หลวงปู่ดูลย์ วิปัสสนาจารย์ผู้แจ้งในจิตและจักรวาล (1)

เพื่อสนทนาธรรม และแลกเปลี่ยนความคิดเห็น เพื่อความเป็นกัลยาณมิตร กัลยาณธรรมที่ดีต่อกัน

หลวงปู่ดูลย์ วิปัสสนาจารย์ผู้แจ้งในจิตและจักรวาล (1)

Postโดย นิรทุกข์ » Mon Mar 15, 2010 4:51 pm

หลวงปู่ดูลย์ อตุโล หรือ พระราชวุฒาจารย์ เป็นปรมาจารย์ทางวิปัสสนาที่เด่นที่สุดองค์หนึ่งในยุคนี้ ท่านเป็นศิษย์สำคัญรุ่นแรกของหลวงปู่มั่น ภูริทัตตเถระ ท่านคืออดีตเจ้าอาวาสวัดบูรพาราม จังหวัดสุรินทร์ และอดีตเจ้าคณะจังหวัดสุรินทร์ฝ่ายธรรมยุต ประเทศไทย
แม้ท่านจะมรณภาพไปแล้วตั้งแต่ปี พ.ศ. 2526 แต่ท่านได้ฝากคำสอนที่ล้ำค่าไว้ จึงนับเป็นบุญกุศลสูงสุดแก่ผู้ได้ยินได้ฟังหรือได้อ่านคำสอนของท่าน เพราะสิ่งที่ท่านเทศน์สอน กล่าวได้ว่าเป็นสัจธรรมสูงสุด ที่ท่านได้รู้แจ้งประจักษ์จริง และนำมาเปิดเผยตีแผ่สอนเหล่าสานุศิษย์ให้มีโอกาสได้เข้าใจในธรรม

ลักษณะที่เด่นที่สุดในคำสอนของท่านคือ ผู้ฟังหรือผู้อ่านจะทราบได้ทันที่ว่า ท่านเทศน์สอนไม่เหมือนใคร ท่านจะพูดแต่เรื่องจิตล้วนๆ คำสอนของท่านสั้นแต่กินความลึกซึ้ง บางครั้งอาจต้องกลับมาอ่านหรือฟังทบทวนอีกเพื่อทำความเข้าใจกับข้อความนั้นๆ เพราะเป็นเรื่องที่ไม่เคยได้ยินได้ฟังมาก่อน และเป็นการอธิบายปรากฏการณ์ทางจิต ซึ่งอยู่เหนือสมมติบัญญัติ ความคิดหรือความรู้สามัญทั่วไป

ธรรมชาติของจิตนั้น เป็นเรื่องละเอียดอ่อน เข้าใจได้ยาก เพราะจิตไม่มีรูปร่าง แต่ชอบท่องเที่ยวไปไกล ดังพระพุทธพจน์ที่กล่าวถึงจิต ไว้ว่า

" ทูรงฺคมํ เอกจรํ อสรีรํ คูหาสยํ
เย จิตฺตํ สญฺญเมสฺสนฺติ โมกฺขนฺติ มารพนฺธนา"

จิตท่องเที่ยวไปไกล เที่ยวไปดวงเดียว ไม่มีรูปร่าง อาศัยอยู่ในร่างกายนี้ ใครควบคุมจิตนี้ได้ ย่อมพ้นจากบ่วงมาร

ดังนั้น จึงเป็นเรื่องที่ยากในการอธิบายถึงจิต ซึ่งปราศจากรูปร่างหน้าตา หลวงปู่ดูลย์ท่านได้กรุณาอธิบายถึงจิตไว้อย่างละเอียดลออว่า

มันไม่ใช่เป็นของมีสีเขียว หรือสีเหลือง และ ไม่มีทั้งรูป ไม่มีทั้งการปรากฏ ไม่ถูกนับรวมอยู่ในบรรดาสิ่งที่มีการตั้งอยู่ และ ไม่มีการตั้งอยู่ ไม่อาจจะลงความเห็นว่า เป็นของใหม่หรือของเก่า ไม่ใช่ของยาวหรือของสั้น ของใหญ่หรือของเล็ก”


จิตของเรานั้น ถ้าเราทำความสงบเงียบอยู่จริงๆ เว้นขาดจากการคิดนึก ซึ่งเป็นการเคลื่อนไหวของจิตแม้แต่น้อยที่สุดเสียให้ได้จริงๆ ตัวแท้ของมันจะปรากฏออกมาเป็นความว่าง แล้วเราจะได้พบว่า มันเป็นสิ่งที่ปราศจากรูป มันไม่ได้กินเนื้อที่อะไรๆ ที่ไหนแม้แต่จุดเดียว มันไม่ได้ตกลงสู่การบัญญัติว่า เป็นพวกที่มีความเป็นอยู่ หรือไม่มีความเป็นอยู่ แม้แต่ประการใดเลย เพราะเหตุที่สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่เรารู้สึกไม่ได้โดยทางอายตนะ

หลักธรรมที่แท้จริงก็คือ จิต นั่นเอง ซึ่งถ้านอกไปจากนั้นแล้ว ก็ไม่มีหลักธรรมใดๆ จิต นั่นแหละคือหลักธรรม ซึ่งถ้านอกไปจากนั้นแล้ว มันก็ไม่ใช่จิต จิต นั้นโดยตัวมันเอง ก็ไม่ใช่ "จิต" แต่ถึงกระนั้น มันก็ยังไม่ใช่ "มิใช่จิต" การที่กล่าวว่า จิตนั้นมิใช่จิต ดังนี้นั้นแหละ ย่อมหมายถึงบางสิ่งบางอย่างที่มีอยู่จริง สิ่งนี้มันอยู่เหนือคำพูด ขอจงเลิกละการคิดและการอธิบายเสียให้หมดสิ้น เมื่อนั้น เราอาจกล่าวว่า คลองแห่งคำพูดก็ได้ถูกตัดขาดไปแล้ว และพฤติของจิตก็ได้ถูกเพิกถอนโดยสิ้นเชิงแล้ว”

พระพุทธเจ้าทั้งปวง และสัตว์โลกทั้งสิ้น ไม่ได้เป็นอะไรเลย นอกจากเป็นเพียง จิตหนึ่ง นอกจากจิตหนึ่งแล้ว มิได้มีอะไรตั้งอยู่เลย จิตหนึ่ง ซึ่งปราศจากการตั้งต้นนี้ เป็นสิ่งที่มิได้เกิดขึ้น และไม่อาจถูกทำลายได้เลย”

ตามหลักวิทยาศาสตร์ พลังงาน ไม่อาจถูกสร้างขึ้น หรือ ถูกทำลายได้เลย เพียงแต่แปรเปลี่ยน (Transform) รูปลักษณ์ไปเท่านั้น หากเปรียบเทียบ จิต ว่าเป็นพลังงานประเภทหนึ่ง ก็อาจนำมาประยุกต์ทำความเข้าใจกับความหมายข้างต้นได้บ้าง

ในการปฏิบัติอบรมจิต ถ้ายิ่งพยายามหาเหตุผลอธิบายสภาพของจิต จะยิ่งสับสน และยิ่งสร้างความสงสัย (วิจิกิจฉา) มากขึ้น กลับกลายเป็นอุปสรรค (นิวรณ์) ในการเจริญจิตให้ก้าวหน้าต่อไป เพราะมัวไปติดอยู่ในความคิด หรือ การเคลื่อนไหวของจิต ตามพื้นฐานความรู้สมมติบัญญัติที่ตนเคยเรียนรู้มาเท่านั้น

แต่หากเพียงทำความรู้สึกตัว รู้ซื่อๆ เอาจิตดูจิต นั่นคือ อาศัยสติเฝ้าดูจิต รู้เท่าทันการเคลื่อนไหวของจิต คือ ความคิด โดยรู้สดๆ รู้เฉยๆ (สวสํเวทนา) รู้ล้วนๆ แต่อย่าให้ไปรู้อะไรโดยเฉพาะเข้า รู้โดยไม่รู้อะไรเลย (Unknowing knowing) สภาพที่แท้จริงของจิตก็จะปรากฏออกมาให้เห็นเองว่า เป็นความว่าง ปราศจากรูปร่าง ปรากฏให้เห็นเป็นสัจจะซึ่งหลักธรรมที่แท้จริง เหนือสมมติบัญญัติทั้งหลายทั้งปวง เห็นซึ่งความเป็นพุทธะของจิต ว่าจิตคือพุทธะ พุทธะก็คือจิต คือ หลักธรรม นั่นเอง

หลวงปู่ดูลย์ท่านก็มีวิธีอธิบายเรื่องที่เราคิดว่ายากให้เป็นของง่าย อาทิ ท่านอธิบาย อริยสัจ 4 ไว้อย่างตรงไปตรงมาว่า

