าทรงสรรเสริญว่า พาหิยะ เป็นยอดของพระสาวกที่ตรัสรู้เร็วที่สุด


ลองอ่านเรื่องฉบับยาวได้ด้านล่างครับ


28-พระพาหิยเถระ
เอตทัคคะในทางขิปปาภิญญา


พระพาหิยะ เกิดในวรรณแพศย์ ตระกูลกุฎุมพี แคว้นพาหิยะ คงจะเรียกชื่อท่านตามชื่อ
แคว้น เมื่อเจริญวัยขึ้นได้ประกอบอาชีพค้าขายตามบรรพบุรุษ เนื่องจากมีถิ่นฐานอยู่แถบชายฝั่ง
ทะเล จึงอาศัยเรือเดินทะเลบรรทุกสุวรรณภูมิ อันตั้งอยู่ในแคว้นกัมโพชะ อินเดียตอนเหนือ ท่า
จอดเรือรับส่งขนถ่ายสินค้าที่ท่าเรือสุปปารกะ ในอปรันตชนบท

เรือแตกแต่รอดตาย
การเดินเรือค้าขายเป็นไปตามปกติตลอดมา แต่วันหนึ่งขณะที่เรือกำลังเล่นอยู่ในทะเล
ใกล้จะถึงท่าสุปปารกะ ได้มีลมพายุเกิดคลื่นใหญ่ซัดเรืออับปางลงลูกเรือตายทั้งหมด พาหิยะ
คนเดียวเท่านั้นที่อาศัยเกาะแผ่นกระดานสามารถพยุงกายมิให้จมน้ำตายเป็นเหยื่อปลาในทะเล
พยายามกระเสือกกระสนประคองกายเข้ามาถึงฝั่งที่ท่าสุปปารกะได้ แต่พาหิยะก็มาถึงท่าเพียงตัว
เท่านั้น เสื้อผ้าที่สวมใส่หลุดหายไปในทะเล เหลือแต่ร่างกายที่เปลือยเปล่า
ณ บริเวณท่าเรือสุปปาระกะนั้น มีพ่อค้าประชาชนหนาแน่น เพราะเป็นศูนย์กลางการ
ขนถ่ายสินค้าและการค้าขาย พาหิยะ นอนหมดแรงอยู่ที่ชายฝั่งทั้งหิวทั้งเพลีย นอนคิดหาหนทาง
เพื่อเอาชีวิตรอดต่อไป แต่รู้สึกเขินอายที่ร่างกายเปลือยเปล่า ไม่มีสิ่งใดปิดบังร่างกายเลย จึงใช้
เปลือกไม้บ้างใบไม้บ้าง เท่าที่จะหาได้มาทำเป็นเครื่องปิดบังแทนเครื่องนุ่งห่ม และได้เข้าไป
อาศัยร่มเงาที่ศาลเทพารักษ์แห่งหนึ่งใกล้ ๆ บริเวณท่าเรือสุปปารกะนั้น พอความเหนื่อยเพลีย
บรรเทาลงแล้ว จึงถือแผ่นกระเบื้องเที่ยวขออาหารจากชาวบ้าน


อรหันต์เปลือย
ในยุคสมัยนั้นคำว่า “พระอรหันต์” เป็นคำที่ประชาชนกล่าวขานกันทั่วไปว่า มีอยู่ที่
โน่นบ้าง มีอยู่ที่นี่บ้าง แต่ก็ยังไม่มีผู้ใดได้เคยพบพระอรหันต์จริง ๆ เลย พอได้เห็นพาหิยะผู้นุ่ง
เปลือกไม้ มีร่างกายผ่ายผอม ถือแผ่นกระเบื้องเดินมาในลักษณะอย่างนั้น ต่างก็พากันเข้าใจว่า
“นี่แหละ คือ พระอรหันต์” ดังนั้นจึงพากันให้อาหารบริโภคอย่างอุดมสมบูรณ์ พร้อมทั้งเสื้อผ้า
เครื่องนุ่งห่ม ทำให้พาหิยะมีสุขภาพร่างกายแข็งแรงขึ้น แต่พาหิยะปฏิเสธไม่ยอมรับเสื้อผ้ามา
สวมใส่ เพราะเกิดความคิดว่า “ถ้าสวมใส่เสื่อผ้าแล้ว จะทำให้เสื่อมจากลาภสักการะ” อีกทั้งก็
เริ่มเข้าใจผิดคิดว่าตนเป็นพระอรหันต์จริง ๆ จึงดำรงชีวิตและปฏิบัติตนไปตามนั้น ใบไม้และ
เปลือกไม้ที่แห้งไปก็เปลี่ยนใหม่ ด้วยเหตุนี้ท่านจึงได้นามต่อท้ายชื่อของท่านว่า “ทารุจิริยะ”
และเรียกชื่อท่านเต็ม ๆ ว่า “พาหิยทารุจิริยะ” ซึ่งแปลว่า พาหิยะผู้มีเปลือกไม้เป็นเครื่องนุ่งห่ม
และท่านได้ดำเนินชีวิตโดยทำนองนี้เรื่องมาเป็นเวลานาน


