ประวัติที่พักสงฆ์ป่าวิเวกสิกขาราม

 

๕๕ หมู่ ๑๑ ถ.เมืองพล-เพ็กใหญ่(ทางหลวง ๒๒๓๓) ต.เก่างิ้ว อ.พล จ.ขอนแก่น

๒๖ พฤศจิกายน ๒๕๕๓

 

อาณาเขตที่พักสงฆ์ เดิมเป็นพื้นที่นา ดินเป็นดินเหนียว หน้าฝนน้ำท่วม  มีทางระบายน้ำด้านหน้าตามแนวถนน ไหลจากทิศตะวันตกไปทางทิศตะวันออก   แล้วไปตามด้านข้างทางรถไฟสู่บึงละเลิงหวาย   มีท่อประปาและแนวเสาไฟฟ้า ทางด้านหน้าที่พักสงฆ์ตลอดแนวถนนทางหลวงไปบ้านเพ็กใหญ่ พื้นที่ดินมีระดับต่ำกว่าถนนทางหลวงประมาณเกือบ ๑ เมตร มีต้นไม้ใหญ่ยืนต้นไม่กี่ต้น

  • ทิศเหนือ ติดกับถนนหน้าป่าช้าจีน  ต.เพ็กใหญ่

  • ทิศตะวันออก ติดกับหมู่บ้านชัยเจริญ  ต.เก่างิ้ว

  • ทิศใต้ ติดถนนทางหลวงหมายเลข ๒๒๓๓ เมืองพล-.เพ็กใหญ่-แวงใหญ่

  • ทิศตะวันตก ติดถนนแยกจากถนนหลวงเข้าป่าช้าจีน-บ้านบัว ต.เก่างิ้ว

การคมนาคม จากที่ว่าการอำเภอพล ข้ามทางรถไฟไปทางบ้านเพ็กใหญ่ หรือ เรือนจำพล ตามถนนทางหลวงหมายเลข ๒๒๓๓ เมืองพล-แวงใหญ่ ประมาณ ๖๐๐ เมตร

มูลเหตุที่สร้างที่พักสงฆ์ พ.ศ.๒๕๔๙ เป็นพรรษา ๑๒ ที่อยู่กับหลวงพ่อประสิทธิ์ ถาวโร เจ้าอาวาสวัดถ้ำยายปริกอ.เกาะสีชัง   จ.ชลบุรี   มีความรู้หนึ่งขึ้นมาเกือบตลอดทั้งพรรษาว่าโยมมารดาบิดาอายุมากแล้ว  (๘๐ กว่าปี) เราจะกลับมาแทนคุณท่าน  เพื่อให้ท่านได้ทำบุญกุศลในช่วงบั้นปลายของชีวิต เดี๋ยวไม่ทัน และหลวงพ่อประสิทธิ์ท่านก็ได้นิมิตบอกว่าอาตมาสายอีสาน ต่อมาเมื่อวันที่ ๙ มีนาคม ๒๕๕๐ หลวงพ่อประสิทธิ์ท่านมรณภาพ พอต้นเดือนมกราคม ๒๕๕๑ ได้กลับมาบ้านเกิด เพื่อโปรดโยมมารดาบิดา  ซึ่งท่านได้ถวายที่ดินจำนวน ๔๒ ไร่ ๓ งาน ๗๘ ตารางวา ให้สร้างที่พักสงฆ์ป่าวิเวกสิกขาราม (พรรษา๑๓)

ชื่อที่พักสงฆ์ ก่อนจะมาสร้างที่พักสงฆ์อาตมาอยู่ที่วัดถ้ำยายปริก อาตมาได้นิมิตว่า อาตมาแตกหมู่มาองค์เดียวมาที่วัดเก่า   ซึ่งไม่มีสิ่งก่อสร้างอะไรมีแต่ที่โล่งๆ มีตุ่มน้ำ ๓ ใบ และอาตมากำลังจะสรงน้ำจากตุ่ม จึงมาพิจารณาตั้งชื่อที่พักสงฆ์   “ป่าวิเวกสิกขาราม” วิเวกมี ๓ คือ กายวิเวก จิตตวิเวก อุปธิวิเวก   สิกขาก็มี ๓ คือ   อธิสีลสิกขา อธิจิตตสิกขา อธิปัญญาสิกขา กายวิเวกคู่กับอธิสีลสิกขา จิตตวิเวกคู่กับอธิจิตตสิกขา อุปธิวิเวกคู่กับอธิปัญญาสิกขา วิเวกเป็นผล   สิกขาเป็นเหตุ เหมือนอริยสัจ ๔ ทุกข์เป็นผล  สมุทัยเป็นเหตุ นิโรธเป็นผล  มรรคเป็นเหตุ   ย่นลงคือ ผล-เหตุ   เหตุนั้นจะละทุกข์ก็ต้องละที่เหตุคือสมุทัย   จะทำนิโรธให้แจ้งก็ต้องเจริญมรรค   (มรรค ๘ ย่นลงคือ ศีล สมาธิ ปัญญา)   การตั้งชื่อที่พักสงฆ์นั้นใช้ชื่อที่เป็นเรื่องของธรรมะ  ไม่ใช้ชื่อบุคคลหรือสถานที่ที่ตั้งที่พักสงฆ์เพื่อ 
เป็นคติเตือนสติผู้มาอยู่หรือมาสัมผัส  ให้มุ่งต่อการปฏิบัติเพื่อความพ้นจากกองทุกข์ตามนิมิตที่บอกไว้