จิตที่ส่งออกนอก เป็นสมุทัย (เหตุให้เกิดทุกข์)
ผลอันเกิดจากจิตที่ส่งออกนอก เป็นทุกข์ (ผล คือ ทุกข์)
จิตเห็นจิต เป็นมรรค (เหตุ คือ ทางดับทุกข์)
ผลอันเกิดจากจิตเห็นจิต เป็นนิโรธ (ผล คือ การดับทุกข์)

ท่านชี้ให้เห็นว่า เป็นเพราะจิตส่ายแส่ออกนอกกายและจิตไปในความคิดนี้เอง ทำให้เราไปยึดติดอยู่กับความคิด เป็นต้นเหตุให้เกิดทุกข์ หรือ สมุทัย นำไปสู่ผลคือทุกข์ แต่เมื่อจิตเห็นจิตอย่าง แจ่มแจ้ง นั่นคือ มีสติ เห็นจิตว่ากำลังคิดอะไรอยู่หรือกำลังสั่งกายให้พูดหรือทำอะไรอยู่ตลอดเวลา นั่นคือ มรรค หรือทางดับทุกข์ เป็นเหตุให้นำไปสู่ผล คือการดับทุกข์ หรือ นิโรธ เมื่อเข้าใจเช่นนี้จะทำให้ง่ายในการเข้าใจหลักธรรมและอริยสัจ 4 และสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันได้สะดวก โดยการเฝ้าดูจิต ดูความคิด กล่าวคือ เป็นการฝึกสติ และความรู้สึกตัว ให้คอยสอดส่องดูจิตอยู่ตลอดเวลานั่นเอง ไม่ให้จิตไหลไปตามความคิด

หลวงปู่กล่าวสอนอยู่เสมอว่า
“ อย่าส่งจิตออกนอก”
“ จงหยุดคิดให้ได้”
“ คิดเท่าไร ก็ไม่รู้ ต้องหยุดคิดให้ได้จึงรู้
แต่ต้องอาศัยความคิด นั่นแหละจึงรู้”
โดยธรรมชาติ ความคิดจะมีตัวพลังหรืออำนาจที่คอยแอบแฝงซ่อนเร้นมาด้วย คือ ความโลภ ความโกรธ ความหลง เป็นแรงกระตุ้น ปรุงแต่ง ครอบงำความคิดที่ขาดสติ หรือที่เรียกว่า ลักคิด จิตส่งออกนอกเพื่อตอบสนองอารมณ์อันสืบเนื่องมาจากรูป รส กลิ่น เสียง โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ ที่สัมผัสผ่านอายตนะหก คือ ตาหู จมูก ลิ้น กาย ใจ เกิดความหวั่นไหวนำพาให้เกิดทุกข์เป็นผลตามมา ต่อเมื่อจิตมีสติเห็นและจับความคิดขณะที่กำลังเกิดขึ้นได้ การลักคิดตามอำนาจ โลภ โกรธ หลง จะขาดสะบั้นลง นั่นคือ หยุดความคิด ซึ่งเป็นการเคลื่อนไหวของจิต แต่ต้องอาศัยการเห็นความคิดที่กำลังเกิดขึ้น คือ ขณะที่จิตส่งออกนอก ด้วยสติ และ ความรู้สึกตัว จิตจะเห็นจิตอย่างแจ่มแจ้ง จะเห็นธาตุแท้ของจิตว่าเป็น ความว่าง ปราศจาก ความโลภ ความโกรธ ความหลง อันเป็นรากฐานมูลเหตุแห่งทุกข์

สำหรับ ปฏิจจสมุปบาท หรือ ที่เรียกกันว่า “อริยสัจใหญ่” นั้น หลวงปู่ดูลย์ชี้แจงว่า มันไม่ใช่ตัวปัญญา แต่เป็นตัวนำให้เกิดปัญญา และท่านกล่าวถึงว่า ตัวเหตุสำคัญคือ สังขาร (ความปรุงแต่ง หรือแรงกระตุ้น คือความคิดที่คอยปรุงแต่งจิต) ซึ่งสืบต่อเนื่องเป็นผลมาจากอวิชชา [ความไม่รู้ซึ่งความเป็นจริง ด้วยถูกบดบังไว้ด้วยความหลงใหล (โมหะ) ในตนเอง (อัตตา)]

หลวงปู่ดูลย์ท่านกล่าวถึง ปฏิจจสมุปบาท ไว้โดยย่อว่า
ภาวะที่แท้แห่งจิต เป็นสิ่งที่ก่อกำเนิดธรรมทั้งหลาย ที่เรียกว่าวิญญาณ [วิญญาณคลัง อาลยะ (3 - วิญญาณ/Consciousness)] ในทันทีที่เริ่มวิถีแห่งความคิดนึก (4 - นามรูป/Thought) หรือวิถีแห่งการหาเหตุผล (Reasoning/Imagination based on ‘Self-image’) ภาวะที่แท้แห่งจิต ก็กลายเข้ารูปเป็นวิญญาณประเภทต่างๆ (วิญญาณทาง ตา, หู, จมูก, ลิ้น, กาย, ใจ/Eye, Ear, Nasal, Tongue, Bodily Contact, Mind Consciousness) เมื่อวิญญาณซึ่งรับรู้ (6 - ผัสสะ/Contact) ในอารมณ์ทั้งหกเกิดขึ้น ก็จะสำเหนียกรู้ (7 - เวทนา/Feeling) ในวัตถุแห่งอารมณ์ทั้งหกจากทวารทั้งหก (5 - สฬายตนะ/อายตนะ 6/6 Sense Organs) นั้น ดังนั้น กิจของธาตุสิบแปด จึงเนื่องมาจากแรงกระตุ้น (2 - สังขาร/Impulse/Biased Thought Formation) ของภาวะที่แท้แห่งจิต ไม่ว่าบุคคลนั้นจะปฏิบัติกิจในทางชั่ว (กิเลส/Impurities) (8 - ตัณหา/Craving), (9 - อุปาทาน/Clinging), (กรรม/Deed/Action/Volition), (10 - ภพ/Becoming), (11 - ชาติ/Birth) (12 – ชราหรือความสุกงอมของความคิด/Ripening/Aging, มรณะหรือความสลายตัวของความคิด/Ceasing/Passing away, ฯลฯ) หรือ ปฏิบัติกิจในทางดี ก็แล้วแต่ว่าภาวะที่แท้แห่งจิต จะอยู่ในอารมณ์เช่นใด - อารมณ์ชั่ว (1 - อวิชชา/Ignorance/Delusion: ปฏิจจสมุปบาท สายเกิด) หรืออารมณ์ดี (วิชชา/ปัญญา/Wisdom: ปฏิจจสมุปบาท สายดับ) กิจอันชั่วก็เป็นลักษณะของสามเนกขน (สามัญชน) กิจอันดีก็เป็นลักษณะของพุทธ เพราะว่ามีความรู้สึกที่เป็นของคู่ประเภทตรงกันข้าม ฝังติดเป็นนิสัยอยู่ในภาวะที่แท้แห่งจิต.”

(ปฏิจจสมุปบาท มีองค์ 12: 1. อวิชชา -> 2. สังขาร -> 3. วิญญาณ -> 4. นามรูป -> 5. สฬายตนะ -> 6. ผัสสะ -> 7. เวทนา -> 8. ตัณหา -> 9. อุปาทาน -> 10. ภพ -> 11. ชาติ -> 12. ชรามรณะ โศก ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาสา)
นิรทุกข์
 
จำนวนผู้ตอบ: 559
สมัครสมาชิก: Sat Mar 13, 2010 7:46 pm

หลวงปู่ดูลย์ วิปัสสนาจารย์ผู้แจ้งในจิตและจักรวาล (2)

Postโดย นิรทุกข์ » Mon Mar 15, 2010 4:52 pm

จิตและจักรวาล มีความเกี่ยวเนื่องสัมพันธ์กันอยู่ หลวงปู่ดูลย์ได้เมตตาอธิบายถึงเรื่องนี้ไว้อย่างพิสดารว่า จิต วิญญาณ เกิดจากรูปนามของจักรวาล และ นิพพาน เป็นการรวมของจิตบริสุทธิ์เข้ากับความว่างอันบริสุทธิ์และสว่างของจักรวาลเดิม ไว้ดังนี้

“สิ่งมีชีวิตและไม่มีชีวิตในจักรวาล มีนับไม่ถ้วน รวมแล้วมี รูป กับ นามสองอย่างเท่านั้น นามเดิม ก็คือความว่างของจักรวาล เข้าคู่กัน เป็นเหตุเกิด ตัวอวิชชา--เกิดเหตุก่อ ที่ใดมีรูป ที่นั้นต้องมีนาม ที่ใดมีนาม ที่นั้นต้องมีรูป รูปนามรวมกันเป็นเหตุเกิดปฏิกิริยา---ให้เกิดการเปลี่ยนแปลง และเกิดกาลเวลาขึ้น คือ รูปย่อมมีความดึงดูดซึ่งกันและกัน จึงเป็นเหตุให้รูปเคลื่อนไหว และหมุนรอบตัวเองตามปัจจัย รูปเคลื่อนไหวได้ ต้องมีนาม--ความว่าง--คั่นระหว่างรูป รูปจึงเคลื่อนไหวได้”