พระพรหมมาเตือนให้กลับใจ
วันหนึ่ง ได้มีพระพรหม ผู้เคยเป็นสหายเก่าที่เคยปฏิบัติธรรมร่วมกันในอดีตชาติกับ
พาหิยะ และได้บรรลุธรรมถึงชั้นอนาคามิผล เมื่อตายแล้วได้ไปเกิดในพรหมชั้นสุทธาวาส ได้
ติดตามดูพฤติกรรมของพาหิยะมาตลอด เห็นว่าสหายกำลังปฏิบัติผิดทาง ดำเนินชีวิตด้วยการลวง
โลก ซึ่งจะทำให้เขาไปเกิดในทุคติอบายภูมิ จึงลงมาเตือนให้สติว่า
“พาหิยะ ท่านไม่ใช่พระอรหันต์ บัดนี้ พระอรหันต์ที่แท้จริงเกิดขึ้นแล้วในโลก ขณะนี้
พระองค์ประทับอยู่ ณ พระเชตะวันมหาวิหาร เมืองสาวัตถีแคว้นโกศล”


เดินทางทั้งวันทั้งคืน
พระหิยะ ได้ฟังคำเตือนของพระพรหมผู้เป็นสหายเก่าแล้วเกิดความสลดใจในการกระทำ
ของตนเอง รู้สึกสำนึกผิดเลิกละการกระทำนั้น และเกิดความปิติยินดีที่ทราบว่า พระพุทธเจ้าเกิด
ขึ้นแล้วในโลก จึงรีบออกเดินทางจากท่าเรือสุปปารกะ มุ่งสู่เมืองสาวัตถี ซึ่งมีระยะทางถึง ๑๒๐
โยชน์ (๑๙๒ กม.) ท่านเดินทางทั้งวันทั้งคืนอย่างรีบร้อน เพื่อเข้าเฝ้าพระบรมศาสดาให้เร็วที่สุด
เพราะไม่รู้แน่ว่าความตายจะมาถึงเมื่อใด ท่านเดินทางมาถึงเมืองสาวัตถี ในเวลารุ่งเช้าแล้วรีบ
ตรงไปยังพระเชตวันมหาวิหาร เมื่อได้ทราบว่า ขณะนี้พระบรมศาสดา เสด็จเข้าไปบิณฑบาตใน
เมือง จึงรีบติดตามไปในเมืองและได้พบพระผู้มีพระภาคกำลังเสด็จบิณฑบาตอยู่ ด้วยความปีติ
ยินดีอย่างที่สุดได้เข้าไปกราบแทบพระบาทแล้ว กราบทูลขอให้ทรงแสดงธรรมให้ฟัง พระพุทธ
องค์ตรัสห้าวว่า “พาหิยะ เวลานี้ มิใช่เวลาแสดงธรรม”