การก่อสร้าง เริ่มก่อสร้างที่พักสงฆ์และปลูกต้นไม้มาเรื่อยๆ

 

ต้นมกราคม ๒๕๕๑ คืนก่อนที่พระพี่ชายจะชวนไปดูสถานที่ที่จะทำทางเข้าที่พักสงฆ์ ได้นิมิตเห็นลูกศรสวนกัน  เห็นพระองค์หนึ่งรูปร่างสูงใหญ่ (พระพุทธเจ้าสิขี) ยืนอยู่บริเวณทางประตูเหล็กปัจจุบัน ได้ถามท่านให้เดินอ้อมบริเวณท่านใช่ไหม พิจารณาดูเขาให้ทำทางเข้าทางเดียวไม่ให้เปิดทางด้านหลัง อีกอย่างหนึ่งกระแสธรรมทวนกระแสโลก (กระแสธรรม ทำไม่เอา  ละของกู ละตัวกู สะอาด สว่าง สงบ วิชชา กระแสโลก ทำเอา ของกู ตัวกู ยึดมั่นถือมั่น  มืดบอด เหนื่อยเปล่า อวิชชา)  เมื่อมาดูพื้นที่จริงจึงตกลงทำทางเข้าด้านหน้าดังปัจจุบัน  ได้ทำเรื่องขออนุญาต  อบต.เก่างิ้ว  สร้างกุฏิ ๘ หลังทำเรื่องขออนุญาตทางหลวงเมืองพลวางท่อระบายน้ำ เพื่อทำทางเชื่อมเข้าสู่ที่พักสงฆ์ และเริ่มถมดินทำทางเข้า  (รูปถ่ายก่อนและหลังถมที่ดิน)    วันที่ ๒๒ มกราคม อบต.เก่างิ้วได้อนุญาตให้ก่อสร้างได้ จึงทำเรื่องขอเลขที่บ้านจากสำนักงานทะเบียนอำเภอ    ได้เลขที่ ๑๓ หมู่ ๑๑ ต.เก่างิ้ว นำทะเบียนบ้านไปขออนุญาตใช้ไฟฟ้าจากการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค และวันที่ ๒๓ มกราคม  ปักเสาเดินสายไฟฟ้าเข้าสู่ที่พักสงฆ์ เริ่มก่อสร้างห้องน้ำส่วนรวม ๘ ห้อง กุฏิ ๘ หลังก่อน (ม.ค.-ส.ค. ๕๑)  เพื่อให้เสร็จทันก่อนเข้าพรรษา (๑๘ ก.ค.)เพราะตามพระวินัยจะต้องมีที่มุงที่บัง จะจำพรรษากลางแจ้งไม่ได้

ต่อมาช่างแสวงฝันว่า  มาสร้างวัด  แกจึงมาติดต่อรับทำก่อสร้างตั้งแต่วันที่ ๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๑   เป็นต้นมาเหตุนั้น พื้นที่ที่มีการคมนาคมไปมาสะดวก มีน้ำไฟฟ้า มีช่างก่อสร้างพร้อม มีปัจจัยสนับสนุน ก็เป็นสภาวธรรมที่ถึงพร้อมให้ ที่นั้นเจริญเร็ว