“เมื่อสภาวธรรมเป็นอย่างนี้ สรรพสิ่งของวัตถุ--สสารมีชีวิต และไม่มีชีวิต---จึงต้องเปลี่ยนแปลง เป็นไตรลักษณ์ เกิด ดับ สืบต่อทุกขณะจิต ไม่มีวันหยุดนิ่ง ให้คงทนเป็นปัจจุบันเช่นนั้นได้”

“จิต วิญญาณ ก็เกิดมาจาก รูปนาม ของจักรวาล มันเป็นมายาหลอกลวง แล้วเปลี่ยนแปลงให้คนหลง จากรูปนามไม่มีชีวิตเปลี่ยนมาเป็นรูปนามที่มีชีวิต จากรูปนามที่มีชีวิต มาเป็นรูปนามมีชีวิต-ที่มีจิตวิญญาณ แล้วจิต วิญญาณก็เปลี่ยนแปลงแยกออกจากกัน คงเหลือแต่ ‘นามว่างที่ปราศจากรูป’ นี้--เป็นจุดสุดยอดของการหลอกลวงของรูปนาม”

“เมื่อเจริญจิตจนเข้าถึงสภาวะเดิมแท้ของมันได้ดังนี้แล้ว ‘จิตเห็นจิต อย่าง แจ่มแจ้ง’ จิตก็จะอยู่เหนือสภาวะสมมติบัญญัติทั้งปวง เหนือความมีความเป็นทั้งปวง มันอยู่เหนือคำพูดและพ้นไปจากการกล่าวอ้างใดๆทั้งสิ้น เป็นธรรมชาติอันบริสุทธิ์และสว่าง รวมกันเข้ากับความว่างอันบริสุทธิ์และสว่างของจักรวาลเดิม เข้าเป็นหนึ่ง เรียกว่า ‘นิพพาน’ ”

โดยความจริงแล้ว จักรวาลส่วนใหญ่เป็นความว่างอันมหาศาลไร้ขอบเขต ระบบสุริยจักรวาล ดาวนพเคราะห์ เช่นโลก ดาวฤกษ์ เช่นดวงอาทิตย์ แกแลกซี่ ต่างๆ เหล่านั้น ล้วนเป็นเพียงส่วนน้อยนิดของจักรวาลทั้งหมด แต่เราต่างกลับสนใจจักรวาลส่วนน้อยนิดนี้ (ไม่ถึง 5% ของจักรวาลทั้งหมด) โดยไม่ให้ความสนใจกับความว่างอันมหึมา ไร้ขอบเขตของจักรวาลทั้งหมด (หรืออีก 95% ที่เหลือจากที่เห็นได้ด้วยตาหรือสัมผัสได้ ซึ่งหนึ่งในสามส่วนที่เหลือนี้ เป็น Dark Matter และอีกสองในสามที่เหลือเป็น Dark Energy) เสมือนดังคนเราสนใจแต่ตัวเราเอง (อัตตา) ทำให้มองไม่เห็นสภาพที่แท้จริงของตนเองตลอดถึงสภาวะที่ห้อมล้อมเราอยู่ว่า เป็น อนัตตา ไร้ตัวตน หรือ ความว่าง สุญญตา นั่นเอง

ในประเด็นนี้ ศาสตราจารย์ ดร. คาร์ล เซกาน (Professor Dr. Carl Sagan) ปราชญ์ทางดาราศาสตร์ชื่อดังในยุคปัจจุบัน ได้ฝากข้อคิดไว้หนึ่งสัปดาห์ก่อนที่จะอำลาจากโลกนี้ไปด้วยโรคมะเร็ง (มรณะเมื่อวันที่ 20 ธ.ค. 2539) โดยกล่าวถึงความบอบบางและอายุขัยอันสั้นของชีวิตมนุษย์ เมื่อเทียบกับความมหึมาและอายุ (13-15 พันล้านปี) ของจักรวาลว่า “มนุษย์เราอาศัยอยู่บนกองหินและแร่ธาตุก้อนยักษ์ ซึ่งโคจรรอบดวงอาทิตย์อันเป็นดาวฤกษ์ขนาดย่อม และดวงอาทิตย์นี้เป็นเพียงหนึ่งในดาวฤกษ์ 400 ล้านดวง ซึ่งประกอบกันขึ้นเป็นแกแลกซี่ (Galaxy) ที่เรียกกันว่า ทางช้างเผือก (The Milky Way) และทางช้างเผือกนี้เป็นเพียงหนึ่งในพันล้านแกแลกซี่ในจักรวาล และเป็นไปได้ว่า จักรวาลนี้อาจเป็นเพียงหนึ่งในบรรดาจักรวาลทั้งหลาย ซึ่งอาจมีจำนวนนับอนันต์ นี้คือจุดที่ควรใช้วิจารณญาณพิจารณาให้ลึกซึ้ง ด้วยการมองให้กว้างตามสภาพความเป็นจริงต่อชีวิต ขนบธรรมเนียมประเพณีของมวลมนุษย์”

นอกจากนี้หลวงปู่ดูลย์ได้อธิบายถึงปรากฏการณ์ต่างๆไว้อย่างลึกล้ำว่า ทุกสิ่งทุกอย่างมีการเคลื่อนไหวได้ ซึ่งตรงกับความจริงที่ค้นพบทางวิทยาศาสตร์ เป็นที่น่าอัศจรรย์ว่า พระฝ่ายอรัญวาสี พระผู้ถือปฏิบัติธุดงค์วัตรวิปัสสนากรรมฐานสามารถรู้สึกซึ้งถึงสภาพความเป็นจริง ได้ทัดเทียมหรือลํ้ายุคกว่านักวิทยาศาสตร์ปัจจุบันว่า

“ต้นเหตุเกิด ‘รูปนามของจักรวาล’ นั้น เป็นเหตุเกิด ‘รูปนามพิภพ’ ต่างๆ ตลอดจนดวงดาวนับไม่ถ้วน เพราะไม่มีที่สิ้นสุด รูปนามพิภพต่างๆ เป็นเหตุให้เกิด ‘รูปนามพืช’ รูปนามพืช เป็นเหตุให้เกิด ‘รูปนามสัตว์’ เคลื่อนไหวได้ จึงเรียกกันว่า เป็น สิ่งมีชีวิต”

“ความจริง รูปนาม จะมีชีวิตหรือไม่มีชีวิต มันก็เคลื่อนไหวได้ เพราะมันมีรูปกับนาม เป็นเหตุเป็นผล ให้ เกิดปฏิกิริยาอยู่ในตัว ให้เคลื่อนไหวตลอดกาล และ (เกิด) การเปลี่ยนแปลง เรามองด้วยตาเนื้อไม่เห็น จึงเรียกกันว่าเป็น สิ่งไม่มีชีวิต”

“เมื่อรูปนามของพืช เปลี่ยนมาเป็น รูปนามของสัตว์ เป็นจุดตั้งต้นชีวิตของสัตว์ และเป็นเหตุให้เกิด จิต วิญญาณ การแสดง การเคลื่อนไหว เป็นเหตุให้เกิดกรรม”

ซึ่งคำอธิบายดังกล่าว ต้องตรงตามพุทธพจน์ที่กล่าวไว้กว่า 2500 ปีก่อนยุคแห่งวิทยาศาสตร์ปัจจุบัน ใน อุปจาลาสูตร สังยุตตนิกาย ว่า
สพฺโพ ปจฺจลิโต โลโก
สพฺโพ โลโก ปกมฺปิโต
โลกทั้งโลก คือ ความกระเพื่อมไหว/หวั่นไหว (Trembling)
โลกทั้งโลก คือ ความสั่นสะเทือน (Vibration)
นักวิทยาศาสตร์ได้ค้นพบว่า สิ่งมีชีวิตและสิ่งไม่มีชีวิต ล้วนประกอบขึ้นด้วยสสารต่างๆ และ สสารทุกชนิดมีส่วนที่เล็กที่สุดคือ ปรมาณู ซึ่งได้แก่ อะตอม (Atom) กระนั้นก็ดี อะตอม ยังมีส่วนประกอบย่อยลงไปอีก คือ อนุภาคพื้นฐาน (Elementary particles) โดยมีแกนกลาง (Nucleus) ซึ่งรวมอนุภาคประจุบวก (Proton) และ อนุภาคไร้ขั้ว (Neutron) ไว้ และมีอนุภาคประจุลบ (Electron) วิ่งวนอยู่โดยรอบ