ตรัสรู้เร็วพลัน
พาหิยะ ได้พยายามกราบทูลอ้อนวอนถึง ๓ ครั้ง พระบรมศาสดา จึงทรงแสดงพระธรรม
เทศให้ฟัง โดยตรัสสอนให้สำรวมอินทรีย์ คือ เมื่อเห็นรูปก็สักแต่ว่าเห็น ได้ยินเสียงก็สักแต่ว่า
ได้ยิน ได้กลิ่นก็สักแต่ว่าได้กลิ่น ลิ้มรสก็สักแต่ว่าลิ้มรส และสัมผัสสักแต่ว่าสัมผัสเท่านั้น อย่า
ยินดียินร้ายในสิ่งเหล่านั้น และหมั่นสำเหนียกศึกษาในไตรสิกขา คือ ศีล สมาธิ ปัญญา อยู่เป็น นิตย์
พาหิยะ ส่งกระแสจิตไปตามกระแสพระธรรมเทศนา ก็ได้บรรลุพระอรหัตผลในทันที
ท่านได้กราบทูลขออุปสมบท แต่พระพุทธองค์ทรงทราบด้วยพระญาณว่า ในอดีตชาติท่าน
พาหิยะ ไม่เคยทำบุญสงเคราะห์พระภิกษุสามเณรด้วยบาตรและจีวรเลย เมื่อบวชแล้วบาตรและ
จีวรที่จะเกิดด้วยบุญฤทธิ์ ก็จะไม่มีจึงรับสั่งให้ท่านไปหาบาตรและจีวรมาให้ครบก่อน และใน
ขณะที่ท่านกำลังแสวงหาบาตรและจีวรอยู่นั้นได้ถูกอมนุษย์ผู้เคยเป็นศัตรูกันมากแต่อดีตชาติ เข้า
สิงร่างแม่โคลูกอ่อนวิ่งเข้าขวิดท่านตาย จึงถือว่าท่านนิพพานตั้งแต่ยังไม่ได้บวช
พระพุทธองค์ เสด็จกลับจากบิณฑบาต ทอดพระเนตรเห็นศพของท่านนอนอยู่ริมทาง
จึงรับสั่งให้ภิกษุที่ติดตามเสด็จมา จัดการฌาปนกิจให้ท่าน และทรงยกย่องท่านในตำแหน่ง
เอตทัคคะ เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลาย ในทาง ขิปปาภิญญา คือ ตรัสรู้เร็วพลัน

Re: สงสัยในกรรม

PostPosted: Tue Oct 19, 2010 7:45 pm
โดย wiweksikkaram.hi5
เรื่องของกรรม
คำตอบ จากความเมตตาของท่าน พระอาจารย์ วิชัย ครับ