๑๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๑  ทำเรื่องขออนุญาตใช้น้ำจากการประปาส่วนภูมิภาค  ในช่วงนี้ทางกรมที่ดิน  ได้ออก
รังวัดออกโฉนดในพื้นที่ตำบลเก่างิ้วพอดี โดยได้มารังวัดปักหมุดออกโฉนดที่ที่พักสงฆ์ ในวันที่ ๒๑ กุมภาพันธ์ ซึ่งตรงกับวันมาฆบูชา

๖ เมษายน ๒๕๕๑ วันจักรี โยมเพียรได้นำรอยพระพุทธบาทจำลองข้างขวาของพระพุทธศรีมังคละปัจเจกพุทธเจ้า ซึ่งวันที่ ๒๓ มกราคม ได้ถ่ายรูปหลุมเสามุมห้องน้ำ เป็นเงาคล้ายรอยพระบาท ก่อนที่รอยพระพุทธบาทจะมา ๒ เดือนครึ่งดังรูปถ่าย) ต้นพระศรีมหาโพธิ์ ๒ ต้นมาถวาย พอถวายเสร็จพระอาทิตย์ทรงกลดนาน ๓ ชั่วโมง ดังรูปถ่ายที่ ๑

 

 

 

ในปีนี้ก่อนวันอาสาฬหบูชา พระอาทิตย์ทรงกลดวงเดียวซ้อน ๓ ชั้น วันอาสาฬหฯ ทรงกลดเป็นรูปธรรมจักร พอวันที่ ๑๙ ก.ค. บริษัท บีที เวิลด์ลีส จำกัด ได้มาปลูกต้นไม้และถวายสังฆทาน พระอาทิตย์ทรงกลดตั้งแต่ ๐๙.๐๐ น. เป็น ๒ วงเป็นเลข 8 ใหญ่มาก แล้วค่อยๆเลื่อนเข้าหากันเป็นวงเดียวเมื่อเวลาประมาณ ๑๒.๐๐ น. แล้วหายไปดังรูปถ่าย
พระอาทิตย์ทรงกลดนี้เกิดปีละ ๒๐ กว่าครั้งขึ้นไป โดยเฉพาะเวลาโยมมาทำบุญใหญ่ (ปี ๒๕๕๑-๒๕๕๓)


ต่อมาวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๕ (๒๐ เม.ย.) โยมสหราช ทวีพงษ์เจ้าของรอยพระพุทธบาทจำลอง ได้มาทำการถวายรอยพระพุทธบาทจำลองเป็นทางการ   พร้อมกับนำพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบันมาถวายด้วยแบ่งส่วนหนึ่งไปบรรจุที่เจดีย์วัดอโศการาม โยม สหราชเล่าให้ฟังว่าวันที่นำรอยพระพุทธบาทมาที่เมืองพลนั้น ฝนตกตลอดทาง และตั้งใจว่าจะนำกลับบ้าน ได้แวะที่เมืองพลเพื่อนำต้นโพธิ์มาให้โยมเพียร แต่เมื่อโยมเพียรถามมีอะไรดีๆมาให้วัดสร้างใหม่บ้าง จึงตัดสินใจให้โดยที่ไม่ได้บอกโยมเพียรก่อนว่ามีรอยพระพุทธบาทอยู่หลังรถ ซึ่งที่ที่พักสงฆ์ก็เช่นกันฝนตกรับตั้งแต่ตี ๔ จนถึง ๙.๐๐น. ของวันที่ ๖ เม.ย. จึงหมดเม็ด โยมสหราชยังได้เล่าต่อว่ารอยพระพุทธบาทพบที่เขาภูพานน้อย อ.ภูพาน จ.สกลนคร ตามประวัติพระองค์อุบัติขึ้นช่วง ๕๐๐ ปี หลังจากสิ้นพระศาสนาของพระพุทธเจ้ากัสสปะ ภายหลังจากพระองค์ออกจากนิโรธสมาบัติ (เข้านิโรธสมาบัติ ๑๕ วัน) ฤาษีได้อาราธนาขอพระองค์ให้ประทับรอยพระพุทธบาทไว้ ซึ่งรอยจริงได้ประดิษฐานไว้ใต้ฐานพระใหญ่ ที่วัดพระธาตุศรีจำปา อ.พังโคน จ.สกลนคร ส่วนรอยนี้เป็นรอยจำลอง โดยใช้หินที่รองรับรอยจริงมาสร้าง ตั้งแต่นั้นมาได้มีผู้นำพระบรมสารีริกธาตุ พระธาตุของพระปัจเจกพุทธเจ้า พระอรหันตธาตุมาถวายอยู่เรื่อยๆ จึงเป็นเหตุที่จะต้องสร้าง
พระเจดีย์ไว้บรรจุ