ในบางครั้ง สสารมีการสูญเสียอนุภาคประจุไฟฟ้าเช่น Electron มีการแปรรูปเป็นพลังงานลักษณะต่างๆ เป็นกระแสไฟฟ้า แสงสว่าง หรือ พลังงานปรมาณู เป็นต้น หากมีการแตกแยกหรือหล่อหลอมของ Atomic Nucleus จะเกิดเป็นพลังงานปรมาณูขึ้น
Elementary particles ยังประกอบขึ้นด้วยอณูที่เล็กลงไปกว่านั้นอีก คือ ควอก (Quark) และ Antiquark โดยมีพลังประสาน (Gluon) ดึงดูดควอกให้สมดุลไว้ มิได้อยู่นิ่งอย่างที่เห็นโดยผิวเผิน แต่มีการเคลื่อนไหวอยู่ภายในตลอดเวลา ทั้งในสิ่งไม่มีชีวิตและสิ่งมีชีวิต จึงไม่อาจคงทนสภาพเดิมอยู่ได้ และย่อมเสื่อมสลายไปในที่สุด

มีท่านผู้คงแก่เรียนหลายท่านชอบถามว่า คำกล่าวหรือเทศน์ของหลวงปู่ ดูคล้ายนิกายเซ็น หรือคล้ายมาจากสูตรเว่ยหล่างเป็นต้น ศิษย์ของท่านเรียนถามหลวงปู่ก็หลายครั้ง ในที่สุดท่านกล่าวอย่างเป็นกลางว่า

“สัจธรรมทั้งหมดมีอยู่ประจำโลกอยู่แล้ว พระพุทธเจ้าตรัสรู้สัจธรรมนั้นแล้ว ก็นำมาสั่งสอนสัตว์โลก เพราะอัธยาศัยของสัตว์ไม่เหมือนกัน หยาบบ้าง ประณีตบ้าง พระองค์จึงเปลืองคำสอนไว้มากถึง 84,000 พระธรรมขันธ์ เมื่อมีนักปราชญ์ฉลาดสรรหาคำพูดให้สมบูรณ์ที่สุด เพื่อจะอธิบายสัจธรรมนั้นนำมาแผ่เผยแจ้งแก่ผู้มุ่งสัจธรรมด้วยกัน เราย่อมจะต้องอาศัยแนวทางในสัจธรรมนั้น ที่ตนเองไตร่ตรองเห็นแล้วว่าถูกต้องและสมบูรณ์ที่สุดนำแผ่ออกไปอีก โดยไม่ได้คำนึงถึงคำพูด หรือไม่ได้ยึดติดในอักขระพยัญชนะตัวใดเลยแม้แต่น้อยเดียว”

นั่นคือ เมื่อกล่าวถึงสัจธรรมแล้ว ย่อมลงสู่กระแสเดียวกัน กระนั้นก็ดี คำสอนของหลวงปู่ดูลย์นับได้ว่าเป็นเอกเทศ และเป็นเอกลักษณ์ของท่านเอง บางตอนท่านอาจหยิบยืมคำสอนของเซ็นจาก ‘สูตรเว่ยหล่าง’ และ ‘คำสอนของฮวงโป’ มาชนิดคำต่อคำ ด้วยหลวงปู่เห็นว่า ปราชญ์ท่านได้อธิบายไว้อย่างสมบูรณ์แจ่มแจ้งที่สุดแล้ว แต่หลายๆแห่งท่านก็อธิบายถึงเรื่องอื่นๆไว้มากมายอย่างแจ่มแจ้ง พิสดาร เด็ดเดี่ยว และ อาจหาญ ด้วยภาษาใจของท่านเอง อาทิ เรื่อง อริยสัจ4 จิต-จักรวาล สสารวัตถุ-สิ่งมีชีวิต-สิ่งไม่มีชีวิต ด้วยประสบการณ์ความรู้แจ้งในจิต ในสัจธรรมและธรรมชาติของท่านเอง ซึ่งเจาะทะลุหลักเกณฑ์ทางวิทยาศาสตร์อย่างค้านไม่ได้

นอกจากนี้ยังเป็นการชี้ให้เห็นว่า การประจักษ์แจ้งแห่งสัจธรรม ไม่จำกัดว่าจะต้องเป็นพระฝ่ายธุดงค์กรรมฐานสายหลวงปู่มั่น หรือ พระเซ็นผู้ไม่รู้หนังสือเยี่ยงท่านเว่ยหล่าง (สังฆปริณายกองค์ที่ 6) ไม่จำกัดว่าจะต้องเป็นเถรวาท หรือ มหายาน เพราะความเป็น “พุทธ” ไม่ได้ขึ้นกับสิ่งเปลือกนอกเหล่านั้น และพุทธที่แท้จริง ไม่ได้มีการจำแนก แตกแยกเป็นนิกายต่างๆ ซึ่งเป็นเพียงปรากฏการณ์ภายนอกของสมมติบัญญัติ และ การบรรลุเห็นแจ้งในสัจธรรม ซึ่งเป็นหัวใจของพระพุทธศาสนานั้น เป็นปรมัตถสัจจะ ความจริงสูงสุด เหนือเหตุผล และล่วงพ้นสมมติบัญญัติ โดยสิ้นเชิง

ที่มา : เซ็นต์หลุยส์, มิสซูรี่ สหรัฐอเมริกา
นพ. คงศักดิ์ ตันไพจิตร 15 กันยายน 2539
นิรทุกข์
 
จำนวนผู้ตอบ: 559
สมัครสมาชิก: Sat Mar 13, 2010 7:46 pm

หลวงปู่ดูลย์ วิปัสสนาจารย์ผู้แจ้งในจิตและจักรวาล (3)

Postโดย นิรทุกข์ » Mon Mar 15, 2010 4:53 pm

ต้นฉบับเดิม

จิตคือพุทธะ

พระพุทธเจ้าทั้งปวง และสัตว์โลกทั้งสิ้นไม่ได้เป็นอะไรเลย นอกจากเป็นเพียง จิตหนึ่ง นอกจากจิตหนึ่งแล้ว มิได้มีอะไรตั้งอยู่เลย จิตหนึ่ง ซึ่งปราศจากการตั้งต้นนี้ เป็นสิ่งที่มิได้เกิดขึ้น และไม่อาจถูกทำลายได้เลย

มันไม่ใช่เป็นของมีสีเขียว หรือสีเหลือง และ ไม่มีทั้งรูป ไม่มีทั้งการปรากฏ ไม่ถูกนับรวมอยู่ในบรรดาสิ่งที่มีการตั้งอยู่ และไม่มีการตั้งอยู่ ไม่อาจจะลงความเห็นว่า เป็นของใหม่หรือเก่า ไม่ใช่ของยาวหรือของสั้น ของใหญ่หรือของเล็ก

ทั้งนี้ เพราะมันอยู่เหนือขอบเขต เหนือการวัด เหนือการตั้งชื่อ เหนือการทิ้งร่องรอยไว้ และ เหนือการเปรียบเทียบทั้งหมด

จิตหนึ่งนี้ เป็นสิ่งที่เราเห็นตำตาเราอยู่แท้ๆ แต่จงลองไปใช้เหตุผล (ว่ามันเป็นอะไร เป็นต้น) กับมันเข้าดูซิ เราจะหล่นลงไปสู่ความผิดพลาดทันที สิ่งนี้ เป็นเหมือนกับความว่าง อันปราศจากขอบทุกๆ ด้าน ซึ่งไม่อาจจะหยั่ง หรือวัดได้

จิตหนึ่ง นี้เท่านั้นเป็น พุทธะ ไม่มีความแตกต่างระหว่างพุทธะกับสัตว์โลกทั้งหลาย เพียงแต่ว่าสัตว์โลกทั้งหลายไปยึดมั่นต่อรูปธรรมต่างๆ เสีย และเพราะเหตุนั้น เขาจึงแสวงหาพุทธภาวะจากภายนอก การแสวงหาของสัตว์เหล่านั้นนั่นเอง ทำให้เขาพลาดจากพุทธภาวะ การทำเช่นนั้น เท่ากับ การใช้สิ่งที่เป็นพุทธะ ให้เที่ยวแสวงหาพุทธะ และการใช้จิตให้เที่ยวจับฉวยจิต แม้ว่าเขาเหล่านั้นจะได้พยายามจนสุดความสามารถของเขา อยู่ตั้งกัปหนึ่งเต็มๆ เขาก็จะไม่สามารถลุถึงพุทธภาวะได้เลย

เขาไม่รู้ว่า ถ้าเขาเอง เพียงแต่หยุดความคิดปรุงแต่ง และหมดความกระวนกระวายเพราะการแสวงหา เสียเท่านั้น พุทธะก็จะปรากฏตรงหน้าเขา เพราะว่า จิต นี้คือ พุทธะ นั่นเอง และ พุทธะ คือ สิ่งที่มีชีวิตทั้งหลายทั้งปวง นั่นเอง สิ่งๆ นี้ เมื่อปรากฏอยู่ที่สามัญสัตว์ จะเป็นสิ่งเล็กน้อยก็หาไม่ และเมื่อปรากฏอยู่ที่พระพุทธเจ้าทั้งหลาย จะเป็นสิ่งใหญ่หลวงก็หาไม่