ตอบ คำถามข้อที่ ๑.๑ – ๑.๒
ตามที่ปรากฏในหนังสือนั้น ท่านไม่ได้บอกว่า โจรที่ทำร้ายพระโมคคัลลานะนั้นเป็นพ่อ-แม่ในอดีตของท่าน หรือเป็นเจ้ากรรมนายเวรของท่าน บอกแต่เพียงว่าท่านใช้กรรมเก่า ซึ่งเป็นเศษกรรม หลังจากที่ท่านไปใช้กรรมในนรกแล้ว คนส่วนมากมักจะเข้าใจว่า การกระทำกรรมต่อบุคคลใดบุคคลหนึ่ง เมื่อวิบากกรรม(ผลของกรรม)นั้นให้ผลต่อตน จะต้องถูกคนที่เราทำกรรมไว้กับเขาในอดีตทำคืน อันนี้เป็นความเชื่อเรื่องของกรรมว่า ต้องเป็นบุคคลหรือตัวตนที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเป็นเรื่องบุคคล ไม่ใช่วิถีของกรรม แท้จริงแล้วการทำกรรมนั้น เมื่อทำแล้วกรรมนั้นให้ผล ไม่จำเป็นต้องเป็นบุคคลที่เรากระทำต่อเขาในอดีต การที่จะใช้กรรมหรือกรรมนั้นให้ผล ต้องมีองค์ประกอบครบ เรียกว่าเหตุปัจจัยถึงพร้อม คือ 1.เราได้กระทำกรรมไว้แล้วในอดีต 2.กรรมนั้นให้ผลในช่วงจังหวะนั้นพอดี 3.มีเหตุปัจจัย(เช่นเหตุการณ์ องค์ประกอบ และสิ่งแวดล้อมเป็นต้น)ที่จะเอื้อให้เกิดผลของกรรมนั้นต่อเรา เมื่อเหตุปัจจัยถึงพร้อมก็เกิดการใช้กรรมนั้น เหตุนั้นบุคคลหรือเหตุการณ์ที่ให้เราใช้กรรม จะสมมติเรียกว่าตัวแทนแห่งกรรมก็ได้ จึงไม่มีเจ้ากรรมนายเวรที่แท้จริง มีแต่วิถีแห่งกรรม ดังเช่นพระพุทธเจ้า พระองค์ถูกพระเทวทัตกลิ้งหินใส่ พระบาทถูกสะเก็ดหินห้อพระโลหิต อันนี้เป็นการใช้กรรมในอดีตของพระองค์ ที่พระองค์ได้เคยกระทำกรรมต่อน้องชายต่างมารดา เพื่อทรัพย์สมบัติ โดยผลักน้องชายลงเหวและกลิ้งหินใส่ด้วย พระองค์ไม่ได้ทำกรรมในอดีตต่อพระเทวทัต ผลของกรรมนั้นพระองค์ไปตกนรก เศษกรรมถูกพระเทวทัตกลิ้งหินใส่พระบาทห้อพระโลหิต พระองค์ใช้กรรมในอดีต เมื่อใช้กรรมแล้ว กรรมนั้นก็เป็นอโหสิกรรมไป ส่วนพระเทวทัตนั้น ท่านสร้างกรรมกลิ้งหินใส่พระพุทธเจ้าจนพระบาทห้อพระโลหิต จึงต้องไปรับใช้ผลของกรรมในนรกอเวจี การใช้กรรมของพระพุทธเจ้า กับการทำกรรมของพระเทวทัต เป็นคนละเรื่องกัน พระพุทธเจ้ามีเหตุคือกรรมในอดีตให้ผล มีปัจจัยคือพระเทวทัตที่มีจิตปองร้ายพระพุทธเจ้า แต่พระเทวทัตมีเหตุคือโลภโกรธหลง จึงสร้างกรรม อันนี้เป็นเหตุปัจจัยที่ถึงพร้อมพอดีให้พระพุทธเจ้าใช้กรรม แต่ถ้าไม่มีเหตุปัจจัยที่ถึงพร้อม เมื่อถึงเวลากรรมให้ผล กรรมนั้นเมื่อไม่มีโอกาสให้ผล เมื่อผ่านเวลานั้นไป กรรมนั้นจึงเป็นอโหสิกรรมเช่นกัน ส่วนคำว่าเวรหมายถึงผู้มีจิตพยาบาทปองร้าย ทีนี้คำว่าเวรย่อมระงับด้วยการไม่จองเวร เป็นการไม่สร้างอกุศลกรรม หมายถึงเมื่อมีผู้พยาบาทปองร้าย(ก่อเวร)แก่เรา เราก็ระงับการพยาบาทปองร้าย(ก่อเวร)ตอบแก่เขา ซึ่งมันเป็นประโยชน์ต่อเรา โดยเราไม่ได้สร้างอกุศลกรรมขึ้น จึงไม่ต้องไปใช้วิบากกรรมนั้นในอนาคต ในปัจจุบันการที่เราไม่ก่อเวรตอบเขานั้น มันทำให้จิตใจเราไม่ทุกข์จากอาฆาตพยาบาท แล้วก็เมตตาที่เราเจริญอาจไปเปลี่ยนจิตใจเขาก็ได้ ส่วนเขาจะไม่พยาบาทปองร้ายเรานั้นขึ้นกับเขาเจริญเมตตา หรือมีสติปัญญาเห็นโทษของพยาบาทปองร้ายหรือไม่ อย่างเช่นเรื่องพระโมคคัลลานะ โจรนั้นกำลังก่อเวรต่อพระโมคคัลลานะ(ไม่ใช่เวรย่อมระงับด้วยการไม่จองเวร) ซึ่งพระโมคคัลลานะไม่ได้ก่อเวรกับโจรเหล่านั้น เหตุนั้นโจรจึงสร้างอนันตริยกรรมที่เป็นอกุศล จึงต้องไปใช้กรรมในนรก เหตุนั้นเจ้ากรรมนายเวรจึงเป็นสมมติสัตว์บุคคลขึ้นมาเฉยๆ แท้จริงนั้นเป็นเรื่องของอวิชชาตัณหาที่หลอกลวงให้จิตนั้นไปสร้างอกุศลกรรม จึงเรียกว่าไตรวัฏฏ์คือวงจรที่ให้มีการเวียนว่ายตายเกิด ได้แก่ กิเลส - กรรม – วิบาก เหตุนั้นเมื่อกรรมให้ผลให้ยอมรับใช้กรรม และให้สร้างกุศลกรรมใหม่ในปัจจุบันคือทานศีลภาวนา หรือศีลสมาธิปัญญา จึงเป็นการแก้กรรมที่ถูกต้อง อย่างเช่นเมื่อโสดาปัตติมรรคโสดาปัตติผลเกิด ก็ตัดภพตัดชาติจากอสงไขยเหลือแค่อย่างมาก๗ชาติ หรือพระองคุลิมาลท่านฆ่าคนเป็นพัน เมื่อท่านสำเร็จพระอรหันต์ กรรมที่ท่านชดใช้แค่ถูกก้อนหินศีรษะแตกจีวรขาดบาตรแตก ส่วนกรรมที่ต้องไปใช้ในนรกเป็นอโหสิกรรม เพราะอรหัตตมรรคอรหัตตผลเกิด จึงไม่สามารถตามท่านทัน .