๑ มิถุนายน ๒๕๕๑ เริ่มสร้างโรงครัว ๑

๑ สิงหาคม ๒๕๕๑ เริ่มทำรั้วด้านหลังตั้งแต่สระน้ำจนถึงด้านข้างทิศตะวันออก ถึงถนนทางหลวงแผ่นดิน

๖ กันยายน ๒๕๕๑ เริ่มสร้างศาลาห้องสมุด

ตุลาคม ๒๕๕๑ สร้างบ่อเก็บน้ำฝนข้างห้องน้ำ โดยคุณทวีพล เจริญกิติคุณไพศาล

๑๑ ธันวาคม ๒๕๕๑ พฤษภาคม ๒๕๕๒ สร้างศาลาพลานุภาพและบ่อเก็บน้ำฝนใต้ศาลา

๓ มกราคม ๒๕๕๒ โยมที่ซิดนีย์ถวายพระพุทธรูปปางสมาธิแบบสุโขทัยหน้าตัก ๕๙ นิ้ว ๑๗ มกราคม ๒๕๕๒ คุณพร้อมพรรณ อัศวแสงรัตน์ ถวายพระพุทธชินราชหน้าตัก ๕๙ นิ้ว ได้ประดิษฐานพระพุทธรูปทั้ง๒องค์ไว้ในศาลา พลานุภาพ แทนองค์พระพุทธเจ้ากัสสปะ และพระพุทธเจ้าสมณโคดม พระพุทธรูปทั้ง ๒ องค์นี้มาเอง อาตมาไม่ได้หา ไม่รู้จักเจ้าภาพ มารู้จักกันที่นี่ก็ตอนเจ้าภาพมาถวายพระพุทธรูปนี้เอง

๒๖ มกราคม ๒๕๕๒  สร้างบ่อเก็บน้ำฝนศาลาห้องสมุด และ ๑๒ มิถุนายน ๒๕๕๒ ต่อเติมหลังคาห้องสมุดคลุมบ่อน้ำ

ช่วงเมษายน ๒๕๕๒ เริ่มสร้างกุฏิ ๙-๑๑ และกุฏิแฝด ๑๒-๑๓

ปลาย มิ.ย. ๒๕๕๒  เริ่มทำรั้วด้านหน้าตั้งแต่สุดที่ที่พักสงฆ์ด้านทิศตะวันออก ถึงถนนทางเข้าหน้าวัด

๓๑ สิงหาคม ๒๕๕๒ เริ่มสร้างกุฏิห้องแถว ๑๔-๑๗

๒๘ ก.ย. ๕๒ - ก.พ. ๕๓ เริ่มสร้างวิหารพระพุทธเจ้าเวสสภู พระภิกษุและโยมวัดทรงเมตตา อ.สัตหีบได้ติดต่อมาว่าจะถวายพระพุทธรูปปางปฐมเทศนาหน้าตัก๒เมตร ขอให้ทางที่พักสงฆ์หาที่ประดิษฐาน และได้นำพระพุทธรูปมาถวายวันที่ ๑ ต.ค ๕๒ พอทำแท่นพระเสร็จ ๑๖ ต.ค. ๕๒ จึงอัญเชิญไปประดิษฐานที่วิหารพระพุทธเจ้าเวสสภู ก่อนจะทำหลังคาวิหารและส่วนอื่นๆต่อไป

ตุลาคม ๒๕๕๒ เริ่มทำรั้วด้านข้างทิศตะวันตกตลอดแนวถนนแยกเข้าป่าช้าจีน

ธันวาคม ๒๕๕๒ เริ่มทำรั้วด้านหน้าตั้งแต่ถนนทางเข้าหน้าวัดถึงสุดที่ที่พักสงฆ์ด้านทิศตะวันตก

๓๐ ธันวาคม ๒๕๕๒ เวลาประมาณ ๒๐.๐๗ น. พรหมสุทธาวาส ๕ ชั้นมาประชุมที่ศาลาพลานุภาพ (ดังรูปถ่าย) เป็นสมัยพิเศษที่อานุภาพพระพุทธเจ้า ๗ พระองค์แสดงธรรมโปรดเทวดาพรหม (๓๐ ธ.ค.๕๒ - ๖ ม.ค.๕๓) และช่วงนี้อานุภาพพระพุทธเจ้า ๗ พระองค์นำพระภิกษุบิณฑบาต เวลา ๐๖.๑๖ (ดังรูปถ่าย)

๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๓ เริ่มสร้างโรงครัว ๒ และบ่อเก็บน้ำฝนใต้โรงครัว

๑ มีนาคม ๒๕๕๓ เวลา ๑๘.๕๘ น. อานุภาพพระปัจเจกพุทธเจ้าปรากฏที่ข้างกุฏิ ๑๐ เป็นภาพสมัยที่พระองค์ยังมีชีวิตอยู่ดังรูปถ่าย เพราะมีพระธาตุพันกว่าพระองค์อยู่ใต้ดิน

๑๑ มีนาคม ๒๕๕๓ เริ่มต่อเติมกุฏิห้องแถว ๑๘-๑๙

๑๙ พฤษภาคม ๒๕๕๓ สร้างบ่อเก็บน้ำฝน SCG โดยมูลนิธิซีเมนต์ไทยเป็นเจ้าภาพถวายปัจจัย ๑๐๐,๐๐๐ บาท และบริษัท พีที ไดร์ว ประเทศไทย จำกัด ถวายและติดตั้งโซล่าเซลล์ ข้างบนหลังคาบ่อ

กรกฎาคม ๒๕๕๓  ทำทางระบายน้ำคอนกรีตเสริมเหล็ก จากโรงครัวไปทางทิศตะวันออก ด้านหลังกุฏิห้องแถว กุฏิแฝดลงไปสระน้ำ และอีกสายหนึ่งจากด้านหน้าศาลาพลานุภาพไปทางหน้าโรงครัวออกหน้าวัด

๕ กันยายน ๒๕๕๓ อานุภาพพระพุทธเจ้าได้แสดงที่ตั้งพระพุทธรูปในพระมหาเจดีย์พระพุทธเจ้า ๗ พระองค์เป็นเงาพระพุทธสีดำตำแหน่งบนเนินดิน เยื้องออกด้านข้างซึ่งเป็นจุดที่พระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้าวิปัสสีและพระพุทธเจ้ากกุสันโธลงมาฝังในดิน เวลา ๑๙ น.๕๔ นาทีดังรูปข้างบน ยังมีอีกภาพแสดงเงาพระพุทธบนเลข ๗ ไทยบอกชื่อเจดีย์ที่จะสร้างคือ พระมหาเจดีย์พระพุทธเจ้า ๗ พระองค์ เวลา ๑๙ น. ๕๘ นาที

วันที่ ๗ กันยายน ๒๕๕๓ อานุภาพพระพุทธเจ้าแสดงพุทธลักษณะ เสด็จเดินนำพระอาจารย์วิชัยและคนอื่นๆ เวลา ๒๐ น. ๘ นาที ดังรูปถ่ายได้ครึ่งตัวเพราะพระองค์ท่านใหญ่มากหน้ากล้องถ่ายได้แค่นี้ สังเกตสายไฟฟ้าสูงประมาณ ๕ เมตร

๒๘ กันยายน ๒๕๕๓ เริ่มสร้างกุฏิห้องแถวปฏิบัติธรรมที่ ๒๑ ยาว ๑๖ เมตรมีห้องน้ำรวม ๔ ห้อง และวันที่ ๓๐ ก.ย. ๒๕๕๓ เริ่มขุดสระฝั่งพระกว้าง ๒๓ เมตรยาว ๔๐ เมตร

พระจำพรรษา

           พรรษาแรกปี พ.ศ. ๒๕๕๑ มีพระจำพรรษา ๓ รูป แม่ชี ๑ รูป

           พรรษาสองปี พ.ศ. ๒๕๕๒ มีพระจำพรรษา ๓ รูป แม่ชี ๓ รูป

           พรรษาสามปี พ.ศ. ๒๕๕๓ มีพระจำพรรษา ๕ รูป แม่ชี ๒ รูป ชีพราหมณ์  ๑ รูป พรรษานี้มีพระจำพรรษาครบ ๕ รูป มีการถวายกฐินสามัคคีเป็นปีแรกในวันอาทิตย์ที่ ๗ พฤศจิกายน ๒๕๕๓ 

 

มีพระก็มีวัด(วัตร) มีวัดไม่มีพระก็วัดร้าง (วัตรร้าง)

เหตุนั้นให้เข้าวัดฟังธรรมทุกเมื่อ  วัดจิตวัดใจเจ้าของ

ก็มี(วัด)วัตรปฏิบัติ อะไรเป็นกุศลก็ให้เจริญ  อะไรเป็นอกุศลก็ให้ละ