สำหรับการบำเพ็ญปารมิตาทั้ง ๖ ก็ดี การบำเพ็ญข้อวัตรปฏิบัติที่คล้ายๆ กันอีกเป็นจำนวนมากก็ดี หรือการได้บุญมากมายนับไม่ถ้วน เหมือนจำนวนเม็ดทรายในแม่น้ำคงคาก็ดี เหล่านี้นั้นจงคิดดูเถิด เมื่อเราเป็นผู้สมบูรณ์โดยสัจจะพื้นฐานในทุกกรณีอยู่แล้ว คือเป็น จิตหนึ่ง หรือ เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับพุทธะทั้งหลายอยู่แล้ว เราก็ไม่ควรพยายามจะเพิ่มเติมอะไรให้แก่สิ่งที่สมบูรณ์อยู่แล้วนั้น ด้วยการบำเพ็ญวัตรปฏิบัติต่างๆ ซึ่งไร้ความหมายเหล่านั้นไม่ใช่หรือ เมื่อไหร่โอกาสอำนวยให้ทำก็ทำมันไป และเมื่อโอกาสผ่านไปแล้ว อยู่เฉยๆ ก็แล้วกัน

ถ้าเราไม่เห็นตระหนักอย่างเด็ดขาดลงไปว่า จิต นั้นคือ พุทธะ ก็ดี และถ้าเรายัง ยึดมั่นถือมั่น ต่อรูปธรรมต่างๆ อยู่ก็ดี ต่อวัตรปฏิบัติต่างๆ อยู่ก็ดี และต่อวิธีการบำเพ็ญบุญกุศลต่างๆ ก็ดี แนวความคิดของเราก็ยังคงผิดพลาดอยู่ และไม่เข้าร่องเข้ารอยกันกับ ทาง ทางโน้นเสียแล้ว

จิตหนึ่ง นั่นแหละคือ พุทธะ ไม่มีพุทธะอื่นใดที่ไหนอีก ไม่มีจิตอื่นใดที่ไหนอีก มันแจ่มจ้าและไร้ตำหนิเช่นเดียวกับความว่าง คือ มันไม่มีรูปร่างหรือปรากฏการณ์ใดๆ เลย ถ้าเราใช้จิตของเราให้ปรุงแต่งความคิดฝันต่างๆ นั้น เท่ากับเราทิ้งเนื้อหาอันเป็นสาระเสีย แล้วไปผูกพันตัวเองอยู่กับรูปธรรม ซึ่งเป็นเหมือนกับเปลือก พุทธะซึ่งมีอยู่ตลอดกาลนั้น ไม่ใช่พุทธะของความยึดมั่นถือมั่น

การปฏิบัติปารมิตาทั้ง ๖ และการบำเพ็ญข้อวัตรปฏิบัติต่างๆ ที่คล้ายคลึงกันอีกเป็นจำนวนนับไม่ถ้วน ด้วยเจตนาที่จะเป็นพุทธะสักองค์หนึ่งนั้น เป็นการปฏิบัติชนิดที่คืบหน้าทีละขั้นๆ แต่พุทธะซึ่งมีอยู่ตลอดกาลดังที่กล่าวแล้วนั้น หาใช่พุทธะที่ลุถึงได้ด้วยการปฏิบัติเป็นขั้นๆ เช่นนั้นไม่ เรื่องมันเป็นเพียงแต่ ตื่น และ ลืมตา ต่อจิตหนึ่งนั้นเท่านั้น และ ไม่มีอะไรที่จะต้องบรรลุถึงอะไร นี่แหละคือพุทธะที่แท้จริง พุทธะและสัตว์โลกทั้งหลาย คือ จิตหนึ่งนี้เท่านั้น ไม่มีอะไรอื่นนอกไปจากนี้อีกเลย

จิตเป็นเหมือนกับความว่าง ซึ่งภายในนั้นย่อมไม่มีความสับสน และความไม่ดีต่างๆ ดังจะเห็นได้ ในเมื่อดวงอาทิตย์ผ่านไปในที่ว่างนั้น ย่อมส่องแสงไปได้ทั้งสี่มุมโลก เพราะว่าเมื่อดวงอาทิตย์ขึ้น ย่อมให้ความสว่างทั่วพื้นโลก ความว่างที่แท้จริงนั้น มันก็ไม่ได้สว่างขึ้น และเมื่อดวงอาทิตย์ตก ความว่างก็ไม่ได้มืดลง ปรากฏการณ์ของความสว่าง และความมืดย่อมสับเปลี่ยนซึ่งกันและกัน แต่ธรรมชาติของความว่างนั้น ยังคงไม่เปลี่ยนแปลงอยู่นั่นเอง จิตของพุทธะและของสัตว์โลกทั้งหลายก็เป็นเช่นนั้น

ถ้าเรามองดูพุทธะ ว่าเป็นผู้แสดงออก ซึ่งความปรากฏของสิ่งที่บริสุทธิ์ผ่องใส และรู้แจ้งก็ดี หรือมองสัตว์โลกทั้งหลายว่า เป็นผู้แสดงออกซึ่งความปรากฏของสิ่งที่โง่เง่า มืดมน และมีอาการสลบไสลก็ดี ความรู้สึกนึกคิดเหล่านี้ อันเป็นผลที่เกิดมาจากความคิดยึดมั่นต่อรูปธรรมนั้น จะกันเราไว้เสียจากความรู้อันสูงสุด ถึงแม้ว่าเราจะได้ปฏิบัติมาตลอดกี่กัปนับไม่ถ้วน ประดุจเม็ดทรายในแม่น้ำคงคาแล้วก็ตาม มีแต่จิตหนึ่งเท่านั้น และไม่มีสิ่งใดแม้แต่อนุภาคเดียวที่จะอิงอาศัยได้ เพราะ จิตนั้นเอง คือ พุทธะ

เมื่อพวกเราที่เป็นนักศึกษาเรื่อง ทาง ทางโน้นไม่ลืมตาต่อสิ่งซึ่งเป็นสาระ กล่าวคือ จิตนี้ พวกเราจะปิดบัง จิต นั้นเสีย ด้วยความคิดปรุงแต่งของเราเอง พวกเราจะเที่ยวแสวงหา พุทธะ นอกตัวเราเอง พวกเรายังคงยึดมั่นต่อรูปธรรมทั้งหลาย ต่อการปฏิบัติเมาบุญต่างๆ ทำนองนั้น ทั้งหมดนี้เป็นอันตราย และไม่ใช่หนทางอันนำไปสู่ความรู้อันสูงสุดที่กล่าวนั้นแต่อย่างใด

เนื้อแท้แห่งสิ่งสูงสุดสิ่งนั้น โดยภายในแล้วย่อมเหมือนกับไม้หรือก้อนหิน คือภายในนั้นปราศจาก การเคลื่อนไหว และโดยภายนอกแล้วย่อมเหมือนกับความว่าง กล่าวคือ ปราศจากขอบเขตหรือสิ่งกีดขวางใดๆ สิ่งนี้ไม่ใช่เป็นฝ่ายนามธรรม หรือฝ่ายรูปธรรม มันไม่มีที่ตั้งเฉพาะ ไม่มีรูปร่าง และไม่อาจจะหายไปได้เลย

จิตนี้ไม่ใช่จิตซึ่งเป็นความคิดปรุงแต่ง มันเป็นสิ่งซึ่งอยู่ต่างหาก ปราศจากการเกี่ยวข้องกับรูปธรรมโดยสิ้นเชิง ฉะนั้น พระพุทธเจ้าทั้งหลาย และสัตว์โลกทั้งปวงก็เป็นเช่นนั้น พวกเราเพียงแต่สามารถปลดเปลื้องตนเองออกจากความคิดปรุงแต่งเท่านั้น พวกเราจะประสบความสำเร็จทุกอย่าง

หลักธรรมที่แท้จริงก็คือ จิต นั่นเอง ซึ่งถ้านอกไปจากนั้นแล้วก็ไม่มีหลักธรรมใดๆ จิตนั่นแหละคือหลักธรรม ซึ่งถ้านอกไปจากนั้นแล้วมันก็ไม่ใช่จิต จิตนั้น โดยตัวมันเองก็ไม่ใช่จิต แต่ถึงกระนั้นมันก็ยังไม่ใช่ มิใช่จิต การที่จะกล่าวว่าจิตนั้นมิใช่จิต ดังนี้นั่นแหละ ย่อมหมายถึง สิ่งบางสิ่งซึ่งมีอยู่จริง สิ่งนี้มันอยู่เหนือคำพูด ขอจงเลิกละการคิดและการอธิบายเสียให้หมดสิ้น เมื่อนั้น เราอาจกล่าวได้ว่า คลองแห่งคำพูดก็ได้ถูกตัดขาดไปแล้ว และ พฤติของจิต ก็ถูกเพิกถอนขึ้นสิ้นเชิงแล้ว