ตอบ ข้อ ๒

กรรมมีอยู่ ๓หมวดใหญ่(ธรรมวิภาค ปริเฉทที่ ๒ หลักสูตรนักธรรมโท)
หมวดที่ ๑ กรรมให้ผลตามคราว
๑.ทิฏฐธรรมเวทนียกรรม กรรมให้ผลในภพนี้(ในอัตภาพนี้นั่นเอง)เป็นกรรมแรงจึงให้ผลทันตาเห็น เมื่อผู้ทำกรรมถึงมรณะไปเสียก่อนถึงคราวให้ผล ย่อมเป็นอโหสิกรรม
๒.อุปปัชชเวทนียกรรม กรรมให้ผลต่อเมื่อเกิดแล้วในภพหน้า จักให้ผลได้เมื่อผู้ทำเกิดแล้วในภพหน้า พ้นจากนั้นแล้วเป็นอโหสิกรรม
๓.อปราปรเวทนียกรรม กรรมให้ผลในภพที่ ๓เป็นต้นไป กรรมที่เบาสุด จักให้ผลในภพที่ ๓เป็นต้นไปจนกว่าจะเป็นอโหสิกรรม
๔.อโหสิกรรม กรรมให้ผลสำเร็จแล้ว เป็นกรรมล่วงคราวแล้วเลิกให้ผล

หมวดที่ ๒ กรรมให้ผลตามกิจ(หน้าที่)
๑.ชนกกรรม กรรมนำให้เกิด
๒.อุปัตถัมภกกรรม กรรมสนับสนุนทั้งกุศลกรรมและอกุศลกรรมของชนกกรรม
๓.อุปปีฬกกรรม กรรมบีบคั้น เป็นกรรมที่ทำให้ชนกกรรมให้ผลไม่เต็มที่
๔.อุปฆาตกรรม กรรมตัดรอน เป็นกรรมที่ตัดรอนผลของชนกกรรม และอุปัตถัมภกกรรมให้ขาด เป็นกรรมที่รุนแรงกว่าอุปปีฬกกรรม

หมวดที่ ๓ กรรมให้ผลตามลำดับ
๑. ครุกรรม กรรมหนัก เป็นอนัตตริยกรรมที่ให้ผลก่อนกรรมอื่น
๒. อาจิณณกรรม กรรมที่ทำบ่อยๆจนชิน เมื่อครุกรรมไม่มี กรรมนี้ย่อมให้ผลก่อนกรรมอื่น
๓. อาสันนกรรม กรรมเมื่อจวนเจียนจะตาย เมื่อครุกรรมและอาจิณณกรรมไม่มี กรรมนี้ย่อมให้ผล
๔. กตัตตากรรม กรรมสักว่าทำ เป็นกรรมอันทำด้วยไม่จงใจ เมื่อกรรมทั้ง ๓ข้อข้างต้นไม่มี กรรมนี้จึงให้ผล เช่นโทษที่เกิดจากการประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้ผู้อื่นเสียชีวิตเป็นต้น
จะเห็นว่าคำถามในข้อ ๒นี้เข้าได้กับกตัตตากรรม เหตุนั้นจะทำจะพูดจะคิดท่านให้ใช้สติปัญญาทำ ไม่ทำด้วยประมาทหรือโมหะ ซึ่งจะเป็นช่องทางให้ปัญหาต่างๆตามมาได้ เหตุนั้นพุทธพจน์กล่าวไว้ “ธัมโม หะเว รักขะติ ธัมมะจาริง ธรรมแลย่อมคุ้มครองผู้ประพฤติธรรม” ก็คือสติธรรม ปัญญาธรรม สมาธิธรรมนั่นเอง .


ตอบข้อ ๓.๒
ให้ไปดูพระไตรปิฎกแก่นธรรม พระสุตตันตปิฎกเล่ม ๔ เฉลิมพระเกียรติพระเจ้าอยู่หัว ๘๐ พรรษา หน้า ๘๗๕
พระอรหันตสาวกมี ๓ประเภทคือ
๑.พระอัครสาวก เช่น พระสารีบุตร พระโมคคัลลานะ บำเพ็ญบารมี ๑อสงไขย ๑๐๐,๐๐๐ กัป
๒.พระมหาสาวก เช่น พระอิสีติมหาสาวกผู้ทรงเอตทคะบำเพ็ญบารมี ๑๐๐,๐๐๐ กัป
๓.พระปกติสาวก บำเพ็ญบารมี ๑๐๐ กัป หรือ ๑,๐๐๐ กัป ไม่มีเวลากำหนดแน่นอน .

Re: สงสัยในกรรม

PostPosted: Sat Oct 30, 2010 11:18 pm
โดย aor
อนุโมทนาสาธุ ทั้งคำถามและคำตอบค่ะ