จิตนี้คือ พุทธโยนิ อันบริสุทธิ์ ซึ่งมีประจำอยู่แล้วในคนทุกคน สัตว์ซึ่งมีความรู้สึกนึกคิด กระดุกกระดิกได้ทั้งหมดก็ดี พระพุทธเจ้าพร้อมทั้งพระโพธิสัตว์ทั้งหลายทั้งปวงก็ดี ล้วนแต่เป็นของแห่งธรรมชาติอันหนึ่งนี้เท่านั้น และไม่แตกต่างกันเลย ความแตกต่างทั้งหลายเกิดขึ้นจากเราคิดผิดๆ เท่านั้น ย่อมนำเราไปสู่การก่อสร้างกรรมทั้งหลายทั้งปวงทุกชนิดไม่มีหยุด

ธรรมชาติแห่งความเป็นพุทธะดั้งเดิมของเรานั้น โดยความจริงอันสูงสุดแล้ว เป็นสิ่งที่ไม่มีความหมายแห่งความเป็นตัวตนแม้แต่สักปรมาณูเดียว สิ่งนั้นคือ ความว่าง เป็นสิ่งที่มีอยู่ในทุกแห่ง สงบเงียบ และไม่มีอะไรเจือปน มันเป็นสันติสุขที่รุ่งเรืองและเร้นลับ และก็หมดกันเพียงเท่านั้นเอง

จงเข้าไปสู่สิ่งสิ่งนี้ได้ลึกซึ้ง โดยการลืมตาต่อสิ่งนี้ด้วยตัวเราเอง สิ่งซึ่งอยู่ตรงหน้าเรานี้แหละ คือสิ่ง สิ่งนั้น ในอัตราที่เต็มที่ทั้งหมดทั้งสิ้น และสมบูรณ์ถึงที่สุดแล้ว ไม่มีอะไรนอกไปจากนี้อีก

จิตคือพุทธะ (สิ่งสูงสุด) มันย่อมรวมสิ่งทุกสิ่งเข้าไว้ในตัวมันทั้งหมด นับแต่พระพุทธเจ้าที่ตรัสรู้แล้วทั้งหลายเป็นสิ่งที่สุดในเบื้องสูง ลงไปจนกระทั่งถึงสัตว์ประเภทที่ต่ำต้อยที่สุด ซึ่งเป็นสัตว์เลื้อยคลานและแมลงต่างๆ เป็นที่สุดในเบื้องต่ำ สิ่งเหล่านี้ทุกสิ่ง มันย่อมมีส่วนแห่งความเป็นพุทธะเท่ากันหมด และทุกๆ สิ่งมีเนื้อหาเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับ พุทธะ อยู่ตลอดเวลา

ถ้าพวกเราเพียงแต่สามารถทำความเข้าใจในจิตของเราเองได้สำเร็จ แล้วค้นพบธรรมชาติอันแท้จริงของเราเองได้ ด้วยความเข้าใจอันนี้เท่านั้น ก็จะเป็นที่แน่นอนว่า ไม่มีอะไรที่พวกเราจำเป็นที่จะต้องแสวงหาแม้แต่อย่างใดเลย
นิรทุกข์
 
จำนวนผู้ตอบ: 559
สมัครสมาชิก: Sat Mar 13, 2010 7:46 pm

หลวงปู่ดูลย์ วิปัสสนาจารย์ผู้แจ้งในจิตและจักรวาล (4)

Postโดย นิรทุกข์ » Mon Mar 15, 2010 4:54 pm

จิตของเรานั้น ถ้าเราทำความสงบเงียบอยู่จริงๆ เว้นขาดจากการคิดนึก ซึ่งเป็นการเคลื่อนไหวของจิต แม้แต่น้อยที่สุดเสียให้ได้จริงๆ ตัวแท้ของมันก็จะปรากฏออกมาเป็นความว่าง แล้วเราก็จะพบว่ามันเป็นสิ่งที่ปราศจากรูป มันไม่ได้กินเนื้อที่อะไรๆ ที่ไหน แม้แต่จุดเดียว มันไม่ได้ตกลงสู่การบัญญัติว่าเป็นพวกที่มีความเป็นอยู่ หรือไม่มีความเป็นอยู่ แม้แต่ประการใดเลย เพราะเหตุที่ สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่เรารู้สึกไม่ได้โดยทางอายตนะ เพราะจิตซึ่งเป็นธรรมชาติที่แท้ของคนเรานั้น มันเป็นครรภ์หรือกำเนิด ไม่มีใครทำให้เกิดขึ้นและไม่อาจถูกทำลายได้เลย

ในการทำปฏิกิริยาตอบสนองต่อสิ่งแวดล้อมต่างๆ นั้น มันเปลี่ยนรูปของมันเองออกมาเป็นปรากฏการณ์ต่างๆ เพื่อสะดวกในการพูด เราพูดถึงจิตในฐานะที่เป็นตัวสติปัญญา แต่ในขณะที่มันไม่ได้ทำการตอบสนองต่อสิ่งแวดล้อม คือไม่ได้เป็นตัวสติปัญญาที่นึกคิด หรือสร้างสิ่งต่างๆ ขึ้นมานั้น มันเป็นสิ่งที่ไม่อาจถูกกล่าวถึงในการที่จะบัญญัติว่ามันเป็นความมีอยู่ หรือไม่ใช่ความมีอยู่

ยิ่งไปกว่านั้น แม้ในขณะที่มันทำหน้าที่สร้างสิ่งต่างๆ ขึ้นมา ในฐานะที่ตอบสนองต่อกฎแห่งความเป็นเหตุและผลของกันและกันนั้น มันก็ยังเป็นสิ่งที่เรารู้สึกไม่ได้โดยทางอายตนะ ตา หู จมูก ลิ้น กาย และมโนทวาร อยู่นั่นเอง ถ้าเราทราบความเป็นจริงข้อนี้ เราทำความสงบเงียบสนิทอยู่ในภาวะแห่งความไม่มีอะไร ในขณะนั้น พวกเรากำลังเดินอยู่แล้วในทางแห่งพระพุทธเจ้าทั้งหลายโดยแท้จริง ดังนั้น เราควรเจริญจิตให้หยุดอยู่บนความไม่มีอะไรเลยทั้งสิ้น

มูลธาตุทั้ง ๕ ซึ่งประกอบกันขึ้นเป็นวิญญาณนั้น เป็นของว่างเปล่า และมูลธาตุทั้ง ๔ ของรูปกายนั้น ไม่ใช่เป็นสิ่งซึ่งประกอบกันขึ้นเป็นตัวของเรา จิต จริงแท้นั้น ไม่มีรูปร่าง และไม่มีอาการมาหรืออาการไป ธรรมชาติเดิมแท้ของเรานั้นเป็นสิ่งๆ หนึ่ง ซึ่งไม่มีการตั้งต้นที่การเกิด และไม่มีการสิ้นสุดลงที่การตาย แต่เป็นของสิ่งเดียวกันรวด และปราศจากการเคลื่อนไหวใดๆ ในส่วนลึกจริงๆ ของมันทั้งหมด

จิตของเรากับสิ่งต่างๆ ซึ่งแวดล้อมเราอยู่นั้นเป็นสิ่งๆ เดียวกัน ถ้าเราทำความเข้าใจได้ตามนี้จริงๆ เราจะได้ลุถึงความรู้แจ้งเห็นแจ้งได้โดยแวบเดียวในขณะนั้น และเราเป็นผู้ที่ไม่ต้องเกี่ยวข้องในโลกทั้งสามอีกต่อไป เราจะเป็นผู้อยู่เหนือโลก เราไม่มีการโน้มเอียงไปสู่การเกิดใหม่อีกแม้แต่นิดเดียว เราจะเป็นแต่ตัวเราเองเท่านั้น ปราศจากความคิดปรุงแต่งโดยสิ้นเขิง และเป็นสิ่งเดียวกับสิ่งสูงสุดสิ่งนั้น เราจะได้ลุถึงภาวะแห่งความที่ไม่มีอะไรปรุงแต่งได้อีกต่อไป ฉะนั้น นี่แหละคือหลักธรรมที่เป็นหลักมูลฐานอยู่ในที่นี้

สัมมาสัมโพธิ เป็นชื่อของการเห็นแจ้งชัดว่าไม่มีธรรมใดเลยที่ไม่เป็นโมฆะ ถ้าเราเข้าใจความจริงข้อนี้แล้ว ของหลอกลวงทั้งหลายจะมีประโยชน์อะไรแก่เรา

ปรัชญา คือความรู้แจ้ง ความรู้แจ้ง คือจิตต้นกำเนิดดั้งเดิม ซึ่งปราศจากรูป ถ้าเราสามารถทำความเข้าใจได้ว่า ผู้กระทำและสิ่งที่ถูกกระทำ คือจิตและวัตถุเป็นสิ่งๆ เดียวกัน นั่นแหละ จะนำเราไปสู่ความเข้าใจอันลึกซึ้ง และลึกลับเหนือคำพูด และโดยความเข้าใจอันนี้เอง พวกเราจะได้ลืมตาต่อสัจธรรมที่แท้จริงด้วยตัวเราเอง

สัจธรรมที่แท้จริงของเรานั้น ไม่ได้หายไปจากเรา แม้ในขณะที่เรากำลังหลงผิดอยู่ด้วยอวิชชา และไม่ได้รับกลับมา ในขณะที่เรามีการตรัสรู้ มันเป็นธรรมชาติแห่งภูตัตถตา ในธรรมชาตินี้ไม่มีทั้งอวิชชา ไม่มีทั้งสัมมาทิฐิ มันเต็มอยู่ในความว่าง เป็นเนื้อหาอันแท้จริงของจิตหนึ่งนั้น เมื่อเป็นดังนี้แล้ว อารมณ์ต่างๆ ที่จิตของเราได้สร้างขึ้น ทั้งฝ่ายนามธรรมและฝ่ายรูปธรรม จะเป็นสิ่งซึ่งอยู่ภายนอกความว่างนั้นได้อย่างไร

โดยหลักมูลฐานแล้ว ความว่างนั้นเป็นสิ่งซึ่งปราศจากมิติต่างๆ แห่งการกินเนื้อที่ คือปราศจากกิเลส ปราศจากกรรม ปราศจากอวิชชา และปราศจากสัมมาทิฏฐิ พวกเราต้องทำความเข้าใจอย่างกระจ่างแจ้งว่า โดยแท้จริงแล้ว ไม่มีอะไรเลย ไม่มีมนุษย์สามัญ ไม่มีพุทธทั้งหลาย เพราะว่าในความว่างนั้น ไม่มีอะไรบรรจุอยู่แม้เท่าเส้นขนที่เล็กที่สุด อันเป็นสิ่งซึ่งสามารถจะมองเห็นได้โดยทางมิติ หรือกฎแห่งการกินเนื้อที่เลย มันไม่ต้องอาศัยอะไร และไม่ติดเนื่องอยู่กับสิ่งใด มันเป็นความงามที่ไร้ตำหนิ เป็นสิ่งซึ่งอยู่ได้ด้วยตัวมันเอง และเป็นสิ่งสูงสุดที่ไม่มีอะไรสร้างขึ้น มันเป็นเพชรพลอยที่อยู่เหนือการตีค่าทั้งปวงเสียจริงๆ เราต้อง แยกรูปถอด ด้วยวิชชา มรรคจิต เหตุต้องละ ผลต้องละ ใช้หนี้ก็หมด พ้นเหตุเกิด

สิ่งมีชีวิตและไม่มีชีวิตในจักรวาล มีนับไม่ถ้วนรวมแล้วมี รูปกับนาม สองอย่างเท่านั้น นามเดิม ก็คือ ความว่างของจักรวาล เข้าคู่กันเป็น เหตุเกิด ตัวอวิชชา เกิดเหตุก่อ ที่ใดมีรูป ที่นั้นต้องมีนาม ที่ใดมีนาม ที่นั้นต้องมีรูป รูปนามรวมกัน เป็นเหตุเกิดปฏิกิริยา ให้เปลี่ยนแปลงตลอดกาล และ เกิดกาลเวลาขึ้น คือรูปย่อมมีความดึงดูดซึ่งกันและกัน จึงเป็นเหตุให้รูปเคลื่อนไหว และหมุนรอบตัวเองตามปัจจัย รูปเคลื่อนไหวได้ ต้องมีนาม ความว่างคั่นระหว่างรูป รูปจึงเคลื่อนไหวได้

เมื่อสภาวธรรมเป็นอย่างนี้ สรรพสิ่งของวัตถุ สสารมีชีวิต และไม่มีชีวิตจึงต้องเปลี่ยนแปลง เป็นไตรลักษณ์ เกิด ดับ สืบต่อทุกขณะจิตไม่มีวันหยุดนิ่งให้คงทนเป็นปัจจุบันได้

จิต วิญญาณ ก็เกิดมาจาก รูปนามของจักรวาล มันเป็นมายาหลอกลวงแล้วเปลี่ยนแปลงให้คนหลง จากรูปนามไม่มีชีวิต เปลี่ยนมาเป็นรูปนามที่มีชีวิต จากรูปนามที่มีชีวิต มาเป็นรูปนามมีชีวิตที่มีจิตวิญญาณ แล้วจิตวิญญาณก็เปลี่ยนแปลงแยกออกจากกัน คงเหลือแต่ นามว่างที่ปราศจากรูป นี้ เป็นจุดสุดยอดของการหลอกลวงของรูปนาม

ต้นเหตุเกิดรูปนามของจักรวาลนั้น เป็นเหตุเกิด รูปนามพิภพ ต่างๆ ตลอดจนดวงดาวนับไม่ถ้วน เพราะไม่มีที่สิ้นสุด รูปนามพิภพต่างๆ เป็นเหตุให้เกิด รูปนามพืช รูปนามพืชเป็นเหตุให้เกิด รูปนามสัตว์ เคลื่อนไหวได้ จึงเรียกกันว่า เป็นสิ่งมีชีวิต

ความจริง รูปนามจะมีชีวิตหรือไม่มีชีวิตมันก็เคลื่อนไหวได้ เพราะมันมีรูปกับนาม เป็นเหตุเป็นผลให้เกิดปฏิกิริยาอยู่ในตัว ให้เคลื่อนไหวตลอดกาล และ(เกิด) การเปลี่ยนแปลง บางอย่างเรามองด้วยตาเนื้อไม่เห็น จึงเรียกกันว่าเป็นสิ่งไม่มีชีวิต

เมื่อรูปนามของพืชเปลี่ยนมาเป็นรูปนามของสัตว์ เป็นจุดตั้งต้นชีวิตของสัตว์ และเป็น เหตุให้เกิด จิต วิญญาณ การแสดง การเคลื่อนไหว เป็นเหตุให้เกิดกรรม

สัตว์ชาติแรกมีแต่สร้างกรรมชั่ว สัตว์กินสัตว์ และ(มี)ความโกรธ โลภ หลง ตามเหตุ ปัจจัย ภายนอกภายในที่มากระทบ กรรมที่สัตว์แสดง มี ตา หู จมูก ลิ้น กาย ๕ อย่าง ไปกระทบกับ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ๕ อย่าง แล้วมาประทับ บรรจุ บันทึก ถ่ายภาพ ติดอยู่กับ รูปปรมาณู ซึ่งเป็น สุขุมรูป แฝงอยู่ในความว่าง เราไม่สามารถมองเห็นด้วยตาได้ ที่แฝงอยู่ในความว่างระวางคั่น ตา หู จมูก ลิ้น กาย นั้นไว้ได้หมดสิ้น

เมื่อสัตว์ชาติแรกเกิดนี้ ได้ตายลง มี กรรมชั่ว อย่างเดียว เป็น เหตุให้สัตว์ต้องเกิดอีก เพื่อให้สัตว์ต้อง ใช้หนี้ กรรมชั่วที่ได้ทำไว้ แต่สัตว์เกิดขึ้นมาแล้วหายอม ใช้หนี้เกิด กันไม่ มันกลับ เพิ่มหนี้ ให้เป็น เหตุเกิด ทวีคูณ ด้วยเพศผู้เพศเมียเกิดเป็น สุขุมรูป ติดอยู่ใน ๕ กองนี้ เป็นทวีคูณจนปัจจุบันชาติ

ดังนั้น ด้วยอำนาจกรรมชั่วในสุขุมรูป ๕ กอง ก็เกิดหมุนรวมกันเข้าเป็น รูปปรมาณูกลม คงรูปอยู่ได้ด้วยการหมุนรอบตัวเอง มิหยุดนิ่ง เป็นคูหาให้จิตใจได้อาศัยอยู่ข้างใน เรียกว่า รูปวิญญาณ หรือจะเรียกว่า รูปถอด ก็ได้ เพราะถอดมาจากนามระวางคั่น ตา หู จมูก ลิ้น กาย นั่นเอง ซึ่งเป็นสุขุมรูปแฝงอยู่ในความว่าง รูปวิญญาณ จึงมีชีวิตอยู่คงทนอยู่ ยืนนานกว่า รูปหยาบ มีกรรมชั่วคอยรักษาให้หมุนคงรูปอยู่ ไม่มีเทพเจ้าองค์ใดฆ่าให้ตายได้ นอกจาก นิพพานเท่านั้น รูปวิญญาณจึงจะสลาย

ส่วนการแสดงกรรมของสัตว์ที่ประทับอยู่ในสุขุมรูป มีรูป ตา หู จมูก ลิ้น กาย ๕ กองนั้นรวมกันเข้าเรียกว่า จิต จึงมี สำนักงานจิต ติดอยู่ในวิญญาณ ๕ กอง รวมกันเป็นที่ทำงานของ จิตกลาง แล้วไปติดต่อกับ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ภายนอก ซึ่งเป็นสื่อติดต่อของจิต ดังนั้น จิต กับ วิญญาณ จึงไม่เหมือนกัน จิตเป็นผู้รู้สึกนึกคิด ส่วนวิญญาณเป็นคูหาให้จิตได้อาศัยอยู่ และเป็นยานพาหนะพาจิตไปเกิด หรือจะไปไหนๆ ก็ได้ เป็นผู้รักษา สุขุมรูป รูปที่ถอดจากรูปหยาบ มีรูปเพศผู้ เพศเมีย รูป ตา หู จมูก ลิ้น กาย อยู่ในวิญญาณไว้ได้เป็นเหตุเกิดสืบภพต่อชาติ

เมื่อสัตว์ตาย ชีวิตร่างกายหยาบของภพภูมิชาตินั้นๆ ก็หมดไปตามอายุขัย (ของ) ชีวิตร่างกายหยาบของภูมิชาตินั้นๆ ส่วนชีวิตแท้ รูป ปรมาณู วิญญาณ จะไม่ตายสลายตาม จะต้องไปเกิดตามภพภูมิต่างๆ ตามเหตุปัจจัยของวัฏฏะหมุนเวียนเปลี่ยนไปด้วย

ชีวิตแท้-รูปถอดหรือวิญญาณหมุนรอบตัวเอง นี้เอง เป็นเหตุให้จิตเกิดดับ สืบต่อ คอยรับเหตุการณ์ภายนอกภายในที่มากระทบ จะดีหรือชั่วก็สะสมเข้าไว้ เป็นทุน เหตุเกิด เหตุดับ หรือปรุงแต่งต่อไป จนกว่า กรรมชั่ว-เหตุเกิด จะหมดไป ชีวิตแท้-รูปถอดหรือวิญญาณ ก็จะหยุดการหมุน รูปสุขุม-รูปวิญญาณ ซึ่งเกิดมาจากกรรมชั่ว สืบต่อมาแต่ชาติแรกเกิด ก็จะสลายแยกออกจากกันไป คงรูปอยู่ไม่ได้ มันก็กระจายไป ส่วนกิจกรรมดี ธรรมะที่ติดอยู่กับวิญญาณ มันก็จะกระจายไปกับรูปปรมาณู คงเหลือแต่ความว่างที่คั่นช่องว่างของรูปปรมาณูทุกๆ ช่อง ฉะนั้น โดยปราศจากรูปปรมาณู ความว่างนั้น จึงบริสุทธิ์และสว่าง รวมเข้ากับความว่าง บริสุทธิ์ สว่าง ของจักรวาลเดิม เข้าเป็นหนึ่งเรียกว่า นิพพาน

เมื่อสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์ทรงสร้างชีวิตพระพุทธศาสนา ให้ก่อเกิดอย่างบริบูรณ์ดังพระประสงค์แล้ว พระพุทธองค์จึงได้ทรงเสด็จสู่อนุปาทิเสสนิพพาน (นิพพานไม่มีอุปาทิเหลือ, ดับกิเลสไม่มีเบญจขันธ์เหลือ คือสิ้นทั้งกิเลสและชีวิต) เป็นผู้หมดสิ้นทุกตัณหา เป็นผู้ดับรอบโดยลักษณาการแห่งอนุปาทิเสสนิพพานของพระพุทธองค์ก็คือ ลำดับแรก ก็เจริญฌานดิ่งสนิทเข้าไปจนถึงสัญญาเวทยิตนิโรธ หมายความว่า เข้าไปดับลึกสุดอยู่เหนือ อรูปฌาน

ในวาระแรกนั้น พระองค์ยังไม่ได้ดับขันธ์ต่างๆ ให้สิ้นสนิทเป็นเด็ดขาดแต่อย่างใด ยังเพียงเข้าไปเพื่อทรงกระบวนการแห่งการสู่นิพพาน หรือนิโรธ เป็นครั้งสุดท้ายแห่งชีวิต พูดง่ายๆ ก็คือสู่สิ่งที่พระองค์ได้ทรงสร้าง ได้ทรงพากเพียรก่อเป็นทาง เป็นแบบอย่างไว้ เป็นครั้งสุดท้ายเสียหน่อย ซึ่งเรียกได้ว่าสิ่งอันเกิดจากที่พระองค์ได้ยอมอยู่กับธุลีทุกข์ อันเป็นธุลีทุกข์ที่มนุษย์ธรรมดา (เป็น) ผู้ที่มีจิตหยาบเกินกว่าจะสัมผัสว่า มันเป็นทุกข์

นี่แหละ กระบวนการกระทำจิตตน ให้ถึงซึ่งสัญญาเวทยิตนิโรธนั้น เป็นกระบวนการที่พระอนุตตรสัมมาสัมพุทธเจ้า พระผู้เป็นยอดแห่งศาสดาในโลกเท่านั้นที่ทรงค้นพบ ทรงนำมาตีแผ่เผย แจ้งออกสู่สัตว์โลกให้พึงปฏิบัติตาม เมื่อทรงสิ่งซึ่งสุดท้ายนี้แล้ว จึงได้ถอยกลับมาสู่สภาวะต้น คือปฐมฌาน แล้วจึงได้ตัดสินพระทัยสุดท้าย เสด็จดับขันธ์ต่างๆ ไปทีละขันธ์ วิญญาณขันธ์แห่งชีวิต และร่างกายนั้น เพราะต้องดับสังขารขันธ์ หรือสังขารธรรมชั้นแรกเสียก่อน วิญญาณขันธ์จึงได้ดับ ดังนั้น จึงไม่มีเชื้อใดเหลืออยู่แห่งวิญญาณขันธ์ที่หยาบนั้น

พระองค์เริ่มดับ สังขารขันธ์ หรือ สังขารธรรม ชั้นในสุดอีกที อันจะส่งผลให้ก่อ วิภวตัณหา ได้ชั้นหนึ่งเสียก่อน แล้วจึงได้เลื่อนเข้าสู่ ทุติยฌาน แล้วจึงดับ สัญญาขันธ์ เลื่อนเข้าสู่ ตติยฌาน เมื่อ พระองค์ดับสังขารขันธ์ หรือสังขารธรรม ชั้นในสุดอีกที ก็เป็นอันเลื่อนเข้าสู่ จตุตถฌาน คงมีแต่ เวทนาขันธ์ สุดท้ายแห่งชีวิต นั้นแล คือลักษณาการแห่งขั้นสุดท้ายของการจะดับสิ้นไม่เหลือ

เมื่อพระองค์ดับ สังขารขันธ์ หรือ สังขารธรรม ใหญ่สุดท้ายที่มีทั้งสิ้นแล้ว แล้วก็มาดับ เวทนาขันธ์ อันเป็น จิตขันธ์ หรือ นามขันธ์ ที่ในจิตส่วนในคือ ภวังคจิต เสียก่อน แล้วจึงได้ออกจาก จตุตถฌาน พร้อมกับมาดับ จิตขันธ์ หรือ นามขันธ์ สุดท้ายจริงๆ ของพระองค์เสียลงเพียงนั้น

นี่ พระองค์เข้าสู่นิพพานอย่างจริงๆ อยู่ตรงนี้ พระองค์ไม่ได้เข้าสู่นิพพานในฌานสมาบัติอะไรที่ไหนดอก เมื่อพระองค์ออกจากจตุตถฌานแล้ว จิตขันธ์หรือนามขันธ์ก็ดับพร้อม ไม่มีอะไรเหลือ นั่นคือ พระองค์ ดับเวทนาขันธ์ในภาวะจิตตื่น หรือวิถีจิตปกติของมนุษย์ ครบพร้อมทั้งสติและสัมปชัญญะ ไม่ถูกภาวะอื่นใดที่มาครอบงำอำพราง ให้หลงใหลใดๆ ทั้งสิ้น เป็นภาวะแห่งตนเองอย่างบริบูรณ์

เมื่อ เวทนาขันธ์ สุดท้ายแท้ๆ จริงๆ ได้ถูกทำลายลงอย่างสนิท จึงเป็นผู้บริสุทธิ์ หมดสิ้นแล้วซึ่งสังขารธรรม และหมดเชื้อ จิตขันธ์ หรือ นามขันธ์ ทั้งปวงใดๆ ในพระองค์ท่าน ไม่มีเหลือ คงทิ้งแต่ รูปขันธ์ อันจะมีชีวิตนั้นไม่ได้แน่ เพราะรูปไม่ใช่ชีวิตหากสิ้นนามเสียแล้ว ก็คือแท่ง คือก้อนวัตถุหนึ่ง เท่านั้นเอง

นั่นแล คือ ลำดับฌาน ที่พระอนุรุทธเถระเจ้าได้นำฌานจิตเข้าไปดู เป็นวิธีการดับโดยแท้ ดับโดยจริงโดยพระองค์เป็นผู้ดับเองเสียด้วย

พระธรรมเทศนา : หลวงปู่ดูลย์ อตุโล
ที่มา : http://www.geocities.com/pudule/dharma3.htm
นิรทุกข์
 
จำนวนผู้ตอบ: 559
สมัครสมาชิก: Sat Mar 13, 2010 7:46 pm


กลับไปหน้า ธรรมเพื่อชีวิต

ผู้ที่กำลัง online

ผู้ที่กำลังอ่าน forum นี้: สมาชิก ไม่มีสมาชิก และ ผู้เยี่ยมชม 3 คน

cron